Sunday 29 November 2015

การนำสืบพยานเอกสาร


การนำสืบพยานเอกสาร

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ

น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท.,น.ม.(กฎหมายอาญา)

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

พยานเอกสาร (documentary evidence) สิ่งซึ่งมีการบันทึกตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายไว้ สิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ จะบันทึกด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้ สิ่งที่พยานเอกสารพิสูจน์ คือ ข้อความที่เอกสารแสดงออก ไม่ใช่ตัววัตถุเอกสาร พยานเอกสารนั้นเป็นพยานสำคัญในคดีแพ่ง

ข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่พยานเอกสารตามความหมายของกฎหมายไทย แต่ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บอกว่า “ไม่ให้ปฏิเสธไม่รับฟังเพียงเพราะว่าสิ่งนั้นเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์”

quiz พยานวิแพ่ง100 ข้อ

ตอนนี้เปิดให้ทำฟรี ลองเล่นดูได้เลยครับ
เล่นได้ฟรีถึง 13 มีนาคม 2561
เลยกำหนดแล้วติดต่อขอรหัสเพื่อเล่นได้ครับ มีค่าใช้จ่าย


เพิ่มเพื่อน


เข้าเวป https://quizizz.com/join/

ใส่โค๊ด 907471



1. ประเภทของเอกสาร

ตามกฎหมายพยานแบ่งพยานออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1) เอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) ได้ให้ความหมายของเอกสารราชการเอาไว้ "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย เช่น หนังสือภายนอก หนังสือภายใน หนังสือสั่งการ หนังสือประชาสัมพันธ์  หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ เป็นต้น

2) เอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ซึ่งมีหลายประเภท เช่น หนังสือแสดงสิทธิที่ดิน เอกสารสิทธิที่ราชการออกให้ เอกสารสิทธิประเภทที่ประชาชนทำขึ้นเอง

3) เอกสารมหาชน มีปรากฏใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๒๗ ซึงหากพิจารณาตามหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว น่าจะหมายถึง เอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำขึ้นหรือจัดให้มีขึ้นตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ให้ประชาชนได้ตรวจดูและอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานได้ เช่น ทะเบียนบ้าน ทะเบียนรถ ทะเบียนสมรส

เอกสารมหาชนเป็นเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นเอกสารที่ราชการจัดทำขึ้นมา

4) เอกสารเอกชน หมายถึง เอกสารที่เอกชนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในฐานะเอกชนจำทำขึ้น โดยหลักทั่วไปการอ้างเอกสารเอกชนนำสืบจะต้องนำสืบด้วยต้นฉบับและต้องมีพยานบุคคลมาสืบประกอบ เช่น สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าทรัพย์


2. การส่งสำเนาเอกสาร

การนำสืบพยานเอกสารเพื่อพิสูจน์ว่าเอกสารนั้นเป็นของที่แท้จริงหรือไม่ มิได้ทำปลอมขึ้น ถ้าเป็นเอกสารที่แท้จริงศาลก็รับฟังไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ต้องส่งสำเนาเอกสารให้กับคู่ความฝ่ายตรงข้ามตรวจก่อนวันสืบพยาน เพื่อว่าหากเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้อง อีกฝ่ายจะได้มีโอกาสคัดค้านความถูกต้องของเอกสาร

ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องศาลเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้กู้ไป 100,000 บาท โจทก์จะต้องส่งสำเนาสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์อ้าง

1) วิธีการส่งสำเนาเอกสาร

ตาม ป.วิแพ่ง ม. 90 ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดยื่นคำแถลงหรือคำร้องขออนุญาตอ้างอิงพยานหลักฐานตาม มาตรา 88 วรรคสอง หรือวรรคสาม ให้ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้น พร้อมกับการยื่นคำแถลงหรือคำร้องดังกล่าว เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ยื่นสำเนาเอกสารภายหลังเมื่อมีเหตุอันสมควร

กำหนดเวลาส่งสำเนาเอกสาร แบ่งเป็น 3 กรณี คือ

1 การส่งสำเนาเอกสารตามที่ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานครั้งแรก

2. การส่งสำเนาเอกสารตามที่ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม

3. การส่งสำเนาเอกสารตามที่ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานในกรณีที่ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน

2) ผลของการไม่ส่งสำเนาเอกสาร

มาตรา 87 ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่ (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 88 และ มาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยาน หลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
3) ข้อยกเว้นไม่ส่งสำเนาเอกสาร

มาตรา 87 ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่ (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 88 และ มาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยาน หลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

1. เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างเอกสารเป็นชุดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบดีอยู่แล้วหรือสามารถตรวจตราได้โดยง่ายถึงความมีอยู่และแท้จริงของเอกสารนั้น เช่น หนังสือภายนอก หนังสือภายใน หนังสือสั่งการ หนังสือประชาสัมพันธ์  หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ เป็นต้น

มาตรา 90 (1) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารเป็นชุดซึ่งคู่ความฝ่ายอื่นทราบดีอยู่แล้ว หรือสามารถตรวจตราให้ทราบได้โดยง่ายถึงความมีอยู่และความแท้จริงแห่งเอกสารนั้น เช่น จดหมายโต้ตอบระหว่างคู่ความใน คดีหรือสมุดบัญชีการค้า และสมุดบัญชีของธนาคารหรือเอกสารในสำนวนคดีเรื่องอื่น

2. เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลภายนอก

มาตรา 90 (2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลภายนอก



มาตรา 123 ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบครอบของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสำคัญและคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกำหนด ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีต้นฉบับ เอกสารอยู่ในครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้น ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ยอมรับแล้ว

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกหรือ ในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นำบทบัญญัติในวรรคก่อนว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคำขอและการ ที่ศาลมีคำสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้างต้องส่งคำสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกำหนดเมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 93 (2)

3) ถ้าการคัดสำเนาเอกสารจะทำให้กระบวนพิจารณาคดีล่าช้าเป็นที่เสื่อเสียแก่คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารนั้น หรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจคัดสำเนาเอกสารให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ยื่นสำเนาเอกสาร

มาตรา 90 (3) ถ้าการคัดสำเนาเอกสารจะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้าเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความซึ่งอ้างอิงเอกสารนั้น หรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจคัดสำเนาเอกสารให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ให้ยื่นสำเนาเอกสารนั้น

4) ข้อสังเกตของการส่งสำเนาเอกสาร

1. ภาพถ่ายวัตถุพยานต่าง ๆ ไม่ใช่พยานเอกสาร ไม่ต้องส่งสำเนาเอกสาร เช่น ภาพถ่ายรถที่เสียหาย

2. เอกสารที่แนบมาท้ายฟ้องหรือท้ายคำให้การหรือคำร้องย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง คำให้การหรือคำร้อง

3. คำแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศ มาตรา 46 ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่ส่งต่อศาล ได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับ หรือเฉพาะแต่ส่วนสำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ

4. ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี (เป็นเรื่องของศาลกับผู้ฟ้อง)

5. พยานเอกสารที่ใช้ในการนำสืบในการไต่สวนคำร้องคำขอต่าง ๆ ไม่ต้องส่งสำเนา

6. สำเนาเอกสารตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 90 ไม่ได้บังคับว่าจะต้องถ่ายจากต้นฉบับ การพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับต้นฉบับก็คือว่าเป็นสำเนาได้

7. การพิสูจน์ต่อพยานตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 120 ไม่ต้องส่งสำเนาเอกสาร และไม่จำต้องยื่นบัญชีระบุพยาน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2538 การที่จำเลยมิได้ระบุหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานและส่งสำเนาให้โจทก์แต่ใช้เอกสารนั้นประกอบการถามค้านโจทก์ว่า ล. เจ้าของกรรมสิทธิ์มอบอำนาจให้ ย. ทำสัญญาเช่ากับจำเลยพยานเอกสารดังกล่าวมิใช่เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงแม้จะมิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ก็ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังกรณีไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา88,90ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่า ล. เจ้าของกรรมสิทธิ์มอบอำนาจให้ ย. ทำสัญญาเช่ากับจำเลยย่อมนำสืบโดยอ้างหนังสือมอบอำนาจเพื่ออธิบายให้เห็นว่าที่มีชื่อ ย. เป็นผู้ให้เช่าในสัญญาเช่าเพราะได้รับมอบอำนาจจาก ล. ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาเช่า
2. การรับฟังสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ

ป.วิแพ่ง มาตรา 93 การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่

ป.วิอาญา มาตรา 238 ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้

ผลของการไม่อ้างต้นฉบับเอกสาร มาตรา 93 การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น ดังนั้นหากไม่อ้างก็ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐาน

1) ข้อยกเว้นการรับฟังต้นฉบับเอกสาร

1. เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้อง ให้ศาลยอมรับฟังเอกสารนั้นได้ มาตรา 93 (1) เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้วให้ศาลยอมรับฟัง สำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐาน

2. ถ้าต้นฉบับนั้นหาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น มาตรา 93 (2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสาร หรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

3. กรณีที่ต้นฉบับอยู่ในความอารักขาหรือควบคุมของทางราชการ ก็สามารถนำสำเนาเอกสารที่รับรองโดยเจ้าพนักงานมาแสดงได้ มาตรา 90 (3) ต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการนั้นจะนำมาแสดงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อนึ่งสำเนาเอกสารซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ได้รับรองว่าถูกต้องแล้วให้ถือว่าเป็นอันเพียงพอในการที่จะนำมาแสดง เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น

4. คู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนมิได้คัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบ มาตรา 90 (4) เมื่อคู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนมิได้คัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบตาม มาตรา 125 ให้ศาลรับฟังสำเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลตาม มาตรา 125 วรรคสาม




2. ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อยกเว้นการรับฟังต้นฉบับ

1. ต้นฉบับหาไม่ได้ใน ป.วิอาญา มาตรา 238 มีความหมายกว้างกว่าใน ป.วิแพ่ง มาตรา ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้

2. พยานเอกสารนั้นเป็นเอกสารมหาชน มาตรา 127 เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองหรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และเอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องนั้น ให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้อง แห่งเอกสาร

3. การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร

มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อ ได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ใน อนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความ ในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

เหตุใดกฎหมายจึงห้ามสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เพราะเหตุว่าความศักดิ์สิทธิของเอกสาร และกฎหมายประสงค์ใช้เอกสารเป็นหลักฐานในการก่อนิติสัมพันธ์ อีกทั้งพยานเอกสารเป็นหลักฐานที่ง่ายต่อการพิสูจน์ การห้ามสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด ไม่เหมือนกับการนำเสาเอกสารมาสืบ ที่คู่ความอาจตกลงกันนำสำเนามาสืบแทนตนฉบับได้


กรณีใดบ้างที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง คือ กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ กรณีที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน และกรณีที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

1. กรณีที่กฎหมายบังคับต้องทำเป็นหนังสือ เช่น การโอนสิทธิเรียกร้อง ม.306 การทำสัญญาเช่าซื้อ ม. 572 การบอกกล่าวบังคับจำนอง ตาม ม. 728 การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องทำเป็นหนังสือ ตาม ม.798 ตั๋วเงิน ตาม ม. 898 และม. 900 พินัยกรรม ตาม ม.1656 การโอนหุ้นระบุชื่อ ตาม ม.1129 และการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60 วรรค 2

2. กรณีที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ม.456 วรรค 1 การแลกเปลี่ยนทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ ม. 519 การให้ทรัพย์ ตาม ม.525 การจำนอง ตาม ม.714 การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ม.1299 และ ม.1301

3. กรณีที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย ตาม ม.456 วรรคสอง การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ตาม ม.538 การกู้ยืมเงินกันเกินกว่าสองพันบาท ตาม ม.653 การค้ำประกัน ตาม ม.680 การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ม.798 วรรคสอง การสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ม.858 สัญญาประกันภัย ตาม ม.867 สัญญาแบ่งมรดก ตาม ม.1750 วรรคสอง

2) ข้อยกเว้นในการนำพยานบุคคลมาสืบแทนเอกสาร

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ใน อนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

1. ต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย มาตรา 93 (2)

มาตรา 93 การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่ (2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหายหรือไม่ สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสาร หรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2486 การที่จะนำพยานบุคคลมาสืบแทนต้นฉบับเอกสารที่ว่าหายนั้นจะต้องให้ได้ความว่าเอกสารนั้นหายไปอย่างไร และเก็บไว้ที่ไหน เพราะศาลจะรับฟังคำพยานเช่นนี้ก็ต่อเมื่อเอกสารหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5859/2530 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลยเป็นหนังสือและสัญญาเช่าอยู่ที่จำเลย จำเลยให้การว่าไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือสัญญาเช่าไม่มีอยู่ที่จำเลย เช่นนี้ โจทก์นำ พยานบุคคลเข้าสืบว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา93(2) ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94


2. พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน มาตรา 94 วรรคสอง ...มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความ ในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน

ฎีกา 1000/2494 โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ จำเลยให้การว่าสัญญารายนี้ไม่สมบูรณ์เพราะจำเลยมิได้กู้เงินเอาเงินของโจทก์ไปเลย หากแต่จำเลยถูกหลอกลวงให้พิมพ์ลายมือลงในสัญญา ดังนี้จำเลยย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลเข้าสืบประกอบข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 94

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2508 ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองนั้น ย่อมเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณี โดยคู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงจะทำสัญญาจำนองกันหากเป็นความจริงดังจำเลยอ้าง สัญญาขายฝากย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ฉะนั้น การที่จำเลยขอสืบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะจึงมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหากแต่เป็นการนำสืบหักล้างว่าสัญญาขายฝากไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยจึงนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2518 ทำสัญญากู้ใหม่รวมดอกเบี้ยที่ค้างมาก่อนรวมเข้าด้วยเป็นดอกเบี้ยเกินอัตรา สัญญากู้นี้เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยศาลให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง ต่อปีในต้นเงินตั้งแต่วันฟ้องขู่ให้ทำสัญญาค้ำประกันโดยกล่าวว่า ถ้าไม่ทำจะฟ้องริบทรัพย์สมบัติให้หมด เป็นการบอกว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ทำให้สัญญา ไม่สมบูรณ์ คำให้การว่าจำเลยลงชื่อในสัญญากู้โดยไม่ทราบจำนวนเงินที่โจทก์กรอกลงเกินจำนวน 5,000 บาท ที่ค้างจริง เป็นการต่อสู้ว่าการกู้และค้ำประกันไม่สมบูรณ์ แม้ในสัญญากู้ระบุว่ารับเงินไป 13,500 บาทจำเลยก็นำสืบหักล้างเอกสารได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2519 โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามจำนวนในสัญญากู้ 8,000 บาท แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว แต่พอเข้าใจตามคำฟ้องนั้นได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามสัญญากู้แล้ว จำเลยให้การว่ากู้ไปเพียง 300 บาทแต่โจทก์ตกลงให้มารับเงินกู้ไปจนครบจำนวนที่ลงไว้ในสัญญากู้ จำเลยได้รับเงินกู้ไปหลายครั้ง เป็นเงินรวมทั้งหมด 3,300 บาท เห็นได้ว่าจำเลยสู้คดีว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่สมบูรณ์ เพราะโจทก์ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ให้จำเลยไม่ครบจำนวนที่ตกลงกัน จำเลยมีสิทธินำสืบตามข้อต่อสู้ของ จำเลยได้ว่าได้รับเงินจากโจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2527 จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ 60,000 บาท แต่จำเลยให้การว่ากู้เพียง 30,000 บาท แต่ทำสัญญากู้ดังกล่าวเพราะโจทก์ต้องการจะผูกมัดจำเลยให้เลี้ยงดูน้องสาวโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญากู้ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะโจทก์ส่งมอบเงินให้จำเลยไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง

3. กรณีคู่ความตีความหมายในเอกสารผิด

ม.94 วรรคท้าย ...สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด  เป็นการนำสืบอธิบายความหมายของเอกสารที่ไม่ชัดแจ้ง ขัดแย้งกันเอง หรือเป็นเอกสารที่มีหลายความหมาย หรือเป็นการสืบเพื่อให้ทราบความหมายที่แท้จริงของเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2346/2519 คดีพิพาทกันเรื่องซื้อขายที่ดิน โจทก์บรรยายฟ้องระบุเนื้อที่อาณาเขตกว้างยาวไว้ชัดเจน แต่ลงเลขโฉนดผิดโดยเข้าใจผิด ต่อมาโจทก์จึงขอแก้เลขที่โฉนดใหม่ ดังนี้เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ที่ดินที่พิพาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงมิใช่เป็นการฟ้องใหม่หรือตั้งประเด็นใหม่ โจทก์เพิ่งทราบข้อผิดพลาดนี้ในวันชี้สองสถาน จึงขอแก้ฟ้องได้หลังจากวันชี้สองสถานสัญญาซื้อขายที่ดินที่ระบุเลขโฉนดและเนื้อที่ดิน พร้อมทั้งลักษณะเขตที่ที่จะแบ่งขายไว้ด้วย แต่ปรากฏว่าโฉนดเลขที่นั้นมีเนื้อที่ไม่ตรงกับในสัญญา สัญญานั้นจึงมีข้อความกำกวมไม่ชัดเจนโจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคล เพื่อแสดงถึงเจตนาอันแท้จริงได้ เป็นการนำสืบเพื่อแปลความหมายของเอกสาร ไม่ใช่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2520 เมื่อสัญญากู้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้แต่เพียงร้อยละห้าไม่ชัดเจนว่าร้อยละห้าสลึงหรือร้อยละห้าบาท โจทก์มีสิทธิสืบพยานบุคคลได้ว่าดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญากู้นั้นร้อยละห้าสลึงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการสืบอธิบายความหมายของสัญญากู้ มิใช่เป็นการสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540 สัญญาจะซื้อขายมีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

3) ข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร

1. หลักการห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร ตาม ม.94 ไม่นำไปใช้บังคับในคดีอาญา

2. การนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสาร คือสืบทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลเพื่อยืนยันข้อความในเอกสารให้หนักแน่น ไม่ต้องห้ามตาม ม.94

3. กรณีสัญญาจะซื้อจะขาย ที่กฎหมายให้คู่กรณีเลือกได้หลายวิธี เช่น วางมัดจำ ชำระหนี้บางส่วน มีหลักฐานเป็นหนังสือ หากคู่กรณีเลือกการวางมัดจำ หรือการชำระหนี้บางส่วน ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 94

4. สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่ต้องห้ามสืบพยานบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2535 จำเลยนำสืบว่าสัญญาที่แท้จริงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่า (ฉบับหลัง)ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

5. มาตรา 94 ห้ามเฉพาะนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเอกสาร แต่หากเป็นการนำเอกสารมาสืบไม่ต้องห้าม


แนะนำหนังสือของผู้เขียนครับ มีหลายวิชา









กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน


เพิ่มเพื่อน

Tuesday 3 November 2015

สิทธิของคู่ความในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบและการยื่นบัญชีระบุพยาน


สิทธิของคู่ความในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบและการยื่นบัญชีระบุพยาน

โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1), เนติบัณฑิตไทย, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายอาญา)
อาจารย์ประจำสาขากฎหมายอาญาและกระบวนยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา





คู่ความย่อมมีสิทธิในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ตนได้กล่าวอ้างหรือเถียงไว้ตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลได้กำหนดไว้อย่างถูกต้อง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ความจะนำพยานหลักฐานทุกอย่างมาสืบได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะจะทำให้คดีที่พิพาทกันอยู่นั้นใช้ระยะเวลาในการพิจารณาที่นานไม่จบสิ้น เป็นภาระของศาลและคู่ความ ดังนั้นตามกฎหมายลักษณะพยานทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาจะมีข้อจำกัดในการนำพยานหลักฐานมาสืบ  เช่น ในประมวลกฎหมายวิธuพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85 คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริง ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน หรือในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่นและให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
จะเห็นได้ว่าทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา คู่ความที่ได้อ้างข้อเท็จจริงใดเป็นข้ออ้างข้อเถียงของตนแล้วก็ย่อมมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ตามบัญญัติของกฎหมายนั้น ๆ แต่ก็มีข้อจำกัดในการนำพยานหลักฐานมาสืบทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาดังนี้


quiz พยานวิแพ่ง100 ข้อ

ตอนนี้เปิดให้ทำฟรี ลองเล่นดูได้เลยครับ
Deadline: 11:14pm, March 13 

เข้าเวป https://quizizz.com/join/

ใส่โค๊ด 907471

พยานหลักฐานที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังในคดีแพ่งและคดีอาญา
      ป.วิแพ่ง มาตรา 86 เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ก็ดี หรือเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้
      เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็นให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไป
      เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วยโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ
      มาตรา 87 ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่
        (1) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ และ
        (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

1.พยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท
       ใน ป.วิแพ่ง มาตรา 104 ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาไปตามนั้น
       พยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท คือ พยานหลักฐานที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้ออ้างหรือข้อเถียงที่ศาลได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท แม้จะเป็นพยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดี แต่อาจไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลกำหนดไว้ก็ได้ ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้ดีว่า ประเด็นข้อพาทในคดีนั้นมีประเด็นใดบ้าง และคู่ความได้อ้างหรือเถียงไว้อย่างไร

2. พยานหลักฐานใดที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงคดีให้ชักช้า
       การประวิงคดี คือ การหน่วงไว้ให้เนิ่นช้า ถ่วงเวลาให้คดีนั้นชักช้า ในปัจจุบันการพิจารณาคดีในศาลต้องกระทำด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม หากคดีใดศาลเห็นว่าคู่ความสืบพยานเพื่อทำให้คดีชักช้า หรือไม่มีความจำเป็นต้องสืบพยานในประเด็นที่ชัดเจนแล้ว ศาลก็มีอำนาจสั่งงดสืบพยานนั้นได้

3. พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่น
3.1  พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ จะต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
3.2  พยานที่เบิกความโดยไม่สาบานหรือปฏิญาณต่อหน้าศาลรับฟังเป็นพยานไม่ได้
3.3  คำให้การของจำเลยซึ่งไม่ได้ให้การไว้ในฐานะผู้ต้องหา ตาม ม.134 จะนำมาใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาคดีไม่ได้
3.4  ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามบุคคลภายนอกโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะพยาน รับฟังเป็นพยานในคดีไม่ได้
3.5  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จะอ้างแต่คำเบิกความของพยานในคดีแพ่ง โดยไม่ได้นำพยานดังกล่าวมาเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าคดีของโจทก์มีมูลไม่ได้

4. หลักฐานที่คู่ความไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้โดยชอบ ตาม ป.วิแพ่ง ม.88 และพยานหลักฐานที่ไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมตามตาราง 2(5) ท้าย ป.วิแพ่ง และพยานเอกสารซึ่งเป็นตราสารที่ไม่ได้ติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร ม.118



การยื่นบัญชีระบุพยาน

1. เหตุใดต้องมีการยื่นบัญชีระบุพยาน
ศาลในระบบกล่าวหา (Adversarial system) หรือระบบการดำเนินคดีแบบต่อสู้ (Battle) ดังนั้นเพื่อให้คู่ความสามารถต่อสู้คดีกันได้อย่างเท่าเทียมกัน จึงจำเป็นจะต้องเปิดเผยพยานหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์คดีในชั้นศาลให้อีกฝ่ายได้ทราบด้วย ดังนั้นหากคู่ความต้องการจะอ้างพยานหลักฐานจะต้องมีการยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายได้ทราบว่าจะมีพยานหลักฐานใดเข้าสืบบ้าง

2. กำหนดเวลาในการยื่นบัญชีระบุพยาน
          ในคดีแพ่ง กำหนดเวลาการยื่นบัญชีระบุพยานแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี คือในคดีที่มีการชี้สองสถาน และในคดีที่ไม่มีการชี้สองสถาน (คดีที่ไม่ต้องมีการชี้สองสถานตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 182)
          คดีที่มีการชี้สองสถาน ปกติคดีแพ่งศาลจะนัดชี่สองสถาน เนื่องจากคดีแพ่งเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและมีประเด็นที่พิพาทกันหลายประเด็น ดังนั้นศาลมักจะนัดคูความเพื่อชี่สองสถาน โดยในวันชี้สองสถานศาลจะทำหน้าที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบ รวมถึงกำหนดให้คู่ความทำหน้าที่นำสืบพยานก่อนหลัง และกำหนดวันสืบพยาน ก่อนวันสืบพยานที่ศาลนัดคู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป. วิแพ่ง มาตรา 88
          คดีที่ไม่มีการชี้สองสถาน คดีแพ่งบางคดีอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชี้สองสถาน ศาลก็อาจจะไม่นัดชี้สองสถานก็ได้ ตาม มาตรา 182 (1)-(2) ดังนั้นในคดีที่ไม่มีการชี้สองสถานศาลจะไม่ได้นัดวันสืบพยาน ดังนั้นคู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานนัดแรกไม่น้อยกว่า 7 วัน เช่น ในคดีไม่มีข้อยุ่งยากศาลไม่ชี้สองสถาน แต่กำหนดวันสืบพยายนัดแรก วันที่ 10 ตุลาคม 2558 คู่ความจะต้องยื่นบัญญชีระบุพยานไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันสืบพยาน นั้นคือ วันสุดท้ายที่ต้องยื่นคือ 2 ตุลาคม 2558
          ในคดีอาญาศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา แยกพิจารณาคดีที่ไม่ต้องมีการสืบพยาน และคดีที่ต้องมีการสืบพยาน คดีที่จำเลยปฏิเสธ หรือถือว่าปฏิเสธ คดีที่จำเลยรับสารภาพ แต่เป็นคดีที่มีโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป
          คดีที่ไม่มีการสืบพยาน ก็ไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพแล้วถือว่าคดีไม่มีข้อพิพาท ดังนั้นศาลก็ไม่ต้องาสืบพยาน เว้นเสียแต่ในคดีที่จำเลยรับสารภาพ แต่เป็นคดีที่มีโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ศาลจะต้องสืบพยานเพื่อให้แน่ใจว่าจำเลยรับสารภาพโดยสมัครใจ แต่การสืบพยานในคดีที่จำเลยรับสารภาพจะไม่เต็มรูปแบบ เรียกว่า สืบพยานประกอบคำรับสารภาพ
          คดีที่ต้องสืบพยาน คือ คดีที่จำเลยปฏิเสธ หรือคดีที่จำเลยรับสารภาพแต่มีโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ใน ป.วิอาญากฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานเอาไว้เหมือนกันคดีแพ่ง ดังนั้นจะต้องนำ ป. วิแพ่งมาใช้บังคับ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 15 ดังนั้นในคดีอาญาคู่ความก็ต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วันเช่นเดียวกับคดีแพ่ง จะมีข้อสังเกตบางประการที่ทำให้จำเลยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน คือ หากในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว ในชั้นพิจารณาของศาลจำเลยไม่ได้ยื่นอีก ก็ถือว่าจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานแล้ว

3. ผลของการไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน
          มาตรา 86 เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ก็ดี หรือเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้
มาตรา 87 ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่
(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 88 และ มาตรา 90...
พยานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้นั้น แม้จะเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ แต่ถือว่าเป็นพยานที่ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของ ป.วิแพ่ง ดังนั้นศาลต้องปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ และถือเป็นพยานหลักฐานที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 87(2) อีกด้วย

4. ชนิดของพยานที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน
     มาตรา 88 เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งหรือความเห็นของผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
    พยานหลักฐานทุกชนิดทั้งพยานบุคคล พยายเอกสาร และพยานวัตถุ คู่ความต้องระบุในบัญชีระบุพยานเพื่อยื่นต่อศาล หากไม่ได้ระบุไว้ก็จะนำมาสืบไม่ได้ และหากเป็นพยาจเอกสารก็ต้องระบุไว้ด้วยว่า เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสาร

5. ขั้นตอนการยื่นบัญชีระบุพยาน
     5.1 การยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล (เอกสารที่ต้องยื่น บัญชีระบุพยาน และสำเนาบัญชีระบุพยาน)
5.2 การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยาน เพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน (เอกสารที่ต้องยื่น คำแถลง บัญชีระบุพยานเพิ่มเติม สำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม)
5.3 การขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม มี 2 กรณี คือ 1) คู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว และ 2) คู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชี เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือ วรรคสองแล้วแต่กรณี ได้สิ้นสุดลงแล้ว...คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยาน และสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่า เวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง (เอกสารที่ต้องยื่น คำร้องขออนุญาต บัญชีระบุพยาน และสำเนาบัญชีระบุพยาน

6. ข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน
     6.1 การสืบพยานหลักฐานในการไต่สวนคำร้องต่าง ๆ เช่น คำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
     6.2 กรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยมีสิทธิอ้างตนเองเป็นพยานได้โดยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน มาตรา 199 วรรคสอง ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดีหรือศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้จำเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้
     6.3 สำเนาเอกสารที่คู่ความแนบมาท้ายฟ้องหรือคำร้อง
6.4 เอกสารที่ใช้ประกอบการถามค้านหรือการพิสูจน์ต่อพยาน

7. ข้อสังเกตในการยื่นบัญชีระบุพยาน
     7.1 ในการยื่นบัญชีระบุพยานนั้น คู่ความจะต้องแสดงรายละเอียดในบัญชีระบุพยานด้วย หากเป็นพยานเอกสารควรระบุให้ชัดเจนว่าอ้างต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารนั้น
     7.2 วันสืบพยาน ตาม มาตรา 1 (10) วันสืบพยาน หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน ต้องมีการสืบพยานกันจริง ๆ ด้วย มิใช่วันนัดสืบพยานแล้วเลื่อนคดีไป


7.3 มาตรา 88 ...ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หมายถึง ต้องมีวันคั่นอยู่ระหว่างวันที่ยื่นบัญชีระบุพยานกับวันสืบพยานอย่างน้อย 7 วัน เช่น วันสืบพยานวันที่ 10 ต้องยื่นบัญชีระบุพยานวันที่ 2 เป็นวันสุดท้าย









กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน