Monday 24 December 2012

กฎหมายพยานหลักฐาน ตอนที่ 2

กฎหมายพยานหลักฐาน ตอนที่ 2

โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

1. คำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนนั้นสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เพียงใด

คำรับสารภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นพยานซึ่งแตกต่างจากพยานวัตถุและพยานเอกสาร เพราะเป็นถ้อยคำ(ภาษาอังกฤษเรียกว่า Intangible Evidence) หากว่าเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ(Voluntary) แล้ว ย่อมเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้

คำรับสารภาพนั้นจะต้องเป็นคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ (ตามหลักMiranda Rule) จึงจะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ หากคำรับสารภาพนั้นเกิดขึ้นด้วยความไม่สมัครใจ (Involuntary) ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้นถ้าคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นจากความไม่สมัครใจ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

หากคำรับสารภาพนั้น เกิดขึ้นจากความไม่สมัครใจแล้ว แม้จะได้คำรับสารภาพมา ก็ไม่อาจเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่มิชอบที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจรับฟังได้ตาม มาตรา 226/1 (ซึ่งแตกต่างจากพวก Tangible Evidence ที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ถ้าได้มาโดยไม่ชอบ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้)

2. ประเด็นที่สำคัญ ก็คือ คำรับสารภาพที่จะถือว่าเกิดขึ้นโดยสมัครใจนั้น คือ คำรับสารภาพที่มีลักษณะอย่างไร

คำรับสารภาพที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจนั้น หมายความว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องให้การรับสารภาพ โดย รู้เรื่อง เข้าใจ ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้มีการแจ้งสิทธิต่างให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิอะไรบ้าง ก่อนที่จะสอบปากคำผู้ต้องหา

2.1 ต้องมีการแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิจะไม่ให้การก็ได้ (ตาม ม.83 และม.134/4) ....เช่น แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่า "ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้" เป็นต้น การแจ้งสิทธิดังกล่าวนั้นมาจากหลัก Privilege against self-incrimination

2.2 ต้องแจ้งให้ทราบว่ามีสิทธิจะมีทนายความ เหตุผลเพราะเมื่อบุคคลใดต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว บรรยากาศต่างๆ ในการดำเนินคดีนั้นอาจทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเกิดความกลัว และอาจมีการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ จึงจำเป็นจะต้องมีผู้พิทักษ์สิทธิ และทนายความย่อมเป็นบุคคลที่เป็นผู้พิทักษ์สิทธิของจำเลยได้ดีที่สุด ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้จะต้องมีการแจ้งสิทธิดังกล่าวให้ทราบด้วย เช่น "ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้ง...และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ"

ผลของการไม่กระทำตามข้อ 2.1 และ 2.2 ถือว่าพยานคำรับสารภาพนั้นเกิดขึ้นโดยมิชอบ(แม้คำรับสารภาพนั้นจะเป็นความจริงก็ตาม) เพราะเกิดจากความไม่สมัครใจ

เช่น ตำรวจไม่แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ซึ่งหากผู้ต้องหาทราบก่อนว่า ไม่ให้การก็ได้ ผู้ต้องหาอาจจะไม่ให้การใดๆก็ได้ (เขามีสิทธิจะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดีได้) ดังนั้นกฎหมายจึงมีบทบังคับ ในการไม่แจ้งสิทธิดังกล่าว โดยการไม่รับฟังคำรับสารภาพนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี

ส่วนตาม ม. 84 ตอนท้ายนั้น

ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความ ผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อ ได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตาม มาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี

ถ้อยคำรับสารภาพนั้นกฎหมายห้ามไม่ให้รับฟังเลย แม้จะมีการแจ้งสิทธิต่างๆ แล้วก็ตาม สาเหตุที่ไม่รับฟังไม่ใช่เพราะผู้ถูกจับไม่สมัครใจ แต่ด้วยเพราะตามสภาพการณ์ที่ผู้ต้องหานั้นอยู่ในภาวะตกใจ ที่ถูกจับและสอบปากคำ(ชั้นผู้ถูกจับ) อาจทำให้สติยังไม่บริบูรณ์นัก มาตรานี้จึงห้ามรับฟังคำรับสารภาพโดยเด็ดขาด







No comments:

Post a Comment