การรักษาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญกรรม
กับความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
รัฐ(State) ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐที่ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต อย่างเสรี เว้นแต่บางกรณี บางเรื่องเท่านั้นที่ไม่สามารถจะทำได้ ซึ่งเรื่องที่ทำไม่ได้หรือห้ามนั้นถือเป็นข้อยกเว้นของระบอบการปกครองนี้ และการที่รัฐจะจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จะทำได้จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้นตามหลักนิติรัฐ(Legal state)
เมื่อเกิดการละเมิดต่อกฎหมายที่รัฐห้ามแล้ว(เฉพาะคดีอาญา) รัฐจำเป็นจะต้องมีกระบวนการที่จะคุ้มครองความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นในแต่ละรัฐ จึงมีกระบวนการในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อคุ้มครองประชาชนคนอื่นๆ ให้ปลอดภัยจากการกระทำละเมิดกฎหมายอาญานั้น
ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีแนวความคิดที่เกี่ยวกับการจัดรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม(Crime Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model)
โดยแต่ละแนวนั้นมีความแตกต่างกันในแนวความคิดและมีความขัดแย้งกันคอยถ่วงดุล(balance ) กันอยู่
1. ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม(Crime Control Model)
เป็นรูปแบบที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมุ่งควบคุม ระงับ และปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก(ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องรวบรัด และมีประสิทธิภาพ) แม้การกระทำของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิ ของประชาชนก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมแล้วย่อมทำได้ เช่น ตำรวจเป็นผู้ออกหมายจับได้เอง มีอำนาจในการสืบสวนและสอบสวนคดีอย่างมาก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเอง
รูปแบบนี้จะเน้นไปที่การควบคุมและปราบปรามอาชญกรรมอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นเรื่องรองลงไป เช่น กระบวนการในการได้พยานหลักฐานมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากว่าพยานหลักฐานนั้นสามารถที่จะพิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยได้ ศาลก็อาจจะรับฟังได้ เพื่อลงโทษจำเลย
2. ทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model)
รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ และเป็นรูปแบบที่ยึดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม(Rule of Law) ที่ถือค่านิยมในเรื่องกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการต้องชอบด้วยกฎหมาย และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบซึ่งมักจะเกิดจากการที่รัฐมุ่งที่จะควบคุมอาชญากรรมโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชน เป็นเหตุให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกกระทบกระเทือนจากการปราบปรามอาชญากรรมของรัฐอย่างมาก
ดังนั้นรัฐที่ยึดถือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model) จึงต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เน้นหนักไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและ เสรีภาพของผู้บริสุทธิ์มิให้ถูกล่างละเมิดโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าพนักงานของ รัฐ เช่น สิทธิของผู้เสียหาย สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา สิทธิของจำเลย การค้น การจับจะต้องมีหมายซึ่งออกโดยศาล เป็นต้น
และหากบางกรณีมีพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ แต่หากว่ากระบวนการที่ได้มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่อาจจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ แม้พยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบก็ตาม
เช่น ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยก็มีการนำหลักการของทั้ง 2 ทฤษฎีมาเป็นแนวทางในการบัญญัติเป็นกฎหมายด้วย
มาตรา 78 "พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำ ความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 80
(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติ การณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตาม มาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือ จำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117"
จะเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคแรกบัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลัก Due Process Model ต้องมีหมายของศาลเสียก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการคุมครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการจับหรือค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้ศาลเป็นผู้คอยกลั่นกรองว่ามีเหตุอันสมควรให้ออกหมายหรือไม่
ส่วนตาม (1)-(4) นั้นเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้สามารถปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างทันถ่วงที ซึ่งเป็นไปตามหลัก Crime Control Model ที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
จะเห็นว่าทฤษฎีการควบ คุมอาชญากรรม(Crime Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model) นั้น แม้จะมีขึ้นมาเพื่อให้สังคมนั้นอยู่รวมกันอย่างสงบสุขและมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมก็ตาม แต่มีความแตกต่างกันในแนวความคิดอยู่ หากรัฐมุ่งทีจะควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกระทบกระเทือนมากตามไปด้วย และหากรัฐมุ่งที่จะให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมาก การควบคุมอาชญากรรมอาจทำได้ไม่สะดวกซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการควบคุม อาชญากรรมก็ลดตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาแล้วเหมือนกับว่าทั้งสองแนวความคิดทั้ง 2 แนวนั้นแตกต่างกัน จนอาจจะดูเหมือนเส้นขนานที่ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้ หากให้น้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งอีกทางก็ต้องเอนเอียง ต่ำหรือสูงไปด้วย(เปรียบดั่ง Crime Control Model นั้นเป็นแกน X ส่วน Due Process Model นั้นเป็นแกน Y)
ดังนั้นจึงเป็นความยากของรัฐและนักกฎหมายที่จะหาจุดสมดุล ระหว่างแนวคิดทั้ง 2 ทฤษฎี เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีอาญาของไทยมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมและ ในขณะเดียวกันก็กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเสรี หากให้น้ำหนักไปทางแนวความคิดใดแนวหนึ่งย่อมเสียสมดุลของกระบวนการยุติธรรม ทางอาญาไป
...............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
อ้างถึง เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา
No comments:
Post a Comment