Wednesday 14 September 2016

รวมคำพิพากษาฎีกา เรื่อง สอบสวน




คลิกเลย จำหน่ายข้อสอบปรนัยกฎหมาย เล่นง่ายๆ ได้ความรู้




รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่



โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น


โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันครอบครองเงินของ ฮ. และเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไป การกระทำที่โจทก์กล่าวหานี้เกิดขึ้นขณะที่ ฮ. ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการกระทำต่อ ฮ. เจ้าของทรัพย์ ฮ.จึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) และมีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3 (1) ประกอบมาตรา 2 (7) แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งให้ ฮ. เป็นผู้เสมือนคนไร้ความสามารถ แต่ ฮ. ยังสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้พิทักษ์ ประกอบกับ ฮ. มิได้ถูกจำเลยทั้งสี่ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ อันจะทำให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฮ. มีอำนาจจัดการแทนได้ตามมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้และถือเท่ากับว่ายังไม่มีการสอบสวน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120


ญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่แต่เพียงว่า ผู้เสียหายได้หายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมาแจ้งความเพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่น ไม่มีแม้แต่ข้อความที่ระบุว่าผู้แจ้งเชื่อว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น การแจ้งความเช่นนี้ จึงมิใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) (8) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข) เพราะข้อเท็จจริงตามคำแจ้งความดังกล่าว ไม่ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะสามารถเป็นได้แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคนหนึ่งในหลายท้องที่ที่มีการกระทำความผิดต่อเนื่องกันตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง



โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้เสียหายที่ 2 กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ลูบคลำร่างกายของผู้เสียหายที่ 2 และพยายามถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 ที่สวมใส่อยู่ออก และใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกายกับจำเลยลูบคลำร่างกายผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)



แม้ในบันทึกประจำวันผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายจะแจ้งเฉพาะชื่อและที่อยู่ของตน รวมทั้งการที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายได้แจ้งด้วยวาจาเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ถึงสถานที่ที่ความผิดเกิด และเมื่อจับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายได้ให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด ความเสียหายที่ได้รับ และชื่อผู้กระทำผิด ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายที่มีรายละเอียดครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบด้วยมาตรา 123 แล้ว


ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ข้อความในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษการสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120





ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้


ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


แม้เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งมีร้อยตำรวจโท อ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็สืบเนื่องมาจากพลตำรวจตรี ว. ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนศูนย์สอบสวนคดีพิเศษประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยให้พันตำรวจตรี ต. ปฏิบัติราชการที่ศูนย์สอบสวนคดีเด็ก สตรี และคดีพิเศษ เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของทางราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พันตำรวจตรี ต. ผู้ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้


ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะ ร. เป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 1 ซึ่งเป็นผู้สอบสวนประจักษ์พยานโจทก์ทั้งหมด แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 3 นั้น เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ที่ ร. ประจำอยู่ ร. จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระเบียบซึ่งกำหนดวิธีการบริหารภายในของราชการตำรวจ มิได้ทำให้อำนาจการสอบสวนที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


ความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 12, 50 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ คดีนี้พนักงานอัยการได้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวก ซึ่งหนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำกล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ดังนั้น แม้จะไม่มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวน โดยไม่ปรากฏว่าการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


ร้อยตำรวจเอก ส.เป็นข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างสอบสวนจะมีพนักงานสอบสวนซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนร่วมนั่งฟังอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป เมื่อพันตำรวจโท น. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พันตำรวจโท น. ย่อมมีอำนาจสอบสวนก่อนร้อยตำรวจเอก ส. โอนสำนวนการสอบสวน และหลังจากนั้นร้อยตำรวจเอก ศ. ยังคงมีอำนาจสอบสวนเพื่อช่วยเหลือพันตำรวจโท น. ได้ ดังนั้น การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน นอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้วพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีการอ้างหรือเชื่อว่าความผิดนั้นได้เกิดภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนเข้าใจหรือมีความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุว่าความผิดได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่ได้เกิดในสถานที่อื่นนอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น

บริเวณถนนสายบ้านร่องบง - บ้านติ้วที่จ่าสิบตำรวจ ม. กับพวกตั้งจุดตรวจชั่วคราว และจุดที่พบถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนเป็นถนนนอกเขตชุมชน ตลอดแนวถนนไม่มีป้ายหรือสิ่งปลูกสร้างใดแสดงให้ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตท้องที่หมู่บ้านหรือตำบลใด จ่าสิบตรวจ ม. กับพวกผู้ร่วมจับกุมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านติ้ว ย่อมต้องมีความเชื่อว่าบริเวณที่ตั้งจุดตรวจอยู่ในเขตอำนาจรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านติ้ว แม้จำเลยจะโยนเมทแอมเฟตามีนทิ้งในเขตตำบลบ้านหวาย แต่จ่าสิบตำรวจ ม. ก็พบเห็นการกระทำความผิดในเขตตำบลบ้านติ้วและเรียกให้จำเลยหยุดที่จุดตรวจต่อเนื่องกัน จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเชื่อว่าเหตุเกิดและจำเลยถูกจับในท้องที่ตำบลบ้านติ้ว เมื่อจ่าสิบตำรวจ ม. นำจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนส่งมอบให้แก่พันตำรวจตรี ป. ย่อมทำให้พันตำรวจตรี ป. เชื่อว่าความผิดได้เกิดขึ้นและจำเลยถูกจับภายในเขตอำนาจของตน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านติ้วย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 570 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 70 เม็ด แก่ผู้มีชื่อ และโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด ได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานที่ตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่าย จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับพวกจำเลยอีก 2 คนที่ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) จึงอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตามมาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120


การสอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีกในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


เหตุคดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่งได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมพบความผิดเกิดขึ้นในที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเขตอำเภอเลิงนกทา จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่เกิดเหตุโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่มีข้ออ้าง ข้อสงสัยหรือความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงประการใด ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญทำการจับกุมและทำการสอบสวนเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน เป็นกรณีที่อ้างว่าพนักงานสอบสวนอ้าง หรือเชื่อหรือเข้าใจว่าเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนครอบคลุมไปถึงที่เกิดเหตุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญไม่รู้ว่าเขตอำนาจสอบสวนของตนครอบคลุมเขตพื้นที่เพียงใด ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเชื่อว่าความผิดได้เกิดในเขตอำนาจของตน ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญมีอำนาจสอบสวนได้ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำเภอไทยเจริญ ซึ่งเป็นเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและมีผลห้ามโจทก์ฟ้องคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120





ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้


ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นที่บริษัทผู้เสียหายซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมามีการนำเช็คที่ถูกลักไปเข้าบัญชีของ ป. ที่ธนาคาร ก. สาขาสมุทรปราการ ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เพื่อเรียกเก็บเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัทผู้เสียหายที่ธนาคาร ก. สาขาปู่เจ้าสมิงพราย ตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป รวมทั้งเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) (4) ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้เป็นผู้รับคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้จึงมีอำนาจสอบสวนและโอนการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนต่อไป เมื่อจับจำเลยได้ตามหมายจับ การสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120




การที่จำเลยรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมที่จังหวัดต่างๆ แล้วไม่โอนเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมกับไม่มาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วมที่อำเภอกระทุ่มแบน ดังนี้ ความผิดฐานยักยอกจึงอาจเกิด อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ร่วมแต่ละจังหวัดจนถึงสำนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องมาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง




ญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่แต่เพียงว่า ผู้เสียหายได้หายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมาแจ้งความเพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่น ไม่มีแม้แต่ข้อความที่ระบุว่าผู้แจ้งเชื่อว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น การแจ้งความเช่นนี้ จึงมิใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) (8) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ตามมาตรา 19 วรรคสอง (ข) เพราะข้อเท็จจริงตามคำแจ้งความดังกล่าว ไม่ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่จะสามารถเป็นได้แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคนหนึ่งในหลายท้องที่ที่มีการกระทำความผิดต่อเนื่องกันตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง



การพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือปริยาย ทั้งกฎหมายไม่ได้จำกัดคำว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์เป็นฝ่ายออกไปจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำก็ย่อมเป็นความผิด จำเลยเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เยาว์ขณะอยู่กับโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า หาที่พักได้แล้วที่ เอส.ที.แมนชั่น ผู้เยาว์จึงหนีออกจากบ้านของโจทก์ร่วมเดินทางไปหาจำเลยที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จำเลยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง ผู้เยาว์เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เมื่อผู้เยาว์เดินทางมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปที่ เอส.ที.แมนชั่น เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อผู้เยาว์เดินทางไปในหลายท้องที่ต่างกันจึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1), (3) และวรรคสอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนและเมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดอยู่ก่อนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140, 141 และ 142 ได้


เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยและ ป. อีก จนจับกุมจำเลยและ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120



ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน โดยความผิดตามฟ้องข้อ (ก) (ข) และ (ค) กระทำในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ง) และ (จ) กระทำลงในท้องที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปาง พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงมีอำนาจสอบสวน ส่วนที่ จ. ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเรื่องของการร้องทุกข์และจับกุมจำเลยที่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อเดือนมกราคม 2545 โดยเหตุเกิดที่หมู่บ้าน ก. ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ดังนั้น แม้จะมีการจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางก่อน แต่ก็เป็นการจับกุมจำเลยสำหรับการกระทำผิดอาญาคนละกรรมกับคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) เมื่อมีการจับกุมจำเลยในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนเป็นไปโดยชอบและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง


คดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาครในทันทีทันใด แล้วนำจำเลยทั้งสองไปส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนดำเนินคดี เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความยังจับกุมตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือ สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง



ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 บัญญัติมีใจความว่า เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ คดีนี้การกระทำความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแม่สอดจนถึงอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมจึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดที่กระทำต่อเนื่องกันซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อีกด้วย


เหตุคดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่งได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120




ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับอาในเขตท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จำเลยพรากผู้เสียหายไป พาผู้เสียหายไปพักและกระทำชำเราผู้เสียหายในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ และความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และวรรคสอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้

พ. อาของผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140, 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย


กรณีที่เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวน ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุในคดีนี้เกิดในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอำเภอบัวใหญ่ กับอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดดังกล่าวย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ แต่ตามวรรคสาม (ก) ของมาตรา 19 ดังกล่าวระบุว่า พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยถูกจับได้ที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยมีสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ กับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่อีกหลายนายเป็นผู้ร่วมจับกุม พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก้งสนามนาง มิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นผู้สรุปสำนวนและ ทำความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้ แล้วส่งสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง








จำเลยขับรถยนต์กระบะบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลาง มุ่งออกจากจังหวัดปราจีนบุรีจะข้ามไปฝั่งประเทศกัมพูชา แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง อำเภอกบินทร์บุรี ตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ เมื่อทราบว่าผู้เสียหายได้แจ้งความ ไว้แล้วที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางว่ารถจักรยานยนต์ ของกลางถูกยักยอกไป เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางจึงเดินทางไปร่วมจับกุมจำเลยกับ เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงอำเภอกบินทร์บุรี ดังกล่าวเมื่อผู้เสียหายเดินทางมาที่ทำการตำรวจทางหลวง อำเภอ กบินทร์บุรี ตรวจดูรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้ แล้วยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย จึงชี้ให้จับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางกับพวก ได้ร่วมจับกุมจำเลยและได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตรของตำรวจทางหลวงและ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางร่วมจับกุมด้วย จึงถือว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองลำปางจับกุมโดยชอบแล้วและการที่จำเลยกับพวกร่วมกัน บรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลางบนรถยนต์กระบะ เดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรีเพื่อจะนำไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชาก็เป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(3) ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองลำปางซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง กับเหตุที่เกิด ทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในท้องที่ อำเภอกบินทร์บุรีด้วย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสาม(ข) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อนโดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ ยังจับตัวจำเลยกับพวกไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยกับพวกถูกจับกุมที่ท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีก็ตามก็หาทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางพ้นจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม(ก) ดังนี้พนักงานอัยการโจทก์จึงฟ้องจำเลยกับพวกที่ศาลจังหวัดลำปางได้ โดยถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 120





ผู้เสียหายฝากทรัพย์สินกับจำเลยที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อให้จำเลยนำมาให้ภริยาของผู้เสียหายในประเทศไทย เมื่อผู้เสียหายกลับมาประเทศไทยจึงทราบว่าจำเลยไม่ได้นำทรัพย์สินที่ฝากมาให้กับภริยาผู้เสียหาย และจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากผู้เสียหายจึงร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยมูลแห่งความผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์ตามข้อนำสืบของโจทก์เกิดเมื่อจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากทรัพย์ อันแสดงถึงเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์เป็นของตน เหตุจึงเกิดที่ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย มิใช่เกิดที่ประเทศซาอุดิอาระเบียพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปีมีอำนาจสอบสวนได้เมื่อได้มีการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.



วิทยาลัย ฉ. ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัย ฉ. ตามมาตรา 20 เท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.นั่นเอง วิทยาลัย ฉ. จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อ ส. อธิการบดีวิทยาลัย ฉ. ได้มอบอำนาจให้ บ. แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4


วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ






ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งในความดูแลของ ค. บิดาผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้ ค. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 การที่ ค. ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121