Tuesday 28 October 2014

ผลของการกระทำที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น

ผลของการกระทำที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น

17 มิถุนายน 2014 เวลา 23:53 น.

เมื่อวานได้ตั้งคำถามทิ้งเอาไว้ดังนี้

นายหนึ่งนายสองและนายสาม ร่วมกันจะไปทำร้ายร่างกายนายสี่ให้ได้รับบาดเจ็บ แต่เมื่อหน้านายสี่นายหนึ่งและนายสองชกหน้านายสี่ไปคนละ 1ทีจนนายสี่ปากแตก นายสามเห็นหน้านายสี่แค้นมากจึงชกนายสี่ที่หน้าและเอาไม้ตีหัวจนนายสี่สลบไป เมื่อทำร้ายร่างกายและทั้งสามคนก็พากันหลบหนีไป ปรากฎว่านายสี่ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเกินกว่า 20 วัน




มีปัญหาว่านายหนึ่ง นายสอง และนายสามต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.297 หรือไม่


พิจารณากรณีความรับผิดของนายสาม เมื่อเห็นหน้านายสี่แค้นมากจึงชกนายสี่ที่หน้าและเอาไม้ตีหัวจนนายสี่สลบไป ผลปรากฎว่านายสี่ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเกินกว่า20 วัน ซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสตาม ม.297 (8) จะเห็นได้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเกินกว่าเจตนาของนายสาม เพราะนายสามมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายธรรมดาแต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายสาหัสเกินจากเจตนา ผลที่เกินเจตนานี้นายสามต้องรับผิดหรือไม่นั้น ต้องอาศัยมาตรา 63 ในเรื่องของผลธรรมดา หากเป็นผลที่ในสายตาของคนธรรมดาคาดหมายได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้

นายสามก็ต้องรับผิดในผลที่เกินเจตนานั้นด้วย ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผลของการกระทำคือได้รับอันตรายสาหัสแต่เป็นผลธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ นายสามก็ต้องรับผิดในผลนั้นด้วย นายสามมึความผิดตาม ม.297(8)




ประเด็นของสามนั้นไม่ยากในการพิจารณาเท่าไหร่นัก เพราะพิจารณาตาม ม.63 หากเป็นผลธรรมดาก็ต้องรับผิด




แต่ในส่วนของนายหนึ่งและนายสองมีปัญหาว่า ความรับผิดของนายหนึ่งและนายสองที่ได้ชกหน้านายสี่ไปคนละ 1 ที จนนายสี่ปากแตกนั้น จะต้องรับผิดในการทำให้นายสี่ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.297(8) ด้วยหรือไม่




เราจะนำ ม.63 มาอธิบายการกระทำของนายหนึ่งและนายสองหรือไม่ว่าการกระทำของนายหนึ่งและนายสองนั้นเป็นเหตุให้นายสี่ได้รับอันตรายสาหัส
เป็นผลที่เกินเจตนาแต่เป็นผลธรรมดาที่คาดเห็นได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะหากพิจารณาในส่วนของนายหนึ่งและนายสองการชกไปที่หน้าคนละ 1 ทีนั้น ในสายตาของคนทั่วไปจะคาดเห็นได้หรือไม่ว่าจะทำให้นายสี่ได้รับอันตรายสาหัส




หรือว่าการพิจารณาความรับผิดของนายหนึ่งละนายสองนั้นพิจารณาตามหลักการเป็นตัวการร่วม เพราะข้อเท็จจริงบอกว่าทั้งสามคนเป็นตัวการร่วมกันในการทำร้ายร่างกายนายสี่ เมื่อปรากฎว่านายสามตัวการคนหนึ่งได้ทำร้ายนายสี่เป็นเหตุให้นายสี่ได้รับอันตรายสาหัสและเป็นผลธรรมดา ตัวการทุกคนต้องรับผิดร่วมกับนายสาม เพราะผลของการทำร้ายเป็นเหตุให้ได้รับอันตราสาหัสถือเป็นเหตุลักษณะคดีตาม ม.89 ที่ทำให้ตัวการต้องร่วมรับผิดในเหตุนั้นด้วย


โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา






No comments:

Post a Comment