Monday 24 December 2012

การพยายามกระทำความผิด (Attempt)


โดยหลักแล้วกฎหมายอาญาจะไม่ลงโทษกับผู้ที่คิดและตกลงใจในการกระทำความผิด แต่กฎหมายจะลงโทษกับการกระทำที่แสดงออกมาภายนอกแล้วเท่านั้น เพราะเป็นการยากที่จะทราบถึงความคิดภายในจิตใจของบุคคล แม้ผู้ที่คิดและตกลงใจในการกระทำความผิดจะได้แสดงเจตนาออกมาโดยการตระเตรียมที่จะกระทำความผิดตามที่ได้คิดไว้และตกลงใจ โดยหลักแล้วกฎหมายก็ยังไม่ลงโทษ เพราะการตระเตรียมกระทำความผิดนั้นยังไม่เป็นการแสดงออกที่น่าเชื่อถือได้อย่างเพียงพอถึงจิตใจที่เป็นอาชญากรอย่างแน่นอน แต่ก็ยกเว้นสำหรับความผิดบางฐานเท่านั้นที่กฎหมายลงโทษการตระเตรียมกระทำความผิด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงและจะสงผลเสียหายต่อความปลอดภัยของคนในสังคม เช่น ความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ ตาม ม. 219[2] แต่หากเป็นการพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดได้แสดงการกระทำออกมาภายนอก Overt Act) ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงเจตนาที่อยู่ภายในจิตใจ เป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการกระทำความผิด จนถึงขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว และการลงมือกระทำความผิดนี้เอง เป็นตัวแบ่งแยกการพยายามกระทำความผิดกับการตระเตรียมการกระทำความผิดออกจากกัน การลงมือกระทำความผิดเป็นการแสดงออกถึงเจตนาของผู้กระทำว่ามีเจตนาร้ายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง เช่น ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ หรือเสรีภาพ ฯลฯ
สำหรับประเทศไทย ยึดถือแนวคิดในเกี่ยวกับการพยายามกระทำความผิดตามแนวคิดใดนั้น พิจารณาได้จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 วรรคแรก [5] จะเห็นได้ว่า การพยายามกระทำความผิดเป็นการกระทำที่ผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดและได้กระทำโดยการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล แสดงว่าการพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยนั้น ใช้แนวคิดของฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) เพราะเจตนากระทำความผิดและได้แสดงเจตนานั้นผ่านการลงมือกระทำความผิด ผลจะเกิดหรือไม่ ก็มีความผิดแล้ว แต่บทบัญญัติของมาตรา 80 วรรค 2 ก็บัญญัติไว้ให้การพยายามกระทำความผิดระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมาย แสดงให้เห็นว่าโทษที่จะลงกับผู้พยายามกระทำความผิดไม่เท่ากับความผิดสำเร็จ(ทั้งๆ ที่เจตนาเท่ากัน) ซึ่งเป็นแนวความคิดของฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) ซึ่งโทษที่จะลงพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ
ข้อสังเกต : การพยายามกระทำความผิดนั้นหากมองจากแนวคิดของฝ่ายอัตตะวิสัย (Subjective) เจตนากระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันกับความผิดสำเร็จ การที่ความผิดจะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่นอกการควบคุมของผู้กระทำหรือเป็นเหตุบังเอิญเท่านั้น เช่น นายแดงเจตนาฆ่านายดำ จึงเอาปืนยิงนายดำ แต่ยิงไม่ถูก นายดำจึงไม่ตาย จะเห็นว่าการที่นายดำจะตายหรือไม่ตาย เจตนาของนายแดงไม่ได้แตกต่างกันเลย กล่าวคือชั่วเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเจตนาชั่วเหมือนกัน โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดควรจะต้องเหมือนกันกับความผิดสำเร็จ แต่หากมองจากฝ่ายภาวะวิสัย (Objective) ความเสียหายของการกระทำนั้นไม่เท่ากัน หากความเสียหายคือความตาย ผู้กระทำควรจะต้องถูกลงโทษหนัก แต่หากไม่ถึงตายผู้กระทำก็ต้องรับโทษเบากว่ากรณีที่ถึงตาย
การพยายามกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงเจตนาที่ชั่วร้าย เพียงแต่ผลของการกระทำยังไม่เกิดขึ้นและสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองยังไม่ถูกกระทบกระเทือน[6] เช่น มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองคือชีวิตมนุษย์ การพยายามกระความผิดเป็นการกระทำที่ยังไม่กระทบกระเทือนถึงชีวิต(ไม่ตาย) แม้การเป็นกรณีของการพยายามกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของเจตนาแล้ว ไม่ว่าผู้ถูกยิงจะตายหรือไม่ตาย เจตนาของผู้ที่ยิงก็เจตนาเดียวกัน ดังนั้นกฎหมายไม่ควรจะลงโทษการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่เพียงอย่างเดียว การกระทำที่ได้แสดงออกถึงเจตนาจนถึงขึ้นลงมือกระทำความผิดแล้วก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการลงโทษบุคคลที่มีเจตนาและลงมือกระทำความผิดต่อผู้อื่น และการลงมือกระทำความผิดก็เป็นการกระทำที่มีความเป็นไปได้สูงของการจะเกิดผลเสียหายต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง[7] และในขณะเดียวกันก็เป็นการยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดจนสำเร็จ (พยายามกระทำความผิดมีโทษน้อยกว่าความผิดสำเร็จ โทษที่ต่างกันมีผลต่อการยังยั้งไม่กระทำความผิดให้สำเร็จ กล่าวคือ การถูกลงโทษฐานพยายามกระทำความผิดเป็นผลดีต่อผู้กระทำมากกว่า)








            การที่กฎหมายลงโทษการพยายามกระทำความผิดนั้น เพราะผู้กระทำความผิดมีเจตนาที่ชั่วร้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรตำหนิได้ หากผู้กระทำความผิดไม่ได้มีเจตนาชั่วร้ายแต่อย่างใด แต่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน เช่น กรณีของการขับรถโดยเจตนาขับชนให้ตายกับการขับรถโดยประมาทชนคน ซึ่งทั้ง 2 กรณีนั้นผลของการถูกรถชนทำให้ผู้ที่ถูกชนนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งคู่ จะเห็นว่ากรณีของการขับรถโดยเจตนาให้ชนคนนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาชั่วร้าย และน่าตำหนิ ส่วนการขับรถโดยประมาทนั้นแม้จะน่าตำหนิได้เช่นเดียวกันที่ไม่ใช้ความระมัดระวังแต่ผู้กระทำก็ไม่ได้มีเจตนาที่ชั่วร้ายแต่อย่างใด ดังนั้นแม้ผลของการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน แต่ความรับผิดในทางอาญาก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะความผิดฐานพยายามจะมีได้ก็แต่เฉพาะความผิดที่ต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการพยายามกระทำความผิดนั้นจะต้องครบองค์ประกอบภายในเสมอ[9]
อย่างไรเป็นการกระโดยเจตนาก็พิจารณาจากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เป็นหลัก โดยเจตนานั้นมีองค์ประกอบ 2 ส่วน[10] คือในส่วนของการรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด และในส่วนของความต้องการประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำ การพิจารณาเรื่องเจตนาซึ่งอยู่ภายในจิตใจเป็นเรื่องอยาก ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากการกระทำของผู้กระทำที่ได้แสดงออกมาภายนอกว่าจิตใจของเขานั้นมีเจตนาอย่างไร ตามหลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ดังนั้นการจะทราบว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนาหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ หากเจตนาแล้วก็มีพยายามกระทำความผิดได้ เช่น
จำเลยขับรถยนต์บรรทุกดินลูกรังสูงเกินกำหนด พอถึงจุดตรวจซึ่งมีแผงเหล็กเครื่องหมาย 'หยุด' ตั้งอยู่กลางถนนเจ้าพนักงานตำรวจได้เป่านกหวีดและให้สัญญาณให้จำเลยหยุดจำเลยกลัวถูกจับจึงไม่หยุดรถ แต่กลับเร่งเครื่องยนต์หลีกเครื่องหมายจราจรพุ่งเข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่ทางซ้าย 2-3 คน แต่เจ้าพนักงานตำรวจกระโดดหลบเสียทันดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่า รถยนต์ที่จำเลยขับพุ่งเข้าใส่เช่นนั้นจะต้องชนเจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่ในถนนถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,80
            อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเมื่อผู้กระทำความผิดคิดและตกลงใจในการกระทำความผิดได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือกระทำอย่างที่ได้ตกลงใจนั้น สิ่งที่ได้กระทำออกมานั้นหากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วก็หาใช่เป็นการกระทำความผิดแล้วเสมอไปไม่ เช่น เมื่อนายแดงตกลงใจที่จะฆ่านายดำได้แล้ว นายแดงจึงไปหาซื้อปืนและไปแอบซุ่มดูลาดเลาแถวบ้านนายดำอยู่หลายวัน การกระทำของนายแดงดังกล่าวก็หาเป็นการกระทำผิดฐานฆ่าคนตายไม่ เป็นแต่เพียงการตระเตรียมในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเท่านั้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้ แต่ถ้าหากนายแดงเมื่อได้ปืนมาแล้วไปดักซุ่มนายดำอยู่หน้าบ้านนายดำ เมื่อเห็นนายดำเดินมาจึงเอาปืนเล็งไปที่นายดำกำลังจะยิง แต่ปรากฏว่ามีรถตำรวจขับผ่านมาก่อน นายแดงจึงไม่ยิงและหนีไป หรือนายแดงได้ยิงไปแล้วแต่กระสุนไม่ถูกนายดำ นายดำจึงไม่ตาย ทั้ง 2 กรณีนั้นถือว่านายแดงได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว เมื่อลงมือกระทำความผิดแต่ผลไม่เกิดตามเจตนา ก็เป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิดแล้ว
หลักนี้ถือว่าหากผู้กระทำได้กระทำ "ขั้นสุดท้าย" (last act) ซึ่งจำต้องกระทำเพื่อให้ความผิดสำเร็จ ถือว่าการกระทำนั้นใกล้ชิดต่อผลเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว ซึ่งพิจารณาฝ่ายของผู้กระทำความผิดเป็นหลักว่าได้กระทำที่ตนเองจำต้องกระทำเพื่อให้ความผิดสำเร็จหมดแล้วหรือไม่ หากได้กระทำไปหมดแล้ว รอแต่เพียงผลเกิดความผิดก็จะสำเร็จ ก็ถือว่าการกระทำสุดท้ายของผู้กระทำนั้นเป็นการการทำที่ใกล้ชิดต่อผลมากที่สุด เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว เช่น ต้องการยิงคนตายการที่ได้ลั่นไกปืน ถือว่าเป็นการกระทำขั้นตอนสุถดท้ายของการลงมือฆ่า หรือต้องการฆ่าคนโดยวางยาพิษ การที่เอายาพิษใส่ไว้ในอาหารรอแต่เพียงเหยื่อกลับมากินอาหารนั้นก็จะตายตามเจตนา การใส่ยาพิษในอาหารจึงเป็นการกระทำขั้นสุดท้ายของการวางยาพิษแล้ว หรือกรณีของการหลอกบุคคลที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด (Innocent Agent) เมื่อหลอกแล้วถือว่าได้ลงมือกระทำความผิด เพราะผู้กระทำได้กระทำเป็นขั้นสุดท้ายของตนเองแล้ว แม้ระยะเวลาระหว่างที่ผู้กระทำความผิดได้ลงมือกระทำขั้นตอนสุดท้ายของตนนั้นกับผลที่จะเกิดขึ้นยังไม่แน่นอนว่าจะใช้เวลาเท่าใดก็ตาม เช่น หลังจากใส่ยาพิษในอาหารแล้ว ไม่ว่าเวลาที่เหยื่อจะกลับมากินยาพิษนั้นจะนานเท่าใดก็ตามหรืออาจกลับมาแล้วอาจจะไม่กิน
หลักการนี้เป็นหลักการที่ปรากฏอยู่ใน Model penal code[15] โดยหลักการนี้พิจารณาการกระทำของผู้กระทำความผิดว่าได้กระทำขั้นตอนที่สำคัญ (substantial step) เพื่อให้บรรลุถึงการกระทำความผิดในฐานนั้นหรือยัง หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำในขั้นตอนที่สำคัญแล้วก็ถือว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหลักการนี้หากพิจารณาได้ความว่าเป็นการกระทำขั้นตอนที่สำคัญก็จะเป็นการลงมือกระทำความผิดเสมอ แต่ต้องมีพยานหลักฐานอื่นๆ เช่น คำรับสารภาพประกอบด้วย มาใช้พิจารณาประกอบเพื่อให้ทราบถึงเจตนาในการกระทำความผิด[16] เช่น การที่ผู้กระทำได้ไปดักรอผู้เสียหาย ตามหาตัวหรือติดตามผู้เสียหาย,การล่อให้ผู้เสียหายไปยังสถานที่ซึ่งจะใช้กระทำความผิด, การเข้าไปในสถานที่[17] สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ เป็นต้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขนย้ายข้าวออกนอกเขตต์จังหวัดสมุทรสาคร อันเป็นเขตต์กักกันข้าว ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.สำรวจและห้ามกักกันข้าว แต่โจทก์สืบพยานได้ความว่า ขณะจำเลยถูกจับนั้น จำเลยยังมิทันได้นำข้าวออกนอกเขตต์จังหวัดสมุทรสาคร ดังนี้ เมื่อจำเลยมีเจตนาและการขนย้ายข้าวได้กระทำลงจนใกล้ชิดกับผลสำเร็จอันพึงเห็นได้ประจักษ์แล้ว การที่กระทำผิดก็คือเจตนาและการกระทำขนย้ายข้าวเพื่อบ่งถึงผลสำเร็จในการนำออกนอกเขตกักกัน เมื่อการขนย้ายได้กระทำลงจนใกล้ชิดกับผลสำเร็จอันพึงเห็นได้ประจักษ์แล้วก็ลงโทษฐานพยายามได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง (ขณะถูกจับนั้นข้าวยังไม่ได้ออกนอกเขตจังหวัดแต่ได้ขนย้ายข้าวแล้ว ศาลใช้หลัก “ความใกล้ชิดต่อผล (The Proximity Rule)” มาใช้ในการวินิจฉัยนั้นเอง)
จำเลยพาผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงเดินทางจากที่พักไปยัง ท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยจำเลยประสงค์จะพาผู้เสียหายออกไปจากประเทศ ไทย เพื่อรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรม แต่จำเลยถูกจับกุมเสียก่อนที่ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ในขณะที่จำเลยกำลังเข้าแถวขอรับบัตรเลขที่นั่งเครื่องบินสำหรับจำเลยและผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการพาผู้เสียหายออกไปจากประเทศ ไทย และใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น พ้นขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามพาหญิงออกไปจากประเทศ ไทย เพื่อการรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80
(จะเห็นได้ว่าตามหลัก ความใกล้ชิดต่อผล (The Proximity Rule)” ถือว่าการลงมือกระทำความผิดนั้นคือการกระทำขั้นสุดท้าย “last act” ในข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาทั้งสองนี้การกระทำขั้นสุดท้ายของการนำเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักร และความผิดฐานพาหญิงออกไปจากประเทศ ไทย เพื่อการรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรม คือ การเข้าไปในนั่งในเครื่องบิน แต่ประกฎว่า จำเลยถูกจับกุมขณะอยู่ในพิธีการทางศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งยังไม่ทันได้ขึ้นเครื่องบิน นั้นแสดงให้เห็นว่าศาลไม่ได้ถือหลัก ความใกล้ชิดต่อผล (The Proximity Rule)” อย่างเคร่งครัดเช่นแต่เดิม ที่ว่าการลงมือกระทำความผิดนั้นต้องเป็นการกระทำที่ได้กระทำลงใกล้ชิดต่อผลสำเร็จอันพึงเห็นได้ประจักษ์ แต่ศาลได้พยายามขยายขอบเขตของการลงมือกระทำความผิดออกไปให้กว้างกว่าเดิมกว่าการกระทำขั้นสุดท้าย “last act” ซึ่งก็มีผลดีในแง่ของการมีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น
จำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่บริเวณซี่โครงซ้ายและไหล่ซ้ายและพยายามใช้อาวุธมีดปาดคอโดยเจตนาฆ่า จำเลยกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย การที่จำเลยยับยั้งไม่ใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้เสียหายต่อไปจนถึงแก่ความตาย จำเลยก็ยังต้องรับโทษสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ได้กระทำไปแล้ว ส่วนการที่จำเลยช่วยนำผู้เสียหายไปส่งโรงพยาบาลและดูแลผู้เสียหายในระหว่างที่รักษาตัวนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยบรรลุผลเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหาย ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแล้ว กรณีจึงมิใช่การกระทำความผิดของจำเลยยังไม่บรรลุผล ไม่เป็นการกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ในอันที่จะไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 82

            การถอนตัวออกจากการกระทำความผิดนั้น เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากผู้นั้นได้ลงมือกระทำความผิดไปแล้ว แต่ความผิดยังไม่สำเร็จ เหตุที่ความผิดไม่สำเร็จนั้นก็เป็นเพราะการกระทำของผู้กระทำผิดเอง ที่ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล โดยที่การยับยั้งเสียเองหรือกลับใจแก้ไขของผู้กระทำความผิดที่เกิดจากความสมัครใจเองหรือเพราะกลัวว่าจะรับโทษหนักขึ้นหากความผิดสำเร็จลง การที่กฎหมายอาญากำหนดให้ผู้ที่ได้พยายามกระทำความผิดนั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดที่ตนได้กระทำลงไป ซึ่งก็ส่งผลดีทั้งสังคมโดยรวมและผู้เสียหาย รวมถึงผู้กระทำความผิดด้วย เพราะการที่กฎหมายไม่ลงโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้กระทำความผิดที่ได้ลงมือกระทำความผิดแล้วนั้น เกิดยับยั้งการกระทำหรือแก้ไขไม่ให้ความผิดสำเร็จ เพราะหากเขาเลิกเสียแต่ตอนนั้นเขาจะไม่ต้องรับโทษ[26] และถือว่าเป็นการให้อภัยผู้กระทำความผิดที่ได้ยับยั้งหรือกลับใจแก้ไข ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปในอนาคตเพราะผู้กระทำความผิดรายนั้นมีแนวโน้มจะไม่กระทำความผิดเช่นนั้นอีก
            หลักการสำคัญของการถอนตัวออกจากการกระทำความผิดนั้นต้องปรากฏว่าความผินั้นยังไม่สำเร็จ กล่าวคือผู้กระทำความผิดได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ซึ่งผู้กระทำนั้นสามารถที่จะกระทำความผิดนั้นไปให้ตลอดได้แต่สมัครใจยับยั้งเสียเองไม่กระทำต่อไปให้ตลอด หรือหากกรณีที่ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่เพียงผลนั้นเกิดขึ้นตามที่เจตนา ผู้กระทำความผิดเกิดสมัครใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล และหากความผิดนั้นสำเร็จแล้วการยับยั้งหรือกลับใจก็ไม่อาจมีขึ้นได้ เช่น นายแดงต้องการทำร้ายนายดำ จึงเอาขวดตีหัวนายดำ ปรากฏว่าหัวนายดำแตก นายแดงเกิดสำนึกผิดจึงรีบพานายดำไปหาหมอ เช่นนี้ถือว่าความผิดตามที่นายแดงเจตนานั้นได้สำเร็จลงแล้ว(ความผิดบานทำร้ายร่างกาย ม.295) การที่นายแดงพานายดำนั้นหาใช้การกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำบรรลุผลแต่อย่างใด
            ไม่ต้องรับ โทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น หมายความว่า ความผิดที่ได้เจตนากระทำเมื่อได้ยับยั้งหรือกลับใจแก้ไข ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามการพยายามกระทำความผิดนั้น เช่น นายแดงต้องการฆ่านายดำ นายแดงลวงนายดำไปในป่า แล้วใช้ปืนยิงนายดำ นายดำถูกยิง แต่นายแดงเกิดความรู้สึกสงสารนายดำ จึงได้พานายดำออกจากป่าและส่งโรงพยาบาล นายดำจึงไม่ตาย เช่นนี้นายแดงย่อมได้รับผลดีตาม ม.82 คือไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่านายดำ แต่การที่ได้กระทำไป แล้วต้องบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับ ความผิดนั้น ๆ ดังนี้เมื่อนายแดงใช้ปืนยิงนายดำ แม้ไม่ตายแต่ปรากฏว่านายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส นายแดงก็ต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม ม. 297[30]  เป็นต้น





กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส


กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

1 comment:

  1. ขอคัดลอกบทความ ไปทำรายงายได้ไหมคับ

    ReplyDelete