Friday, 1 February 2013

Inchoate Crimes (ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น)




Inchoate Crimes
ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น

1. ความหมายของ inchoate offence, or inchoate crime

     An inchoate offense, inchoate offence, or inchoate crime is a crime of preparing for or seeking to commit another crime. The most common example of an inchoate offense is "attempt." "Inchoate offense" has been defined as "Conduct deemed criminal without actual harm being done, provided that the harm that would have occurred is one the law tries to prevent."
(http://en.wikipedia.org/wiki/Inchoate_offense)

     Inchoate offense หรือ inchoate crime นั้นหมายถึงความผิดที่เป็นการเริ่มต้น อันจะนำไปสู่ความผิดอาญาฐานใดฐานใดฐานหนึ่งในอนาคต ซึ่งโดยลักษณะของความผิดที่เป็นการเริ่มต้นนั้น ต้องยังไม่ถึงขั้นความผิดสำเร็จ แต่เป็นความผิดที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดความผิดสำเร็จได้ เช่น

     ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กว่าผู้กระทำความผิดจะไปฆ่าคนตายได้นั้น จะต้องมีการวางแผนและเตรียมการ เช่น เขาอาจจะมีการไปจ้างวานมือปืน หรือหายืมปืนมาไว้เพื่อนำไปฆ่าคนตาย

     ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ผู้กระทำผิดหลายคนอาจมีการสมคมกันวางแผนเพื่อไปปล้นทรัพย์ กำหนดหน้าที่ เสาะหาอาวุธเพื่อนำไปปล้น เป็นต้น

     การกระทำที่กล่าวมานี้ ทั้งการไปจ้างมือปืน หายืมอาวุธปืน สมคบกันวางแผนเพื่อไปทำความผิด เหล่านี้ หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า การกระทำเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้ใดเลย เพียงแต่จะมีอันตรายต่อผู้ที่กฎหมายต้องการจะคุ้มครองในอนาคต ดังนั้นเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่จะได้เกิดขึ้นและจะส่งผลเสียหายต่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของประชาชนชน รัฐจึงควรมีอำนาจในการปราบปรามการกระทำนั้นเสียก่อนได้ ดีกว่าปล่อยให้ต้องเกิดความเสียหายขึ้นก่อน อีกทั้งการที่กฎหมายได้กำหนดการกระทำอันเป็นการเริ่มต้นของการกระทำความผิด ก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันสังคมโดยส่วนรวมให้ตระหนักถึงการมีกฎหมายดังกล่าวด้วย

2. Inchoate crime (ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น) มีได้เฉพาะความผิดที่กระทำโดยเจตนาเท่านั้น
    Inchoate crime เป็นแนวคิดของระบบกฎหมาย Common Law และในกฎหมายอาญา การกระทำความผิดอาญาจะต้องประกอบไปด้วย "Actus reus" ซึ่งเปรียบเสมือนองค์ประกอบความผิดภายนอก และจะต้องมีส่วนที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำความผิด ซึ่งเรียกว่า "Mens rea" ด้วย ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นองค์ประกอบภายในนั้นเอง

     แต่สำหรับ inchoate crime นั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำผิดมี "mens rea" ประเภท Intent หรือจะต้องมีเจตนากระทำผิดนั้นเอง ซึ่งก็หมายความว่า ความผิดที่จะเป็นความผิดที่เป็นการเริ่มต้นได้นั้นจะต้องเป็นความผิดที่กระทำโดยเจตนาได้เท่านั้น หากเป็นการกระทำความผิดโดยประมาทจะไม่มี inchoate crime
     
     (ในกฎหมายอาญาของ common law ความผิดที่เป็นการเริ่มต้นนอกจากจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังรวมถึงการกระทำที่ recklessness ด้วย (Every inchoate crime or offence must have the mens rea of intent or of recklessness) เพียงแต่ตามกฎหมายอาญาของไทยเราไม่ได้มีการแยกประเภทของประมาทออกเป็น recklessness (ประมาทโดยจงใจ) กับ negligence (ประมาทโดยพลั้งเผลอ) ดังนั้นตามกฎหมายอาญาของไทย inchoate crime จึงมีแต่ประเภทที่กระทำโดยเจตนาเท่านั้น
  
ในกฎหมาย Common law มีการแบ่งลำดับขั้นตอนในการกระทำความผิดโดยเจตนาไว้ 6 ขั้นตอน[1] ดังนี้
            1. มีความคิดที่จะกระทำความผิดอาญา
            2. คิดพิจารณาเพื่อที่จะตัดสินใจว่าควรจะกระทำความผิดหรือไม่
            3. ตัดสินใจได้ว่าจะกระทำความผิด
            4. การตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดโดยการจัดเตรียมขั้นตอน หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการกระทำความผิด
            5. เริ่มกระทำความผิด
            6.กระทำการและบรรลุเจตนาในทางอาญา
     
จะเห็นว่าตามกฎหมาย Common Law  แบ่งขั้นตอนการกระทำความผิดโดยเจตนาไว้ค่อนข้างจะละเอียด ซึ่งโดยหลักแล้วกฎหมายจะลงโทษการกระทำที่บรรลุเจตนาในทางอาญา(ขั้นที่ 6) แล้วเท่านั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นที่สำคัญคือ การกระทำที่ได้เกิดขึ้นก่อนจะเกิดความผิดสำเร็จนั้นถือว่าเป็นความผิดที่เป็นการเริ่มต้น ที่สมควรจะลงโทษและให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปราบปราบก่อนที่จะเกิดความผิดสำเร็จและก่อความเสียขึ้นได้อย่างทันท่วงที ส่วนการกระทำในขั้นตอนใดที่จะถือว่าเป็นความผิดที่เป็นการเริ่มต้นได้นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่จะถึงขั้นที่ 6 จึงเป็น inchoate crime
 
3.ประเภทของ inchoate crime

ความผิดที่เป็นการเริ่มต้นพื้นฐานในกฎหมาย Common Law  มีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกันคือ 

1) ความผิดฐานพยายามกระทำความผิด(Attempt)
   
 ซึ่งการพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการแสดงออก overt act ที่แสดงให้เห็นเจตนากระทำผิดที่ชัดเจน เพราะได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำผิดแล้ว แม้ความเสียหายที่มุ่งกระทำจะยังไม่สำเร็จก็ตาม เช่น ต้องการฆ่าคนแต่ยังไม่ตาย

(โปรดอ่านการพยายามกระทำความผิด http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/attempt_24.html)

2) ความผิดที่ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิด (Incite)

ส่วนการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้นผู้กระทำความผิดนั้นได้กระทำเลยขั้นที่ 3 มาแล้ว กล่าวคือ เขาได้ตัดสินใจแล้วว่าเขาจะกระทำความผิดโดยเจตนา และเข้าสู่กระทำขั้นตอนที่ 4 (การตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดโดยการจัดเตรียมขั้นตอน หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการกระทำความผิด) การตระเตรียมของเขาคือการไปก่อให้ผู้อื่นเกิดเจตนาเช่นเดียวกับเขาขึ้นมาโดยวิธีการต่างๆ เช่น บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด

จะเห็นได้ว่า หากพิจารณาจากความอันตรายของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น การกระทำดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ใครเลย เพราะยังห่างไกลจากการกระทำความผิด ไม่เหมือนกับการพยายามกระทำความผิดที่เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่ความผิดยังไม่สำเร็จเท่านั้น แต่ความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ก็เป็นความผิดที่เป็นการเริ่มต้น(Inchoate crime) แล้ว

แต่ความผิดฐานเป็นผู้ใช้นี่จะต้องปรากฏว่า ผู้ใช้ได้ก่อให้ผู้อื่นจะไปทำความผิดอาญาเจตนาแล้วเท่านั้น หากยังเป็นขั้นตอนขอการใช้กันเป็นทอดๆ แต่ยังไม่ถึงผู้ที่จะไปลงมือ เช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้และไม่ใช่ Inchoate crime

3) ความผิดฐานสมคบ(Conspiracy)

ความผิดฐานสมคบกันนี้เป็นการกระทำที่อยู่ในขั้นตอนของการคิดและตัดสินใจ แต่เป็นการคิดและตัดสินใจโดยสมคบกันว่าจะไปกระทำความผิดโดยเจตนา โดยที่ยังไม่ได้มีการกระทำอันต่อไป ก็เป็นความผิดฐานสมคบกันแล้ว ซึ่งการที่รัฐต้องกำหนดให้คนที่สมคบกันไปกระทำความผิด เป็นเพราะรัฐต้องการที่จะสร้างอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปแทรกแซงการกระทำอันเป็นการเริ่มต้นของการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต และเหตุผลอีกประการหนึ่งผู้กระทำความผิดฐานสมคบนั้นได้กระทำการที่แสดงถึงเจตนาร้ายโดยการสมคบกัน ซึ่งเลยขึ้นตอนของการคิดว่ากระทำความผิดมาแล้ว

4.inchoate crime ในกฎหมายอาญาไทย

            ในกฎหมายอาญาของไทยก็ได้รับเอาแนวความคิดเกี่ยวกับ Inchoate crime มาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ทั้งในเรื่องของการพยายามกระทำความผิด ความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด และความผิดฐานสมคบ(ตามกฎหมายไทยเรียกว่า “ซ่องโจร”)

            ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง แต่โดยหลักการเป็นแนวคิดและหลักการเดียวกัน เช่น ความผิดฐานผู้ใช้ในกฎหมายของอังกฤษ ผู้ใช้ที่ใช้ให้ผู้อื่นไปใช้คนอื่นให้กระทำผิดอีกที เป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้แล้ว เช่น นายเอ ใช้ให้นายบีไปจ้างนายซี เพื่อไปฆ่านายดี เมือนายเอใช้นายบีแล้ว นายเอมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ทันที แต่ตามกฎหมายไทยยังไม่ถือว่านายเอเป็นผู้ใช้ นายเอจะเป็นผู้ใช้ได้ต่อเมื่อนายบีได้ไปจ้างนายซีและนายซีเกิดเจตนาจะไปฆ่านายดีแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าตามกฎหมายอังกฤษนั้นให้การคุ้มครองไปถึงการใช้ที่ยังไม่ถึงผู้ถูกใช้ (แต่ประเด็นตรงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า กฎหมายอาญาเข้าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากไปหรือไม่ เพราะยังห่างไกลจากการกระทำความผิดอยู่มาก)

            ส่วนความผิดฐานสมคบในประเทศที่ใช้กฎหมาย Common Law  การสมคบกันนั้นอาจเป็นความผิดเพียงมีการสมคบกันเพียงแค่ 2 คนขึ้นไป แต่ตามกฎหมายอาญาไทย ต้องเป็นการสบคบกันถึง 5 คน และความผิดจะต้องมีโทษขั้นต่ำจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย


     1) ความผิดฐานพยายามกระความผิด
            มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองใน สามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

     2) ความผิดใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด
มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้ กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

     3) ความผิดฐานซ่องโจร (สมคบ)
มาตรา 210 “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมี กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน เป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่น บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

...............................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา




[1] รณกรณ์ บุญมี, ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น ; ศึกษาแนวความคิดของกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์ มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2551










กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้




108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส

No comments:

Post a Comment