Sunday 12 July 2015

ทรัพย์ที่ลักได้กับทรัพย์ที่ยักยอกได้




ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยในความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้ใดลักทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยโดยจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ทั้งสองฐานความผิดกฎหมายใช้คำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย"

แล้วทรัพย์ในที่นี่มีความหมายอย่างไร

แน่นอนว่าต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง เพราะกฎหมายใช้คำว่า ทรัพย์ แล้วหมายความถึง ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์หรือไม่

ในส่วนของความผิดฐานลักทรัพย์ นั้นมีหลักอยู่ว่า ทรัพย์นั้นต้องเป็นทรัพย์ที่ลักได้ ดังนั้นสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดจึงเป็นวัตถุแห่งการกระทำในความผิดฐานนี้ได้ ส่วนอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องปรากฏว่าได้มีการแยกทรัพย์นั้นออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้นเสียก่อน เช่น ได้มีการขุดดินขึ้นมากองไว้ จะลักต้นไม้ก็ต้องมีการตัดโค่นต้นไม้นั้น หรือทำให้อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นสังหาริมทรัพย์เสียก่อน

ส่วนทรัพย์ในความผิดฐานยักยอก ต้องเป็นทรัพย์ที่เบียดบังเอาได้ ซึ่งก็หมายความว่าต้องเป็นทรัพย์ที่ครอบครองได้ ซึ่งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดครอบครองได้หมด

ดังนั้นทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ในความผิดฐานลักทรัพย์ต้องมีการแยกอสังหาริมทรัพย์นั้นออกมาเสียก่อน (ทำให้เป็นสังหาริมทรัพย์) จึงจะเป็นวัตถุแห่งการกระทำในความผิดฐานลักทรัพย์ได้

ส่วนความผิดฐานยักยอกทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดถูกยักยอกได้ เช่น ครอบครองที่ดินผู้อื่นอยู่ ครอบครองบ้านที่เป็นสินสมรส ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง แล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองหรืผู้อื่นโดยทุจริต


โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา