Friday 27 March 2015

องค์ประกอบภายนอก

บทที่ 5

องค์ประกอบภายนอก


องค์ประกอบความผิด (Elements of crime)
ความผิดอาญาแต่ละฐานความผิดล้วนต้องมีองค์ประกอบความผิดเสมอ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งในความผิดฐานนั้นแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดอาญา โดยที่องค์ประกอบความผิดแต่ละฐานนั้นต้องแยกพิจารณา 2 ส่วน คือ องค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายใน
          1. องค์ประกอบภายนอก (External Elements)
          หมายถึงองค์ประกอบที่อยู่ภายนอกของความผิดแต่ละฐาน สามารถพิจารณาและเห็นได้ภายนอก โดยความผิดแต่ละฐานจะมีองค์ประกอบภายนอกดังต่อไปนี้
          2. องค์ประกอบภายใน (Internal Elements)
หมายถึงองค์ประกอบที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เพราะเป็นส่วนที่อยู่ในจิตใจของผู้กระทำ ซึ่งเราจะพิจารณาส่วนที่อยู่ในจิตใจนี้ได้จากการกระทำ โดยหลักการที่ว่า "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา"

1. องค์ประกอบภายนอก
          1) ผู้กระทำ
          2) การกระทำ
          3) วัตถุแห่งการกระทำ

          ตัวอย่างที่ 1 ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 "ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี“ องค์ประกอบภายนอกความผิดฐานนี้คือ
1) ผู้กระทำ (Actor) คือ ผู้ใด
2) การกระทำ (Action) คือ ฆ่า
3) วัตถุแห่งการกระทำ (Object of the action) คือ ผู้อื่น

          ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท
1) ผู้กระทำ คือ ผู้ใด
2) การกระทำ คือ เอาไป
3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามมาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1) ผู้กระทำ คือ หญิงใด
2) การกระทำ คือ ทำให้แท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก
3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ ชีวิตในครรภ์
         
          จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบภายนอกทั้ง 3 องค์ประกอบคือ ผู้กระทำ การกระทำ วัตถุแห่งการกระทำ นั้นสามารถพิจารณาได้จากบทบัญญัติของมาตรานั้น ๆ ว่าบัญญัติไว้อย่างไร ซึ่งถ้าหากพิจารณาแล้วครบองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบแสดงว่า การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก และค่อยพิจารณาองค์ประกอบภายในต่อไป

1. ผู้กระทำ
ความรับผิดในทางอาญาเกิดขึ้นได้แก่บุคคลเท่านั้น สัตว์และสิ่งของย่อมไม่อาจเป็นผู้กระทำผิดได้ บุคคลที่เป็นมนุษย์และนิติบุคคลก็สามารถกระทำผิดได้ ความผิดอาญาส่วนใหญ่ ไม่ได้จำกัดผู้กระทำผิดว่าหมายถึงใคร มักจะใช้คำว่า “ผู้ใด” Whoever
เว้นแต่ความผิดบางฐาน เช่น ความผิดฐานทำให้แท้งลูกผู้กระทำต้องเป็นหญิงเท่านั้น ความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น
          ผู้กระทำความผิดอาญา แยกออกเป็น 3 ประเภท
          1. ผู้กระทำผิดเอง
          2. ผู้กระทำผิดโดยอ้อม
          3. ผู้ร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime)

          1.1 ผู้กระทำผิดเอง หมายถึงผู้นั้นได้กระทำผิดเองโดยตรง (Direct) เช่น ใช้มีดฟัน ใช้ปืนยิงเอง เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเอง หรือการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด เช่น ใช้สุนัขที่เลี้ยงไว้ไปคาบเอกกระเป๋าเงินของคนอื่น หรือการใช้บุคคลผู้ไม่มีการกระทำ[1]เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เช่น สะกดจิตใช้ให้ไปฆ่าคน หรือขณะที่ขาวเผลอ แดงจับมือขาวเขกหัวดำ
          1.2 ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ซึ่งมีหลายกรณี เช่น
         
          1) ผู้ที่ใช้หรือหลอกลวงบุคคลซึ่งมีการกระทำ ให้การกระทำผิดโดยที่ผู้ถูกใช้หรือถูกหลอก ไม่ต้องรับผิดโดยเจตนา เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เช่น
          ตัวอย่างที่ 1 แดงต้องการหยิบร่มของนายดำ แต่ดำไม่กล้าหยิบเอง จึงบอกนายขาวให้ช่วยหยิบร่มของนายดำให้ โดยหลอกว่าเป็นร่มของนายแดงเอง นายขาวหลงเชื่อ
ตัวอย่างที่ 2 แดงหลอกให้ดำซึ่งเป็นพยาบาลเอายาพิษไปให้ขาวกิน โดยหลอกว่า เป็นยาบำรุง ดำหลงเชื่อจึงเอายาพิษไปให้นายขาวกินจนตาย
ทั้งตัวอย่างที่ 1 และ 2 นายแดง คือ ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ส่วนนายดำ คือ เครื่องมือในการกระทำความผิด (Innocent Agent) ของนายแดง

          ข้อสังเกตเกี่ยวกับ innocent agent การใช้หรือหลอก Innocent Agent เปรียบเสมือนผู้กระทำผิดได้ลงมือกระทำผิดด้วยมือของตัวเอง ผู้ที่เป็น Innocent Agent ไม่มีความผิดฐานกระทำโดยเจตนา แต่อาจมีความรับผิดโดยประมาทได้ (ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป)
คำพิพากษาฎีกาที่ 2030/2537 จําเลยใช้เด็กหญิง ป. ไปรับยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน โดยเด็กหญิง ป. ไม่ทราบข้อเท็จจริง การที่เด็กหญิง ป. ครอบครอง ยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน ก็ถือว่าจําเลยเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดให้ โทษเฮโรอีนเอง
(จำเลยเป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อม ส่วนเด็กหญิง ป. เป็น Innocent Agent)

คำพิพากษาฎีกา 5318/2549 จำเลยจ้างให้บุคคลที่ไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้นำรถไถไปไถที่ดินบริเวณดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการใช้บุคคลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และมาตรา 31 วรรคสอง(จำเลยเป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อม ส่วนคนที่บุกรุกเป็น Innocent Agent)
2) ผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยที่ผู้ถูกหลอกไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยเจตนา เพราะมีกฎหมายยกเว้นความผิดให้ เช่น แดงต้องการฆ่าดำ จึงตะโกนบอกขาวว่า ดำกำลังจะยิงขาว ขาวได้ยินแดงตะโกนบอกจึงเข้าใจว่าดำกำลังจะยิงตนจริงๆ จึงเอาปืนยิงดำก่อน (แดงเป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อม ส่วนดำเป็น Innocent Agent)
3) ผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยผู้หลอกมีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหาย แต่ผู้กระทำผิดได้กระทำความเพียงฐานประมาท เช่น แดงต้องการฆ่าขาว แต่ไม่กล้ายิงขาวเอง จึงหลอกขาวว่าปืนไม่มีลูก แต่ดำไม่ดูให้ดีว่าปืนมีลูก หรือเปล่า จึงยิงขาวตาย
4) ผู้ที่ใช้ให้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กระทำผิดได้ในฐานะเป็นผู้กระทำผิดเองให้กระทำผิด เช่น แดงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร ใช้ให้นายดำซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาปลอมเอกสารซึ่งแดงมีหน้าที่ทำ ตาม ม.161

1.3 ผู้ร่วมกระทำความผิด (parties to crime) หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิด (parties to crime)[2] มีดังต่อไปนี้
1) Principal in the first degree หมายถึง ผู้ลงมือกระทำความผิด เช่น เป็นคนยิง เป็นคนใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เป็นคนเอาทรัพย์ไป เป็นคนหลอกลวงเหยื่อ
2) Principal in the second degree หมายถึง ตัวการ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด เช่น คนคอยดูต้นทาง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ (อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ)
3) Accessory before the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิด "ก่อน" ที่จะมีการลงมือกระทำผิด แต่มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือใกล้กลับที่เกิดเหตุ
   4) Accessory after the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว เช่น การช่วยเหลือให้หลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม

ผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดในกฎหมายไทยมี 3 ประเภท คือ 1) ตัวการ ตาม ม.83 2) ผู้ใช้ ตาม ม.84 ม.85 และ3) ผู้สนับสนุน ตาม ม.86

พิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
          ตัวอย่างที่ 1 แดงต้องการขโมยร่มของดำ แต่แดงไม่กล้าหยิบเอง ใช้ให้นายขาวไปหยิบให้โดยที่นายขาวรู้ดีว่าร่มนั้นเป็นของนายดำ แต่นายแดงก็ยังหยิบให้นายแดง
ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการขโมยร่มของดำ แต่แดงไม่กล้าหยิบเอง จึงหลอกให้ขาวไปหยิบให้ ว่าร่มเป็นของนายแดงเอง ขาวหลงเชื่อ
จะเห็นว่าตามตัวอย่างที่ 1 นายขาวไม่ใช่ Innocent Agent เนื่องจากนายขาวรู้ว่าร่มนั้นเป็นของผู้อื่น ไม่ใช่ของนายแดง ดังนั้นการที่นายขาวหยิบร่มของนายดำให้นายแดง จึงมีเจตนากระทำความผิดลักทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องผู้กระทำความผิดโดยอ้อม แต่ถือว่านายแดงเป็นผู้ใช้ ส่วนนายขาวเป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง ส่วนตัวอย่างที่ 2 จะเห็นว่านายขาวนั้นไม่รู้ว่าร่มเป็นของนายดำ แต่เข้าใจว่าเป็นของของนายแดง จึงไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ นายขาวจึงไม่มีเจตนากระทำความผิด ถือเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของนายแดง (เป็น Innocent Agent) ส่วนนายแดงเป็นผู้กระทำความผิดโดยอ้อม
          ข้อแตกต่างระหว่างผู้กระทำความผิดโดยอ้อมกับผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้กระทำผิดโดยอ้อมและผู้ใช้ให้กระทำความผิดมีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหายเหมือนกัน       แต่ผู้กระทำความผิดโดยอ้อมนั้นผู้ถูกหลอก innocent agent ไม่มีเจตนากระทำความผิด     แต่สำหรับผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้ถูกใช้ต้องมีเจตนากระทำความผิด
การวินิจฉัยการลงมือกระทำความผิดระหว่างผู้กระทำผิดโดยอ้อมกับผู้ใช้

2. การกระทำ
การกระทำถึงขั้นไหนจึงจะมีความรับผิดทางอาญาโดยปกติแล้ว ความรับผิดทางอาญาจะเริ่มเมื่อผู้กระทำได้กระทำความผิดถึงขั้นที่เรียกว่า ลงมือกระทำความผิด เมื่อได้กระทำถึงขั้นลงมือแล้วแม้ความผิดไม่สำเร็จก็มีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ม. 80
แต่มีบางกรณีที่ผู้กระทำความผิดมีความรับผิด ก่อน ที่จะได้ลงมือกระทำความผิด ความผิดเหล่านี้ ตามแนวคิดของกฎหมาย common law เรียกว่า Inchoate Crime หรือความผิดที่เป็นการเริ่มต้น
Inchoate crime นั้นหมายถึง ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น อันจะนำไปสู่ความผิดอาญาโดยเจตนาฐานใดฐานใดฐานหนึ่งในอนาคต ซึ่งโดยลักษณะของความผิดที่เป็นการเริ่มต้นนั้น ต้องยังไม่ถึงขั้นความผิดสำเร็จ แต่เป็นความผิดที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดความผิดสำเร็จได้
ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กว่าผู้กระทำความผิดจะไปฆ่าคนตายได้นั้น จะต้องมีการวางแผนและเตรียมการ เช่น เขาอาจจะมีการไปจ้างวานมือปืน หรือหายืมปืนมาไว้เพื่อนำไปฆ่าคนตาย
ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ผู้กระทำผิดหลายคนอาจมีการสมคมกันวางแผนเพื่อไปปล้นทรัพย์ กำหนดหน้าที่ เสาะหาอาวุธเพื่อนำไปปล้น เป็นต้น
          ในกฎหมาย Common law มีการแบ่งลำดับขั้นตอนในการกระทำความผิดโดยเจตนาไว้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
          1. มีความคิดที่จะกระทำความผิดอาญา
          2. คิดพิจารณาเพื่อที่จะตัดสินใจว่าควรจะกระทำความผิดหรือไม่
          3. ตัดสินใจได้ว่าจะกระทำความผิด
          4. การตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดโดยการจัดเตรียมขั้นตอน หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการกระทำความผิด
          5. เริ่มกระทำความผิด
          6. กระทำการและบรรลุเจตนาในทางอาญา
          ซึ่งโดยปกติแล้วกฎหมายจะลงโทษการกระทำที่บรรลุเจตนาในทางอาญา(ขั้นที่ 6) แล้วเท่านั้น แต่ก็มีข้อยกเว้น ในกรณีที่กฎหมายเห็นว่าสมควรเข้าไป

ประเภทของ inchoate crime ความผิดที่เป็นการเริ่มต้นพื้นฐานในกฎหมาย Common Law มีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกันคือ
          1) ความผิดฐานพยายามกระทำความผิด (Attempt)
          2) ความผิดที่ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิด (Incite)
          3) ความผิดฐานสมคบ (Conspiracy)

          Inchoate crime ในกฎหมายอาญาไทย
          1) ความผิดฐานพยายามกระความผิด ม.80
          2) ความผิดใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ม.84
          3) ความผิดฐานซ่องโจร (สมคบ) ม.210

3. วัตถุแห่งการกระทำ
วัตถุแห่งการกระทำ หมายถึง สิ่งที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำต่อ ซึ่งในความผิดแต่ละฐานวัตถุแห่งการกระทำนั้นอาจแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการบัญญัติความผิดฐานนั้น เช่น
ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ม.288 วัตถุแห่งการกระทำ คือ ผู้อื่น
ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ม.301 วัตถุแห่งการกระทำ คือ ทารกที่อยู่ในครรภ์
ความผิดฐานลักทรัพย์ ม.334 วัตถุแห่งการกระทำ คือ ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

การขาดองค์ประกอบภายนอก
การกระทำใด หากขาดองค์ประกอบภายนอกข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าการกระทำนั้นไม่ครบองค์ประกอบภายนอก ก็ไม่อาจมีความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ต้องไปพิจารณาถึงองค์ประกอบภายในอีก เช่น นายแดงเจตนาจะลักทรัพย์ของนายดำ แต่ทรัพย์ที่ลักเป็นของนายแดงเอง หรือนายแดงเจตนาจะฆ่านายดำ จึงขึ้นไปบนบ้านของนายดำ เอาปืนยิงนายดำที่นอนอยู่ แต่ความจริงนายดำได้หัวใจวายไปก่อนที่นายแดงจะไปถึง นายแดงไม่มีความผิด




                [1] การใช้บุคคลผู้ไม่มีการกระทำ หมายถึง บุคคลผู้ถูกใช้ไม่ได้คิด ตัดสินใจ หรือกระทำตามที่ได้ตัดสิน ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้บังคับของจิตใจ เช่น ถูกสะกดจิต
                [2] ตามแนวความคิดของ common law สืบค้นจาก http://www.boredofstudiesorg/wiki/Parties_to_a_Crime_%26_Defences_to_Criminal_Charges 


No comments:

Post a Comment