Thursday 10 January 2013

การสอบสวนคดีอาญา
























นายปาน อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นถูกจับตัวส่งสอบสวน ก่อนเริ่มสอบปากคำ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกาย ตั้งทนายความให้และแจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่ผู้ต้องหาโดยชอบแล้ว รวมทั้งสอบถามผู้ต้องหาว่าต้องการให้มีบุคคลใดเข้าร่วมในการสอบปากคำหรือไม่ ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ต้องการ ในการสอบปากคำผู้ต้องหาในวันดังกล่าวจึงไม่มีนักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ได้สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จึงยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในฐานดังกล่าว โดยมิได้สั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหาเพิ่มเติม



การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/2 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายแก่กาย เป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ในการสอบปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนจะต้องจัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย แม้ผู้ต้องหามิได้ร้องขอหรือไม่ต้องการก็ตาม การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนายปานผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยไม่มีบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ด้วยทั้งไม่ปรากฏกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ การสอบคำให้การผู้ต้องหาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ แต่ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด เพียงแต่ทำให้คำให้การของผู้ต้องหาไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้เท่านั้นตามมาตรา 134/4 วรรคสาม

ส่วนการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบตามมาตรา 134 นั้น เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดและเพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหา โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดเมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นหลักแห่งความผิดแล้วก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ก็ถือว่ามีการสอบสวนในข้อหาดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 120 (

ร้อยตำรวจเอก ส.เป็นข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างสอบสวนจะมีพนักงานสอบสวนซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนร่วมนั่งฟังอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป เมื่อพันตำรวจโท น. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พันตำรวจโท น. ย่อมมีอำนาจสอบสวนก่อนร้อยตำรวจเอก ส. โอนสำนวนการสอบสวน และหลังจากนั้นร้อยตำรวจเอก ศ. ยังคงมีอำนาจสอบสวนเพื่อช่วยเหลือพันตำรวจโท น. ได้ ดังนั้น การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน นอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้วพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีการอ้างหรือเชื่อว่าความผิดนั้นได้เกิดภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนเข้าใจหรือมีความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุว่าความผิดได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่ได้เกิดในสถานที่อื่นนอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น

บริเวณถนนสายบ้านร่องบง - บ้านติ้วที่จ่าสิบตำรวจ ม. กับพวกตั้งจุดตรวจชั่วคราว และจุดที่พบถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนเป็นถนนนอกเขตชุมชน ตลอดแนวถนนไม่มีป้ายหรือสิ่งปลูกสร้างใดแสดงให้ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตท้องที่หมู่บ้านหรือตำบลใด จ่าสิบตรวจ ม. กับพวกผู้ร่วมจับกุมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านติ้ว ย่อมต้องมีความเชื่อว่าบริเวณที่ตั้งจุดตรวจอยู่ในเขตอำนาจรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านติ้ว แม้จำเลยจะโยนเมทแอมเฟตามีนทิ้งในเขตตำบลบ้านหวาย แต่จ่าสิบตำรวจ ม. ก็พบเห็นการกระทำความผิดในเขตตำบลบ้านติ้วและเรียกให้จำเลยหยุดที่จุดตรวจต่อเนื่องกัน จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเชื่อว่าเหตุเกิดและจำเลยถูกจับในท้องที่ตำบลบ้านติ้ว เมื่อจ่าสิบตำรวจ ม. นำจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนส่งมอบให้แก่พันตำรวจตรี ป. ย่อมทำให้พันตำรวจตรี ป. เชื่อว่าความผิดได้เกิดขึ้นและจำเลยถูกจับภายในเขตอำนาจของตน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านติ้วย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 570 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 70 เม็ด แก่ผู้มีชื่อ และโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด ได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานที่ตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่าย จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับพวกจำเลยอีก 2 คนที่ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) จึงอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตามมาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแก่ผู้มีชื่อหลายคน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน และจับ ศ. อ. ณ. น. ภ. จ. และ ห. พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับ ส. และ ร. ดังนั้น แม้ ส. และ ร. ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่ความผิดที่เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) ไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) ที่จะเป็นผู้สอบสวน มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เมื่อการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ถอนฎีกาไปแล้วได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

การสอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีกในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เหตุคดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่งได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมพบความผิดเกิดขึ้นในที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเขตอำเภอเลิงนกทา จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่เกิดเหตุโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่มีข้ออ้าง ข้อสงสัยหรือความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงประการใด ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญทำการจับกุมและทำการสอบสวนเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน เป็นกรณีที่อ้างว่าพนักงานสอบสวนอ้าง หรือเชื่อหรือเข้าใจว่าเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนครอบคลุมไปถึงที่เกิดเหตุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญไม่รู้ว่าเขตอำนาจสอบสวนของตนครอบคลุมเขตพื้นที่เพียงใด ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเชื่อว่าความผิดได้เกิดในเขตอำนาจของตน ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญมีอำนาจสอบสวนได้ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำเภอไทยเจริญ ซึ่งเป็นเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและมีผลห้ามโจทก์ฟ้องคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมพบความผิดเกิดขึ้นในที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่เกิดเหตุโดยชัดแจ้งแล้ว ไม่มีข้ออ้าง ข้อสงสัยหรือความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือเชื่อว่าความผิดได้เกิดในเขตอำนาจของตนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอไทยเจริญ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญมีอำนาจสอบสวนได้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำเภอไทยเจริญ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและมีผลห้ามโจทก์ฟ้องคดีตามมาตรา 120



อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา







กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส


กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน




1 comment:

  1. ขอบคุณมากครับ วิชานีผมเรียนผ่านมาแล้ว แต่มันลืมๆบทความนี้ช่วยใ้ห้ผมเข้าใจกระจ่างมากยิ่งขึ้นคับ ขอบคุณมากคับอาจารย์

    ReplyDelete