Friday 8 July 2016

พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังในคดีอาญา







พยานหลักฐานเป็นสิ่งที่เรานำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง(ข้อกฎหมายไม่ต้องใช้พยานหลักฐาน) ที่โจทก์หรือจำเลยกล่าวอ้างเพื่อแสดงให้ศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่กล่าวอ้างนั้น หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า(ศาลรับฟังพยานหลักฐาน) ก็จะตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะคดี ตามมาตรฐานการพิสูจน์ของประเภทคดี เช่น ในคดีแพ่งหากพยานหลักฐานฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลก็จะตัดสินให้ชนะคดี แต่หากเป็นคดีอาญา โจทก์ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะชนะคดี หากศาลสงสัยศาลก็อาจจะยกประโยชน์ความสงสัยแก่จำเลยได้




พยานวัตถุ และพยานเอกสารที่ศาลจะรับฟังได้นั้นต้องเป็นพยานหลักฐานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ซึ่งหมายความว่า หากพยานวัตถุหรือพยานเอกสารนั้นแต่เดิมนั้น ไม่มีอยู่ แต่เพราะได้เกิดมีขึ้นมาเพราะการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นนั้นเอง เช่น แต่เดิมจำเลยไม่ได้จำหน่ายแผ่นซีดีปลอมและไม่มีเจตนาจะจำหน่าย แต่เพราะโจทก์ไปจูงใจให้จำเลยทำปลอมขึ้นมา จำเลยจึงทำแผ่นปลอมมาจำหน่ายให้โจทก์ โจทก์จึงนำแผ่นปลอมนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในคดีนี้ไม่ได้ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากการจูงใจ
พยานวัตถุและพยานเอกสารนั้นหากได้มาโดยการจับ การค้น ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การจับ การค้น โดยไม่หมายค้นหรือหมายจับที่ออกโดยศาลอย่างถูกต้อง หรือไม่ใช่กรณีที่จับหรือค้นโดยไม่มีเหตุที่ค้นหรือจับโดยไม่มีหมาย หากการค้นหรือการจับโดยไม่ชอบนั้นเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งพยานวัตถุหรือพยานเอกสาร ก็ไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ อ้างไปศาลก็ถูกห้ามมิให้รับฟัง แม้เป็นพยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยชอบ แต่เพราะการได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นไม่ชอบ กฎหมายจึงห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เช่น ตำรวจสืบทราบมาว่านายแดงเป็นผู้ค้ายาบ้ารายใหญ่ แต่ด้วยความรีบร้อนกลัวว่านายแดงจะรู้ตัวเสียก่อน จึงไม่ทันได้ไปขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านนายแดง แต่จากการค้นบ้านนายแดงตำรวจได้พบยาบ้าจำนวน 2 กระสอบ ยาบ้า 2 กระสอบที่เป็นพยานวัตถุนี้จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพียงใดหรือไม่
คำรับสารภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นพยานซึ่งแตกต่างจากพยานวัตถุและพยานเอกสาร เพราะเป็นถ้อยคำ(ภาษาอังกฤษเรียกว่า Intangible Evidence) หากว่าเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ(Voluntary) แล้ว ย่อมเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ คำรับสารภาพนั้นจะต้องเป็นคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ (ตามหลักMiranda Rule) จึงจะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ หากคำรับสารภาพนั้นเกิดขึ้นด้วยความไม่สมัครใจ (Involuntary) ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้นถ้าคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นจากความไม่สมัครใจ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีหลักการประการสำคัญอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่า "สิทธิจะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดี" หรือเรียกว่า เขามีสิทธิที่จะไม่ให้การปลักปรำตัวเอง ดังนั้นเมื่อเขามีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ เลยก็ย่อมทำได้ เป็นสิทธิของจำเลย การจะบังคับให้จำเลยให่้การย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยไม่สมัครใจ ถ้อยคำดังกล่าวก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ดังนั้นการที่จะให้จำเลยให้การซัดทอดจำเลยเองรวมถึงจำเลยคนอื่นด้วย ย่อมเป็นการขัดกับหลักการข้างต้น จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 "ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน" โดยมีหลักการดังข้างต้นที่ได้อธิบายไป ดังนั้นในคดีใดที่จำเลยถูกฟ้อง โจทก์จะอ้างจำเลยเป็นพยานฝ่ายโจทก์ไม่ได้
ปัญหาว่าพยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่ไม่ชอบนั้น เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบหรือไม่ โดยพิจารณาได้ดังนี้หากพยานวัตถุนั้นแต่เดิมนั้น ไม่มีอยู่ แต่เพราะได้เกิดมีขึ้นมาเพราะการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นนั้นเอง เช่นนี้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยมิชอบ แต่ตามข้อเท็จจริงการที่ทั้งทรัพย์ของกลางและมีดที่พกติดตัวไป เป็นพยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งสิทธิ เป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่จากการอันมิชอบแต่อย่างใด จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาโดยมิชอบ "เป็นผลไม้ของต้นไม้ที่มีพิษ" (Fruit of the Poisonous Tree)
ปัญหาต่อมา คือ พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยการกระทำที่ไม่ชอบนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ แต่เดิมนั้นเราก็ถือกันว่า พยานหลักฐานต้องเกิดขึ้นโดยชอบและได้มาโดยชอบด้วยจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ในหลายๆกรณีก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีพยานหลักฐานที่ชอบอยู่ แต่วิธีการได้มาไม่ชอบ ทำให้การปราบปรามอาชญากรรมไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดแนวคิดว่าเพื่อให้การปราบหรามอาชญากรรมมีประสิทธิภาพศาลอาจใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยไม่ชอบได้ เป็นเหตุผลของการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1(แก้ไขเมือ ปี พศ.51)


No comments:

Post a Comment