Tuesday 8 January 2013

อายุความ ความผิดอันยอมความได้



อายุความ ความผิดอันยอมความได้


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 

"ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ มาตรา 97ในการฟ้องขอให้กักกัน ถ้าจะฟ้องภายหลังการฟ้อง คดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน ต้องฟ้องภายในกำหนด หกเดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีนั้น มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุความ"

โดยหลักจากมาตรานี้ คือ ความผิดอันยอมความได้นั้น ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเสียก่อน ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่ต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากเลยกำหนดนี้แล้ว มีผลทำให้คดีความผิดอันยอมความได้นั้นขาดอายุความโดยผลของ ป.อ.มาตรา 96

1. ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์แต่ได้ฟ้องคดีเองภายในกำหนด 3 เดือนเช่นว่ามานี้ คดีอาญาจะขาดอายุความหรือไม่

หากว่าคดีอาญาความผิดอันยอมความได้นั้น ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์แต่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลเอง ก็ต้องฟ้องคดีอาญาภายในกำหนดเวลา 3 เดือนเช่นเดียวกัน 

เหตุผลที่กฎหมายกำหนดเวลาให้ผู้เสียหายร้องทุกข์หรือฟ้องคดีความผิดอันยอมความได้ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนั้น คงเป็นเพราะ คดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายโดยตรง ไม่ได้ส่งผลต่อสังคมโดยส่วนรวม เมื่อผู้เสียหายได้รู้ถึงความผิดที่เกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว  ผู้เสียหายก็ควรจะดำเนินคดี มิใช่ปล่อยคดีให้เนินนาน ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดียากขึ้นไป เพราะพยานหลักฐานต่างๆที่จะนำมาใช้ในการสอบสวนและสืบพยานหาได้ยาก และหากเป็นพยานบุคคลก็อาจจะหลงลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปได้ อีกทั้งเมื่อล่วงเลยเวลามาถึง 3 เดือนแล้ว ทั้งๆที่ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์หรือฟ้องคดีได้เอง แต่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายอาจไม่ติดใจเอาความผู้กระทำความผิดอีกต่อไป ดังนั้นด้วยเหตุผลอันนี้ กฎหมายจึงกำหนดให้คดีความอันยอมความได้เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนจึงขาดอายุความ

2. ถ้าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนแล้ว ต่อมาได้ฟ้องคดีเมื่อเกิน 3 เดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีจะขาดอายุความหรือไม่

เมื่อผู้เสียหายในความผิดอันยอมความได้ ร้องทุกข์ภายในกำหนดของมาตรา 96 แล้ว แม้จะฟ้องเกินกำหนด 3 เดือนก็ไม่ขาดอายุความ โดยอายุความของความผิดอันยอมความได้ก็จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (โดยมาตรา 96 บัญญัติไว้ว่า"ภายใต้ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ...) 

3. ต่อประเด็นปัญหาที่ตั้งเป็นคำถามไว้

นายแดง นายดำ นายขาว ทั้งสามคนตกลงเข้าหุ้นกันเพื่อทำร้านอาหารแห่งหนึ่งอยู่หน้า ม.พะเยา ปรากฎว่านายเอผู้จัดการร้านที่ทั้งสามคนแต่งตั้งขึ้นมาได้ยักยอกเงินของร้านอาหารไปกว่าแสนบาท นายแดงนั้นทราบเหตุดังกล่าวและได้ไล่นายเอออกจากการเป็นผู้จัดการร้าน แต่ยังไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะนายแดงต้องการรอให้นายดำและนายขาวกลับมาจากต่างประเทศเสียก่อน

ปรากฎว่าเวลาผ่านไปสี่เดือน หลังจากนายแดงทราบเรื่องการยักยอกของนายเอ นายดำและนายขาวได้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เมื่อนายแดงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ดำและขาวฟัง ทั้งสามคนจึงเดินทางไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับนายเอฐานยักยอกทรัพย์

............................................................

นายเอผู้จัดการร้านอาหารที่ นายแดง นายดำและนายขาว ซึ่่งเป็นหุ้นส่วนกันได้แต่งตั้งขึ้นกระทำความผิดฐานยักยอกทรัยพ์ ซึ่งความผิดฐานยักยอกทรัยพ์นั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ดังนั้น ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนภายในกำหนด 3 เดือน นับตั้งแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด 

ปรากฎว่านายแดงหนึ่งในหุ้นส่วนนั้นได้รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว แต่นายแดงซึ่งเป็นผู้เสียหายนั้นไม่ได้เข้าร้องทุกข์หรือฟ้องคดีนายเอแต่อย่างใด เพราะต้องการให้หุ้นส่วนอีกสองคนเดินทางกลับมาจากต่างประเทศเสียก่อน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยนะคือ การที่ความผิดอันยอมความได้กระทำลงต่อผู้เสียหายหลายคน หากหนึ่งในผู้เสียหายได้รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แล้วไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือน จะทำให้คดีขาดอายุความหรือไม่

ในประเด็นนี้ศาลได้วินิจไว้ว่า

คำพิพากษาฎีกาที่ 3085/2537 
โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ลฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไว้ก่อน ดังนี้ เมื่อได้ความว่าก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ดผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจร้องทุกข์เช่นเดียวกับโจทก์ ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน เดือน นับแต่วันที่ ดรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป..มาตรา 96 (คดีของโจทก์ขาดอายุความไปด้วย อาจเป็นเพราะถือว่าเป็นผู้เสียหาย ใช้สิทธิเดียวกัน เมื่อคนหนึ่งสิ้นสิทธิดำเนินคดี อีกคนหนึ่งสิ้นสิทธิไปด้วย)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551 
แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96


...........................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา







กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน


No comments:

Post a Comment