Monday 7 January 2013

กำจัดยาเสพติด โดยการปราบไม่ได้ ก็ทำให้มันถูก จนคนไม่อยากขาย





กฎหมายกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด (ตอนที่ 1)

ยาเสพติดเป็นปัญหาที่ เป็นภัยคุกคาม กัดกร่อน บ่อนทำลาย ประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อปัจเจกบุคคล และสังคมส่วนรวมในมิติต่างๆ ผลกระทบของยาเสพติดนั้นไม่ได้มีต่อตัวบุคคลผู้เสพยาเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมไปถึงกระทบการบริหารจัดการภาครัฐที่ต้องคอยปราบปราม เปลืองทรัพยากรต่าง ๆ

เมื่อปัญหายาเสพติดไม่ได้กระทบต่อผู้เสพเท่านั้น แต่กระทบต่อพวกเราด้วย จริงอยู่ที่เราไม่ได้เสพติดมัน แต่ภัยจากยาเสพติดนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบถึงเราในฐานะเป็นสมาชิกในสังคม

ดังนั้นในฐานะที่เรานักกฎหมายจึงต้องพยายามหาทางออก และหาทางแก้ปัญหา แม้วันนี้เราไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้ออกกฎหมายหรือเป็นผู้บังคับกฎหมาย แต่ไม่ช้าไม่นาน เราคงต้องไปอยู่ในฐานะนั้น

จากคำถามที่ได้เคยถามไว้ว่า "การแก้ปัญหายาเสพติดควรใช้มาตรการใด" จึงจะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้

ผมลองเสนอทางแก้ไป 3 ข้อ คือ

1. เพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2. เพิ่มประสิทธิภาพในการจับกุมและปราบปราม
3. ลดจำนวนผู้เสพโดยการบำบัดและรณรงค์

ซึ่งทุกวิธีที่เสนอไปนั้นเป็นวิธีที่ดีทั้งหมด ควรปฏิบัติควบคู่กันไป แต่ทีนี้การสรุปแบบนี้มันเป็นมุมมองของนักกฎหมาย เพียงมิติเดียว คิดว่ามันจะดี คิดว่ามันน่าจะได้ผล ซึ่งบางครั้งการอธิบายนั้นเป็นไปในลักษณะของทฤษฎีที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ยากและเป็นนามธรรม อุดมคติ

หากเรามองปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การอธิบายตามหลักเศรษศาสตร์นั้นจะแตกต่างจากหลักของนิติศาสตร์อยู่บ้างแต่ก็มีเหตุและผล สามารถอธิบายให้เห็นภาพ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้

นิติเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) หรือเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยกฎหมาย (Economic Analysis of Law) เป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาประเด็นสำคัญทางกฎหมาย ทฤษฎีกฎหมาย การตีความกฎหมาย การออกแบบกฎหมาย การประเมินคุณค่าของกฎหมาย และผลกระทบของกฎหมายต่อพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวข้องและสังคม โดยใช้ระเบียบวิธีหรือวิธีวิทยา (Methodology) ทางเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกเป็นกรอบและเครื่องมือมาตรฐานในการวิเคราะห์

กฎหมายในมุมมองของนิติเศรษฐศาสตร์คือเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมไปสู่แนวทางที่สังคมพึงปรารถนา (เช่น ให้คนมีพฤติกรรมระมัดระวังเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ ออกแบบสัญญาที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ) และป้องปรามยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม (เช่น การก่ออาชญากรรมด้านต่าง ๆ) ผ่านบทลงโทษทางกฎหมาย ทั้งการลงโทษที่เป็นตัวเงิน ได้แก่ ค่าปรับ และการลงโทษที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น การจำคุก การภาคทัณฑ์ การกักบริเวณ การประหารชีวิต

โดยที่คำถามของนิติเศรษฐศาสตร์พยายามหาคำตอบให้ได้ คือ

(1) เหตุผลเบื้องหลังของกฎหมาย นิติเศรษฐศาสตร์ พยายามหาคำตอบว่า กฎหมายฉบับนั้นมีความจำเป็นอย่างไร

(2) ผลกระทบของกฎหมายต่อพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวข้อง และต่อสังคม พยายามอธิบายและคาดการณ์ผลกระทบของกฎหมายว่ามีผลถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ เช่น การเพิ่มบทลงโทษทางอาญานั้นมีผลต่อการยับยั้งอาชกรรมหรือไม่ โดยใช้วิธีการจัดเก็บข้อมูลทางสถิติ และทดสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยวิธีการทางสถิติหรือเศรษฐมิติ (Econometric)

โดยมองว่าผู้กระทำผิดแต่ละคนตัดสินใจกระทำความผิดหรือไม่ จะคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับเป็นเครื่องตัดสินใจ เช่น ผู้ที่ค้ายาเสพติดเพราะเห็นว่าค้ายาเสพติดได้รับเงินจากการค้ายาเสพติดมากกว่าโอกาสในการถูกจับได้ จึงเลือกที่จะค้ายาเสพติด

(3) การออกแบบกฎหมายที่พึงปรารถนา เป็นการพยายามออกแบบกฎหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับพฤติกรรมของผู้คนให้ดีขึ้น เช่น หากต้องการแก้ลดปัญหายาเสพติด ต้องออกกฎหมายให้มีการเพิ่มโทษ และเพิ่มโอกาสในการจับกุม ซึ่งโทษของการค้ายาเสพติดและโอกาสในการจับกุมถือว่าเป็นต้นทุนในการกระทำความผิดของผู้ค้ายาเสพติด หากต้นทุนสูง(โทษสูง+โอกาสถูกจับสูง) คนจะไม่เลือกค้ายาเสพติด เพราะไม่คุ้มทุน

กฎหมายและระบบกฎหมายที่พึงปรารถนาของนักเศรษฐศาสตร์ คือ กฎหมายและระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้ทรัพยากรของสังคมอย่างคุ้มค่า สามารถบรรลุความยุติธรรมตามมาตรฐานที่พึงปรารถนาโดยมีต้นทุนต่อสังคมต่ำที่สุด หรืออย่างรวดเร็วที่สุด หรือพูดง่ายๆ กฎหมายที่ดีของนักเศรษศาสตร์ คือ ถูกแต่ดี

ดังนั้น หลักของการแก้ปัญหายาเสพติดตามหลักของนิติเศรษฐศาสตร์ คือการทำให้ต้นทุนในการกระทำความผิดของผู้ค้ายาสูงขึ้น เมื่อต้นทุนสูง ทำไปก็ไม่คุ้ม โดยคำนึงถึงประยชน์ได้เสียแล้ว คนจะไม่ค้ายาเสพติด

การทำต้นทุนในการค้ายาเสพติดให้สูงขึ้น สามารถยังยั้งการค้ายาเพสติด ยาบ้าได้ ซึ่งวิธีการทำให้ต้นทุนสูงขึ้นได้ทำได้ 2 วิธี คือ

1. แก้โทษทางอาญาสำหรับการค้ายาเสพติดให้หนักขึ้น โดยเชื่อว่าโทษที่หนักขึ้นนั้นสามารถยับยั้งไม่ให้คนทำผิด เพราะเกรงกลัวต่อโทษตามกฎหมาย เช่น การเพิ่มโทษสำหรับผู้ค้ายาบ้าถึงั้นประหารชีวิต 

2. การเพิ่มโอกาสการถูกจับกุมดำเนินคดี โดยเชื่อว่าหากรัฐมีความสามารถในการจับกุมดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ การค้ายาเสพติด ยาบ้าจะลดลง เพราคงไม่มีใครอยากค้ายาเสพติดหากว่าเมื่อค้าแล้วจะถูกจับอย่างแน่นอน

การทำให้ต้นทุนในการค้ายาเสพติดสูงขั้นทั้ง 2 วิธีนั้น รัฐได้ดำเนินการแล้ว เช่น การเพิ่มโทษให้สูงถึงขั้นประหารชีวิต และการทำสงครามกับยาเสพติด แต่ผลที่ออกมากับสวนทางกับการดำเนินการ เรียกว่า จับกนจนจับไม่ไหว จับจนไม่มีคุกใส่ จับยังไงก็ไม่หมด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

คำถาม คือ ทั้ง ๆที่รัฐพยามเพิ่มต้นทุนทั้ง 2 วิธี ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ปัญหายาเสพติดก็ยังไม่ลดลง ตรงนี้ผมเห็นว่า เราไม่สามารถปราบปรามการค้าเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะถูกจับเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ที่มีเส้นสาย มีอิทธิพล ไม่ถูกจับ นั่นแสดงว่า การปรามปราบล้มเหลยิ่งปราบ หาซื้อยาก ยายิ่งแพง ยิงแพงยิ่งจูงใจให้คนคิดจะค้า เพราะว่าค้าแล้วรวย

ดังนั้นเมื่อยิ่งจับยิ่งแพง ยิ่งจูงใจ จึงเกิดความคิดว่า เมื่อมันแพงเราก็ทำให้มันถูก ถูกจนคนที่คิดจะค้าไม่อยากทำ เหมือนกับขายของแล้วได้กำไรน้อย ขายยังไงก็ไม่รวย เลิกขายไปทำอย่างอื่น 

ปัญหาคือทำยังไงให้มันถูก ของอะไรก็ตามที่มีผิดกฎหมายแล้วมีการลับลอบขาย มันจะแพง ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ว่า เราก็ทำให้มันถูกกฎหมาย หาซื้อได้ทั่วไป แต่ฤทธิ์ของมันก็ต้องควบคุมได้ ไม่ให้ถึงกับเป็นบ้าเป็นบอไป

หนามยอก เอาหนามบ่ง
  
.....................................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment