Wednesday 26 December 2012

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา โดยอาจารย์ ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา



โดยอาจารย์ ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา

มี 3 กรณีดังนี้

1. บันดาลโทสะ (มาตรา 72) 2. ความไม่รู้กฎหมาย (มาตรา 64) 3. เหตุบรรเทาโทษอื่นๆ

1. บันดาลโทสะ (มาตรา 72)

มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

-ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

-การที่ถูกข่มเหงนั้น เป็นเหตุให้ ผู้กระทำบันดาลโทสะ

-ผู้กระทำได้กระทำ ความผิด ต่อผู้ข่มเหง ในขณะบันดาลโทสะ

ผล : ศาล “จะ” ลงโทษผู้กระทำน้อยกว่าที่กม. กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ คือ ศาลจะไม่ลงโทษเลยไม่ได้ แต่อาจไม่ลดโทษให้ได้

1. ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

ความหมาย :

“การข่มเหง” คือ การใช้วิธีรังแกหรือรบกวนให้ผู้อื่นเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะกระทำเช่นนั้น

ข้อสังเกต : การข่มเหงต้องเกิดจากต้องเกิดจากการกระทำของบุคคลเท่านั้น หากสิ่งของ สัตว์หรือธรรมชาติเป็นเหตุให้เกิดโทสะ จะว่าถูกข่มเหงไม่ได้

“ร้ายแรง” : การพิจารณาว่าเป็นการข่มเหงในเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ อาศัยการสมมติบุคคลขึ้นมาเปรียบเทียบ ให้อยู่ในฐานะและสภาพอย่างเดียวกับผู้กระทำผิด แต่ระดับความร้ายแรงให้ถือระดับ “วิญญูชน”

“ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” คือ กระทำโดยปราศจากเหตุผล

ข้อสังเกต :

“ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” คือ ไม่มีเหตุสมควรที่จะทำเช่นนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม) ซึ่ง “วิญญูชน”โดยทั่วไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะทำเช่นนั้น

“การข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมนี้ อาจกระทำการ ข่มเหงต่อผู้กระทำความผิดเองหรือกระทำต่อผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้กระทำความผิดก็ได้”
ex พ่อตา – ลูกเขย , น้า – หลาน , พ่อ – ลูก , สามี – ภรรยา (แต่เพื่อนสนิทของสามีไม่ได้)

* การข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม คือ กระทำโดยปราศจากเหตุผล แม้อาจไม่ถึงกับผิด กม.ก็ตาม

ข้อยกเว้น

- ถ้าผู้ที่บันดาลโทสะเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างว่าถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมไม่ได้

- การวิวาทหรือสมัครใจเข้าต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกัน จะยกข้อต่อสู้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ไม่ได้

- การกระทำความผิดโดยจำเป็นตาม ม. 69 เป็นการกระทำที่ผิดกม. เพียงแต่ ก.ม. ยกเว้นโทษ จึงอาจถือ ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมได้

ex อ้นขู่ว่าจะยิงอ้วน หากจะไม่ใช้ไม้ตีหัวอุ้ย อ้วนทำตาม เพราะกลัวถูกยิง เมื่ออ้วนตีหัวอุ้ยแตกอ้วนจึงวิ่งหนี อุ้ยวิ่งไล่ตามใช้ปืนยิงอ้วน อ้นอ้างบันดาลโทสะได้
ข้อสังเกต :

การพิจารณาว่าผู้กระทำบันดาลโทสะหรือไม่ ต้องพิจารณาจากจิตใจของผู้กระทำผิดนั้นเอง มิใช่เปรียบเทียบกับความรู้สึกของ “วิญญูชน”

การบันดาลโทสะ อาจเกิดขึ้นหลังจากการข่มเหง ได้ผ่านพ้นไปนานแล้วก็ได้

การบันดาลโทสะ อาจจะ เกิดจากคำบอกเล่าก็ได้ ไม่จำเป็นที่ผู้กระทำความผิดต้องประสบเหตุการข่มเหงด้วยตนเอง

เมื่อทราบเหตุข่มเหงแล้ว ต้องบันดาลโทสะทันที หากทราบเหตุแล้วยังไม่บันดาลโทสะ แต่ไปบันดาลโทสะในภายหลัง แม้จะกระทำความผิดในขณะที่ยังมีโทสะอยู่ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้

3. ผู้กระทำได้กระทำในขณะบันดาลโทส

ข้อสังเกต : หลักการวินิจฉัยเป็นการกระทำความผิด ในขณะบันดาลโทสะหรือไม่ ต้องเปรียบเทียบกับ “วิญญูชน” ที่อยู่ในฐานะอย่างเดียวกับตัวผู้กระทำว่าสามารถระงับโทสะได้หรือยัง หากวิญญูชนสามารถระงับโทสะได้แล้ว แต่จำเลยยังระงับโทสะไม่ได้ จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้

“ในขณะบันดาลโทสะ” หมายถึง กระทำในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิด หรือในขณะที่ยังมีโทสะรุนแรงก่อนเวลาที่จะสงบอารมณ์ได้ หากขาดตอนไปไม่เป็นบันดาลโทสะ (ฎ. 272/2513)

ต้องเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงเท่านั้น หากกระทำ ต่อผู้อื่นอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ แต่หากเป็นเรื่องพลาดอ้างบันดาลโทสะโดยพลาดได้

ต้องเป็นการกระทำโดยมี “เจตนาธรรมดา” กล่าวคือ ประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล หรือพลาด และมี “เจตนาพิเศษ” เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

2. ความไม่รู้กฎหมาย (มาตรา 64)

ความไม่รู้กฎหมาย (ม.64) : โดยปกติบุคคลจะอ้างว่า ไม่รู้กม.ไม่ได้ เว้นแต่ ความผิดที่ ก.ม.ห้าม (Mala prohibita) เพราะเป็น กม.ที่มีลักษณะพิเศษที่บทบัญญัติมีความแตกต่างกับศีลธรรม

ข้อสังเกต ทางทฤษฎีบอกว่าควรเป็นเหตุยกเว้นโทษ แต่ตาม ป.อ.ของไทยเป็นเพียงเหตุลดโทษซึ่งอยู่นอกโครงสร้างความรับผิดทางอาญา

3. เหตุบรรเทาโทษอื่นๆ

ศาลพิจารณาโดยอาศัยข้อเท็จจริงประกอบการนำสืบของจำเลย

Ex :

- ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- กระทำด้วยความจำเป็น แต่เกินขอบเขต

- ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

- เป็นบุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม

- กระทำผิดด้วยความยากแค้นลำเค็ญ

- กระทำความผิดด้วยความมึนเมา (ที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ก.ม.)

เทคนิดการอ่านหนังสือ ตอนที่ 1



เทคนิดการอ่านหนังสือ ตอนที่ 1

เวลาอ่านหนังสือ มีวัตถุประสงค์ในการอ่านอยู่ 2 อย่าง คือ อ่านเพื่อรู้ กับอ่านเพื่อสอบ

แรกเปิดเทอมต้องอ่านเพื่อ รู้ ยังไม่ต้องเน้นมากมายอะไรนัก เป็นการอ่านเพื่อให้เห็นภาพรวม อ่านด้วย เข้าเรียนด้วย จะทำให้เข้าใจเรื่องที่เรียนได้ง่ายและไวขึ้น

เมื่อใกล้สอบ ต้องเริ่มอ่านเพื่อสอบ ต้องเน้นในเรื่องที่สำคัญที่จะออกเป็นข้อสอบ ซึ่งโดยหลักๆก็เป็นเรื่องอาจารย์ได้เน้นย้ำ ออกข้อสอบบ่อยๆ เราต้องทำความเข้าใจให้ดี และจำหลักกฎหมายให้ได้ การอ่านเพื่อสอบ จะไม่อ่านทั้งหมด เพราะไม่มีทางอ่านทันได้

เราต้องอ่านหนังสือโดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ อย่างนี้ เราถึงจะอ่านหนังสือได้ทันและเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด และจะทำให้เราทำข้อสอบปลายภาคได้คะแนนดี

แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ นิสิตมักจะอ่านหนังสือเพื่อสอบอย่างเดียว โดยที่ไม่เคยอ่านเพื่อรู้มาก่อน เมื่อมาอ่านเพื่อสอบอย่างเดียว นิสิตจึงทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้ เพราะความรู้ทุกเรื่องมันมีความเกี่ยวพันกัน การจะทำความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องเข้าใจเรื่องอื่นๆด้วย

สุดท้าย แม้นิสิตจะอ่านหนังสือแทบเป็นแทบตายเมื่อใกล้สอบ แต่นิสิตก็จะไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน อาจจะจำได้ บางเรื่อง บางตอน

เมื่อไปเจอข้อสอบ ถามไม่ตรงกับที่อ่านมานิดเดียว นิสิตก็จะหลง ออกไปหาปลาในทะเล บางครั้งข้าพเจ้าเคยเห็นนิสิตหลายคน เขียนข้อสอบตอบมาไม่ได้เกี่ยวกับข้อสอบ เคยถามว่าเขียนมาทำไม คำตอบที่ได้ ก็อ่านเรื่องนี้มา ถ้าไม่เขียนเรื่องนี้ก็ไม่รู้จะเขียนอะไร ><

ถ้านิสิตทำได้ อย่างที่ข้าพเจ้าได้เขียนมา ข้าพเจ้าขอรับรองว่า การอ่านหนังสือไม่ทันจะไม่เกิดขึ้น และท่านจะสอบผ่านได้อย่างไม่ต้องกังวลอะไร

"มันมีหลายวิธีนะครับ ก็เลือกเอาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีไหนก็ตาม มันจะเป็นผลได้ต่อเมื่อเราทำมัน ไอ้ลำพังแต่คิด ลำพังแต่รู้สึก มันไม่ช่วยอะไรเลยครับ"

ด้วยความปารถนาดี

........................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

โทษจำคุกกับการกระทำความผิดโดยประมาท





โทษจำคุกกับการกระทำความผิดโดยประมาท


การลงโทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดโดยประมาท เป็นวิธีการไม่เหมาะสม 

เพราะหากเราต้องการแก้แค้น การกระทำความผิดโดยประมาท เป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหายขึ้น 

หากจะลงโทษจำคุกโดยหวังให้การลงโทษจำคุกยับยั้งการกระทำโดยประมาทของคนนั้นเองหรือคนอื่นๆ ไม่ให้ประมาท ก็ไม่อาจยับยั้งได้ เพราะคนเราทุกคนมีความพลั้งเผลอ จะเห็นได้ว่าแม้เราจะมีโทษจำคุก แต่ก็ไม่อาจยับยั้งไม่ให้คนประมาทได้

หากจะลงโทษจำคุกกับกรณีประมาท เพื่อแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำความผิดที่ประมาท มันก็๋พอเข้าใจได้ แต่ผลที่ได้จากการส่งคนที่ประมาทเข้าไปในเรือนจำ นอกจากจะไม่ทำให้เขาหายประมาทแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะโดนสภาพแวดล้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเสียอีก

โทษจำคุก เขียนไว้ในกฎหมาย แต่ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงไม่ควรจำคุกคนที่กระทำโดยประมาท คดีประเภทนี้ส่วนใหญ่ ศาลจึงรอลงอาญาไว้ และกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ แทน

ส่วนโทษปรับก็น้อยจนใช้ไม่ได้เหมือนกัน เช่น ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อืนถึงแก่ความตาย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2 0,000 บาท ซึ่งน้อยจนไม่เหมาะสมกับความผิดพอที่จะทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักมีความระมัดระวังขึ้น

นี่เป็นเหตุผลหลักๆนะครับ ว่าทำไม เวลาเราเห็นข่าวคนขับรถประมาทชนคนตายแล้ว ศาลรอลงอาญา ไม่ใช่ศาลใจดีเกินไป แต่ศาลมีเหตุผลตามหลักการทางอาญาและอาชญวิทยา

คุกควรมีไว้ขังคนชั่วร้ายเท่านั้น (แค่นั้นก็ล้นแล้ว)

...........................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

นิติเวชศาสตร์กับนิติวิทยาศาสตร์



นิติเวชศาสตร์กับนิติวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีมีความสลับซับซ้อนและบางคดีจำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ด้านนิติเวชศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ มาช่วยค้นหาความจริงเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนและดำเนินคดี เพื่อช่วยในการพิสูจน์พยานหลักฐานอันขจะนำมาซึ่งข้อเท็จจริงที่ชัดเจน

ศาลก็สามารที่จะปรับบทหลักกฎหมายในการลงโทษจำเลยได้อย่างถูกต้องและช่วยให้การอำนวยความยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.......................................

1. นิติเวชศาสตร์ ( Forensic Medicine) 


มาจากคำว่า "Forensic" ซึ่งเป็นภาษาละติน หมายความถึงข้อตกลงที่มีการพิพาทกันทางกฎหมาย และคำว่า "Medicine" หมายถึงวิชาทางด้านการแพทย์ ซึ่งหมายความรวมถึงแพทย์ศาสตร์หรือเวชศาสตร์อีกด้วย นิติเวชศาสตร์เริ่มมีการเรียนการสอนครั้งแรกในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2456 โดยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการแพทย์ วุฒิประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ สำหรับสอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 4 ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาของคณะแพทย์ศาสตร์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการเรียนการสอนในชั้นปริญญาตรี

2. นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) 


เป็นการนำเอาวิชาความรู้ในทางด้านวิทยาศาสตร์ ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐาน ตรวจร่างกายและวัตถุพยานเพื่อช่วยในการค้นหาความจริง มักเป็นการใช้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ กายภาพ เคมี คอมพิวเตอร์ และกีฏวิทยา เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน และดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อช่วยกระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์หลักฐานและชี้นำไปสู่ผู้กระทำความผิดอาญา
ปัจจุบันมีการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นในต่างประเทศ เพื่อลดการโต้แย้งความหวาดระแวงระหว่างผู้ควบคุมกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องเพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องหลักการและเหตุผลที่เป็นจริงสามารถพิสูจน์ได้ โดยนิติวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีความเกี่ยวเนื่องกับนิติเวชศาสตร์หรือการชันสูตรศพ สามารถแบ่งออกเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้

1)นิติพยาธิวิทยา (Forensic Pathology)


2)นิติเวชคลินิก (Clinical Forensic)


3)นิติจิตเวช (Forensic Psychiatry)


4)นิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology)


5)การพิสูจน์หลักฐาน (Criminalistic)


6)นิติวิทยาเซรุ่ม (Forensic Serology)


7)เวชศาสตร์จราจร (Traffic Medicine)


8)กฎหมายการแพทย์ (Medicial Law) (ยังไม่จบนะครับ)

การชันสูตรพลิกศพ (post mortem examination)


"การชันสูตรพลิกศพ (post mortem examination)" 

การชันสูตรพลิกศพ คือ การตรวจพิสูจน์เพื่อดูสภาพศพแต่เพียงภายนอก ค้นหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตายว่าผู้ตายคือใคร ตายเมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย สงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดที่ทำให้เกิดการตาย
ตามประมวลกฎหมายิธีพิจารณาความอาญานั้นกำหนดว่า การตายต่อไปนี้จะต้องมี การชันสูตรพลิกศพ

โดยที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพในกรณีดังต่อไปนี้

มาตรา 148 "เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ"

การตาย 2 ประเภทที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ

1. การตายโดยผิดธรรมชาติ เช่น 


    (1) ฆ่าตัวตาย
    (2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
    (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
    (4) ตายโดยอุบัติเหตุ
    (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

2. การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน เช่น ฝากขังหรือถูกควบคุมตัวไว้บนสถานีตำรว

หากการชันสูตรพลิกศพนั้นพบว่า การตายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำผิดอาญา การชันสูตรพลิกศพจะมีผลต่อการสอบสวนคดีอาญา

มาตรา 129 "ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล"

โดยหลักแล้วหากความตายนั้นเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล

หากไม่มีการชันสูตรพลิกศพเลย หรือมีการชันสูตรพลิกศพ แต่การชันสูตรนั้นไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เช่น คนลงลายมือชือเป็นสัปเหร่อ ไม่ใช่แพทย์ หรือว่าโดยสภาพของศพไม่อาจชันสูตรได้ เช่น ศพถูกเผาไปแล้ว (ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยได้)

และหากคดีนั้นเป็นคดีที่ราาฎรฟ้องเอง(ผู้เสียหายฟ้องเอง) ย่อมไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ

>>>และหากการตายนั้นเป็นการตายโดยเกิดขึ้นจากในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดย การกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การชันสูตรพิกศพอย่างเดียวไม่เพียงพอแต่จะต้องมีการไต่สวนถึงสาเหตุการตายโดยศาลก่อน เพื่อตรวจสอบการกระทำของเจ้าพนักงานและเพื่อเป็นการปรามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆไปในตัว

.........................................................
คำพิพากาาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4239 - 4240/2542


แม้การที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อตรวจค้นตามหมายค้นจะเป็นการนอกเหนือจากคำร้องขอฝากขังที่ระบุว่าขอรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัว แต่ก็ยังได้อ้างเหตุที่ต้องขออนุญาตฝากขังด้วยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนพยานหรือกระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นได้ มิได้จำกัดเพียงให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะร้องขอให้แพทย์ในหน่วยนิติเวชของโรงพยาบาลรามาธิบดีตรวจพิสูจน์ศพ เพื่อใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 อีกได้เพราะการชันสูตรพลิกศพเป็นการสอบสวนความผิดอาญาอย่างหนึ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ได้ระบุผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพไว้แล้วคือ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัยหรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบลนอกจากนี้มาตรา 151 ได้ให้อำนาจผู้ทำการชันสูตรพลิกศพทำการผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ และมาตรา 153 ยังให้อำนาจผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้โดยเฉพาะในภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 แล้วจึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มาอนุโลมบังคับหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2530
ผู้ตายใช้มีดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนไล่ฟันจำเลยที่ 1 จำเลยที่1 จึงใช้ปืนแก็ปยิงผู้ตาย 1 นัดขณะที่อยู่ห่างกันประมาณ 4วา ผู้ตายวิ่งหนีไป 2 วาก็ล้มลง จำเลยที่ 1 เอาปืนลูกซองยาวจากจำเลยที่ 2 มายิงซ้ำอีก 1 นัด แต่ไม่ถูกแล้วจำเลยทั้งสองนำผู้ตายไปทิ้งลงเหว ดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายหลังจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ล่วงพ้นไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2501
เมื่อผู้ต้องถูกควบคุมกักขังอยู่ในเรือนจำตายลงก็ถือว่าตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ชอบที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนและมีคำสั่งตามกฎหมาย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2501)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2488
คดีฆ่าคนตายที่ยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพเพราะเหตุที่ไม่สามารถจะทำการชันสูตรได้ทันท่วงทีโดยศพผู้ตายได้ถูกเผาเสียก่อนแล้วนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนั้นได้ แม้จะยังไม่มีการชันสูตรตามกฎหมายเสียก่อนก็ตาม

.................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คระนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
...........................................
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ใช้คำว่า การชันสูตรพลิกศพ (post mortem examination)" 

และการผ่าศพใช้คำว่า "Autopsy"

Tuesday 25 December 2012

ผู้เสียหาย



ผู้เสียหาย


อ่านเอกสาร full text 

https://drive.google.com/open?id=0B0VwqdXbq_GSTG1rd1djWVhERnM








“มาตรา 6 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดย ชอบธรรมหรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้ เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่นซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี

 



ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้  นั้น หมายความรวมถึงกรณีผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้ยื่นฟ้องด้วยตนเอง แต่เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่5884/2550) ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้นายเอกได้รับอันตรายสาหัสนายเอกเป็นผู้เสียหายโดยตรง การที่นายเอกซึ่งเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการตายลง นายจัตวาผู้สืบสันดานของนายเอกจึงยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว



ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสายเป็นจำเลยต่อศาลว่า นายสายเอาไปเสียซึ่งหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เพียงนายเงินผู้เสียหายลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของนายเงินไปด้วยแล้วกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจว่า นายเงินมอบให้นายสายยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยผู้เสียหายไม่ได้ยินยอม แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 268 ในวันนัดสืบพยานโจทก์ นายสายได้พบกับนายเงิน นายสายโกรธจึงตรงเข้าหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายเงินขว้างลงที่พื้นจนแตก ต่อมา นายเงินถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวโดยยังไม่ทันได้ดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียทรัพย์แก่นายสาย นางนุชมารดาของนายเงินจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ กับได้ยื่นฟ้องนายสายเป็นจำเลยข้อหาทำให้เสียทรัพย์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายเงิน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) บัญญัติให้ผู้บุพการีมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 268เป็นคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ดังนั้น เมื่อนายเงินผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวของผู้เสียหายเองโดยไม่ได้ตายเพราะถูกนายสายทำร้าย กรณีของนางนุชจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ให้นางนุชมีอำนาจจัดการแทนนายเงินผู้เสียหายในการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 นางนุชจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3063/2552, 8357/2550)
ข้อ 3 นายอังคารอยู่กินกับนางดาวฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรชื่อนายจันทร์ นายอาทิตย์ทำร้ายร่างกายนายจันทร์จนเป็นเหตุให้นายจันทร์ถึงแก่ความตาย นายอาทิตย์กลัวความผิดจึงนำศพของนายจันทร์ไปฝังซุกซ่อนไว้ที่สวนหลังบ้าน หลังจากนั้นนายอาทิตย์ปลอมหนังสือของนายจันทร์ส่งไปถึงนายจ้างของนายจันทร์ว่า นายจันทร์ขอลาหยุดงาน 15 วัน โดยลงลายมือชื่อปลอมของนายจันทร์ในหนังสือดังกล่าว พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตาย ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290199264268 ในระหว่างพิจารณา นายอังคารได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายอังคารเข้าร่วมเป็นโจทก์ทุกฐานความผิด

สำหรับความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264268 นั้น เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของนายอาทิตย์ การปลอมหนังสือลาหยุดงานของนายจันทร์มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงนายอังคารแต่อย่างใด ในกรณีนี้ยังไม่ถือว่านายอังคารบิดาของนายจันทร์ผู้ตายเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวมิใช่ความผิดอาญาที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตามมาตรา 5 (2) จึงไม่ใช่กรณีที่นายอังคารจะจัดการแทนนายจันทร์ได้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายอังคารเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 30

ข้อ 4 นายชัยกับนายชอบทะเลาะวิวาทกัน นายชัยชกที่ใบหน้านายชอบ 1 ครั้ง นายชอบโกรธจึงใช้อาวุธปืนยิงนายชัย 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกนายชัย แต่พลาดไปถูกนางเพลินภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายเฟื่องถึงแก่ความตาย นายชัยและนายชอบต่างไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีซึ่งกันและกัน นายชัยให้การรับสารภาพว่าได้ทำร้ายนายชอบจริง พนักงานอัยการจึงแยกฟ้องนายชัยในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับนายชัย 500 บาท คดีถึงที่สุด ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องนายชอบในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นและฆ่าผู้อื่น นายชอบให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายชัยและนายเฟื่องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาต


















กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้




108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา



ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส






ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย


กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน