Tuesday 1 January 2013

มาตรา 290 เป็นบทเบาของมาตรา 288 หรือไม่



มาตรา 290 เป็นบทเบาของมาตรา 288 หรือไม่ 

ในเมื่ออัยการฟ้องจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.288 ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่เมื่อสืบพยานและพิจารณาแล้ว ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่ได้ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ม.290


.............................................................

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ.มาตรา 290

"ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี


ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี"

ความผิดฐานนี้ลงโทษผู้ที่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่ผลการทำร้ายร่างกายนั้น เป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย

เจตนามีเพียงแค่ทำร้าย ผู้กระทำจึงไม่อาจจะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้ เพราะความผิดฐานฆ่าคนตายนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาฆ่า ส่วนความผิดฐานนี้ผู้กระทำจะต้องมิได้มีเจตนาฆ่า แต่มีเจตนาเพียงแค่ทำร้ายเท่านั้น

ผลของความผิดฐานฐานนี้คือ ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเกินไปจากเจตนาของผู้กระทำผิด(เจตนาทำร้าย ผลที่ควรจะเกิดควรจะเพียงแค่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น) ดังนั้นเมื่อผลที่เกิดขึ้นเกินไปกว่าเจตนาของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่ในผลที่ได้เกิดขึ้น พิจารณาโดยอาศัย มาตรา 63 "ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นได้"

ดังนั้นถ้าผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ เกินไปกว่าเจตนาก็พิจารณาโดยดูว่า ผลที่เกินไปนั้น ตามธรรมดาแล้วสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าคำตอบที่ได้ คือ สามารถเกิดขึ้นได้(ทำร้ายแล้วตายเป็นผลธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้) ผู้กระทำต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้นตามไปด้วย

แต่ถ้าหากคำตอบที่ได้คือ ผลที่เกิดขึ้นนั้น ตามธรรมดาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นด้วย

ดังนั้น มาตรา 290 จึงเป็นบทหนักของมาตรา 295 เพราะเหตุที่ความตายเกิดจากการทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. 295

ประเด็นที่น่าคิดคือ มาตรา 290 ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เป็นบทเบาของมาตรา 288 ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่

หากเกิดข้อเท็จจริงว่า นายแดงทำและนายดำ มีเรื่องทะเลาะกันอยู่ในร้านอาหาร นายแดงใช้มีดที่พกมาแทงนายดำไป 1 ที บริเวณน่าอก ปรากฏว่านายดำถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล

ในการดำเนินคดีอาญา โจทก์ในคดีนี้คืออัยการได้ฟ้องจำเลยฐานฆาคนตายโดยเจตนา ตาม ป.อ.มาตรา 288 แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่เจตนาเพียงแค่ทำร้าย เพราะฉะนั้นจำเลยไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

แน่นอนว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยว่า จำเลยมีเจตาอย่างไร ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัยจึงต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยใช้พยานหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ถึงเจตนาของจำเลยว่า จำเลยแทงผู้ตายด้วยเจตนาใดกันแน่

ถ้าหากโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยแทงผู้ตายด้วยเจตนาฆ่า ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องได้ คือ ลงโทษจำเลย ตาม ป.อ. 288

แต่ถ้าหากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าตามที่โจทก์ฟ้องและขอให้ศาลลงโทษ ศาลจะลงโทษจำเลยฐานใด(เพราะโจทก์ฟ้องมาเพียงแค่ฐานเดียวและศาลเห็นว่าจำเลยไม่ผิดฐานที่โจทก์ฟ้องมา)

ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรามาตรา 192 “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าว ในฟ้อง” และวรรคท้าย “ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่าง อาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิด อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

ป.วิ.อาญา มาตรา 192 ห้ามไม่ให้ศาลพิพากษาเกินคำขอที่ปรากฏในคำฟ้อง ในคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 288 โดยที่ไม่ได้ฟ้องมาตรา 290 ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เป็นความผิดที่อยู่ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะการฆ่าก็คือการทำร้ายไปในตัวด้วยเพียงแต่เจตนาต่างกันเท่านั้น

เมื่อไม่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สมฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า แต่ปรากฏว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายจริงและผู้ตายตาการทำร้ายของจำเลย ศาลย่อมลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 290 ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 ได้ ไม่นอกฟ้องเกินคำขอแต่อย่างใด

ป.ล. จึงน่าคิดและน่าสังเกตว่า มาตรา 290 นั้นเป็นบทเบาของมาตรา 288 หรือไม่ เพราะเมื่อลงโทษจำเลยตาม 288 ไม่ได้ ศาลก็สามารถลงโทษจำเลยตาม ป.อ. 290 ได้


................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment