Saturday 17 December 2016

บทที่ 5 คดีอาญาระงับ



1. สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
      ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
     (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
     (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
     (3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37
     (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
     (5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิด เช่นนั้น
     (6) เมื่อคดีขาดอายุความ
     (7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

คดีอาญาระงับหมายถึง หากมีเหตุตั้งแต่ (1)-(7) เกิดขึ้น จะมีผลทำให้คดีอาญานั้นระงับไปโดยผลของมาตรานี้ทันที ไม่ว่าคดีอาญานั้นจะอยู่ในชั้นไหน เช่น ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ฎีกา แม้ไม่มีคู่ความใดหยิบยกเรื่องคดีอาญาระงับขึ้นมา ศาลก็ยกขึ้นพิจารณาเองได้ เพราะมาตรา 39 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คดีอาญาจะระงับไปด้วยเหตุตามมาตรา 39 นี้เท่านั้นหากเป็นกรณีอย่างอื่นเช่น ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง สิทธินำคดีอาญาไม่ระงับไป(เพราะไม่ใช่กรณีตามมาตรา 39 ฟ้องใหม่ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ)

2. เงื่อนไขแต่ละข้อ(ขอพูดถึงเงื่อนไขที่สำคัญๆ ที่น่าจะเป็นประเด็นให้ออกข้อสอบได้)

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

          คดีความผิดต่อส่วนตัว คือ คดีที่ประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอาญาอื่น บัญญัติไว้ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งส่วนใหญ่คดีอาญาคามผิดต่อส่วนตัว จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของเอกชน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมมาก เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง เป็นต้น
            หากคดีใดเป็นคดีมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว (อาญาแผ่นดิน) การถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความของผู้เสียหายหามีผลต่อการดำเนินคดีอาญาของพนักงานัยการไม่ เพราะพนักงานอัยการไม่ได้ดำเนินคดีอาญานั้นเพื่อผู้เสียหาย แต่เป็นการกระทำเพื่อส่วนร่วม (ความปลอดภัยและผ่าสุขของประชาชนในรัฐ)
           การถอนคำร้องทุกข์ การถอนฟ้อง หรือยอมความกัน
จะต้องทำโดยถูกต้องตามกฎหมายด้วย หากทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวนั้นก็ไม่ระงับไป

          การถอนคำร้องทุกข์โดยชอบที่ทำให้คดีอาญาระงับไปพิจารณาดังต่อไปนี้
          1) ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว
          2) ถอนคำร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย (ทั้งผู้เสียหายที่แท้จริง หรือผู้มีอำนาจจัดการแทน) แต่ถ้าหากปรากฏว่าผู้เสียหายตาย ก่อนที่จะถอนคำร้องทุกข์ หากคดีนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน สิทธิดังกล่าวตกทอดสู่ทายาทด้วย
          3) ถอนคำร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาลก็ได้ (แม้คดีนั้นอยู่ในชั้นศาลก็ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่เคยร้องทุกข์ไว้ก็ได้)
         4) ต้องถอนคำร้องทุกข์โดยมีเจตนาไม่ให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ (ฎีกา 1962/2506 การถอนคำร้องทุกข์ที่จะทำให้คดีระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) นั้น เป็นเรื่องเจตนาถอนเพื่อยกเลิกไม่เอาความแก่จำเลยต่อไป แต่การถอนคำร้องทุกข์โดยเหตุที่ผู้เสียหายได้นำคดีมาฟ้องศาลเสียเอง หาทำให้คดีระงับไปไม่คงระงับไปแต่เฉพาะเรื่องการร้องทุกข์ซึ่งศาลย่อมดำเนินคดีเสมือนว่าผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาล โดยไม่มีการร้องทุกข์มาก่อนเท่านั้นเอง) และหากการถอนคำร้องทุกข์มีเงื่อนไข เช่น กำหนดให้จำเลยต้องชำระหนี้เป็นงวดๆเสียก่อน จึงจะถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่การถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันที่ทำให้คดีอาญาระงับ
        5) ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้ (ฎีกา 1374/2509 คดีความผิดต่อส่วนตัว ก่อนคดีถึงที่สุด ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ได้และสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) คำพิพากษาศาลล่างก็ย่อมระงับไปในตัวไม่มีผลบังคับต่อไป ไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างที่ลงโทษจำเลยไว้) จะเห็นว่าแม้คดีอยู่ในศาลสูงแล้วผู้เสียหายก็ยังถอนฟ้องคำร้องทุกข์ได้ และทำให้คดีอาญาระงับลง

(3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37

          คือกรณีมีการเปรียบเทียบปรับตามหลักเกณฑ์และวิธีการของมาตรา 37 (เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร(ตำรวจ) ในการลงโทษผู้กระทำผิดโดยการปรับ ซึ่งโดยหลักแล้ว การจะลงโทษผู้กระทำผิดได้ต้องเป็นองค์กรตุลาการเท่านั้น แต่ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารลงโทษได้เพราะเห็นว่า เป็นโทษสถานเบาเพียงแค่ปรับ และการดำเนินคดีไปจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี (ต้นทุนในการดำเนินคดี) และจำทำให้คดีอาญาต้องเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก
         "มาตรา 37 คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
         (1) ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา
         (2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มี อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดี อื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่ง มีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบ เทียบแล้ว
         (3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มี อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือ คดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ต้องหา ชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผู้ทำการในตำแหน่งนั้น ๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว
         (4) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบ เทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว"

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2550 การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและชำระค่าปรับแล้ว มีผลเพียงทำให้คดีอาญาดังกล่าวเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 เท่านั้น การเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่คดีในส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถือเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทมาชี้ขาดตัดสินคดีนี้เป็นการไม่ชอบ

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549 โจทก์ทั้งสองเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน แต่โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2) เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่า จ่าสิบตำรวจ ป. ทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจ่าสิบตำรวจ ป. ได้กระทำความผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษเช่นนี้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไปการที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกาย อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2541 โจทก์แจ้งความกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวน ทำการเปรียบเทียบปรับ โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยินยอม คดีย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37(2) สิทธินำคดีอาญาในความผิดลหุโทษของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์เกิดอาการมึนศีรษะ และอาเจียนจึงกลับไปให้แพทย์ตรวจใหม่ พบว่าสมองได้รับการ กระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งต้องรักษานานประมาณ 30 วัน โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผลเกิดจากถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แท่งเหล็กกลวงตี หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คดีก็ไม่ อาจเลิกกันได้เพราะกรณีมิใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2538 การที่จำเลยที่1ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญาว่าตนขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์คันที่ ว. ขับและยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับมีผลเพียงทำให้คดีอาญาเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา37แต่การเปรียบเทียบปรับดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่ต้องด้วยมาตรา46ที่คดีในส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามการที่ศาลถือเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมาชี้ขาดตัดสินคดีแพ่งจึงไม่ชอบ

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

         เมื่อจำเลยได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า ศาลได้ตัดสินแล้วว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่และคดีได้ถึงที่สุดแล้ว เช่น ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา ห้ามไม่ให้มีการฟ้องจำเลยคนนั้นอีกหากนำคดีที่ได้เสร็จเด็ดขาด(คดีเก่า) มาฟ้องจำเลยคนเดิมในข้อหาเดิมห้องใหม่เป็น "ฟ้องซ้ำ" ในคดีอาญา ซึ่งหลักการฟ้องซ้ำนี้มาจากหลัก “Non bis in idem”

หลักเกณฑ์ของฟ้องซ้ำในคดีอาญา
       1. จำเลยมรคดีแรกและคดีที่ฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน
       2.การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
       3.ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วในความผิดที่ได้ฟ้อง


       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2553 ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน จำเลยเสนอ จำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าเสื้อยี่ห้อลาคอสท์ที่เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำในเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลา สถานที่ และกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 ก่อนคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2553 พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยขับรถในขณะเมาสุรา จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม (เดิม) กับการที่จำเลยซึ่งมีอาการมึนเมาสุราขับรถในลักษณะส่ายไปมาบนท้องถนนและขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนมาเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่มีผู้เสียหายที่ 1 ขับ และมีผู้เสียหายที่ 2 นั่งไปด้วยได้รับความเสียหาย และผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่หลายกรรมต่างกันไม่ เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราแล้วสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยในการกระทำเดียวกันนั้นเป็นคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2552 ในคดีแรกศาลฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่าเหตุกระทำผิดฐานรับของโจรเกิดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน แต่คดีนี้คำฟ้องในข้อหารับของโจรระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับการที่จำเลยรับของโจรในคดีแรก แม้ ธ. จับจำเลยและยึดของกลางทั้งสองสำนวนไว้ในคราวเดียวกัน และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีนั้นไว้มาคราวเดียวกันหรือรับมาเมื่อใด แต่ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับของโจรคดีนี้ไว้ในวันเดียวกันและในคราวเดียวกันกับการรับของโจรในคดีแรก การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีแรก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2552 โจทก์คดีนี้กับโจทก์คดีก่อนของศาลชั้นต้น ต่างเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ม. และต่างฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดอันเดียวกัน ซึ่งคดีก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) แม้ว่าโจทก์คดีนี้จะเป็นคนละคนกับโจทก์คดีก่อนและฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนก็ตาม มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็นว่าจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีในการกระทำความผิดอันเดียวกันซ้ำสองอีก

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6602/2551 ความผิดฐานรับของโจร จำเลยที่ 2 กระทำความผิดโดยรับไว้โดยประการใด ๆ และครอบครองใช้รถยนต์ ส่วนความผิดฐานใช้เอกสารราชการแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีปลอมนั้น จำเลยที่ 2 กระทำความผิดโดยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีปลอมมาติดกับรถยนต์คันดังกล่าวแสดงต่อบุคคลทั่วไปที่พบเห็น การกระทำความผิดทั้งสองฐานความผิดนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะได้กระทำต่อรถยนต์คันเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการรับของโจรและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีอันเป็นเอกสารราชการปลอม ก็เป็นคนละอย่างต่างกันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรและฐานใช้เอกสารราชการปลอมจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน มิใช่ความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
       แม้คดีนี้กับคดีก่อนทั้งสองคดีนั้น โจทก์ จำเลยที่ 2 จะเป็นคู่ความรายเดียวกันและคดีทั้งสองนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วก่อนฟ้องคดีนี้ แต่คดีก่อนทั้งสองและคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องทั้งสามสำนวนว่า มีคนร้ายลักรถยนต์ต่างวันเวลาและต่างสถานที่กัน แม้รถยนต์ แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีจะยึดได้ในคราวจับกุมจำเลยที่ 2 คราวเดียวกันหรือวันเดียวกันก็ตาม แต่วันเวลาที่จำเลยที่ 2 รับของโจรเป็นคนละวันกันและรถยนต์ที่รับของโจรเป็นคนละคันกัน แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีก็เป็นคนละแผ่นกันและใช้กับรถยนต์คนละคันกัน แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีก็เป็นคนละแผ่นกันและใช้กับรถยนต์คนละคันกัน การกระทำความผิดในคดีก่อนทั้งสองกับการกระทำความผิดในคดีนี้จึงเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากกันและต่างวาระกัน แม้การกระทำความผิดจะเป็นความผิดฐานเดียวกันกับความผิดในคดีนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องไปแล้วในคดีก่อนทั้งสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีก่อนทั้งสองดังกล่าว

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2550 แม้จำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายคดีนี้กับผู้เสียหายอื่นในคดีก่อนในวันเดียวกันใช้วิธีการอย่างเดียวกัน และสถานที่เกิดเหตุเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายต่างรายกันและเรียกค่าไถ่ทรัพย์สินจากผู้เสียหายแต่ละรายมากน้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินของผู้เสียหายแต่ละคนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาแยกการกระทำของตนเป็นหลายกรรมต่างกัน ถือว่าจำเลยกระทำการหลายกรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยคดีนี้จึงเป็นคนละกรรมต่างกันกับการกระทำของจำเลยในคดีก่อนของศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 618/2550 ข้อเท็จจริงที่ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองถูกจับในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรคดีนี้แล้วจำเลยทั้งสองยังได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดรถยนต์อีกจำนวน 3 คัน ซึ่งถูกคนร้ายลักเอาไป มิได้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองรับของโจรรถยนต์ทั้งสี่คันในคราวเดียวกัน อันจะถือได้ว่าเป็นความผิดกรรมเดียว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับ

      เรื่องฟ้องซ้ำในคดีอาญานั้น หากผู้เสียหายฉ้อฉล โดยการฟ้องคดีแล้วแกล้วทำให้แพ้คดี เพื่อช่วยเหลือจำเลย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมาอัยการฟ้องจำเลยต่อศาล ก่อนนั้นศาลเคยตัดสินว่า เป็นฟ้องซ้ำ แต่ศาลได้กลับหลักโดยเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการที่ผู้เสียหายแกล้งฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือจำเลย ไม่มีเจตนาให้จำเลยถูกลงโทษจริงๆ เมื่ออัยการฟ้องใหม่ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ








กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

บทที่ 4 อำนาจฟ้องคดีอาญา

          ซึ่งแต่เดิมก่อนที่จะมีการสถาปนารัฐขึ้นมานั้น เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในสังคม สังคมก็ปล่อยให้มีการแก้แค้นทดแทนกัน แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เป็นเรื่องของเอกชนต้องจัดการเอาเอง ต่อมาเมื่อมีการสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมา การแก้แค้นทดแทนกันไม่สามารถทำได้ เพราะจะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายไม่สงบสุข รัฐจึงเข้ามาปราบปรามการกระทำความผิดด้วยตนเอง มีการจับกุมดำเนินคดี มีการพิจารณาคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้นมา เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เป็นต้น แต่การที่จะปล่อยให้การดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องของรัฐทั้งหมด ในบางรัฐก็เกิดแนวความคิดว่า การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหรือตำรวจเท่านั้น ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงมีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาที่เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่ใช่เอกชนผู้เสียหายเลยก็ตาม  ซึ่งแต่ละหลักมีรายละเอียดดังนี้





จากมาตรา 28 จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้มี 2 ประเภท คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหายเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีหลักการดำเนินคดีตามหลักการการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ (State Prosecution) และการดำเนินคดีอาญาโดยเอกชนผู้เสียหาย (Private Prosecution) โดยที่ไม่มีการจำกัดประเภทคดีที่ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีอาญาทุกคดีที่ตนเป็นผู้เสียหาย แต่การดำเนินคดีอาญาโดยหลักแล้วเป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล ที่พนักงานอัยการมีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมยุติการกระทำที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคดีได้ ตาม มาตรา 32 เมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าผู้เสียหายจะกระทำให้คดีของอัยการเสียหายโดยกระทำหรือละเว้นกระทำการใด ๆ ในกระบวนพิจารณา พนักงานอัยการมีอำนาจร้องต่อศาลให้สั่งผู้เสียหายกระทำหรือละเว้นกระทำการนั้น ๆ ได้


มาตรา 31 กรณีที่พนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมผู้เสียหาย หมายความว่า ผู้เสียหายได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลไว้ ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย ซึ่งมีปัญหาว่า พนักงานอัยการสามารถขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมทุกคดีหรือไม่ สำหรับในประเด็นนี้ หากคดีที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน (ยอมความไม่ได้) พนักงานอัยการก็สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์มาก่อน ส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัว (ยอมความได้) ต้องปรากฏว่าผู้เสียหายได้เคยร้องทุกข์ไว้แล้ว เพราะหากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ อัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อไม่มีอำนาจฟ้องก็ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้
คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ หมายถึง คดีอาญาที่มีการสอบสวนแล้วเมื่อถึงชั้นฟ้องคดีของพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้ เมื่อพนักงานอัยการเห็นว่า ไม่ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหามาตรา 34 บอกว่าไม่ตัดสิทธิฟ้องคดีเองของผู้เสียหาย หมายความว่าผู้เสียหายจะไปยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองได้อยู่เสมอ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องของอัยการเลย ซึ่งมาตรา 34 เปรียบเสมือนการบัญญัติรับรองสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญา และการที่ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาได้อยู่แม้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นการตรวจสอบการสั่งคดีของพนักงานอัยการอีกด้วย เพราะที่ผ่านมาในอดีตมีหลายกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้วผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเอง ซึ่งต่อมาศาลก็รับฟ้องและลงโทษจำเลย[1]



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7241/2544 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในครั้งแรก ก็แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการเสมือนโจทก์ร่วมฟ้องเองการที่โจทก์ร่วมขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยระบุว่ามีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับความเห็นของโจทก์ หากโจทก์ร่วมดำเนินคดีนี้ต่อไปอีกอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีของโจทก์การขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมจะไปดำเนินการอะไรอีก ถือได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมเสร็จเด็ดขาดนั่นเอง เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์ร่วมจะไปขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในครั้งหลังจึงไม่ชอบ และเมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้แล้ว โจทก์ร่วมจึงมิได้เป็นโจทก์ของคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีนี้ได้






[1] ย้อนรอยคดีดังฆ่าหั่นศพ"แพทย์หญิงผัสพร"หลัง"หมอวิสุทธิ์"พ้นเรือนจำบางขวาง
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407154209




กฎหมายอาญาสำหรับตำรวจ
chaloemwut sarakit
www.mebmarket.com
เหมาะสำหรับคนที่จะสอบตำรวจ ทั้งนายสิบตำรวจและนายตำรวจสัญญาบัตร และประชาชนทั่วไปที่สนใจกฎหมายอาญา