Friday 21 October 2016

ความผิดในตัวเองกับความผิดเพราะกฎหมายบัญญัติเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

5. ความผิดในตัวเองกับความผิดเพราะกฎหมายบัญญัติเหมือนหรือต่างกันอย่างไร


ความผิดในตัวเอง (mala in se) เป็นความผิดที่คนทั่วไปในสังคมรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แม้ประชาชนนั้นไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างไร เพราะความผิดในตัวเองเป็นความผิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คนในสังคมต่างก็รู้สึกได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิด เป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ซึ่งต่อมาก็พัฒนามาเป็นกฎหมายเพื่อให้มีสภาพบังคับต่อคนที่ละเมิดให้ต้องรับโทษ
         
         ความผิดในตัวเอง (mala in se) นั้นประชาชนทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าการกระทำเช่นไรเป็นความผิด ไม่จำเป็นจะต้องเรียนหรือรู้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องเดียวกับหลักศีลธรรม  เช่น การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปนั้นประชาชนโดยทั่วไปย่อมรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่รู้ว่ามีโทษเท่าไหร่ แต่ก็ทราบว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิด ดังนั้นความผิดในตัวเองนี้ ผู้ที่กระทำความผิดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปย่อทราบได้อย่างดีอยู่แล้ว
                
        ความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita) เป็นความผิดที่เกิดจากการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด โดยอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับศีลธรรมเลย คนทั่วๆ ไปในสังคมจะไม่รู้สึกว่าคนที่กระทำความผิดฐานนี้เป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนชั่ว เพราะไม่อาจตัดสินได้จากความรู้สึก เช่น ความผิดฐานขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดตามกฎหมายจราจร เป็นการกระทำความผิดเพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ขับรถเร็ว การขับรถเร็วหรือช้าไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม ไม่ได้เป็นความผิดในตัวมันเอง แต่เพราะกฎหมายไปกำหนดให้การขับรถเร็วเกินกว่าอัตราความเร็วเท่าใดเป็นความผิด

     ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความผิดในตัวเองนั้น ประชาชนย่อมรู้ได้ตามหลักศีลธรรม แต่ความผิดบางฐานไม่ว่าจะเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรม ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดทางอาญาอาญาได้หรือไม่


ความไม่รู้กฎหมาย ม. 64

      มาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

     ความไม่รู้กฎหมายนั้นโดยหลักแล้วไม่อาจเอามาอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดได้  เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนย่อมต้องรู้ว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่้ของประชาชนเองที่ต้องคอยติดตามว่ารัฐประกาศใช้กฎหมายอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่ประชาชนทุกคนจะรู้วส่านกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร โดยเฉพาะการบัญญัติความผิดตามกฎหมายอาญาที่เป็นความผิดเพราะกฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายจราจร พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความผิดในตัวเอง ดังนั้นหากผู้กระทำความผิดอ้างว่าไม่รู้วกฎหมาย ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557 แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64
คำพิพากษาฎีกาที่ 2325/2551 คำฟ้องบรรยายชัดแจ้งถึงประกาศกรมสรรพสามิตเรื่อง กำหนดราคายาสูบเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าปรับ ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2542 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2544) พร้อมรายละเอียดของวันที่ได้ประกาศ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมเป็นการรับสารภาพตามข้อความที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ทั้งกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย การที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงเป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยทราบประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวงดังกล่าวได้









กฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดหมายความว่าอย่างไร

3. กฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดหมายความว่าอย่างไร


กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า กฎหมายอาญานั้นจะตีความโดยนำจารีตประเพณีมาใช้บังคับเป็นผลร้ายกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือจะนำกฎหมายใกล้เคียง (Analogy) มาใช้ให้เป็นผลร้ายมิได้ รวมถึงจะนำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับเป็นกฎหมายมิได้
                การตีความกฎหมายอาญานั้นยังแตกต่างกันตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศว่าใช้ระบบกฎหมายใด เช่น ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common law การตีความ ระหว่างความผิดที่เรียกว่า Common law crime ก็แตกต่างจากการตีความ ความผิดที่เป็น Statutory crime
                ส่วนการตีความระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งกฎหมายของไทยก็ใช้กฎหมายแบบระบบลายลักษณ์อักษรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ ประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code) ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาในระบบ Civil Law นั้นจะต้องตีความตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์เพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริง โดยต้องไม่ตีความขยายความหมายเกินไปจนไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ในมาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์...” ซึ่งวัตถุแห่งการกระทำความผิดในฐานนี้คือ การกระทำต่อทรัพย์ ซึ่งต้องตีความคำว่า ทรัพย์ ว่าหมายถึงอะไร ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นมีการให้ความหมายของทรัพย์ไว้ว่าหมายถึง “วัตถุที่มีรูปร่าง”  ดังนั้นหากเป็นการกระทำต่อวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น พลังงาน หรือคลื่นโทรศัพท์ ย่อมไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ แต่มีคำพิพากษาฎีกา 877/2501 ซึ่งได้ตัดสินไว้ว่าการลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2501) ศาลฎีกาในคดีได้ตัดสินว่าการลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แสดงว่าศาลตีความว่ากระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์และมีรูปร่างนั้นเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 6666/2542 การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีกที่ยึดติดเป็นแผงซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่นั้น เป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เสียหาย มิใช่วางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขต เป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วมที่ 1 อันจะต้องด้วยความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 (โดยเจตนารมณ์ของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นความผิดที่อยู่ในลักษณะ6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ดังนั้นลักษณะของการวางเพลิงต้องก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้ แต่คำพิพากษาฎีกานี้การเผาไม้ไผ่ หาทำให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้ไม่ ดังนั้นจึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 217 )





กฎหมายอาญาจะย้อนหลังได้หรือไม่

2. กฎหมายอาญาจะย้อนหลังได้หรือไม่

กฎหมายอาญาจะย้อนหลังเป็นผลร้ายมิได้ เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ดังนั้นจึงควรมีที่จะหลักประกันให้กับคนในสังคมได้ทราบก่อนว่ากฎหมายอาญามีว่าอย่างไร การกระทำใดบ้างที่กฎหมายห้ามหากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษ เพื่อที่จะให้คนในสังคมได้ตระหนักว่าหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้ว ย่อมต้องได้รับโทษ ดังนั้นหากตอนที่กระทำไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด เขาย่อมไม่ต้องรับผิดแม้ต่อมาจะมีกฎหมายประกาศในภายหลังให้การกระทำนั้นเป็นความผิด ซึ่งหลักการนี้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 2 “ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำ เช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และถ้าหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”
                ข้อยกเว้นของหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งโดยหลักแล้วกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังแต่หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้ถือว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังนั้นสามารถย้อนหลังได้ ดังนี้
                (1) กฎหมายย้อนหลังนั้นไม่ใช่โทษทางอาญา เช่น การเพิกถอนสัญชาติ การตัดสิทธิทางการเมือง

                (2) กฎหมายอาญาย้อนหลังได้เป็นคุณได้ ตามความในประมวลกฎหมาอาญามาตรา 2 วรรค 2






ความแตกต่างความผิดอันยอมความได้กับยอมความไม่ได้

แนะนำหนังสือของผู้เขียนครับ



          ความผิดอันยอมความได้ (Compoundable offences) หรือความผิดต่อส่วนตัว หมายถึง กรกระทำความผิดอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ความผิดอันยอมความได้นี้ในประมวลกฎหมายอาญาจะบัญญัติให้ความผิดฐานนั้นเป็นความอันยอมความได้ เช่น มาตรา 281 "การกระทำความผิดตาม มาตรา 276 วรรคแรก และ มาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการ กระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ใน มาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้"

ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ (Non-compoundable offense) หรือความผิดอาญาแผ่นดิน หมายถึง คดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้วยังก่อให้เกิดความเสียหายแกรัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้นี่ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เช่น คดีฆาตกรรม คดีเกี่ยวกับรัฐ หรือเกี่ยวกับเจ้าพนักงาน เป็นต้น ความผิดในประมวลกฎหมายอาญาส่วนใหญ่จะเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ หากความผิดใดไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ทั้งหมด

การแบ่งประเภทของความโดยคำนึงถึงผู้เสียหายมีประโยชน์ในการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากคดีความผิดอันยอมความได้นั้นเงื่อนไขในการดำเนินคดีผู้เสียหายจะต้องชั่งน้ำหนักว่าประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่ หากประสงค์จะดำเนินคดีก็ต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนดสามเดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากไม่ร้องทุกข์ภายในกำหนดดังกล่าวก็ถือว่าคดีนั้นขาดอายุความ  หากมีการร้องทุกข์ของผู้เสียหายรัฐก็ไม่สามารถดำเนินคดีแทนให้ได้ ซึ่งแตกต่างจากความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ ซึ่งไม่จำต้องรอให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ก่อนจึงจะดำเนินคดีอาญาได้ เนื่องจากเป็นความผิดที่กระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวม และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายเห็นชอบ







กฎหมายอาญาแตกต่างจากกฎหมายอื่นอย่างไร