Saturday 19 November 2016

แก้มาก แก้น้อย ปัญหาในการฎีกา

ฎีกา 1448/2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218

ฎีกา 12082/2557 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วร่วมกันตัดต้นแสมของผู้เสียหาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 83, 358, 362, 365 แม้ในคำฟ้องจะไม่ได้บรรยายมาด้วยว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขก็ตาม แต่ในคำฟ้องระบุว่ามีการเข้าไปตัดฟันต้นแสม ย่อมมีความหมายบ่งชี้ชัดอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
เมื่อตามฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์รวมกันมาเป็นกรรมเดียว และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าวทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี ส่วนความผิดฐานบุกรุกให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษในฐานความผิดตามฟ้องจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินกำหนดดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 แม้โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คำร้องดังกล่าวระบุขอให้รับรองให้ฎีกาเฉพาะคำขอส่วนแพ่ง และผู้พิพากษามีคำสั่งว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ จึงเป็นการที่ผู้พิพากษาให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสถานหนัก เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ฎีกา 1303/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้
การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ฎีกา 4121/2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 700,000 บาท เป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทและโทษ จึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 ร่วมอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 2 ในการรับเงินค่าเมทเอมเฟตามีนภายหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งมอบเมทแอมฟาตามีนบางส่วนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปลอมตัวไปล่อซื้อถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำในระหว่างจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยที่ 3 จึงกระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดไม่

ฎีกา 1501/2555 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัม เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง แต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมากแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
การที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ฎีกา 8688/2555 คดีนี้ สำหรับความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน ฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า ความผิดทั้งสามฐานเป็นกรรมเดียวและมีระวางโทษเท่ากัน ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกระทงเดียวและปรับ 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกา 8390/2554 ข้อหาพาอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และ ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ปรับ 50 บาท จึงเป็นกรณีแก้ไขมาก แต่ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

ฎีกา 5455/2553 กรณีที่จะถือเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (2) (7) วรรค 2 โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษประกอบมาตรา 336 ทวิ ด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรกและวรรคสอง ไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปีเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งวรรคแรกระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี ส่วนวรรคสองระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามไม่ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

7603/2551 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ จำคุก 15 วัน และริบอาวุธปืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับในความผิดแต่ละฐานกระทงละ 500 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุกและไม่ริบอาวุธปืนของกลาง แม้กรณีเป็นการแก้ไขมาก โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกา 4672/2549 กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219

ฎีกา 2695/2548 ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับสถานเดียว 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกสถานเดียวมีกำหนด 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

ฎีกา 210/2547 จำเลยปลอมหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษและใช้หนังสือเดินทางปลอมอ้างแสดงเป็นหลักฐานต่อธนาคาร ก. ในการเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ชื่อเจ้าของบัญชี นายแนท เวสต์แบงค์ (NAT WESTBANK) เพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าหากโอนเงินเข้าฝากในบัญชีที่เปิดไว้นี้ จะได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่จำเลยเปิดไว้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็เพื่อเจตนาเพียงประการเดียวก็คือเพื่อฉ้อโกงเงินจากผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ยังลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

No comments:

Post a Comment