Saturday 4 January 2014

การเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในคดีอาญา


การเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในคดีอาญา


         ในคดีอาญาที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง หรือที่เราเรียกว่า “คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา” ซึ่งในบางคดีนั้นผู้เสียหายต้องสูญเสียทรัพย์สินไปเนื่องมากจากการกระทำความผิดอาญา กฎหมายก็ให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด หรือหากไม่สามารถเรียกคืนทรัพย์สินได้ก็ต้องชดใช้ราคาคืน ให้แก่ผู้เสียหายอีกด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.43

มาตรา 43 คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สิน หรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย






1. ผู้เสียหายต้องมีสิทธิเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคาของทรัพย์สินนั้น

          ซึ่งสิทธิในการเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคาของทรัพย์สินนั้นเป็นสืทธิทางแพ่ง ซึ่งผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิทางแพ่งได้นั้นต้องเป็นบุคคลตาม ป.วิ.แพ่ง ม.55 (เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล)
          ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิจะเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคา

คำพิพากษาฎีกาที่ 3112/2523 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงกับขอให้คืนเงินที่จำเลยได้ไปจากการฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ามิใช่เป็นเรื่องฉ้อโกง แต่เป็นเรื่องผู้เสียหายและจำเลยสมัครใจเล่นแชร์ต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งล้วน ๆ หาใช่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไม่ ดังนี้ เงินที่ผู้เสียหายชำระค่าแชร์ให้แก่จำเลยไป จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด พนักงานอัยการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเช่นนี้แทนผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43


2. ต้องเป็นคดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร (9 ฐานความผิด)

          ซึ่งคดีทั้ง 9 ฐานนี้เป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องสูญเสียไปอันเรื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสิน ซี่งหากกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เรียกคืนในคดีอาญา ผู้เสียหายก็มีสิทธิเรียกคืนทางแพ่ง โดยการฟ้องฐานละเมิดได้อยู่แล้ว แต่เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว อักทั้งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกคืนรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ กฎหมายวิธีพืจารณาความอาญาจึงกำหนดให้พนักงานอัยการเรียกคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีอาญาจะต้องเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคา แม้ผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องก็ตาม


         ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ ม.43 คือ ทรัพย์สินหรือราคา ที่พนักงานอัยการจะต้องเรียกคืนให้แก่ผู้เสียหาย ต้องเป็นทรัพย์สินที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด เช่น ทรัพย์ที่ถูกลักหรือยักยอกไป

          หากเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้สูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดทั้ง 9 ฐาน พนักงานอัยการก็ไม่สามารถเรียกคืนให้ผู้เสียหาได้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  442/2507 ในคดีเรื่องรับของโจร อัยการไม่มีอำนาจฟ้องผู้รับของโจรให้คืนเงินค่าไถ่ทรัพย์แทนผู้เสียหาย เพราะมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดฐานรับของโจร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2520ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ฐานรับสินบน ซึ่งไม่เป็นความผิดตามมาตรา 337 ฐานกรรโชก อัยการไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์



          มีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ หากพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกและให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยได้หรือไม่ และผู้เสียหายต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่


ในประเด็นนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นแนวดังนี้ (ฎีกา 3664/2555 ใน บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัย 66 เล่ม 3)

          1. ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากถูกจำเลยยักยอกอีกไม่ได้ เพราะคดีนี้พนักงานอัยการได้มีการฟ้องและขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนเงินที่ยักยอกไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 43 แล้ว ซึ่งเป็นตาม ป.วิ.อาญา ม.44/1 วรรคสาม “คำร้องตามวรรคหนึ่ง จะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอัน เนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดขืนหรือแย้ง กับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงงานอัยการได้ดำเนินการตามความใน มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจำยื่นคำรืองตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์อีกไม่ได้”

          2. ส่วนคำขอของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วม ที่ให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ถูกจำเลยยักยอกไป นั้นไม่ใช่คำขอให้จำเลยคืนทรัพย์สืนหรือราคาที่เสียไป ที่พนักงานอัยการจะมีเรียกคืนให้ผู้เสียหายได้ตาม ม. 43 พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยให้แก่ผู้เสียหายได้ แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ตาม ม.44/1 วรรคแรก ผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตาม ม.44/1 วรรคแรก ซึ่งผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกดอกเบี้ยดังกล่าว










........................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา




No comments:

Post a Comment