Sunday 3 July 2016

ข่มขืน = ประหาร แก้ปัญหาข่มขืนได้จริงหรือ

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างกว้างของทั้งนักกฎหมาย ประชนทั่วไป ว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้นควรถูกลงโทษสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิตผู้กระทำความผิดหรือไม่ มีการรณรงค์ "ข่มขืน = ประหาร" ซึ่งก็มีความเห็นหลากหลาย นั้นแสดงว่าปัญหาการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นเป็นปัญหาที่คนในสังคมให้ความสนใจ

นอกจากนี้ปัญหาเกี่ยวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้นยังมีประเด็นที่สังคมยังถกเถียงกันอีกประเด็น คือ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรกนั้น แต่เดิมเป็นความผิดอาญาอันยอมความได้สมควรจะแก้ไขให้เป็นความผิดอาญาที่ยอมความไม่ได้หรือไม่


หากพิจารณาดู ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นบ่อยมาก และมีความร้ายแรงและมีผลกระทบต่อผู้เสียหายมากมาย ทั้งร่างกาย ชื่อเสียง สังคม และที่กระทบมากที่สุด คือ จิตใจของผู้เสียหาย ในเมื่อมันร้ายแรงและส่งผลกระทบมากมายขนาดนี้ เหตุใดกฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นประหารชีวิตและกำหนดให้ความผิดฐานนี้เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ เป็นอาญาแผ่นดินไปเสียเลย เพื่อจะให้ผู้กระทำความผิดมันถูกจับกุมดำเนินคดีให้หมด โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ และเมื่อดำเนินคดีไปแล้วก็จะไก่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมกันไม่ได้ เพื่อไม่ให้ผู้ที่กระทำความผิดใช้ช่องทางการไกล่เกลี่ยหรือยอมความบีบให้ผู้เสียหายยุติการดำเนินคดี


ต่อปัญหาข้างต้นขอแยกพิจารณาไปทีละปัญหา


1. ปัญหาเกี่ยวกับลงโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา


เหตุผลของฝ่ายที่เห็นว่าควรลงโทาษผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ตามมาตรา 276 วรรคแรกนั้นควรถูกประหารชีวิตนั้นก็เพื่อให้โทษที่หนักขึ้นถึงขั้นประหารชีวิต เป็นตัวยับยั้งไม่ให้คนคิดจะกระทำผิดฐานนี้ ตามหลักของการลงโทษทางอาญา "โทษหนักสามารถยั้บยั้งอาชญากรรมได้ (Deterrence)" ดังนั้นเมื่อเรางโทษหนักขึ้นคนก็จะกลัวโทษ อีกทั้งการลงโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตนั้นยังเป็นไปตามหลักการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (Retribution)อีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีเหตุการณ์ข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้น คนในสังคมจะประณามและเรียก

ร้องให้ลงโทษผู้กระทำความผิดให้หนักหนาสาหัสตามความร้ายแรงที่ได้ทำ

ถามว่า โทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งไม่ให้คนถูกข่มขืนได้จริงไหม หากวิเคราะห์ตามทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utility Theory) ของนักเศรษฐศาสตร์  "คนจะตัดสินใจทำอะไรย่อมคำนึงถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการกระทำนั้น หากคุ้มค่าหรือมีกำไรเขาจะเลือกทำ แต่หากทำไปแล้วไม่คุ้มค่าคนจะเลือกไม่ทำ เพราะทำไปแล้วก็ไม่คุ้ม ขาดทุน" ดังนั้นหากต้องการยับยั้งอาชญากรรมใดก็ตาม ต้องพยายามทำให้คนที่จะก่ออาชญากรรมนั้นเห็นว่ามันไม่คุ้มค่า ดังนั้นเราสามารถยับยั้งอาชญากรรมได้ โดยการทำให้ต้นทุนของการกระทำความผิดสูงขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น ทำผิดแล้วไม่คุ้ม ผู้กระทำจะเลือกไม่กระทำนนั่นเอง


ปัญหาต่อมาว่า เราจะเพิ่มต้นทุนผู้กระทำความผิดให้สูงขึ้นได้อย่างไร


การทำให้ต้นทุนในการกระทำความผิดสูงขึ้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพิ่มโทษให้สูงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการถูกจับกุม


อย่างนั้นแสดงว่าการเพิ่มโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นให้หนักขึ้นถึงขั้นประหารชีวิตแล้ว สามารถยับยั้งไม่ให้มีผู้กระทำความผิดฐานนี้ได้ ตรงนี้จริงหรือไม่ มาลองวิเคราะห์กันโทษประหารชีวิตไม่สามารถยับยั้งคนที่ไม่ได้คิดก่อนลงมือกระทำความผิด เช่น คนเมาสุรา เมายา คนโรคจิต คนเหล่านี้ไม่ได้คิดไตร่ตรองถึงโทษที่จะได้รับตามกฎหมายหากกระทำความผิด ดังนั้น แม้เราจะแก้โทษให้ถึงขั้นประหารชีวิต ก็ไม่อาจจะยับยั้งคนเหล่านี้ได้ แม้โทษจะสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพในการจับกุมดำเนินคดีต่ำ การเพิ่มโทษก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะหากผู้กระทำความผิดเห็นว่าหากตนกระทำความผิดไปโอกาสที่จะถูกจับกุมได้นั้นยาก แม้โทษตามกฎหมายจะสูง คนเหล่านี้ก็คิดจะทำอยู่ดี เช่น คนที่คิดว่าเขามีอิทธิตำรวจไม่สามารถทำอะไรเขาได้ แม้โทษจะสูง คนเหล่านี้ก็กระทำอยู่ดี


ดังนั้นจะเห็นว่าโทษที่หนักขึ้นสามารถยับยั้งได้เฉพาะกับคนที่คิดและไตร่ตรองก่อนเท่านั้นว่าคุ้มหรือไม่คุ้มกับผลที่จะได้รับ ซึ่งหากคนที่เขาคิดได้อย่างนั้นแม้โทษไม่ถึงกับประหารชีวิตเขาก็เลือกไม่ทำอยู่ดี ทีนี้หากเราแก้โทษให้ความผิดฐานข่มขืนมีโทษถึงประหารชีวิตจะมีผลอะไรตามมา


อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว โทษประหารชีวิตไม่อาจยับยั้งคนที่จะกระทำความผิดฐานนี้ได้ แถมยังส่งผลเสียต่อผู้เสียหายอีกด้วย เพราะเมื่อเหยื่อถูกข่มขืนแล้วคนที่กระทำความผิดจะได้สติกลับมา จะเริ่มกลัวความผิด เริ่มกลัวถูกดำเนินคดี ดังนั้นคนเหล่านี้จะพยายามทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้ตนเองถูกำเนินคดี เช่น การฆ่าเหยือปิดปาก


เหตุใดเหยื่อจึงจะถูกฆ่าตายหลังจากข่มขืนเสร็จ เพราะการฆ่าเหยื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิดมากกว่า มีประโยชน์มากกว่าอย่างไร หากโทษข่มขืนกระทำชำเราถึงขั้นประหารชีวิต การฆ่าเหยื่อตายโทษของการกระทำความผิดก็เท่าเดิมกับการข่มขืน คือ ประหารชีวิต แต่ที่เป็นประโยชน์ เพราะคดีนี้จะขาดพยานสำคัญในคดีเนื่องมาจากผู้เสียหายตายแล้ว ไม่มีคนไปเบิกความที่ศาล ซึ่งหากมองในมุมของผู้กระทำความผิดแล้ว การฆ่าเหยื่อให้ตายมีแต่ประโยชน์


การที่กฎหมายกำหนดช่วงระยะความหนักเบาของโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม มาตรา 276 วรรคแรก กับโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 276 วรรคท้าย โทษของสองฐานความผิดนี้ต้องมีระยะห่างกัน เพื่อให้ระยะห่างของโทษ เป็นตัวยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดฆ่าเหยือหลังจากการข่มขืน เช่น หากข่มขืนมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 20 ปี แต่ถ้าข่มขืนแล้วฆ่าจะมีโทษประหารชีวิต ความหนักเบาของโทษที่เพิ่มขึ้นหากฆ่าเหยื่อตาย จะเป็นตัวยับยั้งผู้กระทำความผิดให้พอแค่ข่มขืนเหยื่อเท่านั้น เพราะหากฆ่าเหยื่อโทษจะหนักขึ้นถึงขั้นประหารชีวิต และการฆ่าเหยือก็ไม่ใช่ความต้องการของผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว


ในประเด็นของการเพิ่มโทษนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การเพิ่มโทษการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม มาตรา 276 วรรคแรกให้มีโทษถึงประหารชีวิต ไม่สามารถยับยั้งคนที่จะกระทำความผิดฐานนี้ได้เลย ดังนั้นการเพิ่มโทษให้หนักขึ้นเพียงแต่ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ โทษที่หนักขึ้นผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นไปตามงวัตถุประสงค์ของการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนมากกว่า ผู้เขียนเห็นว่า การเพิ่มโทษไม่ได้ให้เหยือปลอดภัยจากการข่มขืนมากขึ้น แถมยังนำมาซึ่งผลร้ายของเหยือมากกว่าเดิมด้วย


ความผิดฐานนี้ส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิดมากกว่าคนอื่น เช่น แฟน เพื่อน คนรู้จัก มากกว่าจะเกิดจากคนแปลกหน้า เพราะคนใกล้ชิดมีโอกาสที่จะกระทำความผิดมากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นทางที่ดีการป้องกันตัวเองไมาให้ตกเป็นเหยื่อ เป็นวิธีการที่ดีที่สุด "นอนปิดประตูลงกลอน ใครก็เข้ามาทำอะไรเราไม่ได้


2. ปัญหาเกี่ยวกับการบัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276 วรรคแรก ให้เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ 



     1) ความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว หมายถึง คดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้ เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป
     2) ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ หรือความผิดอาญาแผ่นดิน หมายถึง คดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความ ได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนอื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ ขับรถประมาท เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้ แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีระงับ เจ้าพนักงานของรัฐก็สามารถดำเนิน คดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนแต่อย่างใด
     1. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพทางเพศ ที่จะไม่มีใครมาบังคับให้ใครกระทำชำเราใครได้ เป็นเรื่องของความยินยอม หากยินยอมไม่มีความผิด แต่หากฝืนใจกันเมื่อไหร่จะมีความผิดทันที เสรีภาพทางเพศจึงเป็นเรื่องของเอกชนแต่ละคน ไม่ใช่เรื่องของสังคมส่วนร่วม การละเมิดเสรีภาพของเอกชน จึงไม่กระทบต่อสังคมโดยรวม
     2. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้เสียหาย ดังนั้นควรให้ผู้เสียหายเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะประสงค์จะดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ เพราะผู้เสียหายบางคนอาจไม่ประสงค์จะดำเนินคดี เพราะกลัวเสียชื่อเสียงไม่อยากเป็นเรื่องราว เป็นข่าว กฎหมายจึงให้ ผู้เสียเป็นคนตัดสินใจ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่ควรจะเข้าไปตัดสินใจแทน แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเหตุว่า ไม่อาจเข้าใจถึงความต้องการของผู้เสียหายได้และเป็นเสรีภาพของผู้เสียหาย
     3. การที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ เปิดช่องให้ผู้เสียหายสามารถไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกับผู้กระทำความผิดได้ เพราะผู้กระทำความผิดฐานนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้เสียหาย เช่น เป็นสามีภรรยา เป็นแฟนหรือคนรัก เป็นเพื่อน เป็นคนในครอบครัว เป็นญาติกัน หากผู้เสียหายได้รับการเยียวยาหรือมีการไกล่เกลี่ยจนผู้เสียหายพอใจ ไม่ประสงค์จะดำเนินคดี ก็สามารถทำได้ แต่หากผู้เสียหายไม่ต้องการไกล่เกลี่ยหรือยอมความ ประสงค์จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยที่บุคคลอื่นๆ ไม่สามารถมาบังคับให้ยอมได้
    1. ผู้เสียหายต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรมทางอาญาในฐานะผู้เสียหาย ต้องมีการสอบปากคำ ตรวจร่างกาย เก็บพยานหลัก เป็นพยานในชั้่นศาล ตรงนี้ถ้าผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดี คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้เสียหายที่ไม่ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนยุติธรรม แต่ก็ต้องฝืนใจไปให้ปากคำ ไปให้ตรวจร่างกาย ไปเป็นพยานในชั้นศาล
     3. ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน ต้องดำเนินคดีอาญาอย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้เสียหายที่ประสงค์จะดำเนินคดีอยู่แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่สารถไกล่เกลี่ย ซึ่งสามารถป้องกัน เจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยไม่ชอบ เช่น พยายามไกล่เกลี่ยให้ผู่เสียหายยอมความเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
ผู้เขียนเห็นว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ควรให้ที่เขาเสียหายเป็นคนตัดสินใจ ว่าเขาประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่ หากเขาไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะถูกผู้เสียหายข่มขู่ หรือกลัวที่จะเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเพราะกลัวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรมจะไม่เก็บเป็นความลับ มีการทำข่าวให้เสียหาย




https://sites.google.com/view/chalermwut/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%99





No comments:

Post a Comment