Friday 20 September 2013

ผู้ร่วมกระทำความผิดที่ไม่ใช่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน (Necessary Participator)



ผู้ร่วมกระทำความผิดที่ไม่ใช่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน


           ในการกระทำความผิดอาญาที่กระทำโดยเจตนาฐานใดฐานหนึ่งนั้น ผู้กระทำความผิดอาจไม่ได้ลงมือกระทำผิดเพียงคนเดียว อาจมีบุคคลอื่นๆ อีกหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ ซึ่งบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกากระทำความผิดนี้อาจเป็นการเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเราเรียกว่า “ผู้ใช้”  หากเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้คอยที่ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด ก็ถือว่าเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะ “ผู้สนับสนุน” และหากเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะที่ร่วมคิดวางแผนและลงมือร่วมกับผู้กระทำความผิด ก็ถือว่าเป็น “ตัวการ” ในการกระทำผิด ซึ่งเราเรียกรวมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเหล่านี้ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด หรือ Parties to Crime แต่ในการกระทำความผิดอาญาบางฐาน แม้จะมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญาโดยการใช้ ร่ามกระทำผิด หรือให้การสนับสนุน แต่ก็ไม่มีความรับผิดฐานเป็น ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ในความผิดฐานนั้นได้ เพราะถือว่าเป็นซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. บุคคลที่ไม่อาจเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดได้ เพราะกฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง

            เช่น ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก ตาม ป.อ.มาตรา 277 “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท” บุคคลที่กฎหมายมาตรา 277 มุ่งประสงค์จะให้ความคุ้มครอง คือเด็กที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีนั้นเอง

            จะเห็นว่าในกรณีนี้กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้ความคุ้มครองเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม หากปรากฎข้อเท็จจริงว่า เด็กหญิงอายุไม่เกิน 14 ปี ใช้ ชักชวน ยุยง ส่งเสริม ยินยอมให้ชายอื่นกระทำชำเราตนเอง เด็กหญิงจะมีความผิดฐานเป็นเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ในความผิดที่ชายอื่นได้กระทำตาม ป.อ.มาตรา 277 หรือไม่

            ในประเด็นนี้หากพิจารณาจะเห็นว่าชายย่อมมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 277 แต่การที่เด็กหญิงใช้ ชักชวน ส่งเสริม หรือยินยอมให้ชายอื่นกระทำชำเราตนเองจะมีความผิดร่วมกับชายไม่ได้ เพราะเด็กหญิงคือบุคคลที่กฎหมายมาตรานี้มุ่งประสงค์จะให้ความคุ้มครองอยู่การที่จะลงโทษเด็กฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนความผิดฐานนี้ย่อมขัดกับความประสงค์ของกฎหมาย

2. กรณีบุคคลที่เป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ

            เช่น ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระ หนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ตัวอย่าง
            นายแดงต้องการให้เจ้าหนี้ของตนที่กำลังจะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับชำระหนี้เอากับรถยนต์ที่นายแดงมีอยู่คันเดียว นายแดงจึงโอนขายรถคันเดียวของตนเองให้นายดำในราคาถูก เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของนายแดงได้รับชำระหนี้

กรณีของนายแดงย่อมมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แต่กรณีของนายดำจะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่

            ในประเด็นนี้หากพิจารณาให้ดีจะเห็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ.มาตรา 350 นั้นมีองค์ประกอบความผิดที่เป็นส่วนของการกระทำความผิด คือ “ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่น” ซึ่งหมายความว่าผู้กระทำความผิดอาญาฐานนี้จะต้องมีการกระทำการอันเป็น ย้าย ซ่อนเร่น หรือโอนไปให้ผู้อื่น หากไม่มีการกระทำอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานนี้ได้เลย

            หากนายแดงลูกหนี้ไม่ได้โอนรถยนต์ไปให้นายดำ ย่อมไม่มีการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิด ดังนั้นนายดำซึ่งเป็นผู้ที่รับโอนรถยนต์จากนายแดง จึงถือว่าเป็นบุคคลที่เป็นองค์ประกอบความผิดที่ไม่อาจจะขาดได้ หรือเราเรียกว่า necessary participator หากขาดนายดำผู้รับโอนรถยนต์จากนายแดงแล้ว ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ไม่อาจกระทำได้นั้นเอง นายดำจึงเป็น necessary participator (NP) ของนายแดงลูกหนี้
         
           ในเรื่องนี้ในทางตำราจะถือว่านายดำผู้รับโอนรถจากลูกหนี้ไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้ แม้นายดำจะทราบข้อเท็จจริงว่านายแดงต้องการโอนขายรถเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหนี้ไม่ให้ได้รับชำระหนี้ก็ตามโดยถือว่าหากฝ่ายนิติบัญญัติต้องการลงโทษการกระทำของนายดำผู้รับโอนทรัพย์จากลูกหนี้ต้องบัญญัติกฎหมายขึ้นมาต่างหาก หากไม่ได้บัญญัติกฎหมายให้การกระทำของนายดำเป็นความผิด นายดำก็ไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

            แต่อย่างไรก็ตามแม้ความเห็นในทางตำราจะเห็นตรงกันแต่ในการวินิจฉัยของศาลยังมีความแตกต่างกันอยู่ในแนวคำพิพากษาของศาลประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษโดยศาลอังกฤษถือว่า บุคคลดังกล่าวอาจต้องรับผิดในฐานะเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนได้ ถ้าหากเขารู้ข้อเท็จจริง (if he knew the facts) หมายความว่าเขาจะต้องรู้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้นั้นเอง

            ซึ่งในกรณีที่ผู้รับโอนไม่รู้ว่าลุกหนี้ต้องการโอนทรัพย์เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ย่อมอาจะเป็นตัวการได้อย่างแน่นอน เพราะขาดเจตนาในการกระทำความผิด
            แต่กรณีที่ผู้รับโอนก็ทราบดีว่าลูกหนี้ต้องการโอนทรัพย์เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แต่ก็ยังช่วยเหลือหรือร่วมมือในการรับโอนทรัพย์จากลูกหนี้ (if he knew the facts) ศาลไทยวินิจฉัยกรณีดังกล่าวอย่างไร

            แนวคำพิพากษาของศาลฏีกาไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2551

            การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนี้ จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว

            ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่ เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350

            ศาลไทยวินิจฉัยในประเด็นนี้โดยยึดตามแนวทางของศาลในประเทศอังกฤษ หากผู้รับโอนรู้ว่าลูกหนี้ต้องการโอนทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชระหนี้แล้วยังรับโอนทรัพย์สินมาโดยมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับลูกหนี้ ถือเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งมีความแตกต่างกันกับในทางตำรา

          เรื่องนี้ถ้าหากใครสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้นะครับในหนังสืออาญาภาคทั่วไปของอาจารย์เกียรติขจร ซึ่งมีความผิดหลายฐานที่ไม่อาจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้


.......................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

อ้างอิง : เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 10, น.736
           : สมยศ จันทรสมบัติ, วิทยานิพนธ์ “ผู้ร่วมในความผิดที่มิใช่ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน Necessary Participator” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2537