Friday 22 February 2013

หลักการดำเนินคดีอาญา



หลักการดำเนินคดีอาญา






     เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นมาแล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐที่จต้องทำการปราบปรามความผิดที่ได้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐ โดยเฉพาะการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา เพื่อไม่ให้ประชาชนในรัฐใช้กำลังจัดการแก้แค้นกันเองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เหมือนแต่ก่อนจะมีการสถาปนารัฐเกิดขึ้น รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อจัดการกับความผิดดังกล่าว กลไกเช่นว่านี้ คือ กระบวนยุติธรรมทางอาญา เช่น การมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล

     โดยองค์กรต่างที่รัฐสร้างขึ้นมานี้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งมาจากหลัก The rule of Law อันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐ แต่รัฐเองก็ไม่สามารที่จะบัญญัติกฎหมายให้ครอบคุมได้ทุกกรณีหรือในบางกรณีรัฐก็ต้องปล่อยให้บางองค์กรสามารถใช้อำนาจได้ตามดุลพินิจบ้าง ตามความเหมาะสม ซึ่งหลักการพื้นฐานอันเป็นที่มาของการดำเนินคดีอาญาขององค์กรดังกล่าว มีพื้นฐานมาจากหลักการดังต่อไปนี้


1. หลักการดำเนินคดีอาญาตามตามกฎหมาย (Legality Principles)

     เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น และการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดอาญาแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เริ่มดำเนินคดีกับผู้ที่ได้การทำความผิดทุกกรณี โดยจะมีผู้ร้องทุกข์หรือไม่[1] ก็ต้องทำการสอบสวนฟ้องร้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างนั้น ไม่สามารที่จะใช้ดุลพินิจไปในทางอื่นได้ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแล้วอัยการจะถอนฟ้องคดีผู้นั้นต่อศาลไม่ได้ จะต้องดำเนินคดีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด[2] ซึ่งเป็นหลักประกันความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชน ว่าเมื่อใดก็ตาม หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แล้วประชาชนที่ได้กระทำความผิดนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีและเข้าสู่กระบวนยุติธรรมอย่างเดียวกัน  และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดทุกกรณีนั้นยังเป็นการป้องกันการใช้อิทธิพลเพื่อแทรกแซงการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนยุติธรรมด้วย และเมื่อเข้าสู่กระบวนยุติธรรมแล้ว ย่อมไม่อาจจะยุติการดำเนินคดีได้ เพราะถือว่าคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วตาม “หลักเปลี่ยนแปลงมิได้” ซึ่งถือเป็นหลักประกันในทางอาญา และเมื่อพิจารณาตามหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย(Legality Principles) แล้วจะเห็นว่ามาจากแนวคิดทฤษฏีแก้แค้น ซึ่งเปรียบเสมือนการดำเนินคดีอาญาของรัฐนั้นเปรียบเสมือนเป็นการแก้แค้นทดแทน ผู้ที่ได้กระทำความผิดแทนผู้เสียหาย



     การฟ้องคดีของอัยการในระบบนี้นั้นการพิจารณาว่าฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า การกระทำของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดอาญาครบถ้วนหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำครบองค์ประกอบความผิดจริงก็ต้องฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาลเสมอ และในบางกรณีหากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ศาลก็มีอำนาจที่จะเรียกสำนวนการสอบสวนไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และหากศาลมีความเห็นแตกต่างจากอัยการ ศาลก็มีอำนาจสั่งให้อัยการฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นต่อศาลได้

     หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย(Legality Principles) นั้นถือว่าเป็นหลักประกันความเสมอภาคให้กับประชาชนทุกคน หากมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดอาญาแล้ว ผู้นั้นต้องถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะกระทำความผิดด้วยเหตุใดก็ตาม ดังนั้นทำให้ตัดปัญหาเรื่องการใช้อิทธิพลในการเข้าแทรกแซงกระบวนยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรมก่อนจะถึงชั้นศาลไม่อาจจะใช้ดุลยพินิจในการไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่มีมูลได้ แต่หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายนั้นมีข้อเสีย คือ ไม่มีการกลั่นกรองคดีที่ขึ้นสู่ศาลทำให้มีประมาณที่ขึ้นสู่ศาลมีจำนวนมาก และเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายนั้นทำให้อัยการไม่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดี จะมีหน้าที่เพียงแต่เป็นผู้นำจำเลยฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น และเป็นการดำเนินคดีที่แข็งกระด้างเกินไปทำให้การดำเนินคดีอาญานั้นไม่ยืดหยุ่นและอาจไม่เหมาะสมกับสภาวะทางสังคม


2. หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle)
                   
     หลักการดำเนินตามดุลพินิจนั้น เป็นหลักที่ตรงกันข้ามกับหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจในการไม่ดำเนินคดีอาญาที่มีมูล ซึ่งปรากฏตามการสอบสวนและพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือมีมูลว่าน่าจะกระทำความผิด ซึ่งอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจเป็นคดีๆ ไป โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่อง หากมีเหตุที่ไม่สมควรจะฟ้องผู้ต้องหารายนั้นต่อศาล  เช่น อายุ บุคลิกภาพลักษณะ สภาพแวดล้อมของผู้กระทำผิดและองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งทำให้อัยการสามารถที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีกับผู้ต้องหารายนั้นได้ และจากหลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลยพินิจนี้แม้อัยการจะได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว หากเห็นว่าไม่ควรจะดำเนินคดีอาญากับจำเลยนั้นอีกต่อไป อัยการก็สามารถถอนฟ้องคดีนั้นจากศาลได้[3]
                   
     เนื่องจากการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นเป็นการเข้มงวดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้มีการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่ศาล การที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้อัยการสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีมีมูลได้นั้น เป็นการคลายความเข้มงวดของการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามทฤษฏีการลงโทษในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนแปลงไป จากการลงโทษที่มุ่งแก้แค้นทดแทน ซึ่งเรียกว่า “ทฤษฎีแก้แค้น (retributive theory) มาเป็นการลงโทษโดยมุ่งเพื่อ”การป้องกันทั่วไป”(General Prevention)[4] กล่าวคือ การลงโทษควรกระทำเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเห็นว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้นิ่งดูดายกับการกระทำความผิดอันนั้น และเป็นการเตือนบุคคลที่ยังไม่ได้กระทำความผิดให้ตระหนักว่าหากเขาได้กระทำความผิด เขาอาจะจะต้องถูกดำเนินคดี และการลงโทษยังต้องเหมาะสมกับการกระทำความผิดและความชั่วของผู้กระทำเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นกลับตัวกลับใจไม่กระทำความผิดต่อไป ซึ่งเป็นการลงโทษโดยมีจุดประสงค์เฉพาะ “การป้องกันพิเศษ” (Special Prevention)
                
     ข้อดีของการฟ้องคดีของอัยการที่สามารถใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีอาญาได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพสังคมแลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป[5] ทำให้อัยการสามารถที่จะกลั่นกรองคดีอาญาก่อนขึ้นสู่ศาลได้ หากคดีใดอัยการเห็นว่าการไม่ฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ก็จะช่วยกั่นกรองคดีที่ไม่สมควรจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ช่วยให้คดีอาญาไม่ล้นศาล และการสั่งไม่ฟ้องคดีมีมูลของอัยการยังสามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะคดีอาญาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างอาศัยกฎหมายอาญาเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง และคดีความผิดทางการเมืองนั้น ซึ่งผู้กระทำความผิดมีความแต่ต่างจากผู้กระทำความผิดอาญาทั่วไป อัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีความผิดอาญาทางการเมืองที่มีมูลได้ 





เฉลิมวุฒิ สาระกิจ 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยพะเยา




[1] คณิต ณ นคร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6. น. 401.
[2] ณรงค์ ใจหาญ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5. น. 33.
[3] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, “ดุลพินิจในการไม่ฟ้องคดีอาญาที่มีมูลของอัยการในสหรัฐอเมริกา” , วารสารนิติศาสตร์,  ปีที่ 10, ฉบับที่ 1, (พ.ศ. 2525). น. 160.
[4] คณิต ณ นคร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6. น. 402.
[5] ณรงค์ ใจหาญ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5. น. 34.

Wednesday 20 February 2013

Parties to Crime(ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด)

ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด
Parties to Crime


โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจน.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท., น.ม.(กฎหมายอาญา)



  แนวความคิดเกี่ยวกับ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

          ความรับผิดของผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น มาจากแนวความคิดเรื่อง ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น (Inchoate Crime) ซึ่งการกระทำของผู้ใช้นั้นกฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่ไปก่อให้ผู้อื่นเกิดเจตนากระทำความผิดขึ้นมา แม้ว่าการกระทำความผิดนั้นจะยังไม่ทันได้กระทำลงผู้ใช้ก็มีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายแล้ว (ตามกฎหมายไทยรับโทษหนึ่งในสาม) ส่วนแนวความคิดเรื่องผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด กฎหมายประสงค์จะลงโทษคนที่มีส่วนร่วมในกากระทำความผิด ไม่ว่าจะมีส่วนมากหรือน้อยเพียงใด ก็ต้องรับโทษหากความผิดที่ตนเองได้มีส่วนร่วมได้กระทำลง ซึ่งผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมี 2 ประเภท คือ ตัวการ และผู้สนับสนุน

เพื่อให้เข้าใจในหลักการดังกล่าวขออธิบายตามกฎหมาย ของ Common Law ได้แยกผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดออกเป็น 4 ประเภท

          1. Principal in the first degree หมายถึง ผู้ลงมือกระทำความผิด เช่น เป็นคนยิง เป็นคนใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เป็นคนเอาทรัพย์ไป เป็นคนหลอกลวงเหยื่อ

          2. Principal in the second degree หมายถึง ตัวการ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด เช่น คนคอยดูต้นทาง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ (อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ)

          3. Accessory before the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิด "ก่อน" ที่จะมีการลงมือกระทำผิด แต่มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือใกล้กลับที่เกิดเหตุ

          4. Accessory after the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว เช่น การช่วยเหลือให้หลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม

          ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย Principal in the first degree หมายถึง บุคคลที่เป็นผู้ร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิด ซึ่งเรียกว่า ตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

          ส่วน Accessory before the fact คือ บุคคลที่ให้การช่วยเหลือก่อนที่ผู้ กระทำผิดจะได้ลงมือกระทำผิด เช่น ให้ยืมอาวุธ ให้ยืมพาหณะ ซึ่งตามกฎหมายอาญาไทยเรียกว่า "ผู้สนับสนุน" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น" (ตามกฎหมายอาญาไทยการช่วยเหลือ ก่อน หรือ ขณะกระทำความผิด)

           ส่วน Accessory after the fact ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว ตามกฎหมายอาญาของไทย ไม่ถือว่าเป็นความผิดร่วมกับผู้กระทำผิด เช่น หลังจากนายดำผู้กระทำผิดได้ลักทรัพย์แล้วกลัวตำรวจจับ หนีไปยังบ้านนายแดงซึ่งให้ที่หลบซ่อน แม้นายแดงจะทราบอยู่ก่อนแล้วว่านายดำไปลักทรัพย์มา นายแดงก็ยังให้ที่หลบซ่อน นายแดงก็ไม่ใช่ผู้สนับสนุนในความผิด ฐานลักทรัพย์ เพราะตามกฎหมายอาญาของไทย ผู้สนับสนุนหมายถึง ผู้ที่ให้การช่วยเหลือ ก่อน ที่จะลงมือกระทำผิดเท่านั้น หากเป็นการให้ความช่วยเหลือหลักจากระทำผิด ก็ต้องไปพิจารณาดูอีกทีว่า การกระทำของผู้ให้การช่วยเหลือ มีการบัญญัติเป็นความผิดไว้ต่างหากหรือไม่

          เช่น อาจมีความผิดฐานให้ที่พำนักหรือซ่อนเร้น ผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 "ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำ ความผิด หรือเป็นผู้ต้อง หาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
..................................


อ้างถึง ศ.ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย(English for Lawyer)

โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/0B0VwqdXbq_GSYk1tb2VUSUdKY1U/view?usp=sharing


แต่หากสนใจซื้อไปอ่านทั้งเล่มเชิญตามลิ้งด้านล่างครับ


คำค้นหา : ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน






Saturday 16 February 2013

การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง



การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง





1. ทำไมต้องห้ามไม่ให้มีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          คดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูง(ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา) ควรเป็นคดีที่มีความสำคัญซึ่งมีโทษตามกฎหมายค่อนข้างสูง ส่วนคดีเล็กๆ น้อยๆ เมื่อได้มีการต่อสู้คดีกันในศาลชั้นต้น จนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วควรจะเสร็จสิ้น หากปล่อยให้คดีอาญาขึ้นสู่การพิจารณาศาลสูงมากเกินไปทั้งคดีเล็กๆ น้อยๆ จะกลายเป็นภาระของศาลสูงซึ่งมีน้อย และหากปล่อยมีการต่อสู่กันในข้อเท็จจริงในคดีเล็กๆน้อยๆ ก็จะทำให้คดีต้องล่าช้า อันอาจส่งผลกระทบทั้งต่อโจทก์และโดยเฉพาะจำเลยที่ต้องเสียเสรีภาพในระหว่างการดำเนินคดี

          ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้คดีที่จะสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้จะต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท (จะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การห้ามไม่ให้มีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นการ screening คดีที่จะขึ้นสู่ศาลสูงนั้นเอง)

2. หลักเกณฑ์ของการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
     (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก
     (2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลง โทษไว้
     (3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษ ไว้ หรือ
     (4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท"
         
          โดยหลักแล้ว ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง หมายถึง การห้ามตามมาตรา 193 ทวิ ต้องเป็นการโต้แย้งเนื้อหาแห่งคำฟ้องหรือประเด็นแห่งคดี หากเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ เช่น การอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลที่ไม่รับฟ้อง, อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้งดสืบพยาน, กรณีร้องขอคืนของกลาง ตาม ป.อ.มาตรา 36 ไม่อยู่ภายใต้มาตรานี้ เพราะไม่ได้เป็นการโต้แย้งเนื้อแห่งคำฟ้องหรือเกี่ยวกับประเด็นแแห่งคดี

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง แล้วปัญหาข้อเท็จจริงคืออะไร ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้

          1. ปัญหาเกี่ยวกับการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลหรือดุลพินิจในการมีคาสั่งชี้ขาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

          2. ปัญหาใดที่ว่ามีพฤติการณ์หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะตอบได้โดยไม่ต้องดูตัวบทกฎหมาย

          3. ปัญหาที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดี

          4. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจ เช่น การลงโทษหนักเบา

โดยหลักแล้ว ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวหาก(ดูโทษเป็นสำคัญ)


          ในคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (หากคดีที่อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 3 ปีขึ้นไปหรือปรับเกิน 60,000 บาทขึ้นไป คู่ความย่อมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เสมอ )

          ข้อยกเว้น ถ้าหากคดีนั้นแม้จำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท(ต้องห้ามตามวรรค 1)  แต่ปรากฎว่าในคดีนั้น

          (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก
          (2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลง โทษไว้
           (3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษ ไว้ หรือ
          (4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท

          ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งแม้โทษตามวรรค 1 ไม่เกิน 3 ปี จำเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ 494/2551
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาเอารถยนต์ของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 หากโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับการพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นคนละกรณีกับสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์ ซึ่งการอุทธรณ์ดังกล่าวต้องพิจารณาจากอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือที่กล่าวในคำฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ลักรถยนต์ของโจทก์ไป และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาทเท่านั้น จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

จากคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้วางหลักไว้ว่า
ประเด็นที่ 1
          ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ความผิดฐานลักทรัพย์เหตุฉกรรจ์ ตาม ป.อ. มาตรา 335 หากโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 (ความผิดฐานลักทรัพย์) ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง (ลองอ่านมาตรา 192 ดูนะครับว่าทำไมจึงลงโทษได้)

ประเด็นที่ 2
          เมื่อศาลลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี โจทก์จึงต้องห้ามมิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง (เวลาดูโทษที่อุทธรณ์ว่าเกินหรือไม่ให้ดูโทษที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ในคดีมีข้อสังเกตว่าโจทก์บรรยายฟ้องเป็น 334 แต่ขอให้ลงโทษตาม 335 ซึ่งเมื่อไม่บรรยายฟ้องศาลก็ไม่อาจลงโทษ เพราะถือว่าเกินคำขอ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่โทษจำคุกไม่เกินสามปี)
          แต่ถ้าจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหากคดีนั้นโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องห้ามเช่นเดียวกัน แต่หากเป็นไปตาม(1)-(4) จำเลยอุทธรณ์ได้ฝ่ายเดียว เช่น ศาลลงโทษว่าจำเลยลักทรัพย์ ตาม มาตรา 334 ลงโทษจุกคุกจำเลย 6 เดือน จะเห็นว่าโจทก์นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามวรรค 1 แต่จำเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะเข้ากรณีตาม (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก

ข้อสังเกตุ
          1. แม้ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สนมูลฟ้องเพราะผู้เสียหายไม่มีพยานมาสืบ หากจะอุทธรณ์ต้องพิจารณาตาม มาตรานี้

          2. ในกรณีมีหลายข้อหา
                    - ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยหลายข้อหา ให้พิจารณาว่าความผิดที่จำเลยกระทำหลายข้อห้านั้นเป็นเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรม(ต่างกรรมต่างวาระ)
                   - หากเป็นการกระทำหลายกรรมให้แยกพิจารณาเป็นกรรมๆไป ว่าแต่ละข้อหาแต่ละกรรมนั้นต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2522 การวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ หรือไม่ต้องพิจารณาความผิดแต่ละกระทง แม้ความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ศาลก็ต้องถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม)
                   - หากการกระทำนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท(เจตนาเดียว) ให้พิจารณาเฉพาะอัตราโทษของบทหนักสุดว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2521 การอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ความผิดตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับการกระทำในกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่งมีอัตราโทษในบทหนักตามมาตรา 289,80 ถึงจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้น จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193ทวิ)

                   * - แต่ถ้าหากโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจทก์ ฐานใดฐานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2535
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือและผ้าโสร่งไหม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรผ้าโสร่งไหมตามมาตรา 357 มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรสร้อยข้อมือด้วย ดังนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือ ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงในความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 334 หรือรับของโจรตามมาตรา 357 เฉพาะเรื่องผ้าโสร่งไหมนั้นก็เป็นการกระทำคนละกรรมความผิดกัน ความผิดตามมาตรา 334 ในส่วนนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน ฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับผ้าโสร่งไหมโจทก์และโจทก์ร่วมคงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 เท่านั้น ในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฉบับ คงอุทธรณ์แต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าผ้าโสร่งไหมเป็นของโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่มีคำฟ้องอุทธรณ์ส่วนใดที่ได้แสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาจะมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานรับของโจรอันเป็นความผิดที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อพอที่จะอ้างอิงให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายอุทธรณ์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาฎีกาที่  6698/2554
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. มารดา ช. ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด แต่ก็พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 เพราะตามฟ้องโจทก์ระบุว่า ช. ได้รับอันตรายสาหัส ช. จึงเป็นผู้เสียหายแต่เฉพาะในข้อหาดังกล่าวเท่านั้น ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ซึ่งความผิดตาม ป. อ. มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ  จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบท บัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

..............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

Friday 8 February 2013

การถอนฟ้องคดีอาญา



     ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35 กำหนดไว้ว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาต ให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่น ในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้าน หรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้าน การถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย


     เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยหลักแล้ว การจะถอนฟ้องคดีอาญาได้ต้องยื่นเป็นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาล เว้นเสียแต่ว่า คดีอาญานั้นหากเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายได้ขอถอนคำร้องทุกข์ต่อพนังงานสอบสวน ก็ถือว่าผู้เสียหายมีเจตนาต้องการจะถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวด้วยเช่นกัน พนักงานอัยการก็ต้องยื่นคำร้องถอนฟ้องต่อศาลให้ เพราะเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว มีผลทำให้คดีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปโดยผลของ ป.อ.มาตรา 39 "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย"


     เว้นแต่ในคดีความผิดอันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ที่ปรากฎว่าคำร้องขอถอนฟ้องนั้นได้ยื่นก่อนจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลไม่ต้องถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ หรือแม้จำเลยจะคัดค้านก็ไม่มีผลให้ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้อง เพราะถือว่าการถอนฟ้องก่อนที่จำเลยจะยื่นคำให้การไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลย แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้ว การที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้โดยไม่ถามจำเลย อาจเป็นไปได้ว่าโจทก์เห็นคำฟ้องของตนบกพร่อง เมื่อฟ้องต่อไปอาจทำคดีอาญานั้นเสียหายได้ จึงต้องการถอนฟ้อง กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลถามจำเลยเสียก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่)





เมื่อได้ถอนฟ้องคดีอาญาแล้ว ผลของการถอนฟ้องจะเป็นประการใดเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 "คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้อง อีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้ 

(1) ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหาย ที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่  
(2) ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปโดย มิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนนั้นไม่ตัด สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่  
(3) ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้ว ได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่ คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว" 







     พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัยและนายรุ่นเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายนายเต๋าผู้เสียหาย ก่อนสืบพยานโจทก์นัดแรก นายเต๋ายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเต๋าเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ระหว่างดำเนินคดี นายเต๋าไม่พอใจแนวทางการดำเนินคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยระบุว่ามีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับความเห็นของพนักงานอัยการโจทก์ หากโจทก์ร่วมดำเนินคดีนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้นายเต๋าถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม ต่อมาภายหลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี นายเต๋าได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเพื่อจะใช้สิทธิชั้นอุทธรณ์ฎีกาต่อไป



     การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเต๋าเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในครั้งแรก แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่านายเต๋าเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการได้ เสมือนนายเต๋าเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังนั้น การที่นายเต๋าขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมระบุว่าหากดำเนินคดีต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี โดยไม่ปรากฏว่านายเต๋าจะไปดำเนินการอะไรอีก ถือได้ว่านายเต๋าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาดแล้ว ดังนั้น นายเต๋าจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังอีกไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 (คำพิพากษาฎีกา 7241/2544)