Tuesday 29 January 2013

การควบคุมอาชญกรรมกับความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย



การรักษาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญกรรม
กับความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย


รัฐ(State) ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐที่ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต อย่างเสรี เว้นแต่บางกรณี บางเรื่องเท่านั้นที่ไม่สามารถจะทำได้ ซึ่งเรื่องที่ทำไม่ได้หรือห้ามนั้นถือเป็นข้อยกเว้นของระบอบการปกครองนี้ และการที่รัฐจะจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จะทำได้จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้นตามหลักนิติรัฐ(Legal state)

เมื่อเกิดการละเมิดต่อกฎหมายที่รัฐห้ามแล้ว(เฉพาะคดีอาญา) รัฐจำเป็นจะต้องมีกระบวนการที่จะคุ้มครองความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นในแต่ละรัฐ จึงมีกระบวนการในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อคุ้มครองประชาชนคนอื่นๆ ให้ปลอดภัยจากการกระทำละเมิดกฎหมายอาญานั้น 


ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีแนวความคิดที่เกี่ยวกับการจัดรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม(Crime Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model) 

โดยแต่ละแนวนั้นมีความแตกต่างกันในแนวความคิดและมีความขัดแย้งกันคอยถ่วงดุล(balance ) กันอยู่

1. ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม(Crime Control Model)

เป็นรูปแบบที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมุ่งควบคุม ระงับ และปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก(ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องรวบรัด และมีประสิทธิภาพ) แม้การกระทำของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิ ของประชาชนก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมแล้วย่อมทำได้ เช่น ตำรวจเป็นผู้ออกหมายจับได้เอง มีอำนาจในการสืบสวนและสอบสวนคดีอย่างมาก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเอง

รูปแบบนี้จะเน้นไปที่การควบคุมและปราบปรามอาชญกรรมอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นเรื่องรองลงไป เช่น กระบวนการในการได้พยานหลักฐานมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากว่าพยานหลักฐานนั้นสามารถที่จะพิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยได้ ศาลก็อาจจะรับฟังได้ เพื่อลงโทษจำเลย

2. ทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model)

รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ และเป็นรูปแบบที่ยึดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม(Rule of Law) ที่ถือค่านิยมในเรื่องกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการต้องชอบด้วยกฎหมาย และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบซึ่งมักจะเกิดจากการที่รัฐมุ่งที่จะควบคุมอาชญากรรมโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชน เป็นเหตุให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกกระทบกระเทือนจากการปราบปรามอาชญากรรมของรัฐอย่างมาก


ดังนั้นรัฐที่ยึดถือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model) จึงต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เน้นหนักไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและ เสรีภาพของผู้บริสุทธิ์มิให้ถูกล่างละเมิดโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าพนักงานของ รัฐ เช่น สิทธิของผู้เสียหาย สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา สิทธิของจำเลย การค้น การจับจะต้องมีหมายซึ่งออกโดยศาล เป็นต้น

และหากบางกรณีมีพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ แต่หากว่ากระบวนการที่ได้มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่อาจจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ แม้พยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบก็ตาม




เช่น ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยก็มีการนำหลักการของทั้ง 2 ทฤษฎีมาเป็นแนวทางในการบัญญัติเป็นกฎหมายด้วย

มาตรา 78 "พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำ ความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 80 
(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติ การณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตาม มาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือ จำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117"

จะเห็นว่า 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคแรกบัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลัก Due Process Model ต้องมีหมายของศาลเสียก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการคุมครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการจับหรือค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้ศาลเป็นผู้คอยกลั่นกรองว่ามีเหตุอันสมควรให้ออกหมายหรือไม่

ส่วนตาม (1)-(4) นั้นเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้สามารถปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างทันถ่วงที ซึ่งเป็นไปตามหลัก Crime Control Model ที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา


จะเห็นว่าทฤษฎีการควบ คุมอาชญากรรม(Crime Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model) นั้น แม้จะมีขึ้นมาเพื่อให้สังคมนั้นอยู่รวมกันอย่างสงบสุขและมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมก็ตาม แต่มีความแตกต่างกันในแนวความคิดอยู่ หากรัฐมุ่งทีจะควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกระทบกระเทือนมากตามไปด้วย และหากรัฐมุ่งที่จะให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมาก การควบคุมอาชญากรรมอาจทำได้ไม่สะดวกซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการควบคุม อาชญากรรมก็ลดตามไปด้วย


เมื่อพิจารณาแล้วเหมือนกับว่าทั้งสองแนวความคิดทั้ง 2 แนวนั้นแตกต่างกัน จนอาจจะดูเหมือนเส้นขนานที่ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้ หากให้น้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งอีกทางก็ต้องเอนเอียง ต่ำหรือสูงไปด้วย(เปรียบดั่ง Crime Control Model นั้นเป็นแกน X ส่วน Due Process Model นั้นเป็นแกน Y)


ดังนั้นจึงเป็นความยากของรัฐและนักกฎหมายที่จะหาจุดสมดุล ระหว่างแนวคิดทั้ง 2 ทฤษฎี เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีอาญาของไทยมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมและ ในขณะเดียวกันก็กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเสรี หากให้น้ำหนักไปทางแนวความคิดใดแนวหนึ่งย่อมเสียสมดุลของกระบวนการยุติธรรม ทางอาญาไป



...............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

อ้างถึง เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา 


Monday 28 January 2013

ขั้นตอนการดำเนินคดีตาม “พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545”









ในคดียาเสพติดนั้นมีกฎหมายเฉพาะที่ได้กำหนดวิธีการดำเนินคดียาเสพติดไว้ต่างหากครับ และโดยเฉพาะผู้ที่เสพหรือครอบครองไว้เพื่อเสพ

ความผิดดังกล่าวนี้ เราถือว่า เป็นอาชญกรรมที่ไม่มีผู้เสียหาย (Victimless Crime) ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง เมื่อตัวเองเสพยาเข้าไปแล้วตัวผู้เสพเป็นผู้ได้รับผลร้าย มิใช่อาชญากรปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง และโดยที่ผู้เสพยาเสพติดจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดเพื่อแลกกับการได้ยาเสพติดไปเสพด้วย อันนี้เป็นแนวคิดและที่มาของการตรา “พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545”




มาตรา 19 "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้
การส่งไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ให้ศาลพิจารณาส่งตัวไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือการควบคุมตัวตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงอายุ เพศ และลักษณะเฉพาะบุคคลประกอบด้วย แล้วให้ศาลแจ้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทราบ
ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้ทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวอย่างแห่งใด

1. คดียาเสพติดที่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวต้องมีปริมาณเท่าใดที่จะถือว่าเป็น ผู้เสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติด

1. ยาเสพติดสำหรับฐานความผิดที่ถือว่าเป็นผู้เสพ ได้แก่ เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี โคคาอีน ฝิ่น และกัญชา

2. ยาเสพติดสำหรับฐานความผิดในข้อ 2-4 ต้องมีปริมาณ ดังนี้ เฮโรอีน มีน้ำหนักสิทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ยาอีไม่เกิน 5 เม็ด หรือไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม โคคาอีนไม่เกิน 200 มิิลลิกรัม ฝิ่นและกัญชาไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม





โปรดดูรายละเอียดของกฎกระทรวงได้ที่ www.correct.go.th/lawcorrects/lawfile/52005.pdf

2. ขั้นตอนวิธีการดำเนินคดีแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปนะครับ คร่าวๆ ดังนี้

1. เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนด ในกฎกระทรวงใน 4 ฐานความผิด คือ เสพ, เสพและครอบครอง, เสพและครอบครองเพื่อจำหน่าย, เสพและจำหน่ายยาเสพติด

2. พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายใน 48 ชั่วโมง (หากผู้ต้องหามีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ต้องส่งภายใน 24 ชั่วโมง) นับแต่ผู้ต้องหามาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่ง ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด

3. เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์และแจ้งต่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ ติดยาเสพติดแห่งท้องที่ พนักงานสอบสวนจะสอบสวนคดี แล้วส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย

4. เมื่อคณะอนุกรรมการรับตัวผู้ต้องหาไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ตามคำสั่งศาลแล้ว เจ้าหน้าที่จะบันทึกประวัติ พฤติกรรมในการกระทำความผิด สภาพแวดล้อม ของผู้ต้องหา รวมทั้งตรวจพิสูจน์ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับตัวไว้ เว้นแ่ต่มีเหตุจำเป็นคณะอนุกรรมการฯ อาจส่งให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีก ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งระหว่างนั้นผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวภายในสถานที่ควบคุมตัวเพื่อการตรวจ พิสูจน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์หรือสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชน

5. ระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อตรวจพิสูจน์ ผู้นั้นหรือผู้เกี่ยวข้องมีสิทธิร้องขอปล่อยชั่วคราว ต่อคณะอนุกรรมการฯ โดยมีประกันหรือไม่มีประกันก็ได้

6. หากคณะอนุกรรมการฯ วินิจฉัยว่าผุ้เช้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพ หรือผู้ติดยาเสพติดแล้ว จะแจ้งผลต่อพนักงานอัยการ พร้อมทั้งจัดแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่หากผลการตรวจพิสูจน์ ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ก็จะแจ้งผลพร้อมส่งตัวผู้ต้องหาคืนเพื่อดำเนินคดีต่อไป

7. เมื่อผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการฟื้นฟูฯ ตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเ้สพติดเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน หากผลการฟื้นฟูฯ ยังไม่เป็นที่พอใจ สามารถขยายออกไปอีกกี่ครั้งก็ได้ โดยครั้งหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน แต่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 3 ปี ซึ่งมีทั้งแบบควบคุมตัว และไม่ควบคุมตัว โดยแบบควบคุมตัวนั้น ผู้ต้องหาจะเข้่ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของกรมคุมประพฤติหรือในค่ายทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งกองร้อยอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ

8. การฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัวเป็นการฟื้นฟูในชุมชน ภายใต้ดูแลของสำนักงานคุมประพฤติกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนนั้น และหากผลการฟื้นฟูฯ ไม่เป็นที่น่่าพอใจ คณะอนุกรรมการฯ สามารถขยายระยะเวลาออกไปอีกกี่ครั้งก็ได้โดยครังหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

9. หากผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหลบหนี จากการควบคุมของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขัง ตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

10. เมื่อผู้ติด หรือผู้เสพยาเสพติด ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วน ตามแผนการฟื้นฟูฯ และผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัว แต่หากผลการฟ้ื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ยังไม่เป็นที่พอใจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะพิจรณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป





ขั้นตอนบำบัดอาจจะยุ่งยากไปหน่อย แต่โดยเจตนารมณ์ก็เพื่อไม่ให้ผู้ที่เสพนั้นกลับไปเสพยาเสพติดอีก หากเราใช้วิธีการแบบเดิม เช่น ส่งเข้าเรือนจำ ตอนเข้าไปอาจติดแค่ยาเสพติด แต่ออกมาอาจฆ่าคนเป็นด้วย หรือไปติดยาเสพติดชนิดอื่นมาอีก

และผลในทางกฎหมายต่างกัน หากเป็นผู้เสพและได้เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของการบำบัดแล้ว(อัยการจะชะลอการฟ้องไว้ก่อน) และหากเสร็จสิ้นการบำบัดแล้วก็พ้นจากการกระทำความผิด(ไม่เคยถูกดำเนินคดี) 

แต่การให้อัยการฟ้องคดีตามวิธีดำเนินคดีตามปรกติ แม้ศาลจะลงโทษไม่หนักแต่ก็จะมีประวัติติดตัวไปตลอด


............................................
พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕
http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538974651&Ntype=19


..............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา







กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

Saturday 26 January 2013

คำบอกเล่าของผู้ตายจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่




คำบอกเล่าของผู้ตายจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2530 


     "เกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตาย คือผู้ตายต้องระบุชื่อผู้ทำร้ายในขณะที่ผู้ตายรู้ตัวว่าหมดหวังที่จะมีชีวิตรอดอยู่ ทั้งนี้เพราะคนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้วกล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้วและไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมอีกต่อไป ส่วนจะถึงแก่ความตายเมื่อใดหาเป็นข้อสำคัญไม่

     คำบอกกล่าวของผู้ตายที่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำร้ายผู้ตาย แต่ไม่ได้ความว่าผู้ตายกล่าวในขณะที่รู้ตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่จึงขาดเกณฑ์สำคัญที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตายตามกระบวนความ แม้ผู้ตายจะสิ้นใจในอีก 10 นาทีต่อมา คำบอกกล่าวของผู้ตายเช่นนี้ย่อมไม่น่าเชื่อถือ"


1. พยานบอกเล่าจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใด (ในคดีนี้คือ คำบอกเล่าของพยานที่มาเบิกความคำพูดของผู้ตาย)

     โดยหลักแล้วพยานบอกเล่านั้นห้ามมิให้ศาลรับฟังโดยผลของ  ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 "ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
     ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่..."


     กฎหมายนั้นห้ามรับฟังพยานบอกเล่า ซึ่ง ม.226/3 นี้เป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดย เพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 ) แต่ตามกฎหมายก่อนมีการแก้ไขนั้นก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลว่าความไม่น่าเชื่อถือของพยานประเภทนี้ (unreliable) เพราะเป็นพยานที่ไม่ได้ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้มา เช่น ไม่ได้เห็นเหตุการณ์มากับตาตัวเอง ไม่ได้ได้ยินเสียงของเหตุการณ์นั้นด้วยหูตัวเอง แต่รู้เหตุการณ์มาเพราะฟังจากคำบอกเล่าของประจักษ์พยานหรือคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ทำให้โอกาสที่ข้อเท็จจริงจะคลาดเคลื่อนมีสูง


     แต่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2530 ที่เคยตัดสินไว้นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้ตายเข้าใจว่าใกล้ตายแล้วจึงบอกกับหมอและเจ้าหน้าที่ว่า ใครเป็นคนยิงผู้ตาย โดยศาลเห็นว่าคำพูดที่ผู้ตายกล่าวกับพยานย่อมน่าเชื่อถือ โดยให้เหตุผลว่า "คนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้วกล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้วและไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมอีกต่อไป"

     ซึ่งเป็นเหตุผลที่ปราศจากเหตุผลทางกฎหมายและเป็นอัตวิสัยของศาลอย่างมาก ไม่มีข้อพิสูจน์เลยว่า คนใกล้ตายจะไม่โกหก และคนใกล้ตายจะพูดความจริง 
ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมหากศาลตัดสินคดีโดยอาศัยอัตวิสัยที่ปราศจากเหตุผลและยังมีข้อน่าสงสัยอย่างยิ่ง

     แต่ตามกฎหมายใหม่นี้ได้เปิดช่องให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ โดยมีเงื่อนไขว่า


     ม.226/3 วรรคสอง "ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้าน ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้น ยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน"


แต่ก็ต้องติดตามดูแนวคำวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลจะตีความบทบัญญตินี้ในการรับฟังพยานบอกเล่าอย่างไรต่อไป แต่พยานบอกเล่านั้นหากจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่น้ำหนักก็น้อยเหตุเพราะความไม่น่าเชื่อถือนั้นเอง



คำพิพากษาเกี่ยวกับการรับฟังพยานบอกเล่า


1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7240/2554

แม้ชั้นพิจารณา โจทก์จะมีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยไม่เคยเอาอวัยวะเพศจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อถอดกางเกงของผู้เสียหายออกมาดูอวัยวะเพศ ไม่มีรอยช้ำบวมก็ตาม แต่ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายซึ่งได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นาน โดยผู้เสียหายให้การต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ คำให้การของบุคคลทั้งสามต่อเนื่องเชื่อมโยงเหตุการณ์เป็นลำดับขั้นตอนสมเหตุผล นอกจากนี้ ยายผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุที่เบิกความแตกต่างจากที่ให้การไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นลุงผู้เสียหายได้รับโทษจำคุก ทั้งจำเลยได้ชดใช้เงินให้จนฝ่ายผู้เสียหายพอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย เชื่อว่าผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2554

ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ได้ขัดขืนเพราะเห็นว่าจำเลยเป็นบิดา แต่ให้การตามบันทึกคำให้การต่อหน้าบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอ พนักงานอัยการ และนักสังคมสงเคราะห์ว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ร้องขอไม่ให้จำเลยทำ จำเลยไม่ฟังและผู้เสียหายก็มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่มีแรงที่จะขัดขืน ผู้เสียหายเป็นบุตรจำเลยและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายยังรักจำเลยและไม่ประสงค์จะเอาเรื่องจำเลย เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อกว่าคำเบิกความ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าแต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ประกอบกับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่บุตรจะยินยอมให้บิดากระทำชำเรา คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงมีเหตุผลหนักแน่นรับฟังได้

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3468/2554

พยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอก ว. และสิบตำรวจตรี ส. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งยังเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 เชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริงที่ประสบพบมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษ นอกจากนี้พยานโจทก์อีกสองปากก็เป็นพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นและพบเมทแอมเฟตามีนในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 มานอนค้างที่บ้าน อีกทั้งพยานโจทก์ทั้งสี่ยังเบิกความสอดคล้องต้องกันกับพยานเอกสารว่า ขณะที่ร้อยตำรวจเอก ว. กับสิบตำรวจตรี ส. ตะโกนเรียกบุคคลในบ้านเพื่อให้เปิดประตู ไฟยังเปิดอยู่และปิดในเวลาต่อมา แต่ก็ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความว่า สิบตำรวจตรี ส. สวมไฟฉายที่สามารถส่องสว่างได้ในระยะไกลกว่า 10 เมตร อยู่ที่ศีรษะ ขณะที่ปีนฝาผนังกั้นห้องเพื่อเข้าไปเปิดประตูนั้น เห็นจำเลยที่ 4 วิ่งไปที่บริเวณโอ่งน้ำ ซึ่งก็สัมพันธ์กับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่าย จึงน่าเชื่อว่าสิบตำรวจตรี ส. เห็นจำเลยที่ 4 อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้ความจากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งกระทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุเพียง 1 วันด้วยว่า เมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเป็นของจำเลยที่ 4 ที่นำไปทิ้งในโอ่งน้ำขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้น แต่ด้วยความรีบร้อนทำให้เมทแอมเฟตามีนบางส่วนตกหล่นที่พื้น ซึ่งแม้บันทึกคำให้การดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่าและถือเป็นพยานซัดทอด ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้รับฟังก็ตาม แต่ก็มิได้ต้องห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานดังกล่าวนั้น ประกอบกับโจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนทำให้พยานหลักฐานของโจทก์น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642 - 2643/2554

คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ส. , จ. และ ช. ล้วนสอดคล้องต้องกัน แม้เป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่การที่ ส. , จ. และ ช. ให้การไปดังกล่าว เพียงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวถึงที่มาของเมทแอมเฟตามีนมิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้ว ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพังนอกจากนั้น ส. กับ จ. ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 โดย ส. เป็นน้องชายและ จ. เป็นภริยา จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องการกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 1 พยานบอกเล่าและพยานซัดทอดเช่นนี้ถือได้ว่ามีลักษณะและแหล่งที่มา ซึ่งน่าเชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ความจริงได้ จึงนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส. และ จ. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ส่วนจำเลยที่ 2 เพียงร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งขายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่การที่จำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งขายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีไว้จำหน่ายอีกทอดหนึ่งนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว
โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก


ค้นคำพิพากษาฎีกาต่อได้ที่ http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/searchlist.jsp
.........................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา






กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

Wednesday 16 January 2013

คุณมีสิทธิที่จะไม่ให้การ You have the right to remain silent.


โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท., น.ม.


หลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญา

ในการดำเนินคดีอาญานั้นนอกจากรัฐจะดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษแล้ว รัฐยังต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิดด้วยควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของผู้กระทำผิดมากเกินไป(การดำเนินคดีอาญากับผู้ใดย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชน) จึงต้องมีการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวโดยการบัญญัติเป็นกฎหมายไว้ เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชน เช่น การจับ การค้น ต้องมีหมายจับหมายค้นเป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว เพื่อให้มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการเคารพและถูกนำไปปฏิบัติ จึงมีความจำเป็นจะต้องกำหนดผลในทางการหมายของการไม่ปฎิบัติตามหลักการดังกล่าว เช่น มีผลทำให้ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

กระบวนยุติธรรมที่ดีจึงต้องเป็นกระบวนยุติธรรมที่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ(Crime control และในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิด(Due process)ไปพร้อมๆ กัน

ที่มาของสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมผู้ต้องหา ต้องแจ้งให้ผู้ต้องทราบเสียก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้นั้น เป็นหลักที่ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาได้วินิจไว้ในคดี Miranda v. Arizona (1966) ซึ่งศาลวินิจฉัยวางหลักไว้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำการแจ้งให้ผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุม หรือก่อนทำการสอบสวนว่า "เขามีสิทธิจะไม่ให้การใดๆ เลยก็ได้ ถ้อยคำที่เขากล่าวออกมาอาจใช้เป็นพยานยันแก่เขาได้ในชั้นศาลได้ เขามีสิทธิที่จะมีทนายความอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการสอบสวน หากเขาไม่สามารถจัดหาทนายความได้เอง จะมีการแต่งตั้งทนายความให้แก่เขาก่อนเริ่มการสอบสวน ถ้าเขามีความประสงค์เช่นนั้น (You have the right to remain silent. Anything you say can and will be used against you in a court of law. You have the right to an attorney present during questioning. If you cannot afford an attorney, one will be appointed for you. Do you understand these right?) 

จากคดี Miranda v. Arizona ศาลฎีกาของสหรัฐได้วินิจอันเป็นที่มาของหลักการทางอาญา 2 ประการ (เรียกว่า Miranda Rule) คือ

          1) สิทธิที่จะไม่ให้การ
          2) สิทธิในการมีทนายความ

สิทธิทั้ง 2 ประการ เป็นหลักการทั่วไปที่ประเทศต่างๆ นำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความของตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญา

แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า แม้แต่ละประเทศจะบัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ ที่ทำการจับกุม ควบคุมตัว หรือสอบสวนต่องแจ้งสิทธิดังกล่าวเสียก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงอาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหลงลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ถูกจับ ถูกควบคุมตัว หรือสอบสวนทราบ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องกำหนดผลของการไม่ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวไว้ เช่น 

หากไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวก่อนมีการจับกุม ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อกำหนดผลไว้อย่างนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าผู้ที่ทำการจับหรือสอบสาวนได้ตระหนักถึงหลักการดังกล่าวมากขึ้น เพราะหากฝ่าฝืน เมื่อมาถึงชั้นศาล ถ้อยคำของจำเลยที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านั้น ไม่อาจจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เลย 

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง (Privilege against self - incrimination)

เป็นสิทธิอันสำคัญของผู้ต้องหาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยหมายถึง "บุคคลไม่อาจถูกบังคับให้ปรักปรำตนเอง" ซึ่งหลักการนี้นี้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ(แก้ไจเพิ่มเติมมาตรา 5) ที่บัญญัติว่า "บุคคลไม่อาจที่จะถูกบังคับให้เป็นพยานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญา"(no person ... shall be compelled to be a witness against himself)


สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง นี้ใช้กับพยานหลักฐานที่เป็นถ้อยคำ(Testimony) เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะบังคับให้บุคคลใดกล่าวถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดีอาญาไม่ได้ 


แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำแล้ว เช่น บังคับให้เจาะเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เซ็นชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ จะไม่อยู่ภายใต้หลักการนี้


สิทธิดังกล่าวนี้แม้จะได้เป็นสิทธิที่ผู้ต้องหามีตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย หากว่าผู้ต้องหาไม่ทราบถึงการมีสิทธิดังกล่าว ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ผู้ที่ทำการจับกุมหรือสอบสวนจะต้องเป็นผู้แจ้งสิทธิ์นั้นให้ผู้ต้องหาทราบก่อนจับหรือสอบสวนว่า "เขามีสิทธิจะไม่ให้การก็ได้  ถ้อยคำที่เขากล่าวออกมาอาจใช้เป็นพยานยันแก่เขาได้ในชั้นศาลได้ " เพื่อให้ผู้ที่ถูกจับกุมทราบและเข้าใจถึงสิทธิ์ดังกล่าว เมื่อผู้ต้องทราบแล้วหากผู้ต้องหาให้การก็ถือว่าเป็นการให้การโดยสมัครใจ (voluntary) 


และในการสอบสวนซึ่งเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ต้องหาอย่างมาก กฎหมายยังกำหนดให้มีทนายความ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหาเข้าฟังการสอบสวนได้อีกด้วย ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายความรัฐก็ต้องจัดหาทนายความให้ตามความประสงค์ของผู้ต้องหา



สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในกฎหมายไทย


ในประเทศไทยมีการนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 


เช่น ป.วิ.อาญา 


มาตรา 83 วรรคสอง "ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือ ผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้ โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย


มาตรา 134/4 "ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
             (1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
            (2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
     เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
     ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้"

ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยนั้นได้รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ทั้ง ซึ่งหมายความว่า ก่อนที่จะมีการจับหรือสอบสวน พนักงานที่ทำการจับหรือสอบสวนจะต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบและเข้าใจถึงสิทธิดังกล่าว พร้อมต้องจัดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิ(ทนายความ) เข้าฟังการสอบสวนด้วยได้

หากไม่มีการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวกฎหมายก็ยังมีบท Sanction เอาไว้ว่าถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ก่อนมีการแจ้งสิทธิ ไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด


ผู้เขียนเห็นว่า การไม่ให้ถ้อยคำของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ดังนั้น การจะให้หรือไม่ให้ถ้อยคำย่อมสามารถกระทำได้โดยอาศัยความสมัครใจของผู้ถูกจับหรือผู้ต้อง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพยายามแสวงหาหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดและบริสุทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา มิใช่การบังคับหรือล่อลวงให้เขาให้การใด ๆ ที่เขาไม่ได้สมัครใจ เพราะแม้เขาจะได้กระทำความผิดจริง แต่เขาก็มีสิทธิปฏิเสธและต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย

ดังนั้น การที่รัฐมองการปฏิเสธที่จะให้ถ้อยคำของผู้ต้องหา ว่าเป็นการกระทำที่มีพิรุธและส่อว่าได้กระทำความผิดจริง จึงขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองประชาชนที่ถูกดำเนินคดี 

สายตาที่มองผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา แม้กระทำจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง ทั้งที่การพิสูจน์ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ย่อมขัดกับหลักการ "ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด"


ป.ล.โปรดอ่าน



กฎหมายพยานหลักฐาน ตอนที่ 1 http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/1.html



กฎหมายพยานหลักฐาน ตอนที่ 2 http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/blog-post.html









กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน