Tuesday 29 November 2016

การพิจารณาในชั้นฎีกา

การพิจารณาในชั้นฎีกา

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


            การพิจารณาคดีอาญาในชั้นของศาลฎีกานั้น เนื่องจากศาลฎีกาเป็นศาลสูงและมีเพียงศาลเดียว อีกทั้งยังถือเป็นศาลสูงสุด คดีที่ได้มีการต่อสู้กันมาทั้งในศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์จะถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกานี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่ศาลฎีกาไม่ให้มีปริมาณที่มากเกินไป และคดีที่ได้มีการตัดสินไปในทางเดียวกันทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ไม่ควรที่จะให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาอีก ซึ่งการพิจารณาคดีในชั้นฎีกามีหลักการดังต่อไปนี้

การยื่นฎีกา ม.223

มาตรา 223 ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14756/2558 การพิจารณาว่าจะสั่งรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 223 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาของจำเลยให้ศาลฎีกาสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยไปเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2534 คดีอาญา การขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาตามป.วิ.อ. มาตรา 223 ดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคแรก มิใช่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคแรก.

การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ม.224

มาตรา 224 เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา ผู้ฎีกาอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลฎีกาได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้านับแต่วันฟังคำสั่ง แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมด้วยฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องเรื่องนั้น ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13649/2557 ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา เพื่อขอให้ส่งฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกา ศาลชั้นต้นยังไม่อ่านคำสั่งของศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ เท่ากับศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีจึงถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จะให้ยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะวินิจฉัยต่อไป ให้จำหน่ายคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11903/2554 โจทก์ยื่นคำร้องว่าเดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรวม 7 คน รับรองให้โจทก์ฎีกา แต่ผู้พิพากษา 2 คน ไม่รับรองให้ฎีกา จึงเหลือผู้พิพากษาอีก 5 คน ที่ยังไม่ได้พิจารณารับรอง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิรับรองฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาอีก 5 คน พิจารณารับรองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

สิทธิในการฎีกา

มาตรา 216 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 217 ถึง 221 คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง
คู่ความฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ถูกจำกัดสิทธิในการฎีกา

ข้อห้ามในการฎีกา

มาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

กรณีที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นไปในทางเดียวกัน ดังนั้นเมื่อศาลเห็นพ้องกันแล้วคดีควรยุติเพียงชั้นอุทธรณ์เท่านั้น ซึ่งกรณีดังต่อไปนี้ถือว่าศาลแก้ไขเพียงเล็กน้อย ศาลอุทธรณ์แก้แต่บทมาตราความผิด แต่ไม่แก้โทษ หรือกรณีศาลอุทธรณ์แก้แต่โทษ ไม่แก้บทมาตรา หรือแก้จากการกระทำความผิดกรรมเดียว หรือหลายกรรม แก้เรื่องริบทรัพย์ หรือเป็นการแก้เรื่องการขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์

แต่กรณีดังต่อไปนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก เช่น ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยแก้ทั้งบทและโทษ ศาลอุทธรณ์แก้เรื่องรอการลงโทษจากรอเป็นไม่รอ หรือจากไม่รอเป็นรอ เป็นต้น ในคดีที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นหากเป็นแก้ไขมากนั้นย่อมไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผลว่า ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์เห็นไม่ตรงกัน ควรที่จะให้ศาลฎีกาชี้ขาดคดีดังกล่าวต่อไป แต่ทั้งนี้ใช่ว่าทุกคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากแล้วคู่ความจะฎีกาได้เสมอ ต้องพิจารณาตาม มาตรา 219 ด้วย

            กรณีตามมาตรา 218 วรรคแรกนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง เพราะศาลอุทธรณ์นั้นเห็นพ้องกันกับศาลชั้นต้นโดยพิพากษายืนหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ดังนั้น ควรจะยุติคดีไว้เพียงแค่ชั้นอุทธรณ์เท่านั้น ไม่ต้องไปสู้กันอีกในชั้นฎีกา อีกทั้งคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 นี้ต้องเป็นคดีที่ศาลให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หากคดีนั้นเป็นคดีที่ศาลให้ลงโทษหนักกว่านี้ ก็ไม่ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง สมควรที่จะให้คู่ความมีโอกาสต่อสู้คดีถึงชั้นฎีกา

            ส่วนกรณีตามมาตรา 218 วรรคสอง เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายื่นหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และคดีนั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้ามปี กฎหมายห้ามไม่ให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ทั้งนี้ไม่ห้ามจำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผลว่า แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อุทธรณ์จะเห็นพ้องกันโดยพิพากษายืนหรือแก้ไขเล็กน้อย แต่เป็นคดีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกค่อนข้างหนัก คือ เกินห้าปีขึ้นไป ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีของเขาได้จนถึงชั้นฎีกา


          ฎีกา 1448/2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218

         ฎีกา 1303/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้
การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

       ฎีกา 4121/2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 700,000 บาท เป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทและโทษ จึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง


ข้อห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

มาตรา 219 ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

คดีที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นได้ตัดสินไปในทางเดียวกัน โดยพิพากษาให้ลงโทษจำเลยเช่นเดียวกัน ควรจะยุติเพียงชั้นอุทธรณ์เท่านั้น โดยเฉพาะคดีที่จำเลยถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี และศาลอุทธรณ์ก็ยังคงลงโทษไม่เกินสองปีเช่นเดียวกัน เพราะคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีโทษน้อย ควรจะต่อสู้กันเพียงสองศาลเท่านั้น หากปล่อยให้ต่อสู้คดีได้จนถึงชั้นฎีกา คู่ความอาจจะต่อสู้คดีเพื่อประวิงคดี หรือเพื่อซื้อเวลาในการถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ทั้งในในตอนท้ายของมาตรา 219 บัญญัติไว้ว่า แต่ข้อห้ามนี้ไม่ให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

        ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก เช่น ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยแก้ทั้งบทและโทษ ศาลอุทธรณ์แก้เรื่องรอการลงโทษจากรอเป็นไม่รอ หรือจากไม่รอเป็นรอ แต่ทั้งนี้การแก้ไขที่จะทำให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีนั้น จะต้องปรากฏว่าการแก้ไขคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย เช่น แก้จากรอลงอาญาเป็นไม่รอลงอาญา ถือว่าเป็นโทษต่อจำเลย

มาตรา 219 คำนึกถึงโทษที่ศาลชั้นต้นลงโทษแก่จำเลยไว้ต้องไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน  40,000 บาท และศาลอุทธรณ์ก็ลงไม่เกินกว่านี้

     ฎีกา 12082/2557  เมื่อตามฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์รวมกันมาเป็นกรรมเดียว และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าวทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี ส่วนความผิดฐานบุกรุกให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษในฐานความผิดตามฟ้องจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินกำหนดดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 แม้โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คำร้องดังกล่าวระบุขอให้รับรองให้ฎีกาเฉพาะคำขอส่วนแพ่ง และผู้พิพากษามีคำสั่งว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ จึงเป็นการที่ผู้พิพากษาให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสถานหนัก เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

       ฎีกา 1501/2555 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัม เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง แต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมากแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

       คำพิพากษาฎีกา 7603/2551 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ จำคุก 15 วัน และริบอาวุธปืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับในความผิดแต่ละฐานกระทงละ 500 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุกและไม่ริบอาวุธปืนของกลาง แม้กรณีเป็นการแก้ไขมาก โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

       ฎีกา 4672/2549 กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219

       คำพิพากษาฎีกาที่ 2695/2548 ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับสถานเดียว 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกสถานเดียวมีกำหนด 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219


ข้อห้ามในการฎีกากรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์








กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน


Saturday 19 November 2016

แก้มาก แก้น้อย ปัญหาในการฎีกา

ฎีกา 1448/2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218

ฎีกา 12082/2557 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วร่วมกันตัดต้นแสมของผู้เสียหาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 83, 358, 362, 365 แม้ในคำฟ้องจะไม่ได้บรรยายมาด้วยว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขก็ตาม แต่ในคำฟ้องระบุว่ามีการเข้าไปตัดฟันต้นแสม ย่อมมีความหมายบ่งชี้ชัดอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
เมื่อตามฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์รวมกันมาเป็นกรรมเดียว และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าวทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี ส่วนความผิดฐานบุกรุกให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษในฐานความผิดตามฟ้องจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินกำหนดดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 แม้โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คำร้องดังกล่าวระบุขอให้รับรองให้ฎีกาเฉพาะคำขอส่วนแพ่ง และผู้พิพากษามีคำสั่งว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ จึงเป็นการที่ผู้พิพากษาให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสถานหนัก เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ฎีกา 1303/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้
การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ฎีกา 4121/2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 700,000 บาท เป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทและโทษ จึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 ร่วมอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 2 ในการรับเงินค่าเมทเอมเฟตามีนภายหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งมอบเมทแอมฟาตามีนบางส่วนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปลอมตัวไปล่อซื้อถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำในระหว่างจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยที่ 3 จึงกระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดไม่

ฎีกา 1501/2555 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัม เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง แต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมากแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
การที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ฎีกา 8688/2555 คดีนี้ สำหรับความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน ฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า ความผิดทั้งสามฐานเป็นกรรมเดียวและมีระวางโทษเท่ากัน ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกระทงเดียวและปรับ 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกา 8390/2554 ข้อหาพาอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และ ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ปรับ 50 บาท จึงเป็นกรณีแก้ไขมาก แต่ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

ฎีกา 5455/2553 กรณีที่จะถือเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (2) (7) วรรค 2 โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษประกอบมาตรา 336 ทวิ ด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรกและวรรคสอง ไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปีเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งวรรคแรกระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี ส่วนวรรคสองระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามไม่ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

7603/2551 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ จำคุก 15 วัน และริบอาวุธปืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับในความผิดแต่ละฐานกระทงละ 500 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุกและไม่ริบอาวุธปืนของกลาง แม้กรณีเป็นการแก้ไขมาก โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกา 4672/2549 กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219

ฎีกา 2695/2548 ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับสถานเดียว 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกสถานเดียวมีกำหนด 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

ฎีกา 210/2547 จำเลยปลอมหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษและใช้หนังสือเดินทางปลอมอ้างแสดงเป็นหลักฐานต่อธนาคาร ก. ในการเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ชื่อเจ้าของบัญชี นายแนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) เพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าหากโอนเงินเข้าฝากในบัญชีที่เปิดไว้นี้ จะได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่จำเลยเปิดไว้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็เพื่อเจตนาเพียงประการเดียวก็คือเพื่อฉ้อโกงเงินจากผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ยังลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

Friday 4 November 2016

โครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law)



โครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law)

          ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law system) เป็นระบบกฎหมายที่ใช้กันในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป อาทิ เช่น ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งมีพื้นฐานทางกฎหมายมาจากกฎหมายในยุคอาณาจักรโรมันที่มีอิทธิพลในยุโรป หลังอาณาจักรโรมันล่มสลาย กฎหมายของโรมันก็ถูกนำมาใช้ในประเทศต่าง ๆ ที่แยกเป็นอิสระ โดยการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นของตนเอง ซึ่งเรียกกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายนี้ว่า กลุ่มประเทศระบบกฎหมายแบบ ซิวิลลอว์
          แนวความคิดของสำนักกฎหมายอาญาแบบซิวิลลอว์ เห็นว่ากฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการลงโทษการกระทาผิดของบุคคลในสังคม จึงต้องพิจารณาถึงตัวผู้กระทาและการกระทาของบุคคลนั้นว่าเป็นการกระทำความผิดและสมควรถูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งลำดับหรือโครงสร้างในการพิจารณาความรับผิดทางอาญาของกฎหมายอาญาซิวิลลอว์ ต้องพิจารณาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

          1. พิจารณาว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบตามองค์ประกอบของความผิดของความผิดฐานนั้นหรือไม่

          2. พิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นความผิดกฎหมาย (Rechtswidrigkeit)

          3. พิจารณาถึงความรู้ผิดชอบชั่วดี (Schuld) ของผู้กระทำว่าสมควรที่จะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่