Friday 31 October 2014

การดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา

การดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา[1]

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย


            กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีความแตกต่างกับกฎหมายอาญาในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งแนวความคิดและหลักการของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายทั้งสองประเภทมีวัตถุประสงค์ทางกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่บางครั้งกฎหมายอาญาก็มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่บ้าง เพราะความผิดอาญาบางฐานที่ผู้เสียหาย อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำความผิดได้ เช่น เมื่อถูกคนขับรถชนด้วยความประมาท ถูกวางเพลิงเผาทรัพย์ จะเห็นว่าการกระทำผิดดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นถือเป็นการทำละเมิดต่อผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย

          ในที่นี้ขออธิบายความหมายของกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญามาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

1. ความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญาอาญา
          ความหมายของกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น เป็นกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด

          ความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    กฎหมายแพ่ง คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เช่น เรื่องสภาพบุคคล ทรัพย์ หนี้ นิติกรรม ครอบครัว และมรดก เป็นต้น การกระทำผิดทางแพ่ง ถือว่าเป็นการละเมิดต่อบุคคลที่เสียหายโดยเฉพาะไม่ทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนอย่างการกระทำผิดอาญา          
  
                    กฎหมายพาณิชย์  คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเศรษฐกิจและการค้า โดยวางระเบียบเกี่ยวพันทางการค้าหรือธุรกิจระหว่างบุคคล เช่น การตั้งหุ้นส่วนบริษัท การประกอบการรับขน และเรื่องเกี่ยวกับตั๋วเงิน (เช่น เช็ค) กฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย การเช่าทรัพย์ การจำนอง การจำนำ เป็นต้น      


quiz พยานวิแพ่ง100 ข้อ

ตอนนี้เปิดให้ทำฟรี ลองเล่นดูได้เลยครับ
Deadline: 11:14pm, March 13 

เข้าเวป https://quizizz.com/join/

ใส่โค๊ด 907471


          จากความหมายข้างต้นสามารถแยกความแตกต่างออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
          (1) กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายมหาชน เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยที่รัฐมีฐานะเหนือกว่าเอกชน โดยรัฐจะกำหนดว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดและกำหนดโทษ รวมทั้งกำหนดวิธีการลงโทษ โดยรัฐอยู่ในฐานะเหนือกว่า แต่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายเอกชน ที่กำหนดความความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยต่างมีฐานะเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร โดยยึดหลักเสรีภาพ

          (2) กฎหมายอาญานั้นเมื่อความผิดอาญาได้เกิดขึ้นรัฐสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ทันที ไม่ต้องไปฟ้องคดีให้ศาลตัดสินก่อน เช่น นายแดงกำลังทำร้ายร่างกายนายดำอยู่ ตำรวจสามารถจับนายแดงได้ทันที่ ไม่ต้องไปฟ้องศาลก่อน แต่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หากมีการกระทำผิดทางแพ่ง เช่น ผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถที่จะใช้อำนาจได้เอง จะต้องไปฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาปฏิบัติตามสัญญา

          (3) โทษของกฎหมายอาญาเป็นโทษที่บังคับกับเนื้อตัวร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ซึ่งหากมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ย่อมนำโทษที่กำหนดไว้มาลงได้ เช่น โทษประหารชีวิต โทษจำคุก โทษปรับ หรือริบทรัพย์สิน เป็นโทษที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่โทษทางแพ่งไม่ได้บังคับเอากับเนื้อตัวร่ายกาย เพียงแต่ฝ่ายที่ผิดหน้าที่ทางแพ่งอาจถูกอีกฝ่ายฟ้องศาลให้บังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา หรือหากไม่ปฏิบัติก็เรียกค่าเสียหาย

          (4) การใช้กฎหมายอาญาจะต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หมายความว่ากฎหมายอาญาจะต้องใช้ตามบทบัญญัติที่ตราไว้อย่างเคร่งครัด หากเรื่องใดไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้จะนำจารีตประเพณี  หลักกฎหมายทั่วไป หรือจะใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากหลักของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถนำมาใช้ได้แม้ไม่มีบทบัญญัติใดได้บัญญัติไว้

          (5) การกระทำความผิดอาญานั้นในบางกรณีไม่เกิดความเสียหาย เช่น การพยายามฆ่า แม้ความเสียหาย คือความตายไม่เกิดขึ้น แต่ผู้กระทำมีความรับผิดฐานพยายามแล้ว แต่ในทางแพ่งเมื่อความเสียหายไม่เกิดขึ้น ความรับผิดทางแพ่งก็ไม่อาจมีได้

            ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นความแตกต่างของกฎหมายอาญากับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ในการกระทำความผิดอาญาบางฐานความผิด ย่อมมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งผู้กระทำความผิดจำต้องรับโทษทางอาญา และในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดทางแพ่งด้วย ซึ่งกระบวนการดำเนินคดีประเภทนี้เรียกว่า คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
          กฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญานั้นเมื่อเกิดข้อพิพาทกันขึ้นแล้วมีหลักการดำเนินคดีแตกต่างกัน ข้อพิพาททางแพ่งย่อมต้องดำเนินคดีตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นหลักและต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่ง ส่วนคดีอาญานั้นเมื่อเกิดข้อพิพาททางอาญาเกิดขึ้นก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลัก และจะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญา

2. ประเภทของคดีแพ่งและคดีอาญา

          ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคดีแพ่งและคดีอาญานั้นมีความแตกต่างกัน คดีแพ่งเป็นการพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิทางแพ่งเป็นคดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น สถานะบุคคล ครอบครัว มรดก สิทธิในสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาเช่าซื้อ กู้ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ เป็นต้น ส่วนคดีอาญา คือ คดีที่มีข้อพิพาททางอาญาซึ่งเป็นการพิพาทเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาญาที่ผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน เป็นต้น

          2.1 ประเภทของคดีแพ่ง

          1) คดีมีทุนทรัพย์ คือ คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หมายความว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น โจทก์มีคำขอในคำฟ้องให้จำเลยชดใช้เงินหรือทรัพย์สินจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเงินได้ว่ามีจำนวนเท่าใด เช่น คดีพิพาทในเรื่องกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด หรือสังริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ หรือคดีที่เรียกคืนทรัพย์หรือเงิน เช่น คดีฟ้องให้จำเลยชดใช้เงินกู้ หนี้จำนอง หนี้จำนำ เป็นต้น
          2) คดีไม่มีทุนทรัพย์ คือ คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งหมายความว่าตามคำข้อของโจทก์นั้นไม่ได้ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้เงินหรือค่าเสียหายใด ๆแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยกระทำหรือไม่ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่โจทก์อ้างว่ากระทบสิทธิของโจทก์ เช่น คดีพิพาทกันเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินซึ่งโต้แย้งกันเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน คดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นคดีที่โจทก์ต้องการให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิให้  เช่น คดีร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก คดีร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น

          3) คดีมโนสาเร่[2] คือ คดีแพ่งที่ฟ้องกันโดยมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่า ผู้อาศัย ผู้ละเมิดบุกรุกเข้ามาในที่ดินอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่า หรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 60,000 บาท ซึ่งเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษา[3] และอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ส่วนคดีขับไล่แม้จะเป็นคดีมโนสาเร่ ก็ต้องอาศัยผู้พิพากษาครบองค์คณะและอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดเพราะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

        4) คดีไม่มีข้อยุ่งยาก[4] เป็นคดีที่ฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนที่แน่นอนตามด้วยตั๋วเงิน ซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินนั้นได้ถูกปฏิเสธหรือตามสัญญาเป็น หนังสือ ซึ่งปรากฎในเบื้องต้นว่าเป็นสัญญาอันแท้จริง มีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย

ที่เรียกคดีประเภทนี้ว่าคดีไม่มีข้อยุ่งยาก เพราะคดีประเภทนี้เมื่อชั้นพิจารณาคดี ศาลสามารถพิจารณาจากพยานเอกสาร (Documentary Evidence) ที่ถูกต้องนั้นและสามารถพิพากษาได้เลย เพราะในทางแพ่งพยานเอกสารมีความสำคัญในการพิจารณามาก ไม่เหมือนกับคดีอาญาที่พยานบุคคลมีความสำคัญมากกว่าพยานเอกสาร



quiz พยานวิแพ่ง100 ข้อ

ตอนนี้เปิดให้ทำฟรี ลองเล่นดูได้เลยครับ
Deadline: 11:14pm, March 13 

เข้าเวป https://quizizz.com/join/

ใส่โค๊ด 907471


2.2 ประเภทคดีอาญา

          การแบ่งประเภทคดีอาญานั้นพิจารณาจากอำนาจในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งพิจารณาจากผู้เสียหายเป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

             1) คดีอาญาความผิดอันยอมความได้
            ความผิดอันยอมความได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว  หมายถึงคดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น
          ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้ เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป

          2) คดีอาญาความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้
            ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ หรือความผิดอาญาแผ่นดิน  หมายถึงคดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว  ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความ ได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น 
          เช่น  ความผิดฐานลักทรัพย์  วิ่งราวทรัพย์  ชิงทรัพย์  ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย  ฆ่าคนอื่น วางเพลิงเผาทรัพย์  ขับรถประมาท  เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้  แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีระงับ เจ้าพนักงานของรัฐก็สามารถดำเนิน คดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนแต่อย่างใด

          2.3 คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง คดีแพ่งที่ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลฐานความรับผิดเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งหมายความว่าการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งแก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดนั้น เช่น นายแดงขับรถชนนายดำ จนนายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส ในคดีอาญานายแดงย่อมมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนในทางแพ่งการที่แดงขับรถชนดำด้วยความประมาทเป็นการละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น จะเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีมูลมาจากการที่นายแดงกระทำความผิดต่อนายดำนั้นเอง

3. ขั้นตอนการดำเนินคดี

3.1) การดำเนินคดีแพ่ง
                    (1) ชั้นก่อนฟ้องคดี
                    เมื่อเกิดข้อพิพาททางแพ่งเกิดขึ้นมีการโต้แย้งสิทธิหรือจำเป็นจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นย่อมจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งที่มีอำนาจเหนือคดีนั้น เพื่อให้ศาลได้พิจารณาและพิพากษาข้อพาทเช่นว่านั้นให้ โดยขั้นตอนก่อนชั้นฟ้องคดี คือ ขั้นตอนที่โจทก์ (ในคดีที่มีข้อพิพาท) หรือผู้ร้อง (ในคดีที่ไม่มีข้อพาท) ต้องเตรียมคดีที่จะเข้าสู่ศาล โดยการยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล โดยการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องดังกล่าวต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดด้วย เช่น ในคดีที่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ เป็นต้น
                    เมื่อได้ยื่นฟ้องแล้วต้องส่งสำเนาหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไห้จำเลย เพื่อให้จำเลยยื่นคำให้การแก้ต่างคดีภายใน 15 วัน หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลก็อาจมีพารพิจารณาต่อไปได้โดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

                    (2) ชั้นพิจารณาคดีและพิพากษา
                    การพิจารณาคดีแพ่งในศาลนั้นแยกการพิจารณาออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะความสำคัญของคดี ดังนี้
                              1) วิธีพิจารณาสามัญ เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีความสำคัญ การฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและจำเลยต้องยื่นคำให้การเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้วศาลจะทำการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วหน้าที่นำสืบให้แก่โจทก์และจำเลย โดยที่แต่ละฝ่ายต้องยื่นบัญชีระบุพยานว่าจะนำพยานหลักบานใดบ้างมาสืบในศาล โดยการสืบพยานนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียหรือเสียเปรียบในการต่อสู่คดีกัน การพิจารณาสามัญนี้เป็นการพิจารณาคดีมีความยุ่งยากซับซ้อนและมักจะใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน
                              2) วิธีพิจารณาวิสามัญ เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีแบบรวบรัดและรวดเร็ว อาจฟ้องด้วยวาจาได้ เพราะเป็นการพิจารณาแบบไม่เต็มรูปแบบเหมือนกับการพิจารณาสามัญ ด้วยเหตุที่คดีแพ่งประเภทนี้นั้นเป็นคดีที่มีความสำคัญน้อย หรือเป็นคดีที่มีพยานหลักฐานชัดเจนไม่ต้องสืบพยานกันมากมาย เช่น คดีมโนสาเร่ และคดีไม่มีข้อยุ่งยาก

                    (3) การยื่นอุทรณ์ ฎีกา

                    ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีแพ่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เหตุที่ศาลต้องมี 3 ชั้น เพื่อให้คดีที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้วคู่ความ โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในการที่จะยื่นอุทรณ์หรือฎีกาต่อศาลอุทธรณ์หรือต่อศาลฎีกาต่อไปได้ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกานั้นได้มีโอกาสในการตรวจสอบการพิจารณาคดีพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าถูกต้องหรือไม่ เช่น ในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ (หมายถึงคดีนี้จำเลยชนะคดี) โจทก์ต้องการที่จะอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้นก็สามารถที่จะยื่นอุธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุธรณ์ได้ แต่การยื่นอุธรณ์หรือฎีกาที่ว่านี้ต้องต้องทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ด้วย
                    3.1.4 ชั้นบังคับคดี
                    คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีตามคำพิพากษา เช่น ในคดีที่โจทกืฟ้องให้ศาลสั่งให้จำเลยชดใช้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อศาลพิจารณาคดีแล้วเห็นว่าจำเลยผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้จริง ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและสั่งให้จำเลยชดใช้เงินตามสัญญาแล้ว  โจทก์ที่ชนะคดีสามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้มีการปฏิบัติไปตามคำพิพากษาได้ หากคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีไม่ยอมปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยอาจยึด อายัดทรัพย์ของลูกหนี้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาขายทอดตลาดหรือจับกุม คุมขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ในกรณีไม่ยอมกระทำการตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาชั้นบังคับคดี

3.2) การดำเนินคดีอาญา

          กฎหมายอาญานั้นเมื่อความผิดอาญาได้เกิดขึ้นรัฐสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ทันที ไม่ต้องไปฟ้องคดีให้ศาลตัดสินก่อน เช่น นายแดงกำลังทำร้ายร่างกายนายดำอยู่ ตำรวจสามารถจับนายแดงได้ทันที่ ไม่ต้องไปฟ้องศาลก่อน แต่การจะลงโทษนายแดงตามกฎหมายได้นั้นต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ว่าผู้กระทำความผิดนั้นเป็นผู้ที่ได้กระทำความผิดจริงตามขั้นตอนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียก่อน โดยหลักการดำเนินคดีอาญานั้น ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

                    (1) ชั้นก่อนฟ้องคดี
                    ก่อนที่คดีอาญาจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลต้องผ่านกระบวนหลายขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานหลักฐาน เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง อันจะนำไปสู่การฟ้องร้องและพิจารณาลงโทษในอนาคต โดยการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้น สามารถนำคดีอาญาไปสู่ศาลได้ 2 วิธี แยกพิจารณาดังนี้


                    1) การฟ้องคดีโดยผู้เสียหาย
                    ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ได้กำหนดให้ผู้เสียหายในคดีอาญามีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย[5] ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิแก่ผู้เสียหายในการดำเนินคดีอาญาเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งรัฐในการดำเนินคดีอาญาให้ โดยผู้เสียหายสามารถทำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจเหนื่อคดีนั้นได้เลย แต่การฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายนั้น มีหลักเกณฑ์ที่ผู้เสียหายจะต้องคำนึงดังนี้
                    1.1) บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้เสียหายตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.2(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6 ดังนั้นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
                   (1) ผู้เสียหายที่แท้จริง
                   (2) ผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
                    โดยการฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายนั้นกฎหมายกำหนดให้ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้อง[6]ก่อนที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาเสมอ ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี (การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ) ที่ศาลไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนศาลสามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้เลย อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคท้าย ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลย ทราบจำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยาน โจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มาแต่ตั้งทนายมาซักค้านพยาน โจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับ ฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

                    2) การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ
                    การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐถือเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อมีการร้องทุกขืกล่าวโทษแล้ว พนักงานสอบสวนจะเริ่มทำการสอบสวนความผิ                             ด โดยออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาให้การ หากไม่มาตามหมายก็ต้องมีการออกหมายจับต่อไป ซึ่งการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ

                   2.1) ขั้นตอนการร้องทุกข์กล่าวโทษ
                    ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์[7]ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นถือว่าคดีขาดอายุความ เพราะความผิดต่อส่วนตัวนี้ ความประสงค์ของผู้เสียหายถือเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดี หากผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็ไมสามารถดำเนินคดีอาญาได้
                    แต่หากความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หรือความผิดอันยอมความไม่ได้ ผู้เสียหายไม่จำต้องไปร้องทุกข์ก่อน หากมีการกล่าวโทษ[8]ต่อพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้เลย

                   2.2) ขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน

                    เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วขั้นตอนต่อไปคือการสอบสวน ในการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐนั้นกฎหมายห้ามไม่ให้พนักงานอัยการฟ้องคดีหากคดีนั้นไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบ ซึ่งแตกต่างจากการฟ้องคดีอาญาโดยเอกชนผู้เสียหายที่ไม่จำต้องมีการสอบสวนก่อน เอกชนผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ทันที แต่คดีอาญาที่ผู้เสียฟ้องเองนั้นต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องเสมอทั้งนี้เพื่อเป็นการกลั่นกรองคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล โดยผู้ที่มีอำนาจทำการสอบสวนคือพนักงานสอบสวน[9] การสอบสวนนั้นคือการที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
                    การดำเนินการในชั้นสอบสวนนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องทำการแจ้งข้อหาให้แก่ผู้ต้องหาได้ทราบว่าเขาทำผิดข้อหาอะไร และจะต้องแจ้งสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายให้แก่ผู้ต้องหาทราบด้วยเช่นกัน เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ เลยก็ได้ สิทธิในการมีทนายความหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความรัฐก็ต้องจัดหาให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวน ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้เพื่อทำการสอบสวนต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องหานั้นได้มีสิทธิในการต่อสู่คดีได้อย่างเต็มที่
                    เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้วความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการสั่งคดีต่อไป

                   2.3) ขั้นตอนการสั่งคดีของพนักงานอัยการ

                    การสั่งคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นทนายความแผ่นดิน ดำเนินคดีในชั้นศาลแทนรัฐ การสั่งคดี คือ การที่พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจการสั่งคดีอาญาว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลที่จะฟ้องร้องต่อศาลต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาจากสำนวนการสอบสวนที่พนักงายสอบสวนได้ส่งมา พร้อมพยานหลักฐานที่รวบรวมมาทั้งหมด หากพนักงานอัยกาเห็นว่าคดีอาญานั้นไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง(เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำผิด) พนักงานอัยการอาจมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือหากว่าพนักงานอัยการเห็นว่าตามสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานนั้นเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง ก็มีคำสั่งฟ้องคดีและนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป[10]

                    เนื่องจากการสั่งคดีของพนักงานอัยการของไทยนั้นเป็นการสั่งคดีตามหลัก (Opportunity Principle) ซึ่งให้ดุลพินิจแก่พนักงายอัยการในการสั่งคดี แม้คดีนั้นปรากฎพยานหลักฐานชัดเจนว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง พนักงานอัยการก็อาจมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ เช่น พนักงานอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง แต่การฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ก็อาจมีคำสั่งไม่ฟ้องได้

          2) ชั้นพิจารณาคดีและพิพากษา

          เมื่อคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว หรือในคดีที่เอกชนผู้เสียหายยื่นฟ้องต่ศาลและศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีประทับรับฟ้องไว้พิจารณา ถือได้ว่าคดีอาญานั้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว การพิจารณาคดีอาญาในศาลนั้นต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพจารณาความอาญา โดยที่การค้นหาความจริงในคดีเป็นเรื่องของคู่ความ(โจทก์และจำเลย) โดยที่ศาลวางตัวเป็นกลางคอยทำหน้าที่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดกติกา ซึ่งมีลักษณะเป็นการพิจารณาคดีในระบบกล่าวหา ซึ่งแยกขั้นตอนในชั้นศาลออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนของการพิจารณา(สืบพยาน) และขั้นตอนของการทำคำพิพากษา

1) การพิจารณาคดีอาญาในศาล

          ในการพิจารณาคดีอาญานั้นมีหลักการที่สำคัญอยู่หลายประการดังนี้

การพิจารณาและสืบพยานในศาลจะต้องให้ทำโดยเปิดเผย หมายความว่า ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าไปฟังการพิจารณาคดีอาญาของศาลได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการพิจารณาของศาลว่าเป็นไปโดยยุติธรรมหรือไม่ และการสืบพยานจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยด้วย ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะหากจำเลยไม่ทราบว่าพยานการซัดทอดตนอย่างไร อาจทำให้เสียเปรียบในการสู้คดีได้ เว้นแต่ความผิดบางฐานคามผิดเท่านั้นที่ศาอาจมีคำสังให้พิจารณาเป็นการลับได้[11] เช่น คดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับเพศที่ต้องรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศของผู้เสียหาย เป็นต้น

สิทธิในการมีทนายความในชั้นศาล การดำเนินคดีอาญานั้นนอกจากจะมุ่งปราบปรามการกระทำความผิดแล้ว ยังต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกด้วย ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีของศาลก็เช่นเดียวกัน โดยกฎหมายได้คุ้มครองสิทธิของจำเลยไว้ “สิทธิในการมีทนายความ” เพราะถือว่าทนายความนั้นเป็นผู้ที่จะคอยมาพิทักษ์สิทธิของจำเลยให้การต่อสู้คดีในชั้นศาล เช่น การนำพยานมาหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ซึ่งรวมถึงการซักค้านด้วย การขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างการพิจารณา รวมถึงช่วยเหลือจำเลยในการอุทธรณ์ ฎีกาต่อไป[12]

การพิจาณาคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ หมายถึง คดีนั้นเมื่อศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลอาจไม่ต้องพิจารณาสืบพยานในคดีนั้นอีกต่อไปอีกก็ได้ ซึ่งเป็นไปตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง   
                         
ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้นเป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้”

                   2) การทำคำพิพากษา
          เมื่อศาลได้พิจารณาและสืบพยานในคดีเสร็จสิ้นแล้ว ศาลต้องทำคำพิพากษาเพื่อชี้ขาดคดีว่าจะตัดสินประการใด หากเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักมากพอจนแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลย (ถือว่าโจทก์ชนะคดี) แต่หากว่าในคดีนั้นศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ หรือตามน้ำหนักพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าจำเยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ยกความประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง[13] (ถือว่าจำเลยชนะคดี)

          2.3 การยื่นอุทรณ์ ฎีกา
          สำหรับคู่ความ (โจทก์หรือจำเลย) ที่ไม่พอใจในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น อาจอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวต่อศาลต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้[14] ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น โดยจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งในการอุทธรณ์หรือฎีกานั้นมีหลักการอยู่หลายประการที่คู่ความจะต้องปฏิบัติตาม เช่น
          - การอุทธรณ์จะต้องเป็การอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายนั้นคู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกกรณี แต่ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นคู่ความจะต้องพิจารณาตาม ม. 193 ทวิ[15] ในกรณีของการอุทธรณ์ และต้งพิจารณาตาม ม. 218[16]

          2.4 ชั้นบังคับโทษ
          เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า โดยที่ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหาร ชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์ คำพิพากษานั้นและคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน

โดยที่โทษทางอาญา คือ สภาพบังคับของกฎหมายอาญา ตามมาตรา 18 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ทำความผิดอาญาไว้ 5 สถาน ซึ่งโทษแต่ละสถานก็มีวิธีการในการบังคับโทษที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. โทษประหารชีวิต คือ การเอาผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตไปให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย[17]
2. โทษจำคุก คือ การเอาตัวไปคุมขังไว้ในเรือนจำ ตามกำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา[18] โดยที่อาจมีการร้องขอให้ศาลสั่งทุเลาโทษจำคุกไว้ก่อนได้ เช่น กรณีของจำเลยเป็นคนวิกลจริต อาจมีการร้องขอให้ศาลทุกเลาการจำคุกไว้ก่อน จนกว่าจำเลยจะหายจากอาการวิกลจริต[19]
3. โทษกักขัง คือ การเอาตัวไปกักขังไว้ในสถานที่กักขัง ซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ[20]
4. โทษปรับ คือ เป็นการบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และต้องโทษปรับตามคำพิพากษา
5. ริบทรัพย์สิน เช่น ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด ยาเสพติด ของหนีภาษี เป็นต้น หรือทรัพย์ที่มีไว้ใช้ในการกระทำความผิด เช่น ปืนหรือมีดของกลาง รถยนต์ที่เอาไว้ขนยาเสพติด เป็นต้น




[1] เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, (น.บ.เกียรตินิยมอันดับ 1, น.บ.ท.), อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
[2] มาตรา 189 คดีมโนสาเร่ คือ
(1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงิน ได้ไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(2) คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่า หรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือ ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
[3] โดยปกติในศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษา 2 คนเป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดี
[4] มาตรา 196 ในคดีสามัญซึ่งโจทก์ฟ้องเพียงขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามตั๋วเงิน ซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินนั้นได้ถูกปฏิเสธ หรือตามสัญญาเป็นหนังสือซึ่งปรากฏ ในเบื้องต้นว่าเป็นสัญญาอันแท้จริงมีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนั้นโดยรวบรัดก็ได้
ถ้าศาลเห็นว่าคดีตามวรรคหนึ่งนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ให้ศาลมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ เว้นแต่ มาตรา 190 จัตวา มาใช้บังคับแก่คดีเช่นว่านั้นได้
ถ้าในระหว่างการพิจารณาปรากฏว่าคดีไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรานี้ ศาลอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วดำเนินการพิจารณาต่อไปตามข้อบังคับแห่งคดีสามัญได้
[5] มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(1) พนักงานอัยการ
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(2) ผู้เสียหาย
[6] การไต่สวนมูลฟ้อง คือ การที่ศาลออกนั่งพิจารณาเกี่ยวกับคำฟ้องของผู้เสียหายว่าคดีที่ฟ้องนั้นมีมูลที่จะฟ้องร้องกันหรือไม่ หากศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลจะไม่รับฟ้องไว้พิจารณา แต่หากว่าคดีนั้นมีมูลศาลก็จะรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป
[7] มาตรา 2 (7) "คำร้องทุกข์" หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อ เจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความ ผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนา จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
[8]มาตรา 2 (8) "คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิด อย่างหนึ่งขึ้น
[9] พนักงานสอบสวนหลักตามกฎหมาย คือ พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในเขตกรุงเทพมหานคร คือข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มียศร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ในพื้นที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร คือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ (ข้าราชการตำรวจมียศร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป) ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวนคดีอาญา ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน เมื่อความผิดเกิด อ้าง หรือเชื่อว่าเกิดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
[10] มาตรา 143 เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวน ดั่งกล่าวใน มาตราก่อน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดั่งต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหา มาเพื่อฟ้องต่อไป
(2) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้อง ผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งไม่ฟ้อง
ในกรณีหนึ่งกรณีใดข้างต้น พนักงานอัยการมีอำนาจ
(ก) สั่งตามที่เห็นควร ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เพิ่มเติม หรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป
(ข) วินิจฉัยว่าควรปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขัง แล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติ ราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุม ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการ หรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
[11] มาตรา 172 การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผย ต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
[12] มาตรา 173 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
[13] มาตรา 182 คดีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามี คำร้องระหว่างพิจารณาขึ้นมา ให้ศาลสั่งตามที่เห็นควร เมื่อการ พิจารณาเสร็จแล้วให้พิพากษาหรือสั่งตามรูปความ
ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการ พิจารณาหรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้
เมื่อศาลอ่านให้คู่ความฟังแล้ว ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเป็น ความผิดของโจทก์ที่ไม่มา จะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่จำเลย ไม่อยู่ โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ก็ให้ ศาลรอการอ่านไว้จนกว่าจำเลยจะมาศาล แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่าจำเลย หลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังให้ศาลออกหมายจับจำเลย เมื่อได้ออกหมาย จับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันออกหมายจับ ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่า โจทก์หรือจำเลยแล้วแต่กรณีได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว
ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเลื่อนอ่านไปโดยขาดจำเลย บางคนถ้าจำเลยที่อยู่จะถูกปล่อย ให้ศาลมีอำนาจปล่อยชั่วคราว ระหว่างรออ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
[14] มาตรา 193 คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นใน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์ โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ
[15] มาตรา 193ทวิ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหา ข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
(1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก
(2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลง โทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษ ไว้ หรือ
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท
[16] มาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
[17] มาตรา 18 วรรคสอง โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี
[18] มาตรา 21 ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุก รวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึง จำนวนชั่วโมง
ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด
[19] มาตรา 246 เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(3) ถ้าจำเลยมีครรภ์
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gif(4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
          ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้นศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุม ในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้น เป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง
[20] มาตรา 24 ผู้ใดต้องโทษกักขัง ให้กักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะสั่งในคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำ ความผิดไว้ในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทหรือสภาพ ของผู้ถูกกักขังก็ได้
ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่า การกักขังผู้ต้องโทษกักขังไว้ในสถานที่กักขังตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น หรือทำให้ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ต้องโทษกักขังในการดำรง ชีพได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร หรือมีพฤติการณ์พิเศษประการอื่นที่แสดงให้เห็นว่า ไม่สมควรกักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้กักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของผู้นั้นเองโดยได้รับความ ยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อน ไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ต้องโทษกักขังปฏิบัติ และหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวยินยอม ศาลอาจมีคำสั่งแต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ควบคุม ดูแลและให้ถือว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายนี้






กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน