กฎหมายพยานหลักฐาน (ตอนที่ 1)
โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
1. ข้อเท็จจริงเท่านั้นที่ต้องใช้พยานหลักฐานในการพิสูจน์
พยานหลักฐานเป็นสิ่งที่เรานำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง(ข้อกฎหมายไม่ต้องใช้พยานหลักฐาน) ที่โจทก์หรือจำเลยกล่าวอ้างเพื่อแสดงให้ศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่กล่าวอ้างนั้น หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า(ศาลรับฟังพยานหลักฐาน) ก็จะตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะคดี ตามมาตรฐานการพิสูจน์ของประเภทคดี เช่น ในคดีแพ่งหากพยานหลักฐานฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลก็จะตัดสินให้ชนะคดี แต่หากเป็นคดีอาญา โจทก์ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะชนะคดี หากศาลสงสัยศาลก็อาจจะยกประโยชน์ความสงสัยแก่จำเลยได้
2. พยานหลักฐานใดบ้างที่สามารถนำมาพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธ์
พยานหลักฐานที่สามารถนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดหรือบริสุทธ์หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.226 บัญญัติว่า ”พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้...” ตามบทบัญญัตินี้ พยานหลักฐานที่จะอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีด้วยกัน 3 ประเภท
1) พยานวัตถุ
2) พยานเอกสาร
3) พยานบุคคล
ซึ่งพยานแต่ละประเภทนั้นหลักเกณฑ์ในการที่ศาลจะรับฟังพยานแต่ละชนิดก็เป็นไปตามบทบัญญัติในแต่ละหมวด ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการนำสืบไว้แล้ว
3. พยานหลักฐานใดบ้างที่ห้ามมิให้ศาลรับฟัง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 มาตรา “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานพยานหลักฐานที่สามารถนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดหรือบริสุทธ์ สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้
สังเกตให้ดีจะพบว่ามาตรานี้ไม่มีข้อห้ามศาลเลยว่า ศาลจะต้องไม่รับฟังพยานหลักฐานใด เพราะกฎหมายบัญญัติแต่เพียงว่า “ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น” ซึ่งหมายความว่าศาลจะรับฟังพยานหลักฐานที่อ้างได้ พยานหลักฐานนั้นต้องมิได้ เกิดจาก...ฯลฯ
ดังนั้นหากพยานหลักฐานที่อ้างนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้น โดย...หรือโดยมิชอบแล้วศาลจะไม่รับฟัง ถึงโจทก์หรืออ้างมาอย่างไรศาลก็ไม่รับฟัง เมื่อศาลไม่รับฟังก็อ้างไม่ได้นั้นเอง
พยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล หลักในการไม่รับฟังพยานทั้ง 3 ชนิด ต่างกัน แยกพิจารณาดังนี้
3.1 Tangible Evidence (พยานหลักฐานที่มีรูปร่าง(สัมผัสได้))
Tangible Evidence คือ พยานวัตถุและพยานเอกสาร พยานสองประเภทนี้มีรูปร่างและสัมผัสได้ คุณค่าของพยานทั้งสองชนิดนี้ คือ สิ่งที่วัตถุหรือพยานนั้นได้แสดงให้ศาลได้เห็นว่ามันมีรูปร่างอย่างไร ลักษณะ รายละเอียดของมันมีอยู่อย่างไร เช่น ในคดีค้ายาบ้า ยาบ้าที่ได้จากการค้นตัวจำเลยย่อมเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ว่าจำเลยมียาบ้าไว้เพื่อจำหน่ายจริง ดังนั้นยาบ้าจึงเป็นพยานวัตถุในคดีนี้ ส่วนพยานเอกสารนั้นคุณค่าของพยานคือรายละเอียดของเอกสารว่ามีสาระสำคัญอย่างไร (ตัวอักษรที่ปรากฏ หรือรูปวาด สัญลักษณ์)
พยานวัตถุ และพยานเอกสารที่ศาลจะรับฟังได้นั้นต้องเป็นพยานหลักฐานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น
ซึ่งหมายความว่า หากพยานวัตถุหรือพยานเอกสารนั้นแต่เดิมนั้น ไม่มีอยู่ แต่เพราะได้เกิดมีขึ้นมาเพราะการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นนั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมจำเลยไม่ได้จำหน่ายแผ่นซีดีปลอมและไม่มีเจตนาจะจำหน่าย แต่เพราะโจทก์ไปจูงใจให้จำเลยทำปลอมขึ้นมา จำเลยจึงทำแผ่นปลอมมาจำหน่ายให้โจทก์ โจทก์จึงนำแผ่นปลอมนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในคดีนี้ไม่ได้ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากการจูงใจ
แต่ถ้าพยานวัตถุและพยานเอกสารหากเกิดขึ้นโดยชอบ (เกิดขึ้นอยู่แล้วไม่ได้เกิดจากการจูงใจ...หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่น เช่น จำเลยมียาบ้าไว้ในครอบครองจริง) แต่พยานหลักฐานนั้นได้มาโดยการกระทำที่มิชอบ จะรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด
โดยหลักแล้วพยานวัตถุและพยานเอกสารใดหากเกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.226/1
พยานวัตถุและพยานเอกสารนั้นหากได้มาโดยการจับ การค้น ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การจับการค้น การจับ โดยไม่หมายค้นหรือหมายจับที่ออกโดยศาลอย่างถูกต้อง หรือไม่ใช่กรณีที่จับหรือค้นโดยไม่มีเหตุที่ค้นหรือจับโดยไม่มีหมาย หากการค้นหรือการจับโดยไม่ชอบนั้นเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งพยานวัตถุหรือพยานเอกสาร ก็ไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ อ้างไปศาลก็ถูกห้ามมิให้รับฟัง แม้เป็นพยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยชอบ แต่เพราะการได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นไม่ชอบ กฎหมายจึงห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น
เช่น ตำรวจสืบทราบมาว่านายแดงเป็นผู้ค้ายาบ้ารายใหญ่ แต่ด้วยความรีบร้อนกลัวว่านายแดงจะรู้ตัวเสียก่อน จึงไม่ทันได้ไปขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านนายแดง แต่จากการค้นบ้านนายแดงตำรวจได้พบยาบ้าจำนวน 2 กระสอบ ยาบ้า 2 กระสอบที่เป็นพยานวัตถุนี้จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพียงใดหรือไม่
คำตอบที่ได้พิจารณาจากมาตรา 226/1 แล้ว จะเห็นว่ายาบ้าที่ค้นเจอนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ(จำเลยมีอยู่แล้ว) แต่เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ(ไม่มีหมายค้นและไม่ใช่กรณีที่จะค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย) จึงเป็นพยานหลักฐานที่ต้องห้ามไม่ให้ศาลรับฟัง ดังนั้นจึงอ้างเป็นพยานหลักฐานไม่ได้
โดยหลักแล้วกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง(เหตุผลที่กฎหมายไม่ห้ามรับฟังนั้นขอให้ผู้อ่านช่วยกันวิเคราะห์ดูนะครับว่าทำไม กฎหมายจึงห้าม ทั้ง ๆ ที่ ค้นเจอยาบ้าของจริงอยู่ทนโท่) แต่อย่างไรก็ตามหลังจากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 226/1 เข้าไป(พ.ศ.2551) “...ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย อันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
พิจารณาจากบทบัญญัติที่แก้ไขแล้วเห็นว่าใน วรรคแรกตอนท้ายนี้ กฎหมายเปิดช่องให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยมิชอบได้ โดยศาลจะต้องใช้ดุลยพินิจรับฟังพยานหลักฐานนั้นเพื่อประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำอันมิชอบนั้น
และวรรคสองได้กำหนดหลักในการใช้ดุลยพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยมิชอบไว้ว่า “การใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
(2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
(3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
(4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่”
บทสรุป
Tangible Evidence นั้นหากเกิดขึ้นโดยมิชอบ รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ และแม้จะได้เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยมิชอบก็ต้องห้ามมิให้รับฟังเช่นกัน เว้นเสียแต่...(หากเป็นไปตามช่องที่กฎหมายตั้งใจเปิดไว้ ศาลก็อาจรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้)
ป.ล. ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่าศาลใช้ดุลยพินิจตาม ม.226/1 ในการรับฟังพยานหลักฐานได้มาโดยมิชอบ
ขอจบตอนที่ 1 ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ไว้ขยันเมื่อไหร่จะพยายามเขียน Intangible Evidence ต่อให้นะครับบทความนี้ตั้งใจจะเขียนให้อ่านได้เข้าใจง่ายตามหลักกฎหมาย อาจไม่ลึกซึ้งและไม่มีตัวอย่างคำพิพากษาให้ได้จดจำกันมากนัก ควรหาหนังสือตำราอ่านเพิ่มเติมนะครับ
...........................................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
No comments:
Post a Comment