Monday 16 December 2013

การค้นในที่รโหฐานกับการค้นในสาธารณะสถาน

การค้นในที่รโหฐานกับการค้นในสาธารณะสถาน


          การค้นในที่รโหฐาน โดยหลักแล้ว ตาม ม.92 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ค้นในที่รโหฐาน เพราะที่รโหฐานนั้นเป็นที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ ที่บุคคลใด ๆ จะสามารถจะเข้าไปได้ เพราะเป็นที่มีเจ้าของ มีผู้ครอบครองอยู่ เช่น เคหสถาน บ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัย การเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

          แต่เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรม กฎหมายก็เปิดช่องให้ค้นในสถานที่ดังกล่าว(ที่รโหฐาน) ได้ หากการค้นนั้นมีหมายที่ออกโดยศาล คือ ค้นโดยมีหมายค้น และนอกจากนี้กฎหมายยังอนุญาตให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายได้อีก แต่ต้องเป็นกรณีที่ระบุไว้ใน ม.93 (1)-(5) เท่านั้น ที่จะค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นได้


          หากสถานที่ใด ที่ไม่ใช่ที่รโหฐาน การค้นก็ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของ ม. 92 แต่เป็นกรณีของ ม. 93 คือ“การค้นบุคคลในสาธารณะสถานเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสามารถค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่ต้องมีเหตุอันควรสงสัยบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด การค้นในที่สาธารณะไม่มีการเข้าไปยังสถานที่ส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นจะต้องมีหมายค้น


          ประเด็นที่สำคัญในเรื่องของการค้น คือ สถานที่ใดบ้างที่เป็น ที่รโหฐาน อันจะต้องมีหมายค้นจึงจะค้นได้ ???


          มีคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง คือ 4958/2556 ได้ตัดสินในทำนองว่า หน่วยบริการประชนของตำรวจ ซึ่งประชาชนช่วยกันบริจาคมอบให้เป็นที่พักและที่ทำการของตำรวจ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการดำเนินราชการของตำรวจ ซึ่งโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาได้ทำการกั้นห้องเป็นที่พักส่วนตัวในสถานที่ดังกล่าว เอาไว้เก็บของและพักผ่อน แต่ก็ยังปรากฎว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ก็สามารถใช้ห้องดังกล่าวเป็นสถานที่เปลี่ยนเสื้อผ้าได้ แม้โจทก์จะใช้เก็บของส่วนตัวและใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักอันเป็นสถานที่ส่วนตัว สถานที่ดังกล่าวยังคงเป็นสถานที่ราชการอยู่ จึงไม่ใช่ที่รโหฐาน การที่จำเลยเข้าไปค้นหาอาวุธปืนในห้องดังกล่าวตามที่ผู้ใช้ให้กระทำความผิดแจ้งว่านำอาวุธปืนมาไว้ที่อาคารสายตรวจ จึงเป็นการค้นโดยมีเหตุอันสมควรสงสัยตาม ม.93


          สรุป หลักจากคำพิพากษาฎีกานี้ ศาลวินิจฉัยว่า สถานที่ดังกล่าวไม่ใช่ที่รโหฐาน ที่จะค้นต้องมีหมายค้นจากศาลก่อน แต่เป็นสาธารณะสถานที่หากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจค้นได้โดยมีเหตุอันควรสงสัย

         ซึ่งจากเรื่องนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นอีก เช่น การเข้าไปค้นในกณีดังกล่าวไม่ใช่การบุกรุก และพยานหลักฐานอาวุธปืนที่ได้จากการค้น เมื่อการค้นนั้นเป็นการค้นโดยชอบ พยานหลักฐานจึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบ สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


................................................
โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา





No comments:

Post a Comment