Tuesday, 12 December 2017

ความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน มาตรา 335 (8)

ความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน มาตรา 335 (8)

ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 334 นั้นหากมีเหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ผู้กระทำต้องรับโทษตาม มาตรา 335 คำว่าเหตุฉกรรจ์ หมายถึง เหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ซึ่งกฎหมายเห็นว่า การกระทำของผู้กระทำนั้นสมควรถูกลงโทษหนักกว่าการลักทรัพย์ธรรมดา

มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์   

(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น ๆ


สถานที่ตาม มาตรา 355 (8) เป็นสถานที่กฎหมายมองว่าควรเป็นสถานที่ปลอดภัยจากการลักทรัพย์ เพราะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการให้แก่ประชาชน ดังนั้น กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ หากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าวต้องรับโทษหนักกว่าการลักทรัพย์ธรรมดา

มาตรา 335 (8) ใช้คำว่า ในเคหสถานหรือสถานที่ราชการ...ที่ตนได้เข้าไป คำว่า ใน ตามมาตรานี้ หมายถึง ต้องเข้าไปถึงตัวหรือเพียงแต่ยื่นมือเข้าไป มีคำวินิจฉัยตัดสินไว้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 996/2492 ยื่นมือเข้าไปในช่องลม “เข้าไป” หมายความว่า ร่างกายของผู้กระทำต้องล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถานหมดทั้งตัว / จำเลยยื่นมือเข้าไปทางประตูเอาไม้เล็กประมาณ 1 แขนสอยเอากางเกงของเจ้าทรัพย์ ที่ตากไว้ข้างฝาในห้องไป ดังนี้ จำเลยย่อมมีผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2537 การลักทรัพย์ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 นั้น หมายถึงผู้กระทำจะต้องเข้าไปในเคหสถานทั้งตัว มิใช่เพียงแต่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้กระทำล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถาน จำเลยเพียงแต่ยื่นมือผ่านบานเลื่อนไม้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหายแล้วทุบกระต่ายออมสินของผู้เสียหายลักเอาเงินไป โดยจำเลยมิได้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335

จากคำพิพากษาจะเห็นได้ว่า การลักทรัพย์ในเคหสถาน หรือสถานที่ราชการนั้นจะต้องเข้าไปทั้งตัว
ส่วนสถานที่ใดเป็น เคหสถาน นั้น ในมาตรา 1(4) "เคหสถาน" หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2509 เล้าไก่ อยู่ห่างจากเรือนผู้เสียหายประมาณ 1 เมตร แม้แยกออกไปต่างหากจากตัวเรือนแล้ว ก็ยังอยู่ในที่ดินอันเป็นบริเวณของโรงเรือนซึ่งมีรั้วอยู่ด้วย มิใช่อยู่ในที่ ซึ่งเป็นบริเวณต่างหากจากโรงเรือนซึ่งใช้เป็นที่คนอยู่อาศัย จำเลยลักไก่ในเล้าซึ่งอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย จึงเป็นการลักทรัพย์ในเคหสถานที่จำเลยได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดมาตรา 335 (8)

คำพิพากษาฎีกาที่ 2014/2536 คำว่า "กุฏิ"  ตามพจนานุกรม หมายความว่า "เรือนหรือตึก สำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่" จึงเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรเท่านั้น  หาใช่สถานที่บูชาสาธารณะ (กุฏิ เป็นเคหสถานของพระภิกษุสามเณร ตามมาตรา 335 (8) แต่ไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 335 ทวิ ในข้อหา “ลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูป หรือวัตถุในทางศาสนาในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”

ความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม มาตรา 335 (8) การเข้าไปต้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป หากได้รับอนุญาตให้เข้าไปย่อมไม่มีความผิดฐานนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2307/2519 ผู้เสียหายกับจำเลยเช่าบ้านหลังเดียวกัน แต่อยู่คนละห้องวันเกิดเหตุผู้เสียหายไม่อยู่ จำเลยเข้าไปในห้องรับแขก นอนอ่านหนังสือพิมพ์บนเก้าอี้นอน น้องผู้เสียหายอยู่บ้าน แต่ก็มิได้ห้ามปรามจำเลย จำเลยลักนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหาย ซึ่งวางอยู่บนตู้โชว์ติดกับเก้าอี้นอนไป ดังนี้ การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้โดยปริยาย การลักทรัพย์มิใช่ลักในเคหสถาน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1076/2526 ผู้เสียหายมอบกุญแจบ้านและกุญแจห้องนอน ให้จำเลยกับพวกเข้าไปเดินสายไฟในบ้าน ถือได้ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องนอนด้วย จำเลยลักสร้อยข้อมือ ในห้องนอนไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในเคหสถาน และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาได้ ผิด ม 334 ไม่ผิด ม 335 (8)

ส่วนสถานที่ราชการ หมายถึง สถานที่แห่งการงานของรัฐบาล หรือที่ซึ่งใช้ปฎิบัติราชการ ดังนั้น ต้องพิจารณาว่า สถานของทางราชการใดใช้ปฏิบัติราชการบ้าง เพราะถานที่บางสถานที่เป็นสถานที่ของทางราชการ แต่ไม่ได้ใช้สำหรับปฏิบัติราชการแต่อย่างใด

ส่วนกรณีของการซ่อนตัวอยู่ ในสถานที่นั้น ๆ หมายความว่า ตอนเข้าไปนั้นมีสิทธิเข้าไป แต่เมื่อเข้าไปแล้วไม่ยอมออกมากลับซ่อนตัวอยู่แล้วทำการลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2557 โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักเงิน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันได โดยเมื่อค้นในลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันไดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงไปรื้อค้นหาสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บหรือซุกซ่อนไว้ ฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะไม่มีเงินที่จะลักอยู่ในกระเป๋าสะพายและจุดรื้อค้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามลักเงินของผู้เสียหาย แต่การกระทำไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 81

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557 จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225








กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

No comments:

Post a Comment