Saturday 27 June 2015

ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายสมควรลงโทษจำคุกหรือไม่

ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายสมควรลงโทษจำคุกหรือไม่

กระแสสังคมเริ่มมีการเรียกร้องให้ความผิดที่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้นสมควรถูกลงโทษจำคุก สถานหนักด้วย อยากให้โทษหนัก ๆ เช่น คดีแพรวา แต่ทำไมหลาย ๆ คดีศาลจึงไม่ก็ไม่ได้จำคุกจำเลยจริง ๆ แต่ให้รอลงอาญาไว้เสียส่วนใหญ่

ก่อนอื่นต้องอธิบายให้เสียก่อนว่าความผิดที่กระทำโดยประมาทกับความผิดที่กระทำโดยเจตนานั้นแตกต่างกัน ไม่ใช่เพราะผลของการกระทำซึ่งอาจจะเหมือนกันได้
เช่น เจตนาขับรถชนคนให้ตาย กับขับรถไม่ระมัดระวังชนคนตาย ทั้ง 2 กรณี ผลของการกระทำความผิด คือ มีคนตายเหมือนกัน แต่กฎหมายลงโทษ 2 กรณีนี้ไม่เท่านั้น

กฎหมายลงโทษบุคคลตามความชั่วร้ายของจิตใจ แน่นอนว่าคนที่กระทำความผิดโดยเจตนาย่อมมีความชั่วร้ายของจิตใจมากกว่า ย่อมต้องลงโทษหนักกว่าคนที่กระทำความผิดโดยไม่เจตนาแต่ไม่ระมัดระวัง

คำถามต่อมา กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดเพื่ออะไร
1. เพื่อแก้แค้นทดแทน
2. การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง
3. ลงโทษเพื่อตัดโอกาสกระทำผิด
4. ลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู

การลงโทษจำคุก (จริงๆ) กับคนที่กระทำโดยประมาทนั้นสามารถข่มขู่ยับยั้งคนที่ขับรถไม่ให้ขับโดยประมาทได้หรือไม่

การลงโทษจำคุก (จริงๆ) กับคนที่กระทำโดยประมาทนั้นสามารถตัดโอกาสผู้กระทำความผิดไม่ให้ขับรถชนคนตายได้อีก(ตราบเท่าที่อยู่ในคุก)

การลงโทษจำคุก (จริงๆ) กับคนที่กระทำโดยประมาทนั้นลงโทษสามารถแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดได้จริงหรือไม่ คนที่ติดคุกออกมาแล้วจะขับรถโดยประมาทอีกหรือไม่

แต่ที่ได้ผลมากที่สุด สำหรับการลงโทษจำคุกสำหรับกรณีที่ผู้กระทำความผิด คือ ได้รับการแก้แค้นทดแทนผู้กระทำความผิด กับการที่ผู้กระทำความผิดต้องติดคุก

กำลังตั้งคำถามว่า การลงโทษจำคุกกับความผิดที่กระทำโดยประมาท เหมาะสมหรือไม่ ผู้เสียหายได้อะไร ผู้กระทำความผิดได้อะไร และสังคมควรได้อะไร มากกว่าต้องเห็นคนเสียชีวิตแล้วเสียใจ และสะใจเมื่อเห็นคนที่ประมาทต้องติดคุก

Sunday 14 June 2015

ความผิดฐานดูหมิ่น ซึ่งๆหน้า




 

ความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงนั้นเป็นความผิดที่กฎหมายอาญามุ่งประสงค์จะให้ความคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล ไม่ให้ใครมาทำให้เสียหาย เพราะชื่อเสียงนั้นถือเป็นเกียรติยศที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม หากปล่อยให้ผู้ใดผู้หนึ่งมาใส่ความ มาดูหมิ่นก็จะนำมาซึ่งความไม่พอใจและโกรธแค้นของผู้เสียหาย และความไม่ปกติสุขของสังคม

 

ดังนั้นจึงต้องกำหนดให้การกระทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียงนั้นมีความผิดและโทษทางอาญา เพื่อที่จะได้เป็นการยับยั้งไม่ให้มีการกระทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงเกิดขึ้น ความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงนี้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นได้ง่าย และเป็นความผิดที่กฎหมายกำหนด (mala prohibita) และไม่ได้ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสังคมโดยรวมกฎหมายจึงกำหนดให้ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมได้

 

ประเภทของความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
  1. ความผิดฐานหมิ่นประมาท
  2. ความผิดฐานดูหมิ่น

 



 

1) ความผิดฐานหมิ่นประมาท (Defamation) = down+fame ความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่ผู้กระทำได้กระทำให้ชื่อเสียง (famous) ของบุคคลอื่นที่เขามีนั้นลดลงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เพราะถูกผู้กระทำใส่ความต่อบุคคลที่สาม (Third person) ดังนั้นในความผิดฐานหมิ่นประมาทสำคัญจะต้องใส่ความต่อบุคคลที่สาม ไม่ต้องทำต่อหน้าผู้ที่ถูกใส่ความ

2) ความผิดฐานดูหมิ่น (Insult) เป็นการแสดงกิริยา วาจา อันเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นเช่น การด่าด้วยคำหยาบคาย หรือการถ่มน้ำลาย หรือแสดงท่าท่างอันเป็นการดูหมิ่น และต้องเป็นการกระทำดูหมิ่นต่อหน้าเท่านั้น


   

 

มีประเด็นให้วินิจฉัยดังต่อนี้
   

นางดำเอาเรื่องที่นางขาวไปทำงานเป็นหญิงขายบริการอยู่ต่างประเทศไปเล่าให้นางเขียวฟัง นางเขียวเมื่อรู้เรื่องดังกล่าวจึงเอาเรื่องมาเล่าให้นางขาวฟัง นางขาวทราบเรื่องดังกล่าวจึงได้โทรศัพท์ไปด่านางดำด้วยถ้อยคำหยาบคาย
 

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางดำและนางขาว มีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่