Sunday 16 February 2014

ผู้ไม่สมควรเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในความผิดของผู้อื่น


ผู้ไม่สมควรเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในความผิดของผู้อื่น

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา



ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอาญา
          ผู้กระทำความผิด (Participator)
          ผู้ร่วมกระทำความผิด (ตัวการร่วม)
          ผู้สนับการกระทำความผิด
          ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด (ผู้ใช้)

      พิจารณาตัวอย่าง
          แดงใช้ให้ดำไปจ้างมือปืนไปฆ่าขาว ดำได้ไปติดต่อให้นายเขียวซึ่งเป็นมือปืนไปฆ่านายขาว แต่นายเขียวไม่มีปืนจึงไปยืมปืนจากนายม่วง หลังจากนั้นเขียวไปยิงดำตาย

      พิจารณาตัวอย่าง
          แดงซึ่งเป็นราษฏรธรรมดาได้ร่วมกับนายดำซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการทำบัตรประจำตัวประชาชน ได้ทำบัตรประจำตัวปลอมขึ้นมาเพื่อนำบัตรประจำตัวปลอมนั้นขายให้กับคนต่างด้าว

          โดยหลักแล้วบุคคลย่อมเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นได้เสมอ แต่มีบุคคลบางประเภทจะเป็นตัวการผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดบางอย่างของผู้อื่นได้หรือไม่
      บุคคลที่ไม่สมควรเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน

          1. บุคคลซึ่งกฎหมายที่บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดประสงค์จะคุ้มครองโดยตรง

          2. บุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ แต่มิใช่บุคคลซึ่งกฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง


      1. บุคคลซึ่งกฎหมายที่บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดประสงค์จะคุ้มครองโดยตรง
          - เด็กที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีตาม ม.277
          - เด็กที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีตาม ม.279
          - บุคคลซึ่งอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปีตาม ม.282 วรรคสอง
          - ลูกหนี้ ที่เสียดอกเบี้ยเกินอัตราให้แก่เจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอันตรา พ.ศ. 2475
          - ผู้ให้กู้ยืมเงิน ในการกู้ยืมเงินอันเป็นความผิดพระราชกำหนดให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527
      2. บุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ แต่มิใช่บุคคลซึ่งกฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง
          - “ผู้อื่น” ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์ของลูกหนี้ หรือผู้ที่ยอมรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี่ซึ่งแกล้งให้ตนเป็นหนี้ ตาม ม.350
          - ผู้ให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่คนกลาง ตาม ม.143
          - ผู้อื่น ที่ทำแท้งให้แก่หญิงตาม ม.301
          - หญิงที่ทำให้ตนแท้งลูกตาม ม.302
          - ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ตามที่ ม.189 บัญญัติไว้ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือไม่ให้ต้องรับโทษ
          - ผู้ให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่คนกลาง ตามมาตรา 143
          - ชายหรือหญิงที่ร่วมประเวณีกับหญิงที่เป็นโสเภณีซึ่งทำการค้าประเวณี ตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503

ประเทศอังกฤษ
      1. บุคคลซึ่งกฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง แนวคำวินิจฉัยของศาลตัดสินว่า บุคคลซึ่งกฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้
      2. บุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ ศาลตัดสินว่าเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้ If he know the fact ทางตำรากับแนวคำวินิจฉัยของศาลขัดกัน โดยทางตำราเห็นว่า ไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้


ประเทศสหรัฐอเมริกา

      1. บุคคลซึ่งกฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง ทางตำราและแนวคำวินิจฉัยของศาลเห็นพ้องกันว่า ไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้
      2. บุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ ทางตำราและแนวคำวินิจฉัยของศาลเห็นพ้องกันว่า ไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้
      Model Penal Code มาตรา 2.04 (5) เว้นไว้เสียแต่ว่าบทบัญญัติความผิดนั้นจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น บุคคลไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับในการกระทำความผิดของผู้อื่น ถ้า
          (a) บุคคลนั้นเป็นเหยื่อ() ของการกระทำความผิดนั้น หรือ
          (b) ความผิดนั้นได้บัญญัติในลักษณะที่ว่าการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทย
      1. บุคคลซึ่งกฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง แนวความคิดทางตำราเห็นเช่นเดียวกับอังกฤษและอเมริกาว่าบุคคลซึ่งกฎหมายประสงค์จะคุ้มครองไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน
พิจารณาตัวอย่าง นายแดงเจ็บป่วยทรมาน จ้างให้พยาบาลฉีดยาพิษให้ตนตายให้พ้นจากความทรมาน นางพยาบาลงสารฉีดยาพิษให้นายแดง แต่นายแดงไม่ตาย
      พยาบาล
      นายแดง
      เด็กหญิงแดงชักชวนให้เด็กชายดำ กระทำชำเราตน เด็กชายดำบอกให้เด็กหญิงขาว ช่วยดูต้นทางให้ในกระหว่างที่กระทำชำเราเด็กหญิงแดง
      เด็กชายดำ
      เด็กหญิงขาว
      เด็กหญิงแดง

      2. บุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ  แนวความคิดในทางตำราก็เห็นเช่นเดียวกับอังกฤษและอเมริกา ว่าบุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ ไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้

      พิจารณาตัวอย่าง แดงให้สินบนเจ้าพนักงาน เพื่อให้เจ้าพนักงานคนนั้นกระทำการอันไม่ชอบหน้าที่ เจ้าพนักงานก็รับสินบนนั้นไว้ และได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่
          แดงมีความผิดตาม ม.144 หรือไม่
          เจ้าพนักงานมีความผิดตาม ม.149 หรือไม่

      พิจารณาตัวอย่าง ฎีกา 435/2520 ราษฎรให้สินบนเจ้าพนักงานเพื่อกระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เจ้าพนักงานรับไว้ ราษฎรมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 144 เจ้าพนักงานมีความผิดตาม ม.149 ราษฎรไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานอีก

      พิจารณาตัวอย่าง แดงให้สินบนเจ้าพนักงาน เพื่อให้เจ้าพนักงานคนนั้นกระทำการอันชอบด้วยหน้าที่ เจ้าพนักงานก็รับสินบนนั้นไว้ และได้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่
          แดงมีความผิดตาม ม.144 หรือไม่
          เจ้าพนักงานมีความผิดตาม ม.149 หรือไม่
          แดงจะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ม.149 หรือไม่

      พิจารณาตัวอย่าง นางขาวได้ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน อยากจะทำแท้งเพราะไม่สามารถจะเลี้ยงดูได้หากปล่อยให้คลอดออกมา จึงไปขอให้นางดำซึ่งเป็นหมอตำแย ให้ช่วยทำแท้งให้ตน นางดำจึงทำให้นางขาวแท้งลูก  นางขาวมีความผิดฐานใด
          นางดำมีความผิดฐานใด

      พิจารณาตัวอย่าง แดงหลบหนีออกมาจากเรือนจำกลางจังหวัดเชียวใหม่ และหนีมาขออาศัยกับนายดำซึ่งเป็นญาติอยู่ในป่า นายดำก็รู้ว่านายแดงแหกคุกหนีมาแต่สงสารจึงให้นายแดงหลบอาศัยชั่วคราว
          นายดำมีความผิดตาม ม.189 หรือไม่
          นายแดงจะมีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนตาม ม.189 ได้หรือไม่

      พิจารณาตัวอย่าง ลูกของนายแดงต้องการสอบเข้าเป็นตำรวจ นายดำทราบดังกล่าวจึงบอกกับนายแดงว่า ตนรู้จักกับตำรวจผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถฝากลูกของนายแดงให้สอบเข้าเป็นตำรวจได้ แต่ขอเงินค่าสินน้ำใจหนึ่งแสนบาท นายแดงด้วยความรักลูกจึงยอมจ่ายเงินให้นายดำ
          นายดำมีความผิดตาม ม.143 หรือไม่
          นายแดงจะมีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนตาม ม.143 หรือไม่
      พิจารณาตัวอย่าง นายแดงเป็นหนี้นายดำอยู่ 1 ล้านบาท ซึ่งไม่มีเงินชำระหนี้นายดำ นายแดงกลัวว่านายดำที่กำลังยื่นฟ้องศาลให้บังคับชำระหนี้จะมายึดรถยนต์ของตน อันเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่นายแดงมี นายแดงจึงสบคบกับนายขาวทำการโอนรถคันดังกล่าวไปเป็นของนายขาว โดยมีนายเขียวเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของขนส่งจังหวัดเป็นคนโอนให้โดยรู้ว่าเป็นการโอนเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้
          นายแดงมีความผิดตาม ม.350 หรือไม่
          นายเขียวมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่
          นายขาวจะมีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนตาม ม.350 หรือไม่

      พิจารณาตัวอย่าง คำพิพากษาฏีกาที่ 143/2517 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ร่วม โอนที่ดินของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าเป็ฯการโอนไปให้แก่ผู้อื่นตาม ม.350 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิด ตาม ม.350 ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมตาม ม.83 ในการกระทำความผิดตาม ม.350

      คำพิพากษาฏีกาที่ 563/2523ผู้อื่นรับโอนทรัพย์นั้นจะมีความผิดตาม ม.350 ก็ต่อเมื่อรู้ว่าลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้ว ถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล้าวก็ไม่มีความผิดตาม ม.350

      วิเคราะห์ปัญหา กรณีผู้รับโอนทรัพย์สินจากลูกหนี้ จะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนได้หรือไม่

          - แนวความคิดทางตำรา เห็นว่าบุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ ไม่อาจเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนได้

          - แนวคำวินิจฉัยของศาลผู้รับโอนทรัพย์สินจากลูกหนี้ เป็นตัวการร่วมได้
      สรุป บุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของผู้กระทำ ไม่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน เพราะว่า
1. กฎหมายบัญญติความผิดของผู้เป็นองค์ประกอบความผิดไว้เป็นพิเศษแล้ว
2 หากไม่มีการบัญญัติความผิดไว้ ถือว่า กฎหมายไม่ประสงค์จะลงโทษผู้นั้น

1. กฎหมายบัญญติความผิดของผู้เป็นองค์ประกอบความผิดไว้เป็นพิเศษแล้ว
      ราษฎรให้สินบนเจ้าพนักงาน ราษฎรผิด ม. 144 เจ้าพนักงานผิด ม. 149
      กรณีหญิงยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก หญิงผิด ม.301 คนที่ทำให้หญิงแท้งลูกผิด ม.302
      ราษฎรให้สินบนเจ้าพนักงานให้กระทำอันชอบด้วยหน้าที่ เจ้าพนักงานผิด ม.149 ราษฎรไม่มีความผิดตาม ม.144 ราษฎรไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ม.149 อีก

2 หากไม่มีการบัญญัติความผิดไว้ ถือว่า กฎหมายไม่ประสงค์จะลงโทษผู้นั้น
      กรณีผู้ให้สินบนคนกลาง
      คนกลางมีความผิด ตาม ม.143
      คนที่ให้สินบนคนกลางไม่มีความผิด
      ถ้าไม่มีผู้ให้ ก็ไม่มีผู้รับ แต่กฎหมายประสงค์ลงโทษคนรับเท่านั้น จึงถือเป็น necessary participator
      ถ้ากฎหมายประสงค์จะลงโทษต้องมีการบัญญัติความผิดผู้ให้สินบนคนกลางไว้ต่างหากแล้ว เมื่อไม่ได้บัญญัติความผิดไว้ จึงถือว่ากฎหมายไม่ประสงค์จะลงโทษ



อ้างอิง : เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ , กฎหมายอาญาภาค 1 พิมพ์ครั้งที่ 10, 2551 หน้า 736



Monday 3 February 2014

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร




ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

Overview:
          ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองความมีอยู่และความถูกต้องของเนื้อความในเอกสาร เพื่อให้เอกสารที่ได้มีการทำขึ้น มีความน่าเชื่อถือ(Reliable) สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินกิจการต่างๆ ได้

ความผิดเกี่ยวกับเอกสารมีความผิดหลักๆ ที่สำคัญอยู่ ดังนี้

1. ความผิดฐานปลอมเอกสาร
2. ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร
3. ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม

ความผิดฐานปลอมเอกสาร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เอกสารมีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งในบทนิยาม ในประมวลกฎหมายอาญา ม.1 ได้มีการให้บทนิยามความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจก่อน ดังนี้

          (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดย วิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
          (8) "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำ ขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้า พนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
         (9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ

          ดังนั้นเมื่อเจอ คำว่าเอกสาร เอกสารราชการ และเอกสารสิทธิ ต้องตีความตามบทนิยามใน ม.1 เท่านั้น

ใน ม. 264 ความผิดฐานปลอมเอกสาร (ทั่วไป) ก็ต้องแยกพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ

          1. การปลอมเอกสารโดย ปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

          2. การปลอมเอกสารโดยการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น

         ซึ่งการปลอมทั้ง 2 วิธี มีผลในทางกฎหมายเป็นการปลอมเอกสารเช่นเดียวกัน

          และหากการปลอมเอกสารดังกล่าว เป็นการปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ก็จะมีความผิดตาม ม.265 ซึ่งมีโทษสูงขึ้น และหากเป็นการปลอมเอกสารบางประเภทที่มีความสำคัญสูง เช่น เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ฯลฯ ก็จะมีความผิดตาม ม.266 ซึ่งมีโทษหนักกว่าการปลอมเอกสารทั่วไปขึ้นไปอีก

ความผิดแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ม.267

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าความผิดฐานนี้ เป็นคนละกรณีกับความผิดฐานแจ้งความเท็จ ใน ม.137 ซึ่งเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน กฎหมายมุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงาน แต่ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้น ซึ่งจะต้องมีความถูกต้องและเชื่อถือได้

มีประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้เกิดความสับสนกับผู้เรียน ดังนี้

          หากแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานแล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่เชื่อเลยไม่ได้จดลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ผู้แจ้งความเท็จย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ม.137 แล้ว แม้เจ้าพนักงานจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ความผิดก็สำเร็จแล้ว

          แต่ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร ผู้กระทำจะมีความผิดฐานนี้หรือไม่ เป็นการพยายามกระทำความผิดแล้วหรือยัง

          หากพิจารณาเฉพาะตัวผู้กระทำเมื่อได้แจ้งความเท็จไปแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกระทำอีกเป็น Last Act ของผู้กระทำอันเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว เป็นพยายามกระทำความผิด

          แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีดีจะเห็นว่า ความผิดฐานนี้ องค์ประกอบความผิดคือ เจ้าพนักงานได้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ถ้าเจ้าพนักงานยังไม่ได้จดก็ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด ใช่หรือไม่

ส่วนความผิดที่สำคัญสุดท้าย คือ ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม

          ประเด็นที่สำคัญ คือ จะมีความผิดฐานนี้ได้ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารปลอมเท่านั้น ซึ่งก็จะเดี่ยวเนื่องกับการวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าว เป็นเอกสารปลอมไหมนั่นเอง

          และประเด็นสำคัญอีกประการ คือ กรณีของผู้ใช้หรืออ้างเอกสาร เป็นผู้ปลอมเอกสารขึ้นมาเอง ความรับผิดและโทษตามกฎหมายก็จะเป็นไปตาม ม.268 วรรค 2

          ผมเขียนสรุปกว้างๆ เพื่อให้นิสิตได้เห็นภาพรวม ส่วนรายละเอียดนิสิตควรศึกษาเพิ่มเติมในหนังสือและตำรา และศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลเพิ่มเติม





.....................................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา