Thursday 24 March 2016

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ในคดีอาญาที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง หรือที่เราเรียกว่า “คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา” ซึ่งในบางคดีนั้นผู้เสียหายต้องสูญเสียทรัพย์สินไปเนื่องมากจากการกระทำความผิดอาญา กฎหมายก็ให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด หรือหากไม่สามารถเรียกคืนทรัพย์สินได้ก็ต้องชดใช้ราคาคืน ให้แก่ผู้เสียหายอีกด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.43

การเรียกคืนทรัพย์หรือราคาที่สูญเสีย

มาตรา 43 คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สิน หรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย



1. ผู้เสียหายต้องมีสิทธิเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคาของทรัพย์สินนั้น


ซึ่งสิทธิในการเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคาของทรัพย์สินนั้นเป็นสืทธิทางแพ่ง ซึ่งผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิทางแพ่งได้นั้นต้องเป็นบุคคลตาม ป.วิ.แพ่ง ม.55 (เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล)


ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิจะเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคา


คำพิพากษาฎีกาที่ 3112/2523 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงกับขอให้คืนเงินที่จำเลยได้ไปจากการฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ามิใช่เป็นเรื่องฉ้อโกงแต่เป็นเรื่องผู้เสียหายและจำเลยสมัครใจเล่นแชร์ต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งล้วน ๆ หาใช่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไม่ดังนี้ เงินที่ผู้เสียหายชำระค่าแชร์ให้แก่จำเลยไป จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด พนักงานอัยการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเช่นนี้แทนผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43



2. ต้องเป็นคดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร (9 ฐานความผิด)


ซึ่งคดีทั้ง 9 ฐานนี้เป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องสูญเสียไปอันเรื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสิน ซี่งหากกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เรียกคืนในคดีอาญา ผู้เสียหายก็มีสิทธิเรียกคืนทางแพ่ง โดยการฟ้องฐานละเมิดได้อยู่แล้ว แต่เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว อักทั้งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกคืนรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ กฎหมายวิธีพืจารณาความอาญาจึงกำหนดให้พนักงานอัยการเรียกคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีอาญาจะต้องเรียกคืนทรัพย์สินหรือราคา แม้ผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องก็ตาม


ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ ม.43 คือ ทรัพย์สินหรือราคา ที่พนักงานอัยการจะต้องเรียกคืนให้แก่ผู้เสียหาย ต้องเป็นทรัพย์สินที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด เช่น ทรัพย์ที่ถูกลักหรือยักยอกไป


หากเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้สูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดทั้ง 9 ฐาน พนักงานอัยการก็ไม่สามารถเรียกคืนให้ผู้เสียหาได้ เช่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  442/2507 ในคดีเรื่องรับของโจร อัยการไม่มีอำนาจฟ้องผู้รับของโจรให้คืนเงินค่าไถ่ทรัพย์แทนผู้เสียหาย เพราะมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดฐานรับของโจร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2520ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ฐานรับสินบน ซึ่งไม่เป็นความผิดตามมาตรา 337 ฐานกรรโชก อัยการไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์

2.การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิด

นอกจากการเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดอาญา เช่น ถูกขับรถชนโดยประมาททำให้ได้รับบาดเจ็บ นอกจากผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษทางอาญาแล้ว ยังต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายด้วย



มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้




Saturday 12 March 2016

ความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียง




ความผิดต่อเสรีภาพตาม ม.309 เป็นความผิดต่อเสรีภาพกว้าง ๆ ที่บุคคลนั้นมีสิทธิจะกระทำได้โดยที่ไม่อาจถูกขัดขวาง แต่ความผิดต่อเสรีภาพใน ม.310 เป็นความผิดต่อเสรีภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย (Liberty to Movement) นอกจากความแตกต่างในลักษณะของเสรีภาพแล้ว ความผิดตาม ม. 309 ยังเป็นเป็นการกระทำที่กว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องกระทำแบบใด เพราะกฎหมายใช้คำว่า ขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด แต่ความผิดตาม ม.310 จำกัดไว้เฉพาะการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเท่านั้น ดังนั้นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังตาม ม.310 จึงถือเป็นบทเฉพาะ และความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นเป็นความผิดบททั่วไป
มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ข่มขืนใจผู้อื่น (Compels the other person) หมายถึงบังคับให้ผู้อื่นต้องกระทำหรือไม่กระทำ หรือต้องยอมในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งเป็นการริดรอนเสรีภาพของผู้อื่น เช่น การขู่ว่าให้เขายกมือขึ้น หรือบอกว่าอย่าขยับ หรือการที่เอามีดมาจี้ที่หลังแล้วให้เดินไปในรถ จะเห็นได้ว่าผู้อื่นนั้นต้องกระทำในสิ่งที่เขาไม่อยากจะทำ ไม่ได้กระทำในสิ่งที่เขาอยากทำ หรือต้องยอมในสิ่งที่ไม่อยากจะยอม เป็นการข่มขืนใจ
การข่มขืนใจต้องเป็นการกระทำต่อผู้อื่น หากเป็นการขู่ว่าจะทำร้ายตนเอง ไม่มีคววมผิดตามมาตรานี้ เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ยอมตามที่ต้องการแล้วจะไม่กินข้าวหรืออดข้าวตาย หรือลูกขู่ว่าพ่อแม่ว่าหากไม่ให้เงินซื้อไอโฟนรุ่นใหม่ให้จะเอาโครศัพท์เครื่องเก่าไปโยนทิ้ง เหล่านี้เป็นการข่มขืนใจที่จะกระทำต่อตนเองไม่มีความผิด

ดังนั้นการข่มขู่ สาระสำคัญต้องทำให้ผู้ถูกกระทำกลัว หากเป็นการพูดหยอกล้อกัน ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เช่น การใช้ปืนปลอมมขู่ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกข่มขืนใจกลัวแล้วเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือการขู่ว่าจะชวนพวกนักเลงมาทำร้ายให้ระวังตัวไว้เป็นการพูดข่มขู่ว่าจะทำอันตรายในอนาคต
การข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวนั้นอาจเป็นการขืนใจที่จะทำอันตรายต่อ ชีวิต เช่น การข่มขู่ว่าจะฆ่า อันตรายต่อร่างกาย เช่น การข่มขู่ว่าจะมาทำร้าย พาพวกมากระทืบ หรือจะปล่อยให้หมากัด อันตรายต่อเสรีภาพ เช่น การข่มขู่ว่าจะจับไปขัง หรือพาคนมาปิดล้อม อันตรายต่อชื่อเสียง เช่น การข่มขู่ว่าจะทำเอาความลับไปบอกคนอื่น  อันตรายต่อทรัพย์สิน เช่น การข่มขู่ว่าจะพาพวกมาทำลายร้าน จะเผาบ้าน
คำพิพากษาฎีกาที่ 2013/2536 ผู้เสียหายทั้งสี่เข้าไปเที่ยวในบาร์ซึ่งมีการแสดงให้ชมและได้ สั่งเครื่องดื่มรวม 4 แก้ว ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินของบาร์ได้นำใบเสร็จรับเงินมาเรียกเก็บเงิน 1,000 บาท โดยคิดเป็นค่าเครื่องดื่ม 200 บาท ค่าชมการแสดง 800 บาท ตามอัตราที่ถูกต้องของบาร์ผู้เสียหายทั้งสี่ขอชำระแต่ค่าเครื่องดื่ม   ส่วนค่าชมการแสดงไม่ชำระเพราะได้รับคำบอกเล่า จากผู้ที่ชักชวนเข้าไปเที่ยวว่าไม่ต้องชำระจำเลยไม่ยอมและพูดว่าถ้าไม่ชำระ จะไม่ยอมให้ออกจากบาร์  และสั่งคนปิดประตูบาร์กับเรียกพนักงานชาย 5-6 คน มายืนคุมเชิงรอบโต๊ะข้างหลังผู้เสียหายทั้งสี่แล้วจำเลยพูดว่าจะชำระหรือไม่ ถ้าไม่ชำระมีเรื่องแน่ ผู้เสียหายทั้งสี่กลัวถูกทำร้ายจึงยอมชำระเงิน 1,000 บาท ให้จำเลยถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสี่ให้ยอมให้ เจ้าของบาร์ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย ต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งถูกข่มขืนใจ ยอมให้เงินค่าชมการแสดง ดังนี้แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะสืบเนื่องมาจากการทวงค่าชมการแสดงที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับการบริการไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสี่ชำระเงินโดยไม่ชอบด้วยการขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหายทั้งสี่เช่นนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานกรรโชก

ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ม.309 เป็นความผิดที่ต้องการผล หมายความว่าหากมีการกระทำอันเป็นการข่มขืนใจแล้ว แต่ผู้ถูกข่มขืนใจไม่กระทำตาม หรือไม่หยุดการกระทำ หรือไม่ยอมตามที่ข่มขู่ จะมีความผิดเพียงแค่พยายามกระทำความผิด เช่น ใช้ปืนขู่ให้หยุดรถแต่ผู้นั้นไม่ยอมหยุดรถ เช่นนี้เป็นความผิดเพียงแค่พยายามข่มขืนใจผู้อื่น แต่ถ้าผู้นั้นยอมกระทำตาม หรือยอมตามที่ถูกข่มขู่ก็เป็นความผิดสำเร็จ
คำพิพากษาฎีกา 616/2520 ฟ้องขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ ได้ความว่าจำเลยใช้ปืนขู่ให้ผู้เสียหายซึ่งขี่รถจักรยานยนต์หยุดรถ  ผู้เสียหายลดความเร็วลงเตรียมจะจอด พอดีรถจำเลยเสียหลัก  ผู้เสียหายเร่งรถหนีไปได้  ไม่พอฟังว่ามีเจตนาปล้น เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.309 ซึ่งบรรยายมาในฟ้อง เป็นส่วนหนึ่งของการปล้นที่ฟ้อง ศาลลงโทษตาม ม.309 ได้
คำพากษาฎีกา 1447/2513 จำเลยกับพวกมีอาวุธปืนติดตัวเข้าไปพูดจาให้ผู้เสียหายคิดบัญชีการเงินที่จำเลยกับผู้เสียหายเข้าหุ้นกันทำการก่อสร้างโดยขู่ว่า ถ้าไม่คิดจะเกิดเรื่อง แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลเพราะผู้เสียหายไม่ยอมคิดบัญชีให้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่ผู้เสียหายไม่กลัวหรือเพราะมีตำรวจมาขัดขวางก็ตาม  จำเลยก็มีความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพแล้ว  แต่ไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก
ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้นั้น ที่ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เพราะว่า การที่จำเลยไปข่มขู่เพือให้ผู้เสียหายคิดบัญชีการเงินที่เข้าหุ้นการทำการก่อสร้าง การคิดบัญชีไม่ใช่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน จึงไม่ผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ แต่มีความผิดพยายามตาม ม.309 เพราะความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นนี้ ไม่ได้จำกัดว่าการข่มขืนใจนั้นจะเป็นเรื่องใดก็ได้ เป็นเสรีภาพทั่ว ๆ ไปของผู้ถูกข่มขืนใจ






การหน่วงเหนี่ยว (detains the other person) คือ การไม่ให้เข้าไปในที่ใดที่หนึ่งโดยอาจรั้งไว้หรือขวางไว้ เช่น การเอาคนไปปิดล้อมไม่ให้เขาเข้าไปเป็นหน่วงเหนี่ยว หรือใส่กุญแจปิดโรงงานไว้ทำให้เข้าไปทำงานไม่ได้ เอามีดไล่ฟันโดยเจตนาฆ่าจนเขาต้องวิ่งหนี เป็นการทำให้เสียเสรีภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้ไปในในที่ซึ่งอยากไป
คำพิพากษาฎีกา 2010/2528 จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญและใช้กำลังฉุดผู้เสียหายจากในซอยให้ขึ้นรถยนต์แล้วพาไปถึงโรงแรม แต่ผู้เสียหายหนีออกมาได้ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียว โดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือ การพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารเท่านั้น แต่โดยลักษณะของการกระทำ คือ การบังคับพาเอาตัวผู้เสียหายจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดตาม ม.309 และ ม.310 อยู่ในตัว  การกระทำผิดของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. ม.90 คือ ม.248
คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2548 ป.อ. มาตรา 63, 310 วรรคสอง ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตายมีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้นเพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณโหดร้าย


ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท แตกต่างจากความผิดมาตรา 310 ในเรื่องขององค์ประกอบภายในที่ผู้กระทำไม่ได้กระทำโดยมีเจตนาจะหน่วงเหนี่ยวหรือกังขัง แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง อันเป็นการกระทำโดยประมาท เช่น พนักงานสอบสวนขังผู้ต้องหาเกินกำหนดเพราะลืมส่งสำนวนขอฝากขังต่อ หรือภารโรงปิดประตูห้องเรียนโดยไม่สำรวจว่ามีเด็กหลงเหลืออยู่ในห้อง ปิดตึกโดยไม่ดูให้ดีว่ามีใครเหลืออยู่บ้าง





















การเอาคนลงเป็นทาส หมายถึง การที่ผู้กระทำผิดปฏิบัติต่อบุคคลอีกคนหนึ่งอย่างทาส คือมีอำนาจเหนือโดยเด็ดขาดในการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของผู้นั้นไม่ว่าในทางใดๆ โดยมิได้มีกฎหมายหรือจารีตประเพณียอมให้ทำเช่นนั้นได้[3] ดังนั้นการจ้างแรงงานที่เอาเปรียบลูกจ้างย่อมไม่ใช่การเอาลงคนเป็นทาสตามมาตรานี้ รวมถึงการกระทำของผู้คุมกับนักโทษในเรือนจำที่ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมตัวนักโทษให้อยู่ในเรือนจำจนกว่าจะพ้นโทษก็ไม่ใช่การเอาคนลงเป็นทาสเช่นกัน
      มีประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับการยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมคนอื่น โดยผู้มาขอลูกไปเป็นบุตรบุญธรรมนั้นได้จ่างค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง (ขายลูก) เช่นนี้จะเป็นความผิดฐานเอาคนลงเป็นทาสตามมาตรานี้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้แม้จะเข้าลักษณะเป็นการซื้อขายคน แต่คนที่ขายกันนั้นไม่ได้มีมูลเหตุชักจูงใจ คือ เพื่อเอาคนลงเป็นทาสหรือเพื่อให้มีฐานะคล้ายทาส เช่นเดียวกับการยกลูกสาวให้เป็นภริยาคนอื่นในลักษณะของการคลุมถุงชน

            ความผิดฐานเรียกค่าไถ่ คือ ความผิดที่เอาตัวบุคคลอื่นไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังไว้ทำให้เขาเสียเสรีภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือผู้ถูกกักขัง ดังนั้นการเอาตัวบุคคลอื่นไปที่จะมีความผิดตามตามมาตรานี้ได้ผู้กระทำต้องมีเจตนาเรียกค่าไถ่ด้วย
ฎีกา 1278/2503 จำเลยเขียนจดหมายไปขู่เข็นผู้เสียหายให้ส่งเงิน 3,000 บาท ไปให้จำเลย มิฉะนั้นบุตรผู้เสียหายจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แม้จะได้ความว่า  บุตรของผู้เสียหายเองเป็นคนบอกให้จำเลยเขียนจดหมายไปขู่เข็ญบิดาเพื่อหลอกลวงให้บิดาส่งเงินมาให้ก็ยังถือว่าเสียหายถูกข่มขืนใจ จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337(ไม่เป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่ ตามม.313)

      ตัวอย่าง นายดำจับลูกนายเขียวไป เพื่อต่อรองให้นายเขียวไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. แม่กา เพราะหากนายเขียวลง อาจจะแพ้นายเขียวได้ จะเห็นว่าแม้นายดำจะไม่ได้เรียกเอาทรัพย์สิน แต่การต่อรองเพื่อให้นายเขียวไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ถือเป็นประโยชน์ที่เรียกเอาเพื่อแลกเปลี่ยนกับเสรีภาพของผู้ที่ถูกเอาตัวไป ถือเป็นค่าไถ่ตามมาตรานี้
คำพิพากษาฎีกา 1061/2504 จำเลยถูกสลากกินรวบแล้วไปเอาเงินที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้ามือ แต่ผู้เสียหายไม่ให้ จำเลยกับพวกตามไปพบผู้เสียหายแล้วพาผู้เสียหายขึ้นรถไปด้วยกัน จำเลยได้ให้ผู้เสียหายเขียนหนังสือถึงภริยาให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือและได้ให้ผู้เสียหายทำสัญญากู้เงินจำเลย ตามจำนวนที่ถูกสลากกินรวบไว้แล้วให้ผู้เสียหายไป  ดังนี้ เจตนาของจำเลยเป็นเพียงแต่ทวงเอาเงินซึ่งจำเลยเชื่อว่าควรจะได้ เงินประเภทนี้จึงไม่ใช่สินไถ่หรือค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313  การกระทำของจำเลยขาดเจตนาเพื่อค่าไถ่อันเป็นองค์ความผิดประการสำคัญ ตามมาตรา 313 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจับคนเพื่อค่าไถ่ตามมาตรา 313
คำพิพากษาฎีกา 2848/2527 จำเลยปล้นทรัพย์และคุมตัวผู้เสียหาย อ. ภริยาผู้เสียหายและ ว.ไปด้วย แล้วจึงปล่อยตัว อ.กับ ว. โดยสั่งให้นำเงินไปไถ่ตัวผู้เสียหายพอทราบว่าตำรวจกำลังออกติดตาม จำเลยก็ปล่อยตัวผู้เสียหาย ดังนี้ แม้จะยังไม่ทันได้มาซึ่งเงินค่าไถ่ ก็เป็นความผิดฐานเอาตัวผู้เสียหายไป เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว  และถือได้ว่าจำเลยได้จัดให้ผู้เสียหายได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ซึ่งกฎหมายให้ลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามนัย ป.อ.ม.316  ศาลล่างกำหนดโทษมาโดยมิได้พิเคราะห์ประกอบกับ ม.316 นี้ ศาลฎีกากำหนดโทษเสียใหม่  และการลดโทษตาม ม.316 เป็นเหตุในลักษณะคดี   ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วย

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังนั้นรับอันตรายสาหัสหรือเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต (โปรดสังเกตว่าหากกระทำโดยทรมานทารุณโหดร้าย ไม่ต้องบาดเจ็บสาหัส)
คำพิพากษาฎีกาที่ 3891/2548 จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไปที่ที่พักอาศัยของโจทก์ร่วม แล้วใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับโจทก์ร่วมกับรื้อค้นเอาเงินจำนวน 3,000 บาท และนาฬิกาข้อมือราคา 150,000 บาท ไป จากนั้นจำเลยทั้งสองเอาเสื้อคลุมศีรษะโจทก์ร่วมบังคับให้ขึ้นรถยนต์นำโจทก์ร่วมไปกักขังไว้บนชั้นที่ 3 ของตึกแถวที่จำเลยที่ 1 เช่าจากผู้อื่น แล้วส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไปยังภริยาและบุตรของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ที่ประเทศไต้หวัน จนภริยาของโจทก์ร่วมตกลงจ่ายค่าไถ่ให้จำเลยทั้งสอง ในระหว่างที่โจทก์ร่วมถูกกักขัง จำเลยทั้งสองได้มัดโจทก์ร่วมด้วยโซ่ที่มือและเท้าทั้งสองข้างและใส่กุญแจ และควบคุมตัวโจทก์ร่วมอยู่ตลอดเวลา โจทก์ร่วมถูกกักขังอยู่เป็นเวลา 133 วัน หมดอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายไปที่อื่น และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยาแก้โรคเบาหวาน ทำให้อาการกำเริบ มีเลือดปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ อันเป็นการกระทำที่เลวร้ายยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเสียอีกจึงเป็นการกระทำโดยทรมานจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง



กระทำการเป็นคนกลาง คือ ผู้ที่ติดต่อระหว่างผู้จับคนไปเรียกค่าไถ่กับฝ่ายผู้ให้ค่าไถ่ โดยเรียกเงิน รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างใดที่มิควรได้ คือ หาประโยชน์จากที่ผู้ที่เรียกค่าไถ่หรือผู้จะให้ค่าไถ่ มีความหมายเช่นเดียวกับการเป็นคนกลางเรียกรับสินบนที่เป็นผู้ติดต่อระหว่างผู้ให้สินบนกับเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2527 คนร้ายจับผู้เสียหายไปเรียกค่าไถ่ พี่ผู้เสียหายออกตามพบจำเลยซึ่งเรียกให้รถหยุดแล้วจำเลยเป็นผู้ต่อรองค่าไถ่ด้วยตนเอง ลดจำนวนค่าไถ่ลง เมื่อได้ค่าไถ่แล้ว จำเลยก็สามารถจัดการให้คนร้ายปล่อยผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับคนร้ายเป็นอย่างดี เข้าลักษณะกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินมิควรได้จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่ อันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 315
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2529 จำเลยที่ 1 กับจำเลยคนอื่นร่วมกันจับตัวผู้เสียหายไปเพื่อเรียกค่าไถ่ขณะที่บุตรชายของผู้เสียหายนำเงินค่าไถ่ไปให้จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 3 คนอยู่ในที่นั้นด้วยจำเลยที่ 4 พูดกับบุตรชายของผู้เสียหายว่า 'เขาเอาเท่าไหร่ก็ให้เขาไปเสียจะได้หมดเวรหมดกรรมกัน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 เป็นการช่วยพูดให้บุตรชายผู้เสียหายหาเงินค่าไถ่มาให้ตามที่พวกจำเลยเรียกร้องเข้าลักษณะความผิดฐานกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินจากผู้ที่จะให้ค่าไถ่มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวเท่านั้น
มาตรา 316 ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 313 มาตรา 314 หรือ มาตรา 315 จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับ เสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
เหตุใดกฎหมายจึงลดโทษให้ เนื่องมาจากคำนึงถึงผลดีที่ผู้ที่ถูกเอาตัวไปหรือผู้ที่ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังจะได้รับ เพราะการลดโทษให้เป็นเสมือนเป็นรางวัลให้ผู้กระทำคิดปล่อยตัวผู้เสียหายดีกว่าจะหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังต่อไป รวมถึงให้ผู้กระทำผิดได้คิดถึงผลดีผลเสียว่าหากปล่อยตัวผู้เสียหายโดยปลอดภัยแล้วศาลจะลดโทษให้นั้นเอง โดยการจะได้ลดโทษตามมตรานี้มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6ได้รับเงินค่าไถ่จากพวกของผู้เสียหายแล้ว ได้จัดให้ผู้เสียหายผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 บัญญัติให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ตามกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคแรกนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี.
            ช. ถูกจำเลยที่ 2 กับพวกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ เมื่อ ส. นำเงินค่าไถ่ไปมอบให้จำเลยที่ 2 และพวกนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาวุธปืนได้อยู่ด้วยโดยได้ช่วยรับและนับเงินค่าไถ่ หลังจากนั้นจึงได้จัดการปล่อยตัว ช.ให้เป็นอิสระ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกในการกระทำความผิดด้วย
            ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 ประกอบด้วยมาตรา 316, 53 โดยให้จำคุก 20 ปีแสดงว่าใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นเกณฑ์ในการคำนวณโทษ แต่ตามมาตรา 316 จะลงโทษน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษดังกล่าวหาได้ไม่ โทษจำคุก 20 ปีที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาจึงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตลอดชีวิตซึ่งไม่ถูกต้องแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นอีกได้

















ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองเป็นสำคัญเพราะเป็นการพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครอง บิดามารดาหรือผู้ดูแล ฉะนั้นแม้ผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ ซึ่งศาลได้วธิบายไว้ในคำพิพากษาฎีกา 2245/2537 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารมุ่งหมายถึงการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอันไม่สมควรในทางเพศ แม้การกระทำของจำเลยจะไม่เป็นความผิดฐานอนาจาร   เนื่องจากผู้เสียหายยินยอม แต่ก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารได้  และแม้บิดามารดาของผู้เสียหายจะออกไปนอกบ้านขณะที่ผู้เสียหายออกจากบ้าน และจำเลยได้พาไปที่ขนำก็ตาม ยังถือว่าผู้เสียหายอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนอนค้างคืนที่ขนำในสวนโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย  แล้วจำเลยได้กอดปล้ำหอมแก้มและจับหน้าอกผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก










คำพิพากษาฎีกา 2673/2546 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก คำว่า "พราก" หมายความว่า พาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล จะกระทำโดยวิธีใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบาย ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารแล้ว
คำพิพากษาฎีกา 261/2534  การที่จำเลยที่ 1 กับพวกพาผู้เสียหายออกจากบ้านไปโดยไม่ ให้คนในบ้านรู้(สมัครใจ)  แล้วพาไปชำเราในป่ายางข้างทาง ทั้งที่ผู้เสียหายอายุเพียง 14 ปี กับอีก 1 เดือนเศษ ยังเป็นนักเรียน จำเลยที่ 1 เองก็ยังเรียนอยู่ชั้น มัธยมปีที่ 6 หลังจากตนเองได้ร่วมประเวณีแล้วยังมอบผู้เสียหายให้ไปกับจำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยที่ 2 ร่วมประเวณีผู้เสียหายอีกหลายคืน ถือได้ว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร  ตาม ป.อ.มาตรา 317
คำพิพากษาฎีกา 1605/2523 การที่จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกิน 13 ปี  พากันไปร่วมประเวณีที่กระท่อมด้วยความสมัครใจ แล้วแยกกันกลับบ้านนั้นแม้ทางกลับบ้านของผู้เสียหายกับกระท่อมจะห่างกันเพียง 90 เมตร และผู้เสียหายอยู่กับจำเลยเพียง 5 ชั่วโมง ก็ถือว่าจำเลยรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิของผู้ปกครองผู้เสียหายในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว เป็นความผิดตาม ป.อ.ม. 277 กับผิดตาม ม.317 อีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกา 1911/2522 ผู้เสียหายอายุ 15 ปี ได้เสียกับจำเลย แล้วมีจดหมายชวนจำเลยไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ วันเกิดเหตุผู้เสียหายมาหาจำเลยแล้วผู้เสียหายกับจำเลยพากันไปอยู่กรุงเทพฯดังนี้ เป็นเรื่องผู้เสียหายสมัครใจไปจากบิดามารดาเองจำเลยไม่ได้พรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
คำพิพากษาฎีกา 2545/2522 จำเลยซึ่งมีภรรยาและบุตรแล้ว นัดพบกับผู้เยาว์ซึ่งเป็นนักเรียนหญิงชั้น  ม.ศ.3 อายุ 16 ปี กำลังเรียนอยู่ และได้ร่วมประเวณีกันทุกครั้งที่พบกัน ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะเลี้ยงดูผู้เยาว์ฉันสามีภรรยาได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาฎีกา 1605/2523 การที่จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกิน 13 ปี  พากันไปร่วมประเวณีที่กระท่อมด้วยความสมัครใจ  แล้วแยกกันกลับบ้านนั้นแม้ทางกลับบ้านของผู้เสียหายกับกระท่อมจะห่างกันเพียง 90 เมตร และผู้เสียหายอยู่กับจำเลยเพียง 5 ชั่วโมง ก็ถือว่าจำเลยรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิของผู้ปกครองผู้เสียหายในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว  เป็นความผิดตาม ป.อ.ม. 277 กับผิดตาม ม.317 อีกกระทงหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกา 351/2526 จำเลยฉุดคร่าผู้เสียหายจากทางเดินพาเข้าไปในทุ่งข่มขืนกระทำชำเราแล้วก็ทิ้งผู้เสียหายไว้ ณ ที่เกิดเหตุ แสดงว่าจำเลยพาไปเพื่อกระทำชำเราเท่านั้น หาได้มีเจตนาพาหรือแยกเอาผู้เสียหายไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดาผู้เสียหายไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามป.อ.ม.318 ด้วย
            การพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาเพื่อการอนาจาร หรือทำให้ผู้เยาว์ปราศจากเสรีภาพในร่างหาย ก็เป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเฉพาะเรื่องพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยไม่บรรยายให้ปรากฏการกระทำตามป.อ.ม.284 และ ม.310 ที่ขอให้ลงโทษมาท้ายฟ้องด้วย จึงไม่ชอบด้วยป.ว.อ.ม.158 ศาลจะปรับบทลงโทษตามมาตราดังกล่าวไม่ได้
            คำพิพากษาฎีกา 2628/2529 แม้ในตอนแรก ส.ผู้เป็นมารดาเด็กหญิง ศ.อายุ 12 ปี จะยินยอมอนุญาตให้จำเลยพา ศ.ออกไปจากบ้าน ก็เพื่อให้จำเลยพา ศ.นำไปพบสามี ส. ซึ่งทำงานอยู่ที่แห่งหนึ่งเท่านั้นการที่ จำเลยพา ศ.เข้าไปในโรงแรมเป็นเรื่องทำไปเองตามลำพังจะถือว่า ส.รู้เห็นยินยอมไม่ได้  จำเลยเข้าไปในห้องและกวักมือเรียกศ.ให้ตามเข้าไปในห้องด้วย แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อร่วมประเวณีหรือกระทำมิดีมิร้ายอย่างอื่น แต่ ศ.ไม่ยอมเข้าห้องและมีพนักงานโรงแรมมาพบช่วยเหลือพาไปส่งบ้าน   ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 13 ปีไปเพื่อทำการอนาจาร มีความผิดตาม ป.อ. ม.317
กรณีที่ไม่รู้ แต่ควรจะรู้ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1717/2543 กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก จะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุจูงใจให้สำคัญผิดโดยสุจริต มิใช่คาดคะเนเอาเองดังที่จำเลยเบิกความ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นกล่าวอ้าง เพื่อเป็นข้อแก้ตัวว่าจำเลยสำคัญผิดโดยสุจริต จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำเลยจึงต้องมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 วรรคแรก และจำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ห้องของโรงแรมที่เกิดเหตุ เป็นการล่วงอำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาตาม มาตรา 317 วรรคสาม


โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไป คำพิพากษาฎีกา 210/2541 การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาผู้เสียหายไปทำงานในร้านอาหารแต่กลับพาไปขายให้แก่ บ. เพื่อให้ค้าประเวณีจะนับว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยไม่ได้เพราะผู้เสียหายไม่ได้เต็มใจไปค้าประเวณีมาแต่ต้น แต่ไปกับจำเลยเพราะจำเลยหลอกลวงว่าจะพาไปทำงานที่ร้านขายอาหารของน้องสาวจำเลยและการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายแล้วพาผู้เสียหายไปขายให้แก่บ. เพื่อให้ค้าประเวณี ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะล่อผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารและเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น โดยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสอง และมาตรา 318 วรรคสาม


คำพิพากษาฎีกา 1038/2534 จำเลยและผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาว   ผู้เสียหายเต็มใจให้จำเลยร่วมประเวณีโดยสมัครใจ หลังจากนั้นประมาณ 20 วันจำเลยสึกจากพระภิกษุ โดยจำเลยและผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภรรยาตลอดมาจนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง  โดยจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงผู้เสียหายพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า  จำเลยมีเจตนาพาผู้เสียหายไปและร่วมประเวณีกับผู้เสียหายด้วยประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ในสมณเพศ  แต่ต่อมาภายหลังจำเลยก็สึกจากสมณเพศโดยสมัครใจและอยู่กินเลี้ยงดูผู้เสียหายตลอดมาจนเกิดบุตรด้วยกัน     การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาฎีกา 4587/2532 ผู้เสียหายเต็มใจไปกับจำเลย หลังจากที่จำเลยพาผู้เสียหายไปแล้ว ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจัดงานพิธีให้ผู้เสียหายและจำเลยแต่งงานกัน และมีการมอบค่าสินสอดของหมั้นให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายผู้เสียหายรับไปแล้วบางส่วนเมื่อจำเลยพาผู้เสียหายกลับมาถึงบ้าน ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ของผู้เสียหายได้จัดพิธีบอกผีเรือนตามประเพณีก่อนให้ผู้เสียหายเข้าบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า ที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนั้นมีเจตนาที่จะพาไปเป็นภรรยาตั้งแต่แรก  เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อเป็นภรรยา แม้ผู้เสียหายจะยังเป็นผู้เยาว์อยู่ก็ไม่เป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของมารดา และแม้จำเลยจะร่วมประเวณีกับผู้เสียหายระหว่างที่พักอยู่ด้วยกันก็ถือได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษา 2091/2527 ผู้เสียหายอายุ 17 ปี ขออนุญาตบิดาไปลอยกระทง  แล้วไปพบจำเลยตามที่จำเลยนัด  จำเลยพาไปร่วมประเวณีโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย ดังนี้เป็นการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปในขณะที่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา เมื่อจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว กลับพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีรุ่งขึ้นก็พากลับไปส่งที่บ้าน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร จึงเป็นการพรากผู้เยาว์อายุ 17 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.319 วรรคแรกแม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ม.318 ศาลก็ลงโทษจำเลยตาม ม.319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่าได้


คำพิพากษาฎีกา 5235/2530 การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 320 วรรคแรกนั้น ผู้กระทำความเพียงใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด อย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวมา พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักรก็ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 320 วรรคแรกแล้ว หาจำต้องกระทำการทุกอย่างพร้อมกันในคราวเดียวกันไม่