Monday 23 December 2013

การกระทำครบองค์ประกอบภายใน


การกระทำครบองค์ประกอบภายใน[1]

Overview
         
         เมื่อพิจารณาการกระทำตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญา โครงสร้างข้อที่ 1 การกระทำครบองค์ประกอบความผิด ซึ่งแยกพิจารณาออกเป็นสองส่วน คือ การกระทำครบองค์ประกอบภายนอก และการกระทำครบองค์ประกอบภายใน เมื่อการกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกแล้ว (มีผู้กระทำ การกระทำ และวัตถุแห่งการกระทำ) สิ่งที่เราจะพิารณาต่อไป คือ การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายในหรือไม่ ซึ่งความผิดอาญาแต่ละฐานความผิดล้วนต้องมีองค์ประกอบภายใน เว้นแต่ความผิดที่เป็นความรับผิดเด็ดขาด อาจต้องรับผิดแม้ไม่เจตนาและประมาท

ต่อไปนี้จะขออธิบาย องค์ประกอบภายใน (เจตนาและประมาท)



องค์ประกอบภายใน (Internal elements)

          หมายถึงองค์ประกอบที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เพราะเป็นส่วนที่อยูู่ในจิตใจของผู้กระทำ ซึ่งเราจะพิจารณาส่วนที่อยู่ในจิตใจนี้ได้จากการกระทำ โดยหลักการที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” โดยที่องค์ประกอบภายในนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ เจตนาและประมาท
  
          มาตรา 59 “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”


บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต้อเมื่อ

1. กระทำโดยเจตนา
2.  กระทำความโดยประมาท
3. กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (strict liability) หรือความรับผิดเด็ดขาด ซึ่งไม่ใช่องค์ประกอบภายใน เพราะไม่ใช่ส่วนที่อยู่ภายในจิตใจ

ตัวอย่างเช่น

          1. ความรับผิดจากการกระทำโดยเจตนา เช่น ม.288 ม.334 ม.276
          2. ความรับผิดจากการกระทำประมาท เช่น ม.291 ม.300
          3. ความรับผิดจากการกระทำที่ไม่มีเจตาและไม่ได้ประมาท เช่น ม.375 ม.380


ประเภทของเจตนา

          1. เจตนาตามความเป็นจริง (intention) (ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล)
          2. เจตนาโดยผลของกฎหมาย (transfer intention) (ไม่ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล)

1. เจตนาตามความเป็นจริง ตาม ม.59 วรรค 2 และวรรค 3

          วรรค 2 “กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
          วรรค 3 “ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”

          จาก ม.59 วรรค 2 และ 3  การกระทำโดยเจตนา (Intent) หมายถึง กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ซึ่งความหมายของเจตนานั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วน

1. ส่วนที่รู้สำนึกในการกระทำ และต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด

2. ส่วนความต้องการ คือ ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นได้ว่าผลอันนั้นอาจเกิดขึ้นได้


ตัวอย่าง แดงใช้ปืนยิงดำไปที่หน้าอกของดำ ดำถึงแก่ความตาย แดงกระทำโดยเจตนาหรือไม่
-          แดงรู้สำนึกในการกระทำของตนและรู้ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่
-          แดงประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของความผิดฐานนั้นหรือไม่

1. ส่วนที่รู้สำนึกในการกระทำ และต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด

- การกระทำโดยเจตนา ผู้กระทำต้องรู้สำนึกในการกระทำเสมอ เพราะถ้าไม่รู้สำนึกก็ย่อมไม่มีการกระทำ
- รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เช่น

- แดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ เข้าใจว่าเป็นหมูป่า จึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าไม่ใช่หมูป่า แต่เป็นนายดำที่มาขุดหน่อไม้ นายดำถูกยิงตาย นายแดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่

- แดงต้องการฆ่าดำ ขาวไม่ต้องการให้ดำตาย จึงหลอกว่าดำตายแล้ว แต่ความจริงดำยังไม่ตายนอนคลุมโปงอยู่ นายแดงเข้าใจว่าดำตายแล้วตามที่นายขาวบอก แต่ยังโกรธนายดำอยู่ จึงคิดว่าไม่ได้ยิงคน ยิงศพก็ยังดี จึงเอาปืนยิงไปยังดำที่นอนคลุมโปงอยู่ จนนายดำถึงแก่ความตาย แดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่

แดงซึ่งเป็นหมอต้องการฆ่าดำซึ่งเป็นคนไข้ จึงหลอกให้ขาวซึ่งเป็นพยาบาลให้เอายาไปให้นายดำกิน โดยบอกว่าเป็นยาบำรุง แท้จริงแล้วเป็นยาพิษ ซึ่งนางพยาบาลขาวไม่ทราบว่าเป็นยาพิษ
     แดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่
     ขาวมีเจตนาฆ่าหรือไม่
     และหากปรากฎว่า หากขาวใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อยก็จะทราบได้ว่ายาดังกล่าวเป็นยาพิษ

ขาวไม่มีเจตนาฆ่าดำ เพราะขาวไม่ทราบว่าเป็นยาพิษ แต่ขาวประมาท เขามีความรับผิดหรือไม่พิจารณาตาม ม.62 ว. สอง "ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่ง มาตรา 59 หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทำ นั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท"

เช่น 

         แดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ แต่แดงไม่ดูให้ดีเสียก่อน เข้าใจว่าเป็นหมูป่า จึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้นด้วยความประมาท ปรากฏว่าไม่ใช่หมูป่า แต่เป็นนายดำที่มาขุดหน่อไม้ นายดำถูกยิงตาย
          นายแดงมีความรับผิดหรือไม่

         แดงต้องการฆ่าดำ ขาวไม่ต้องการให้ดำตาย จึงหลอกว่าดำตายแล้วแต่ความจริงดำนอนคลุมโปงอยู่ นายแดงไม่ดูให้ดีเสียก่อนว่านายดำตายไปแล้วจริงหรือไม่ เข้าใจว่าดำตายแล้วตามที่นายขาวบอก จึงเอาปืนยิงไปยังดำที่นอนคลุมโปงอยู่ จนนายดำถึงแก่ความตาย แดงมีความรับผิดหรือไม่

          แดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหว แต่แดงไม่ดูให้ดีเสียก่อน เข้าใจว่าเป็นหมูป่า จึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้นด้วยความประมาท ปรากฏว่าไม่ใช่หมูป่า แต่เป็นนายดำที่มาขุดหน่อไม้ นายดำถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส แดงจะต้องรับผิดหรือไม่

สรุป หากไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาไม่ได้


แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำจะต้องรู้ด้วยหรือไม่??

พิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้ 

          แดงต้องการฆ่าดำ จึงไปดักซุ่มเพื่อจะยิงดำอยู่หน้าปากซอยที่ดำเดินเข้าออกประจำ เมื่อตกตอนกลางคืนนายแดงเห็นคนเดินมาเข้าใจว่าเป็นนายดำ จึงเอาปืนยิงตาย แต่ความจริงไม่ใช่นายดำ เป็นนายขาวซึ่งเป็นบิดาของนายแดง นายขาวถูกนายแดงยิงตาย ดังนี้ นายแดงมีความผิดฐานใด


ม.62 วรรคท้าย “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้น จะต้องได้รู้ข้อเท็จนั้น”

         1. หากผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกความผิด ก็ถือว่าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น กล่าวโดยสรุปคือ “ไม่รู้ ก็ไม่มีเจตนา”

         2. หากผู้กระทำความผิดรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกความผิด ก็ถือว่าผู้นั้นมีเจตนากระทำความผิดเท่านั้น กล่าวคือ “รู้เท่าใดมีเจตนาเท่านั้น”

         3. หลักที่ว่า “รู้เท่าใด ก็มีเจตนาเท่านั้น” ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ไม่เกินความจริง” เช่น แดงต้องการฆ่านายดำซึ่งเป็นบิดา เห็นคนเดินมาจึงเอาปืนยิงโดยเข้าใจว่าเป็นนายดำ แต่ความจริงเป็นนายขาว ซึ่งเป็นเพื่อนของนายแดงจนขาวตาย


คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกความผิด

          ฏีกา 504 / 2483 เด็กวิ่งสวนมาในเวลามืด จำเลยเข้าใจว่าเป็นสุนัข ได้ ใช้มีดแทงถูกหัวเข่าของเด็กตายจำเลยไม่มีเจตนาฆ่า และไม่มีเจตนาทำร้าย จึงไม่ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา (ฆ่า

          ฎีกา 148/2513 ตำรวจเข้าค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยว โดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบ หรือแสดงหลักฐานว่าเป็นตำรวจกระทำการตามหน้าที่ และต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้จักกัน แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยขัดขวางไม่ให้ตำรวจค้นเอาเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยไปก็ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

          ฎีกา 693/2526 รถยนต์ของ ส.ซึ่งถูกคนร้ายลักไป อ.เคยนำมาซ่อมท่อไอเสียกับจำเลย และแสดงตนว่าเป็นเจ้าของรถ จำเลยขอยืมรถจาก อ.ไปใช้ แม้รถมีป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีและป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งต่างเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยไม่รูความจริงดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ.ม.268

          ฎีกา 3779/2535 แม้จำเลยจะเป็นผู้เก็บวัตถุระเบิดของกลางมา แต่จำเลยก็ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุระเบิด เพิ่งทราบเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ตรวจค้นบอกจำเลย จึงไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง

          ฎีกาที่ 3881/2542 จำเลยได้พาเด็กหญิง ส. ผู้เสียหายไปเพื่อจะกระทำชำเราในขณะที่ผู้เสียหายอายุ 14 ปี 10 เดือนเศษ โดยผู้เสียหายสมัครใจยินยอมไปกับจำเลย และจำเลยกอดจูบกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย แม้การกระทำของจำเลยอาจเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การที่ผู้เสียหายมีรูปร่างและลักษณะการพูดจาทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายอายุ 18 ถึง 19 ปีซึ่งเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 279 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตามมาตรา 59 วรรคสาม
  

2. ส่วนความต้องการ

          ผู้กระทำต้อง “ประสงค์ต่อผล” ของการกระทำของตนนั้น หรือมิฉะนั้นต้อง “เล็งเห็นผล”ของการกระทำของตนนั้น
-          ประสงค์ต่อผล หรือเจตนาโดยตรง
-          เล็งเห็นผล หรือเจตนาโดยอ้อม

          ประสงค์ต่อผล หมายถึง มุ่งหมายจะให้เกิดผลขึ้น หากผลเกิดขึ้นตามที่มุ่งหมายก็เป็นความผิดสำเร็จ หากผลไม่เกิดตามที่มุ่งหมาย ก็เป็นความผิดเพียงฐานพยายามตามมาตรา 80 หรือมาตรา 81 แล้วแต่กรณี

ประเภทของความผิดอาญาที่พิจารณาจากผล
          1. ความผิดที่ต้องมีผลปรากฏ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ม.288
          2. ความผิดที่ไม่ต้องมีผลปรากฏ เช่น ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตาม ม.137

ข้อสังเกตเกี่ยวกับประสงค์ต่อผล

          1. ความประสงค์ต่อผลกับความคาดหมายเป็นคนละกรณีกัน ถ้าผู้กระทำประสงค์ต่อผล แม้คาดหมายว่าจะไม่เกิดผลก็ถือว่าประสงค์ต่อผลแล้ว เช่น แดงใช้ปืนยิงดำ โดยประสงค์ให้กระสุนถูกดำตาย แม้แดงคาดหมายว่าคงยิงไม่ถูกเพราะ ระยะห่างเกินความแม่นยำของปืน หากปรากฎว่ากระสุนปืนที่แดงยิงไปถูกดำตาย ถือว่าแดงประสงค์ต่อผลแล้ว

          2. การกระทำอันเดียวอาจก่อให้เกิดผลหลายประการ ซึ่งผลบางประการอาจเป็นผลที่ผู้กระทำประสงค์ ผลบางประการไม่ได้ประสงค์ เช่น แดงชกหน้าดำ ใบหน้าดำแตก แต่แว่นตาของดำก็แตกด้วย

          3. หากผู้กระทำประสงค์ให้ผลเกิดขึ้น และผลก็เกิดตามความประสงค์ต้องถือว่าเป็นเจตนาประสงค์ต่อผล แม้จะเกิดจากวิธีที่ผิดแปลกไปตามความตั้งใจของประกระทำก็ตาม เช่น

          แดงต้องการฆ่าดำ จึงเอาปืนเล็งยิงดำ แต่ก่อนที่แดงจะลั่นไกปืน ดำตกใจตายเสียก่อน
          แดงต้องการฆ่าดำ จึงเอาปืนยิงไปที่ดำ กระสุนไม่ถูกดำ แต่ดำได้ยินเสียงปืนตกใจตาย
          แดงเอาปืนไล่ยิงดำ ดำวิ่งหนีกระโดดตึกหนีลงมาตาย หรือกระโดดน้ำหนีทำให้จมน้ำตาย


เจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้าย

          เจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการพิสูจน์เจตนาว่าผู้กระทำมีเจตนาใด ระหว่างเจตนาฆ่าหรือมีเพียงเจตนาทำร้าย ต้องถือหลักที่ว่า “การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ” ตามหลักที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

          ฎีกาที่ 6916/2544 การพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาฆ่าผู้ตายกับผู้เสียหายหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวก ประกอบกับบาดแผลที่ผู้ตายกับผู้เสียหายได้รับ...

ตัวอย่างของแนวคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับเจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้าย

1. หากอาวุธที่ใช้เป็นอาวุธปืน ถือว่ามีเจตนาฆ่าเสมอ

          ฎีกา1439/2510 การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัดนั้น ส่อเจตนาให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจฆ่า แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ จึงไม่ถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคน

          ฎีกา 605/2500 ยิงในระหว่างวิวาท 2 นัด นัดหนึ่งถึงคู่วิวาทที่น่องทะลุ เป็น ความผิดฐานพยายามฆ่าโดยเจตนา

          **ฎีกา 1006/2501 ยิงในระยะ 1 วา ถูกขาเหนือตาตุ่ม และดูกแตกถ้าตั้งใจฆ่าก็คงยิงถูกที่สำคัญได้ แสดงว่าจำเลยไม่เจตนาฆ่า เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ใช่พยายามฆ่า

          ฎีกา  777/2505 ผู้ตายร้องท้าท้ายจำเลย ๆ  โดยลงจากเรือนแล้วเข้าต่อสู้กับผู้ตาย เป็นการสมัครใจเข้าต่อสู้ มิใช่เป็นการป้องกันตัว จำเลยโดดลงจากเรือไปต่อสู้กับผู้ตาย จำเลยใช้มีดดาบยาว 1 แขน ฟันผู้ตายถึง  3 แห่ง แผลที่สำคัญถูกที่คอเกือบขาดนั้นแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 288

          ฎีกา 1085/2510 ผู้ตายมีขวานและมีดขอเป็นอาวุธ จำเลยมีมีดพกเป็นอาวุธได้เข้าต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกัน  โดยต่างไม่มีเวลาที่จะเลือกแทงเลือกฟันในที่สำคัญทั้งสองคนมีบาดแผลรวม 7 แห่งด้วยกัน  ผู้ตายเสียโลหิตมากจึงถึงแก่ความตายดังนี้  จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา ไม่ใช่ฐานฆ่าคนโดยเจตนา

          คำพิพากษาฎีกาที่ 874/2509 จำเลยใช้มีดพกปลายแหลมแทงถูกผู้ตาย 1 ทีที่หน้าอก ขณะที่ทั้งสองกำลังต่อสู้กอดปล้ำกันผู้ตายถึงแก่ความตาย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จำเลยคงมีความผิดตาม มาตรา 290 เท่านั้น

2. หากเป็นการกระทำขณะเกิดโทสะ อาจถือว่าไม่มีเจตนาฆ่า แต่อาจมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น

          ฎีกา 19/2500 หญิงฟันสามีทางข้างหลังด้วยพร่าใหญ่ถูกที่คอเป็นแผลลึก 6 ซ.ม. แต่ฟันเพราะสามีคลอเคลียเมียน้อยต่อหน้า เกิดโทสะจึงคว้าพร้าฟังลงไปทันที เป็นความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ไม่ใช่พยายามฆ่า

3. หากเป็นการขณะมึนเมา อาจถือว่าไม่มีเจตนาฆ่าก็ได้

          ฎีกา 1275/2500 ใช้มีดพกปลายแหลมยาวทั้งด้ามทั้งตัวประมาณ 1 คืบแทงทะลุ เข้าช่องปอด โดยเมาสุรา พบกันก็แทงเอา 1 ที แล้วหนีไป เป็นการฆ่าโดย ไม่เจตนา


เจตนาประเภทเล็งเห็นผล

          หากพิจารณาแล้วการกระทำนั้นผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล แต่อาจเป็นการกระทำโดยเจตนาประเภทเล็งเห็นผลก็ได้

          ความหมายของเจตนาเล็งเห็นผล “เล็งเห็นผล” หมายความว่า เล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่จิตใจของบุคคลในฐะนะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้

ตัวอย่างของเจตนาเล็งเห็นผล

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2060 /2541 การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงมีประสิทธิภาพทำลายล้างสูง ยิงไปที่ขวดสุราที่ตั้งอยู่บนโต๊ะที่ผู้เสียหายนั่ง จำเลยย่อมเล็งเห็นผลแล้วว่ากระสุนปืนลูกซองที่จำเลยยิงต้องกระจายออกเป็นรัศมีอาจถูก ค. ได้ การที่ผู้เสียหายนั่งอยู่บนโต๊ะใกล้ ค. และใกล้ขวดสุราเช่นกัน จำเลยก็ควรที่จะต้องย่อมเล็งเห็นผลว่ากระสุนปืนที่จำเลยยิงย่อมจะต้องถูกผู้เสียหายด้วย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

1. เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1697/2522 จำเลยขับรถยนต์หลอกหญิงว่าจะพาไปส่งบ้าน เมื่อรถผ่านบ้านกลับเร่งรถเร็วขึ้น พวกของจำเลยท้ายรถดึงมือหญิงไว้มิให้ลงจากรถ หญิงจะหลุดจากมือพวกจำเลย หรือพวกจำเลยปล่อยมือหญิงก็ตาม หญิงตกจากรถตาย ไม่ใช่พยายามโดดลงจากรถเอง เป็นการที่เล็งเห็นผลร้ายได้อย่างแน่ชัด เป็นเจตนาฆ่าหญิงนั้น ฟ้องว่าผลักตกจากรถ ได้ความดังกล่าวต่างจากฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญ จำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ลงโทษได้

          ฎีกา  2255/2522 บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถบรรทุก 10 ล้อ ทางไม่ให้รถที่ตามมาแซง เมื่อเห็นรถโดยสารสวนมาใกล้จำเลยหยุดรถทันทีและหักหัวรถมาทางซ้าย  รถที่ตามมาต้องหักหลบไปทางขวาและชนกับรถที่สวนมา เป็นเหตุให้คนตาย ทั้งนี้โดยจำเลยเล็งเห็นผลเจตนาให้คนตาย หรือประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ดังนี้ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ได้ความว่าจำเลยขับรถปิดทางและหยุดรถทันทีดังฟ้อง  จำเลยเล็งเห็นผลว่าจะเกิดเหตุคนตายเป็นฆ่าคนโดยเจตนา ตาม ป.อ.ม.288

2. เจตนาทำร้ายโดยเล็งเห็นผล

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1334/2510 จำเลยจะทำร้ายบุตรของผู้เสียหาย ผู้เสียหายเข้าไปขัดขวาง จำเลยผลักผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายล้มลง จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่า เมื่อผู้เสียหายล้มลงแล้ว ผู้เสียหายจะได้รับผลอย่างไร ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ก็ย่อมเป็นผลแห่งการกระทำโดยเจตนาของจำเลยตาม มาตรา 59 วรรค 2

          ฎีกา 1429/2520  จำเลยขึงเส้นลวดรอบที่ตกกล้า ปล่อยกระแสไฟฟ้าป้องกันมิให้หนูเข้าไปกินข้าวกล้า มีคนไปหากบเหยียบเส้นลวดถูกกระแสไฟฟ้าตายจำเลยเล็งเห็นว่าจะมีคนมาถูกเส้นลวดได้รับอันตรายแก่กายได้ เป็นการมีเจตนาทำร้ายผู้อื่น เป็นความผิดตาม ม.290

          คำพิพากษาฎีกาที่ 234/2529 จำเลยใช้ปืนยิงไปที่พื้นดินหนึ่งนัด ในขณะที่ผู้เสียหายกำลังเดินไปหาจำเลยและอยู่ห่างประมาณ 2 วา กระสุนปืนถูกขาผู้เสียหายบาดเจ็บ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำได้ว่ากระสุนปืน อาจถูกผู้เสียหายได้ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย


3. เจตนาทำให้เสียทรัพย์โดยเล็งเห็นผล

          ฎีกา 1155/2520  จ.ปลูกข้าวในหนองสาธารณะ   จ.อ้างสิทธิครอบครองในหนองไม่ได้ จำเลยมีสิทธิใช้หนองได้เท่าเทียมกับ จ.แต่จำเลยนำเรือเข้าไปตัดใบบัว ซึ่งปนอยู่กับต้นข้าวทำให้ต้นข้าวเสียหายเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผลตาม ม.59 จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. ม.359

4. เจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์โดยเล็งเห็นผล

          คำพิพากษาฎีกาที่ 114/2531 การที่จำเลยจุดไฟเผาที่นอนในห้องของโรงน้ำชา ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อที่นอนถูกเผาไหม้แล้ว อาจจะลุกลามไหม้เตียงนอน ฝาผนัง เพดาน จนกระทั่งไหม้โรงน้ำชาแห่งนั้นทั้งหมดได้ โรงน้ำชานั้นมีคนอยู่อาศัยด้วย ผิด 218 (1)


คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

          ฎีกา 817/2510 จําเลยใช้ปืนลูกซองสั้นยิงตรงไปที่กลางวงการพนัน ซึ่งมี ผู้เสียหายกับพวกนั่งห่างกลางวงการพนันประมาณ 1 ศอกโดยจําเลยรู้ว่าปืน นั้นมีอํานาจ ทําให้กระสุนปืนแผ่กระจายไปในรัศมีประมาณ 0.5 เมตรจําเลย ย่อมจะรู้หรือควรจะรู้ได้ว่า กระสุนปืนที่ยิงไปนั้นอาจถูกผู้เสียหายหรือบุคคลที่ อยู่ในรัศมีของกระสุนปืนที่จําเลยยิงได้ ฉะนั้น เมื่อกระสุนปืนไปถูกผู้เสียหาย จําเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น ถือว่าจําเลยกระทําโดยเจตนา

          ฎีกา 117/2515  จำเลยยิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย โดยจำเลยทราบดีว่ามีคนอยู่ในบ้านนั้น กระสุนปืนอาจจะถูกผู้เสียหายและพวกซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ และกระสุนปืนที่จำเลยใช้ยิงได้ทะลุบ้านผู้เสียหายไปถูกผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านอีกหลังหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เช่นนี้จำเลยมีความผิดตาม ป.อาญามาตรา  288,80

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเจตนาประสงค์ต่อผลกับเล็งเห็นผล

          1. การกระทำอันหนึ่ง หากมีผลเกิดขึ้นอันเดียว ผลนั้นจะต้องเป็ผลของการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

          2. แต่หากมีผลเกิดขึ้นหลายอัน ผลหนึ่งอาจเป็นผลของการกระทำโดยประสงค์ต่อผล ส่วนอีกผลหนึ่งอาจะเป็นผลของการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผลก็ได้ เช่น แดงชกดำไปที่ใบหน้าของดำครั้งหนึ่ง ผลของการชกปรากฎว่าดำใบหน้าแตกและแว่นตาดำที่สวมอยู่ก็แตกด้วย
         

เจตนาพิเศษ Special intention

          เจตนาพิเศษ หรือเรียกอีกอย่างว่า มูลเหตุชักจูงใจ เป็นองค์ประกอบภายในของความผิดอาญาบางฐานความผิด ความผิดอาญาที่ต้องมีเจตนาพิเศษ ส่วนใหญ่กฎหมายจะบัญญัติไว้ เช่น โดยทุจริต เพื่อสนองความใคร เพื่อเรียกค่าไถ่ เป็นต้น

ความผิดฐานลักทรัพย์
          มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท”
          องค์ประกอบภายนอก
          ผู้ใด เอาไป ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          องค์ประกอบภายใน
          เจตนาธรรมดา(เจตนาเอาทรัพย์ไป)
          เจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจ คือ โดยทุจริต

ความผิดฐานเรียกค่าไถ่
          มาตรา 313 ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
          (1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
          (2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไป โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ ด้วยประการอื่นใด หรือ
          (3) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเจตนาพิเศษ

          1. การจะสังเกตว่าความผิดฐานใดมีเจตนาพิเศษหรือไม่ ให้สังเกตคำว่า “เพื่อ...” หรือใช้คำว่า “โดยทุจริต”
          2. เจตนาพิเศษเป็นองค์ประกอบภายในเพิ่มเติมจากเจตนาธรรมดา
          3. เจตนาพิเศษ แตกต่างจากเจตนาธรรมดา เพราะเจตนาธรรมดามีทั้งประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ส่วนเจตนาธรรมดานั้น กฎหมายใช้คำว่า “เพื่อ...” หรือ “โดย...” ผู้กระทำจะต้องมีเจตนามุ่งโดยตรงเพื่อการนั้นโดยเฉพาะ




ยังไม่จบนะครับ ผมจะมาเขียนต่อให้



 [1] ฉลิมวุฒิ สาระกิจ, อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
     เอกสารประกอบการสอน กฎหมายอาญาภาคทั่วไป (Criminal Law : General principle)

อ้างอิง : ศ.ดร เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค 1