Sunday 23 April 2017

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

         ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองความมีอยู่และความถูกต้องของเนื้อความในเอกสาร เพื่อให้เอกสารที่ได้มีการทำขึ้น มีความน่าเชื่อถือ(Reliable) สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินกิจการต่างๆ ได้ ดังนั้นจึงต้องบัญญัติกฎหมายลงโทษบุคคลที่ทำการปลอมหรือแปลงเอกสาร หรือแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร อีกทั้งผู้ที่นำเอกสารปลอมไปใช้ก็มีความผิดเช่นเดียวกัน

ความผิดฐานปลอมเอกสาร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เอกสารมีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งในบทนิยาม ในประมวลกฎหมายอาญา ม.1 ได้มีการให้บทนิยามความหมายไว้ดังนี้

         (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดย วิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น

สาระสำคัญของการเป็นเอกสาร ต้องเป็นสิ่งที่มีรูปร่าง ดังนั้นอะไร ก็ตามหากไม่มีรูปร่าง ก็ไม่อาจเป็นเอกสารได้ เช่น สัญญาณควันไฟ ข้อมูลในคอมพิวเตอร์

เอกสารต้องมุ่งแสดงความหมาย แม้ผู้อื่นจะไม่เข้าใจก็ตาม

เอกสารต้องประสงค์ให้เป็นพยานหลักฐาน เช่น ทะเบียนรถยนต์ เลขพันท้ายปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2557 ใบสั่งจองที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ เพื่อให้เป็นหลักฐานในการสั่งจองพระเครื่องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดสร้าง มิใช่เอกสารตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548 คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงมีต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน

จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2544 แบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการเท่ากับยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจึงไม่เป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) แม้จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไป ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2537 จำเลยเอาหนังสือเดินทาง ซึ่งกระทรวงต่างประเทศออกให้แก่นายสิทธิชัยหอมพวงษ์มาแก้ไขโดยแกะเอาภาพถ่ายของนายสิทธิชัยหอมพวงษ์ที่ปิดอยู่ในปกด้านในออกแล้วเอาภาพถ่ายของจำเลยปิดลงไปแทนนั้น แม้ภาพถ่ายจะไม่ใช่เอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) ก็ตาม แต่เมื่อนำไปปิดลงในหนังสือเดินทางดังกล่าว ย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงของหนังสือเดินทางเปลี่ยนแปลงไปว่าจำเลย คือ นายสิทธิชัยหอมพวงษ์และเป็นหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศออกให้แก่จำเลยโดยตรง ภาพถ่ายของจำเลยที่ไม่เป็นเอกสารจึงเกิดเป็นเอกสารหนังสือเดินทางของนายสิทธิชัยหอมพวงษ์ กลายเป็นหนังสือเดินทางของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการเมื่อจำเลยนำไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเดินทางออกไปและเข้ามาในราชการอาณาจักร ย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม

         (8) "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำ ขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้า พนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21841/2556 คำรับรองการชี้แนวเขตที่ดินเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการ มีไว้สำหรับให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินนำไปกรอกข้อความและลงลายมือชื่อแสดงว่าตนครอบครองที่ดินมีอาณาเขตเท่าใด และนำไปประกอบเอกสารอื่นเพื่อให้เจ้าพนักงานกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดรูปที่ดินและทำระวางแผนที่ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ไม่เป็นเอกสารสิทธิ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อเสนอต่อเจ้าพนักงาน มิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงมิใช่เอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15544/2553 ใบรับเงินค่านำหมายที่จำเลยปลอมขึ้นและนำไปใช้ขอรับเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าจำเลยได้ชำระค่าป่วยการและค่าพาหนะให้แก่เจ้าพนักงานในการนำส่งหมายเรียกพยานโจทก์และหมายเรียกจำเลยที่ 1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 5 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิที่ศาลชั้นต้นจะเรียกเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของศาลชั้นต้นโดยเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้จัดทำขึ้น จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13740/2553 เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นและนำไปใช้เป็นหนังสือรับรองผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบล ห. ซึ่งตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควมคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย ดังนี้ ผู้ที่จะลงลายมือชื่อรับรองผลงานตามหนังสือดังกล่าวจึงเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ห. และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หนังสือรับรองผลงานจึงเป็นเอกสารที่ออกโดยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แม้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวมิใช่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ห. ก็ไม่ทำให้เป็นเพียงเอกสารดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการและใช้หนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3298/2552 หนังสือบริคณห์สนธิเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยจัดทำขึ้น เพื่อจะนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ยังไม่มีเจ้าพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และไม่ใช่สำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (8)

จำเลยรู้อยู่แล้วว่าลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในหนังสือบริคณห์สนธิเป็นลายมือชื่อปลอม แต่จำเลยก็ยังส่งมอบหนังสือดังกล่าวให้แก่ จ. เพื่อนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จ. นายทะเบียน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก        

(9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21841/2556 คำรับรองการชี้แนวเขตที่ดินเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการ มีไว้สำหรับให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินนำไปกรอกข้อความและลงลายมือชื่อแสดงว่าตนครอบครองที่ดินมีอาณาเขตเท่าใด และนำไปประกอบเอกสารอื่นเพื่อให้เจ้าพนักงานกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดรูปที่ดินและทำระวางแผนที่ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ไม่เป็นเอกสารสิทธิ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อเสนอต่อเจ้าพนักงาน มิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงมิใช่เอกสารราชการ

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2552 แบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไปกรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการแก้ไขรายการจดทะเบียนในใบคู่มือจดทะเบียนเท่านั้น มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) การที่จำเลยที่ 1 ทำคำขอโอนทะเบียนรถยนต์ปลอมขึ้นทั้งฉบับนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 และใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2552 ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นเพียงคำเสนอที่จะซื้อสินค้าของโจทก์เท่านั้น ใบสั่งซื้อสินค้าจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9)

ความผิดเกี่ยวกับเอกสารมีความผิดหลักๆ ที่สำคัญอยู่ ดังนี้
1. ความผิดฐานปลอมเอกสาร
2. ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร
3. ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม


ความผิดฐานปลอมเอกสาร


มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงหรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้นถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแต่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ใน ม. 264 ความผิดฐานปลอมเอกสาร (ทั่วไป) ก็ต้องแยกพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ
         1. การปลอมเอกสารโดย ปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
         2. การปลอมเอกสารโดยการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น

        ซึ่งการปลอมทั้ง 2 วิธี มีผลในทางกฎหมายเป็นการปลอมเอกสารเช่นเดียวกัน


ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ

มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

หากการปลอมเอกสารดังกล่าว เป็นการปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ก็จะมีความผิดตาม ม.265 ซึ่งมีโทษสูงขึ้น และหากเป็นการปลอมเอกสารบางประเภทที่มีความสำคัญสูง เช่น เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ฯลฯ ก็จะมีความผิดตาม ม.266 ซึ่งมีโทษหนักกว่าการปลอมเอกสารทั่วไปขึ้นไปอีก

ความผิดฐานปลอมเอกสารสำคัญ
มาตรา 266* ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้

(1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

(2) พินัยกรรม

(3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้

(4) ตั๋วเงิน หรือ

(5) บัตรเงินฝาก

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ความผิดแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ม.267

มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงาน ผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าความผิดฐานนี้ เป็นคนละกรณีกับความผิดฐานแจ้งความเท็จ ใน ม.137 ซึ่งเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน กฎหมายมุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงาน แต่ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้น ซึ่งจะต้องมีความถูกต้องและเชื่อถือได้

มีประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้เกิดความสับสนกับผู้เรียน ดังนี้

         หากแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานแล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่เชื่อเลยไม่ได้จดลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ผู้แจ้งความเท็จย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ม.137 แล้ว แม้เจ้าพนักงานจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ความผิดก็สำเร็จแล้ว

         แต่ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร ผู้กระทำจะมีความผิดฐานนี้หรือไม่ เป็นการพยายามกระทำความผิดแล้วหรือยัง

         หากพิจารณาเฉพาะตัวผู้กระทำเมื่อได้แจ้งความเท็จไปแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกระทำอีกเป็น Last Act ของผู้กระทำอันเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว เป็นพยายามกระทำความผิด

         แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีดีจะเห็นว่า ความผิดฐานนี้ องค์ประกอบความผิดคือ เจ้าพนักงานได้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ถ้าเจ้าพนักงานยังไม่ได้จดก็ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด ใช่หรือไม่

ส่วนความผิดที่สำคัญสุดท้าย คือ ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม

         ประเด็นที่สำคัญ คือ จะมีความผิดฐานนี้ได้ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารปลอมเท่านั้น ซึ่งก็จะเดี่ยวเนื่องกับการวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าว เป็นเอกสารปลอมไหมนั่นเอง

         และประเด็นสำคัญอีกประการ คือ กรณีของผู้ใช้หรืออ้างเอกสาร เป็นผู้ปลอมเอกสารขึ้นมาเอง ความรับผิดและโทษตามกฎหมายก็จะเป็นไปตาม ม.268 วรรค 2

         ผมเขียนสรุปกว้างๆ เพื่อให้นิสิตได้เห็นภาพรวม ส่วนรายละเอียดนิสิตควรศึกษาเพิ่มเติมในหนังสือและตำรา และศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลเพิ่มเติม




.....................................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

Tuesday 4 April 2017

การคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม

การคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา



เหยื่ออาชญากรรมคือใคร


      คำว่า เหยื่ออาชญากรรมอาจมีชื่อเรียกได้หลายคำ เช่น เหยื่อ ผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Victim ซึ่งใน Black law Dictionary ให้ความหมายไว้ว่า The person who is the object  of crime or tort ส่วนตามกฎหมายไทย ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ให้ความหมายของ "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6

ส่วนตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ได้ให้ความหมายของผู้เสียหาย ไว้ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น

วิเคราะห์ความหมายของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ นั้นมีความแตกต่างกัน เพราะผู้เสียหายตาม ป.วิอาญา นั้นเป็นการให้ความหมายผู้เสียหายซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการดำเนินคดี ซึ่งยังหมายความรวมถึงบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนด้วย แต่ความหมายผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายเป็นการกำหนดความหมายสำหรับบุคคลผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้เพื่อเยียวยาความเสียหาย ดังนั้น ความหมายจึงแคบกว่า ป.วิอาญา เพราะผู้เสียหายที่จะได้รับการค่าตอบแทนต้องเป็นผู้เสียหายถึงชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ 


แนวความคิดในการคุ้มครองผู้เสียหายในคดีอาญา


ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นรัฐจะให้ความสำคัญกับกระบวนยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ทั้งการนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี และคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย เช่น ผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอากับจำเลยเอง ซึ่งถือเป็นภาระให้กับผู้เสียหายมาก และในบางคดีจับตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือจับผู้กระทำความผิดได้แต่บางรายไม่สามารถเยียวยาได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาเกิดขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติปฏิญญาว่าด้วยหลักพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหาย จากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ. 1985 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ

1) ผู้เสียหายต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Access to justice and fair treatment)
2) การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยผู้กระทำความผิด (Restitution)
3) การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยรัฐ (Compensation)
4) การให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อ (Assistance)


การคุ้มครองผู้เสียหายตามกฎหมายไทย


ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

มาตรา 29 บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
ตามมาตรา 29 ของร่างรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายไว้ 2 ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการเยียวยา และสิทธิได้รับการช่วยเหลือ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

1. สิทธิในการร้องทุกข์

การร้องทุกข์ ถือเป็นสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาที่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งการร้องทุกข์เปรียบเสมือนการไปแจ้งความประสงค์ว่าตนต้องการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว ที่ต้องรอให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์เสียก่อน ตำรวจจึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และในขณะเดียวกันผู้เสียหายอาจจะไม่ใช้สิทธินั้นก็ได้ ซึ่งการไม่ไปร้องทุกข์ของผู้เสียหายจะส่งผลต่อการดำเนินคดีอาญาต่อส่วนตัวเท่านั้น ส่วนคดีอาญาแผ่นดินจะไม่มีผลต่อการดำเนินคดีอาญาของตำรวจ
(7) "คำร้องทุกข์" หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อ เจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความ ผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนา จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 121 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

2. สิทธิในการฟ้องคดีเอง

โดยหลักแล้วการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย เป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ กลไกของรัฐที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำควารมผิด เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งกว่าจะมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดี จนเป็นที่เชื่อได้ว่าน่าจะกระทำความผิดจริง พนักงานอัยการจึงจะฟ้องคดีจำเลยต่อศาล แต่การดำเนินคดีอาญาของไทยก็ให้สิทธิผู้เสียหายมีสิทธิในการฟ้องตดีอาญาด้วยตนเองได้ด้วย ตามมาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
          (1) พนักงานอัยการ
          (2) ผู้เสียหาย
3. สิทธิในการยุติคดี

อย่างที่ได้กลาวไปแล้วในสิทธิของผู้เสียหายในข้อที่ 1. ผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์คดีอาญาเพื่อแสดงความประสงค์ในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกันผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะยุติการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขในการยุติคดีตาม มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

4. สิทธิเรียกร้องร้องทางแพ่งในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

5. สิทธิในการคัดสำเนาคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย

มาตรา 8 นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้ (6) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้ผู้เสียหายมีสิทธิตามวรรคหนึ่ง (6) เช่นเดียวกับจำเลยด้วย
6. สิทธิในการมีล่ามแปลภาษา
มาตรา 13 วรรค 2 ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทย หรือสามารถพูดหรือเข้าใจเฉพาะภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่น และไม่มีล่าม ให้พนักงานสอบสวนพนักงานอัยการหรือศาลจัดหาล่ามให้โดยมิชักช้า
7. สิทธิในการมีล่ามแปลภาษามือ
          มาตรา 13 วรรค 3 ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ และไม่มีล่ามภาษามือให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจัดหาล่ามภาษามือให้หรือจัดให้ถามตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร



สิทธิของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544


บทนิยามที่สำคัญ

“ผู้เสียหาย”  หมายความว่า  บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
“ค่าตอบแทน” หมายความว่า  เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น

มาตรา 5 การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น

มาตรา 6 ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือจำเลยถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าตอบแทนค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย แล้วแต่กรณี ให้สิทธิในการเรียกร้องและการรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตกแก่ทายาทซึ่งได้รับความ เสียหายของผู้เสียหายหรือจำเลยนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 17 ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัตินี้

ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายซึ่งทำให้ผู้เสียหายอาจขอรับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา 17 ได้แก่ ความผิด
ตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2

ความผิด ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึง มาตรา 287
ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 ถึง มาตรา 294 หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 ถึง มาตรา 300 หมวด 3 ความผิดฐานทาให้แท้งลูก มาตรา 301 ถึง มาตรา 305 หมวด 4 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือชรา มาตรา 306 ถึง มาตรา 308
มาตรา 18 ค่าตอบแทนตามมาตรา 17 ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ
(2) ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวนไม่เกินที่กาหนดในกฎกระทรวง
(3) ค่าขาดประโยชน์ทามาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
(4) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย



เนื้อหาส่วนหนึ่งนำมาจากหนังสือถามตอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากท่านใดสนใจสามารถซื้อได้ที่ app MEB และ OOKBEE นะครับ








กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน