Tuesday 22 December 2015

สิทธิในการมีทนายความ


ภาพจาก http://f.ptcdn.info/103/016/000/1393403235-fullsizeph-o.jpg

สิทธิในการมีทนายความ

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) น.ม.(กฎหมายอาญา) น.บ.ท.


ในคดีอาญาทนายความมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย หลังจากกฎหมายได้รับอิทธิพลของแนวความคิดในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายทั้งเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดีโดยมีการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

แต่เดิมนั้นการพิจารณาของศาลใช้ระบบการพิจารณาแบบไต่สวนโดยที่ผู้ทำการไต่สวนใช้วิธีการไต่สวนคดีโดยใช้การทรมาณเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นรับสารภาพ ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะไม่ให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

แต่ในปัจจุบันผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดีอาญาอย่างเต็มที่ เช่น มีสิทธิไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง การจับการค้นต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิในการมีทนายความ ซึ่งสิทธิเหล่านี้กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานที่ทำการจับกุมหรือรับมอบตัว พนักงานสอบสวน มีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิต่างๆตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาและจำเลยทราบอีกด้วย

วัตถุประสงค์ที่ต้องมีการแจ้งสิทธิต่างๆ ให้ผู้ต้องหาและจำเลยทราบก็เพื่อใ้ห้เขารับรู้ถึงสิทธิของเขาในการต่อสู้คดี หากเขาจะรับสารภาพก็ต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจ

ดังนั้นนอกจากมีการแจ้งสิทธิต่างๆที่เขามีตามกฎหมายแล้ว ยังต้องมีผู้พิทักษ์สิทธิของเขาด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้ขั้นตอนการสอบสวนและในชั้นศาลผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมีทนายความเพื่อต่อสู้คดี

ในชั้นสอบสวน

มาตรา 134/1 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
     ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
     การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
     เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

ในชั้นพิจารณาของศาล

มาตรา 173 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
     ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
     ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

จะเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์จะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีผู้พิทักษ์สิทธิในการต่อสู้คดี โดนเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษสูงหรือคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอายุไม่เกิน 18 ปี ถ้าไม่มีทนายความรัฐต้องจัดหาทนายความให้เสมอไม่ต้องถามความต้องการ

ถ้ารัฐไม่จัดหาทนายความให้ จะมีผลอย่างไร จะทำให้การสอบสวนหรือพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีผลทำให้ไม่อาจรับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ไว้ได้เท่านั้น

ในเรื่องนี้ศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวดังนี้

คำพิพากษาฎีกา 1130/2553

      คดีมีโทษถึงประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาจึงอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การโดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง






การไม่รู้ข้อเท็จจริง

การไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้ร้ายอีกคนพกปืนเข้าไปปล้นทรัพย์จะทำให้ผู้ที่เข้าไปกระทำการปล้นทรัพย์ทุกคนรับโทาหนักขึ้นหรือไม่


ข้อเท็จจริงปรากฎว่า

นายแดง ดำ ขาว ทั้งหมดสามคนร่วมกันเข้าไปลักทรัพย์บ้านนายม่วง ขณะที่นายม่วงหลับอยู่นั้นได้ยินเสียงแมวร้อง จึงสงสัยตื่นขึ้นมาดู เห็นนายแดงกำลังลักพระเครื่องของตัวเองที่เก็บไว้ในห้องพระ จึงร้องตะโกนว่า "หยุดนะ...เจ้าโจรใจทราม"

นายดำที่แอบพกปืนมาด้วย(โดยนายแดงและขาวไม่ทราบว่านายดำพกปืนมาด้วย) เอาปืนนั้นขึ้นขู่ให้นายม่วงเงียบๆ แต่นายม่วงไม่ยอมเงียบแล้วเข้าแย้งปืนจากนายดำ นายดำเห็นดังนั้นจึงตกใจ จึงยิงนายม่วงแต่ไม่ถูก และทั้งสามคนรีบพากันหนีไปพร้อมพระเครื่อง 1 องค์

แดง ดำ ขาว มีความผิดฐานอาญาฐานใด
...............................

ประเด็นปัญหานี้คงจะตอบไม่ยาก แน่นอนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ (ชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป)

แต่ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอยู่ตรงประเด็นที่ว่า การที่นายดำแอบพกปืนไปโดยที่นายแดงและนายขาวไม่ทราบว่า นายดำพกปืนไปนั้น จะเป็นเหตุให้ทั้ง 3 คน มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 340 วรรรค 2 หรือไม่ และเมื่อนายดำได้ใช้ปืนยิงในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำผิดคนอื่นๆ จะต้องรับผิดตาม ป.อ.มาตรา 340 วรรค 4 หรือไม่

มาตรา 340

วรรค 2 "ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใด มีอาวุธติดตัวไป ด้วยผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปีและปรับ ตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

วรรค 4 "ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณ จนเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำ ทรมานผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี"

.................................
การที่ผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งได้ได้พกอาวุธไปปล้น แม้ผู้กระทำผิดคนอื่นจะไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น ผู้กระทำผิดคนที่ไม่ทราบก็ต้องรับผิดหนักขึ้นตามไปด้วย เพราะการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันว่ามีอาวุธติดตัวไปหรือไม่ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ที่หากว่าผู้กระทำผิดไม่ทราบ ถือว่าไม่มีเจตนา

ดังนั้นการไม่รู้ว่าผู้กระทำผิดมีใครพกอาวุธติดตัวไป จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้กระทำผิดคนอืนต้องรู้ แต่ต้องรับผิดหนักขึ้นตามไปด้วย เพราะเป็นเหตุลักษณะคดี เมื่อเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น จึงส่งผลต่อความรับผิดของผู้กระทำผิดทุกคนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนในกรณีของวรรค 4 ที่การปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยใช้ปืนยิง ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดที่ผู้กระทำความผิดทุกคนต้องทราบ ดังนั้นเมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดใช้ปืนยิง ผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนก็ต้องรับผิดตาม วรรค 4 นี้ด้วย


ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำในคดีอาญา

ฟ้องซ้อนฟ้องซ้ำในคดีอาญา

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) น.ม.(กฎหมายอาญา) น.ม.ท.





ฟ้องซ้ำในคดีอาญาเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เช่นเดียวกับการดำเนินคดีแพ่งเพราะถือว่าเป็นการดำเนินคดีที่ซ้ำซ้อน เพราะศาลได้ตัดสินคดีชี้ขาดคดีนั้นไปแล้ว ไม่ควรนำเรื่องเดิมมาฟ้องกันอีก ซึ่งแตกต่างจากการซ้อน ที่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ยังไม่ได้มีการตัดสินคดีนั้น การห้ามฟ้องซ้อนก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องคดีกันหลายศาลซ้ำซ้อนกัน

ฟ้องซ้ำในคดีอาญา

ในทางอาญามีหลักการประการสำคัญ การไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดความผิดอาญาซ้ำสอง ซึ่งมาจากหลักการตามกฎหมายของต่างประเทศที่เรียกว่า double jeopardy  หมายถึงห้ามฟ้องซ้ำในคดีอาญา ซึ่งมีหลักว่า "บุคคลจะไม่ถูกพิจารณาคดีซ้ำสองในความผิดเดียว” หรือที่เรียกว่า Non bis in idem (Not twice for the same) หรือ double jeopardy

หลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4-11 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้

          (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าคดีอาญาใดศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วจะนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอีกไม่ได้เพราะจะถือว่าเป็นการดำเนินคดีอาญาซ้ำสองในการกระทำความผิดเดียว

มีประเด็นที่เราจะต้องวินิจฉัยว่าคดีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา39(4) หมายความว่าอย่างไร

คดีเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า คดีที่ศาลได้มีการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและได้มีคำพิพากษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากคู่ความไม่พอใจก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก แต่ต้องอุทธรณ์ ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาด้วย ดังนั้นคดีเสร็จเด็ดขาดจึงอาจไม่ใช่คดีถึงที่สุดก็ได้




ฟ้องซ้อนในคดีอาญา

ฟ้องสอนในคดีอาญานั้นไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษเหมือนกับกรณีของการฟ้องซ้ำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 ได้กำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องนำหลักการทางด้านกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 173 เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับ แต่วันยื่นคำฟ้องให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น

นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น และ

หลักการสำคัญของฟ้องซ้อน คือเมื่อคดีได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแล้ว ห้ามมิให้ฟ้องคดีนั้นอีก คำว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณามีความหมายว่าอย่างไร

หากศาลได้ประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วคงไม่มีประเด็นปัญหาว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแล้วหรือยังเพราะศาลได้ประทับรับฟ้องแล้วย่อมอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลแล้ว

ดังนั้นคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล เมื่ออัยการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแล้วคดีนั้นย่อมอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล เพราะคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง

ส่วนคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเองโดยหลักแล้วจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอเพื่อหามูลคดีดังนั้นมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าคดีอาญาที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 21441/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 (คดีนี้ในคดีก่อนยังอยู้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง)

การล่อซื้อกับล่อให้กระทำความผิด (Entrapment)

การล่อซื้อกับการล่อให้กระทำวามผิด

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) น.ม.(กฎหมายอาญา) น.ม.ท.


          การที่ตำรวจส่งตำรวจสายสืบไปล่อซื้อยาบ้า เมื่อพ่อค้ายาเอายามาส่งแล้วก็แสดงตัวเข้าจับกุม กรณีอย่างนี้เราเรียกว่าล่อซื้อ สามารถนำพยานหลักฐานคือยาบ้าไปเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบและได้มาโดยชอบ 

          แต่หากตำรวจสายสืบไปจูงใจให้นายแดงไปหายาเสพติดมาขายให้โดยเสนอซื้อในราคาที่สูงกว่าคนอื่น เช่น บอกกับนายแดงว่าหากหายาบ้ามาขายให้ได้จะรับซื้อเม็ดละหนึ่งหมื่นบาท เมื่อนายแดงเอายาบ้ามาขายให้ ตำรวจสายสืบก็จับกุมนายแดง 

          จะเห็นว่าทั้งสองกรณีมีความคล้ายกันเป็นการล่อซื้อเหมือนกัน แต่กรณีแรกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการล่อให้กระทำความผิด เป็นการล่อซื้อ ส่วนกรณีหลังจะเห็นว่าแต่เดิมผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำความผิด แต่เพราะตำรวจสายสืบไปจูงใจให้เขาเกิดเจตนากระทำความผิดขึ้นมา แล้วเมื่อเขานำยาบ้ามาขายให้ก็เข้าจับกุม กรณีอย่างนี้เรียกว่า การล่อให้กระทำความผิด (Entrapment) 

          การล่อให้กระทำความผิดคืออะไร 

          In criminal law, entrapment is a practice whereby a law enforcement agent induces a person to commit a criminal offense that the person would have otherwise been unlikely to commit It is a conduct that is generally discouraged and thus, in many jurisdictions, it's a possible defense against criminal liability. (ข้อมูลจาก Wikipedia ) 
     
          ในต่างประเทศการล่อให้กระทำความผิด ถือเป็นความผิดทางอาญาฐานหนึ่ง ส่วนในทางกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มีประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เราพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ

          1. ประเด็นเกี่ยวกับการเป็นผู้เสียหายนิตินัย

          2. ประเด็นเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยการล่อให้กระทำความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 10510 / 2555

          ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวได้รับการร้องเรียนถึงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่หลอกลวงขายเหล็กไหลจากผู้ชมรายการของผู้เสียหายจึงวางแผนพิสูจน์การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเพื่อให้มีการจับกุมมาลงโทษ หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมโดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาฃตั้งแต่ต้น จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) มีผลให้การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ของผู้เสียหายไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมายทำให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

     ตามคำพิพากษาฎีกานี้ ไม่ใช่การล่อซื้อ เพราะผู้กระทำไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น แต่เกิดเจตนาฉ้อโกงขึ้นมาเพราะการหลอกล่อของกลุ่มผู้เสียหาย เป็นการล่อให้กระทำความผิด ศาลตัดสินว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย 

     ส่วนความผิดฐานล่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามกฎหมายไทยไม่มีความผิดฐานนี้ แต่จะถือว่าเป็นผู้ใช้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ 





Monday 14 December 2015

ธงคำตอบข้อสอบปลายภาคกฎหมายลักษณะพยาน

ข้อสอบปลายภาคกฎหมายลักษณะพยาน
ภาคการเรียนที่ 2/2558

คำถาม วันที่ 11 ธันวาคม พ.. 2558 นายหนึ่งได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสองจำเลยที่ 1 และนายสามเป็นจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยร่วมกันต่อศาล โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.. 2557 จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อ และเฉี่ยวชนโจทก์ซึ่งกำลังปั่นจักรยานจนล้ม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและจักรยานของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท และค่าซ่อมจักรยานจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ทำละเมิด
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถด้วยความประมาทชนโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง แต่เพราะโจทก์ได้ขี่จักรยานในเวลากลางคืนโดยไม่มีสัญญาณไฟ ทำให้จำเลยไม่สามารถมองเห็นโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถเบรกรถได้ทัน ซึ่งเป็นความผิดของโจทก์เอง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปส่งของโดยให้ค่าขนส่งครั้งละ 1,000 บาท อันเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนค่าซ่อมจักรยานที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นค่าซ่อมที่เกินความเป็นจริง ค่าซ่อมจักรยานของโจทก์ที่เสียหายไม่น่าเกิน 500 บาท ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์
เมื่อโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำคู่ความต่อศาลแล้ว ศาลได้นัดให้คู่ความมาศาลเพื่อชี้สองสถานในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 หากท่านเป็นศาลจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีนี้อย่างไร ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ (.เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, 25 คะแนน)
ธงคำตอบ หลักกฎหมายที่ใช้ ม.183, 84/1, ...มาตรา 437 วรรคแรก (ยกครบ 6 คะแนน)
เมื่อศาลตรวจคำคู่ความและนำมาเทียบกันแล้วได้กำประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบดังนี้
ประเด็นที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์หรือไม่ โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์โดยการขับรถบรรทุก โดยหลักแล้วเมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร แต่ในกรณีนี้มีข้อสันนิษฐานตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยเป็นควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใด ๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมรถบรรทุกอันเป็นยานพาหนะอันเดิมด้วยกำลังเครื่องจักรกล ซึ่งตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 84/1 ตอนท้ายที่บัญญัติว่า...แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ดังนั้นในประเด็นนี้จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง หากจำเลยพิสูจน์ไม่ได้จำเลยย่อมแพ้คดี (6 คะแนน)
ประเด็นที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ (หรือใครจะกำหนดประเด็นว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่) เมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างแต่เป็นการจ้างทำของ ซึ่งมีหลักกฎหมาย มาตรา 84/1 วางหลักไว้ว่า “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น” ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างได้กระทำในทางการที่จ้าง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ (6 คะแนน)
ประเด็นที่ 3 ค่าสินไหมทดแทนคือจำนวน 80,000 บาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าค่าสินไหมทดแทนที่ควรได้รับคือจำนวน 80,000 บาท แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่าค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน 500 บาทเป็นกรณีที่จำเลยปฏิเสธ ซึ่งตาม มาตรา 84/1 วางหลักไว้ว่า “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น” ดังนั้นเมื่อค่าสินไหมทดแทน 80,000 เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์มีภาระการพิสูจน์  (6 คะแนน)
ส่วนประเด็นเรื่องอายุความแม้คดีนี้จะขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันทำละเมิด แต่จำเลยไม่ได้ต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว ก็ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าคดีขาดอายุความ (1 คะแนน)

ออกข้อสอบโดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ภาพจาก http://quetel.com/sites/default/files/Evidence_1.jpg