Friday 13 October 2017

เจตนาเล็งเห็นผลกับเจตนาโดยพลาด

เจตนาเล็งเห็นผลกับเจตนาโดยพลาด

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

           เจตนา (intention) ตามกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เจตนาตามความเป็นจริงและเจตนาโดยผลของกฎหมาย

          เจตนาตามความเป็นจริง คือ เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง มี 2 ประเภท คือ เจตนาประสงค์ต่อผล และเจตนาเล็งเห็นผล

         เจตนาประสงค์ต่อผล เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจตนาโดยตรง (direct intention) ส่วนเจตนาเล็งเห็นผลเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจตนาโดยอ้อม (indirect intention) 

         ส่วนเจตนาโดยผลของกฎหมาย คือ กรณีที่ผู้กระทำเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำไปเกิดขึ้นกับบุคคลอืกคนหนึ่งโดยพลาดไป ที่ว่าพลาดไป หมายถึง เจตนากระทำต่อบุคคลแรก ซึ่งผลอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นกับคนแรก แต่ผลของการกระทำนั้นไปเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลร้ายนั่นเอง

          เมื่อผลไปเกิดขึ้นกับบุคคลที่ไม่ได้เจตนาจะกระทำ จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า กรณีอย่างนี้จะถือว่ามีเจตนาต่อผู้ได้รับผลร้ายนั้นหรือไม่

          จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดหลักในเรื่องของเจตนาโอน (transfer intention) หมายถึง เจตนาที่มีต่อผู้ถูกกระทำคนแรกนั้น โอนไปยังบุคคลที่ได้รับผลร้ายด้วย ผู้กระทำจะอ้างว่าไม่มีเจตนาไม่ได้ เพราะเจตนามันโอนมา

          จากหลักการดังกล่าวเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายให้ถือว่าผู้กระทำมีเจตนา เพื่อป้องกันการถกเถียงกันว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่ 

          มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น...

ข้อสังเกต 

           ผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ต้องพิจารณาว่า เป็นเจตนาประเภทเล็งเห็นผลหรือเป็นเรื่องพลาด เช่น นายแดงใช้ปืนลูกซองยิงไปยังนายดำ กระสุนปืนถูกนายดำ และยังกระจายไปถูกนายขาวที่นั่งใกล้ ๆ นายดำอีกด้วย กรณีเช่นนี้ นายแดงมีเจตนาเล็งเห็นผลต่อนายขาว ไม่ใช่เรื่องพลาด ตาม ม.60 

          แต่หากข้อเท็จจริงปรากฎว่า นายขาวนั้นนั่งอยู่โตีะอื่นซึ่งห่างไปอีกสิบเมตร กรณี้เช่นนี้ไม่ใช่เจตนาเล็งเห็นผล แต่เป็นพลาด ตาม ม.60

          คำพิพากษา  3161/2559 ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ว่า คนร้ายขว้างขวดมาที่โต๊ะผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ขวดไปกระทบกับโต๊ะ เป็นเหตุให้ขวดแตก น้ำมันที่อยู่ในขวดกระเด็นมาถูกผู้เสียหายที่ 2 และมีไฟลุกขึ้น เห็นได้ว่า ขณะที่จำเลยขว้างขวดบรรจุน้ำมันที่มีไฟติดอยู่ไปที่โต๊ะของผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 2 นั่งอยู่ใกล้กับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าน้ำมันที่ติดไฟจะกระเด็นไปถูกผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่ใกล้กับผู้เสียหายที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผลตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง หาใช่เป็นการกระทำโดยพลาดตามมาตรา 60 ไม่ พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8)



เนื้อหาบางส่วนนำมาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป สามารถซื้อได้ตามลิ้งด้านล่างครับ






กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา






No comments:

Post a Comment