ความผิดฐานลักทรัพย์
ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการกระทำที่มุ่งต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น และการครอบครอง ซึ่งหากทรัพย์นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือไม่ได้อยู่ในความครอบครองของผู้ใด แม้จะมีการเอาไปก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์นั้นเป็นความผิดที่เป็นพื้นฐานของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ โดยเพิ่มองค์ประกอบความผิดขึ้น และมีผลทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตามความผิดนั้น ๆ
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท”
โดยพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ คือ การที่บุคคลเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โดยเจตนาเอาไปหรือเจตนาลักทรัพย์ และมีมูลเหตุชักจูงใจคือ โดยทุจริต ซึ่งแยกพิจารณาองค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบได้ดังนี้
1) เอาไป หมายความว่า มีการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้อื่น โดยศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า “จำเลยเข้าไปในห้องรับแขกเพื่อลักทรัพย์ตัดสายโทรทัศน์ออกแล้วยกเอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเคลื่อนจากที่ตั้งเดิมมาที่กลางห้อง เผอิญผู้เสียหายมาพบเข้าจำเลยจึงวางไว้ที่พื้นห้องก็ถือได้ว่าเอาทรัพย์ไปแล้ว เป็นความผิดลักทรัพย์สำเร็จไม่ใช่พยายามลักทรัพย์” ซึ่งจากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ไม่ว่าระยะทางจะไกลเท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นการเอาไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แต่ความเห็นของนักกฎหมายบางท่านไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่าการเอาไปจะสำเร็จบริบูรณ์เมื่อการครอบครองเก่าหมดไปและมีการครอบครองใหม่เข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์
การเอาไปนั้นจะต้องเป็นเป็นการทำร้ายกรรมสิทธิ์และการครอบครอง หมายความว่า การเอาไปนั้นจะต้องเป็นการเอาที่มีลักษณะตัดกรรมสิทธิ์และการครอบครองของผู้อื่น หรือเข้าครอบครองทรัพย์นั้นโดยการแย่งครอบครอง โดยผู้ครอบครองเดิมไม่อนุญาต แต่หากเป็นการเอาไปเพียงชั่วคราว เอาไปใช้ หรือถือวิสาสะ ย่อมไม่ใช่เป็นการเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยแอบเอารถของผู้เสียหายออกมาเพื่อจะขับไปกินข้าวต้มแล้วจะเอากลับมาคืน แสดงว่าไม่มีเจตนาจะเอารถนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์”
การได้มาซึ่งการครอบครองต้องไม่อยู่ที่ผู้กระทำความผิด หากทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิด และมีการเอาไปก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ แต่อาจจะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ความผิดฐานลักทรัพย์ ทรัพย์นั้นจะต้องอยู่ในการครอบครองของผู้อื่นในขณะที่มีการเอาไป ซึ่งหมายความว่าผู้อื่นนั้นได้ครอบครองทรัพย์ตามความเป็นจริงและมีเจตจำนงในการครอบครองทรัพย์นั้นด้วย
ผู้นั้นใช้อำนาจปกครองทรัพย์อยู่ตามความเป็นจริงหมายความว่า ทรัพย์นั้นอยู่ในอำนาจของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่จะจัดการทรัพย์นั้นได้ การครอบครองไม่จำเป็นจะต้องมีการจับต้องตัวทรัพย์ไว้เสมอไป[9] เพียงแต่หวงกันตามควรแก่พฤติการณ์และสภาพของทรัพย์ซึ่งคนทั่วไปยอมรับรู้ได้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลเท่าไหร่ เช่น ของที่อยู่ในบริเวณบ้าน แม้เจ้าของไม่อยู่บ้าน ก็ยังถือว่าเจ้าของนั้นมีการปกครองอยู่ตามเป็นจริง สัตว์ที่เจ้าของปล่อยให้หากินในบริเวณทุ่ง โดยเจ้าของยืนดูอยู่ห่างๆ ก็ยังถือว่าเจ้าของนั้นใช้อำนาจปกครองอยู่ตามความเป็นจริง
ผู้นั้นมีเจตจำนงที่จะครอบครองทรัพย์นั้น หมายความว่า การครอบครองของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นจะต้องมีเจตจำนงในการครอบครองทรัพย์ที่ตนยึดถือนั้นด้วย หากเขาไม่เจตจำนงในการครอบครองทรัพย์ แม้เขาครอบครองอยู่ตามความเป็นจริงก็ไม่อาจจะถือว่าเขาครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ เช่น ของที่คนอื่นทิ้งแล้ว เมื่อมีการเอาไป ย่อมไม่อาจจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้
2) ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายอาญาใช้คำว่า ทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีการนิยามไว้ในประมวลกฎหมายอาญาว่า ทรัพย์ มีความหมายว่าอย่างไร ดังนั้นการตีความคำว่าทรัพย์จึงต้องอาศัยการตีความตามความหมายของประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ใน มาตรา 137 “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง” ดังนั้นทรัพย์ที่จะลักได้ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ เช่นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ จะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ก่อน เช่น ปกติบ้านไม่สามารถเป็นทรัพย์ที่ถูกเอาไปได้ แต่หากมีการเปลี่ยนสภาพแล้ว เช่น ถอดเอาประตู หน้าต่างออกมา ย่อมเป็นทรัพย์ที่เอาไปได้
พลังงานโดยปรกติแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง เพราะไม่อาจมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี ซึ่งศาลฎีกาไม่ได้เหตุผลในการตัดสินไว้ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นกระแสไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์
ความผิดฐานลักทรัพย์ มูลค่าราคาของทรัพย์นั้นไม่ได้จำกัดว่าต้องมีค่าหรือมีราคาเท่าใดจึงเป็นความผิด หากทรัพย์นั้นไม่ไร้ค่า แม้จะมีค่ามีราคาน้อย ผู้เอาทรัพย์ดังกล่าวไปก็มีความผิดเช่นเดียวกัน รวมถึงกรณีหากทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์สินหาย แม้จะมีเจ้าของแต่เมื่อมีการเอาไปก็ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์เพราะทรัพย์นั้นไม่อยู่ในความครอบครองของใคร
ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หมายความว่าทรัพย์นั้นจะต้องไม่ใช่ของผู้ลักทรัพย์เองทั้งหมด แม้เขาจะเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น แต่ความจริงทรัพย์นั้นเป็นของเขาเอง ก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ เพราะไม่มีทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์ และหากทรัพย์ไม่มีเจ้าของหรือมีเจ้าของแต่เจ้าของสละกรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมไม่อาจเป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่ลักกันได้ ส่วนคำว่าทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น มีความหมายว่า ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมากกว่าคนเดียว และหนึ่งในนั้นคือผู้กระทำผิด แต่ปัญหาที่จะเกิดทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยว่า หากขณะที่มีการเอาทรัพย์นั้นไปนั้น ใครเป็นผู้ครอบครอง
ความผิดฐานลักทรัพย์นั้นเป็นความผิดที่ต้องกระทำโดยเจตนา ซึ่งเป็นเจตนาธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรค 3 แล้ว ผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุชักจูงใจโดยทุจริตในการเอาทรัพย์นั้นไปอีกด้วย ซึ่งหากขาดเจตนาประเภทใด การเอาทรัพย์นั้นไปก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ โดยแยกพิจารณาเจตนาแต่ละประเภทออกเป็นดังนี้
เจตนาธรรมดา เจตนาในความผิดฐานลักทรัพย์ในส่วนของเจตนาธรรมดาก็แยกพิจารณาออกเป็น เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่ตนเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หากผู้กระทำไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นแต่เข้าใจว่าเป็นของตัวเอง กรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปไม่ได้ เจตนาเอาไปนั้นผู้กระทำต้องมีอยู่ในขณะกระทำความผิดหากมีเจตนาเอาไปภายหลังจากได้เข้าครอบครองทรัพย์นั้นแล้วไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคาร โดยถอดเสื้อนอกแขวนไว้ กลับมาถึงบ้าน พบว่ามีซองบุหรี่ของผู้อื่นอยู่ในเสื้อของตนเอง โดยที่ไม่ทราบมาก่อน แต่เกิดเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
มูลเหตุชักจูงใจโดยทุจริต ความผิดฐานลักทรัพย์แม้ว่าผู้กระทำนั้นเอาทรัพย์นั้นไปโดยรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น โดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลต่อทรัพย์นั้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ผู้กระทำจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้จะต้องปรากฏว่าการเอาทรัพย์นั้นไป เป็นการกระทำโดยทุจริตด้วย ซึ่งความหมายของคำว่าโดยทุจริตนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) "โดยทุจริต" หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยที่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
จากบทนิยามคำว่า โดยทุจริต พอจะแยกองค์ประกอบออกมาได้ 2 ประการ ดังนี้
1) เพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คำว่า โดยทุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์ การแสวงหา คือการกระทำใด ๆ เพื่อให้ได้มาสำหรับตนหรือผู้อื่น และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มีลักษณะในทางบวก หากเป็นในทางลบเช่น การทำลายทรัพย์หรือการทำให้ทรัพย์หลุดมือจากผู้อื่นจึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์ คำว่าประโยชน์ในที่นี้อาจจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ได้ เพราะมาตรา 1(1) ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าประโยชน์ที่ไม่ควรได้นั้นหมายถึงเฉพาะประโยชน์ในทางทรัพย์สิน บทบัญญัติมาตราใดไม่ได้บัญญัติเฉพาะประโยชน์ในทางทรัพย์สิน ย่อมหมายความถึงประโยชน์โดยทั่วไป ทั้งที่เป็นทรัพย์สินและไม่เป็นทรัพย์สินหากการแสวงหาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ตาม ผู้นั้นแสวงหามาโดยชอบย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
2) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่ว่าผู้กระทำจะกระเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นก็ย่อมเป็นการกระทำโดยทุจริตทั้งสิ้น และการทุจริตนั้นต้องมีขณะเอาทรัพย์นั้นไป ถ้าเจตนาโดยทุจริตเกิดขึ้นภายหลังก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้
![]() |
|
![]() |
|
![]() |
|
![]() |
|
![]() |
|
No comments:
Post a Comment