Thursday 3 April 2014

ความผิดฐานก่อการร้าย (Terrorism)

ก่อการร้าย (terrorism) ถือเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติที่กำลังแพร่หลาย และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น 
 มีการจี้เครื่องบินพาณิชย์เข้าชนตึกเวิลเทรดเซนเตอร์
ในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรับอเมริกา

ความหมายของการก่อการร้าย

          การหนดความหมาย (Definition) ของการก่อการร้ายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ยากที่จะกำหนดความหมายหรือคำนิยามได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ที่ได้ให้ความหมายไว้ โดยส่วนใหญ่ก็ยังมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นความหมายของการก่อการร้ายดังต่อไปนี้


Definition of Terrorism
          ใน U.S. Code of federal Regulation การก่อการร้าย (Terrorism) “เป็นการใช้กำลังและความรุนแรงโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับ รัฐบาล ประชาชน พลเมือง หรือในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือสังคม

          Walter Laqueurw ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ การก่อการร้ายเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือสังคม

          กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา การก่อการร้ายเป็นการใช้ความรุนแรงอันละเมิดทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวโดยมีเจตนาในการบังคับหรือขู่เข็ญรัฐบาล หรือชุมชนพลเมือง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ศาสนา หรือตามลัทธิความเชื่อของตน

          Grant wardlaw  เป็นการกระทำหรือขู่เข็ญว่าจะกระทำความรุนแรงโดยบุคคลหรือกลุ่มคน ไม่ว่าจะกระทำในนามเจ้าหน้าที่หรือต่อต้านเจ้าหน้าที่ ถ้าได้กระทำให้เกิดความกลัวต่อกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยมีความมุ่งหมายเพื่อบังคับกลุ่มเป้าหมายนั้นไปสู่ความต้องการในทางการเมืองของผู้กระทำความผิดนั้น

ความหมายของการก่อการร้ายในประเทศไทย ตาม ป.อ. มาตรา 135/1-135/4

          เจตนารมณ์ของการบัญญัติ คุณธรรมที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง คือ ความสงบสุขของประชาชนความหมายของการก่อการร้ายของไทย เป็นการกระทำความผิดโดย

ภาพความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
          1. ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพของผู้อื่น
          2. ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
          3. ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไม่ว่าของรัฐ บุคคลใด หรือแก่สิ่งแวดล้อมโดยเป็นการกระทำ เพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดหรือองค์กรระหว่างประเทศ หรือสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน


          ลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นการก่อการร้ายพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

          1. Target: เป้าหมายในการกระทำความผิดมุ่งไปยังประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เจาะจงกระทำต่อกลุ่มคนใดคนหนึ่ง

          2. Object : วัตถุประสงค์ของการก่อการร้าย ทำให้เกิดความกลัวต่อประชาชนพลเมือง เช่น เหตุการณ์ 9/11 และไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)

          3. Motive: มูลเหตุชักจูงใจ ส่วนใหญ่กระทำโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือศาสนา ไม่ใช่มูลเหตุจูงใจส่วนตัว

          4. Legitimacy: ความชอบด้วยกฎหมาย รัฐที่ชอบด้วยกฎหมายไม่อาจกระทำการอันเป็นการก่อการร้ายในประเทศตนเองได้ การกระทำของรัฐแม้จะกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์แต่ก็ไม่ใช่ก่อการร้าย แต่เป็นอาชญากรรมส่งครามหรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

ประเทศไทยกับการก่อการร้าย
          ประเทศไทยไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของการก่อการร้าย แต่มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นประเทศที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน
          การก่อการร้ายในไทยปัจจุบันความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การก่อการร้ายในประเทศไทยอดีต เผาศาลากลาง เผาโรงเรียนวางระเบิดสถานีรถไฟ เรียกค่าคุ้มครองhttp://www.youtube.com/watch?v=WLGO5wtenhE


          ปัจจุบัน ปล้นปืนที่เจาะไอร้อง มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ ฆ่าเจ้าหน้าที่ พระ ผู้พิพาษา ฆ่าชาวไทยพุธ

          ที่มาของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.135/1-4 ปี 2546 มีการคุกคามก่อการร้าย(สามจังหวัดภาคใต้) เป็นการร่วมมือกับสหประชาชาติ UN เพื่อไม่ให้กลุ่มก่อการร้าย ใช้ประเทศไทยเป็นฐานก่อการร้ายและกบดาน

          ความผิดก่อการร้ายในประเทศไทย (พรก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2546 โดยการ เพิ่ม ม. (1/1) ในมาตรา 7 และเพิ่ม ม.135/1 - 135/4


ความผิดก่อการร้ายในประเทศไทย
          มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญา ดังต่อไปนี้
                   (1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
                   (2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
                   (3) การกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
          ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลาดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท
          การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย
          ม.135/1 กำหนดถึงการกระทำความผิดอาญาฐานใดบ้างที่จะเป็นการก่อการร้ายบ้าง
          โดยที่ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อบังคับหรือขู่เข็ญรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
          เพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน
ข้อยกเว้นของความผิดฐานก่อการก่อการร้าย
          การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย

มาตรา 135/2 ผู้ใด
          (1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ
          (2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดการหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้ก่อการร้ายและกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือปกปิดไว้
ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          มาตรา 135/3 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 135/1 หรือ มาตรา 135/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ
          ถือเป็นข้อยกเว้น ม.86  ที่โดยหลักแล้วผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดอาญาจะรับโทษเพียงแค่ 2 ใน 3
          มาตรา 135/4 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำ อันเป็นการก่อการร้ายและรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท



การก่อการร้าย (Terrorism) กับความผิดทางการเมือง (Political Crime)

          ความผิดฐานก่อการร้าย (Terrorism) มีความคล้ายกับความผิดทางการเมือง (Political Crime) เพราะอาจมีมูลเหตุจูงใจ (Motive) ทางการเมืองเหมือนกัน

          แต่สิ่งที่แตกต่างกันจนเป็นเส้นแบ่งความผิดทั้งสองประเภทออกจากกัน คือ วัตถุที่ประสงค์ (Object) ความผิดทางการเมืองนั้นมุ่งกระทำเพื่อตอบโต้หรือคัดค้านรัฐบาลหรือฝ่ายที่ปกครองประเทศ แต่ความผิดฐานก่อการร้ายมุ่งกระทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวาดกลัว (Terror) ในหมูประชาชนด้วยกัน

          ความผิดฐานก่อการร้ายจึงมีลักษณะการกระทำที่รุนแรงและมีความโหดเหี้ยม เช่น การลอบวางระเบิด ระเบิดพลีชีพ ฆ่าตัดคอ เป็นต้น

          การชุมนุมประท้วงในประเทศ แม้จะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน ตราบนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการก่อร้ายได้ ความผิดของผู้ชุมนุมและแกนนำจึงเป็นเพียงแค่ความผิดทางการเมือง (Political Crime)



..........................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง อัศวิน ศุกระศร, ความผิดฐานก่อการร้ายในประเทศไทย : มาตรการป้องกันและปราบปราม, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2546

No comments:

Post a Comment