Monday 24 December 2012

การเขียนข้อสอบกฎหมาย




การเขียนข้อสอบกฎหมาย 


1. การทำความเข้าใจถึงความสำคัญเบื้องต้น 

     ผมขออธิบายให้เข้าใจไว้เพื่อความเข้าใจก่อนนะครับว่า ข้อสอบเป็นพยานหลักฐานอันแสดงถึงความรู้ ความเข้าใจในหลักกฎหมาย และความามารถในการนำหลักกฎหมายไปปรับใช้ได้ เป็นสิ่งที่อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบใช้วัดท่าน ดังนั้น ต่อให้เรามีความรู้ในเนื้อหาวิชาแต่ละวิชามากมายขนาดไหน จำได้ทุุกตอน เข้าใจทุกวรรค แต่ถ้าไม่สามารถที่จะเขียนให้อาจารย์ผู้ตรวจได้เข้าใจได้ ท่านก็จะไม่ได้คะแนน เพราะเราใช้ข้อสอบเป็นตัววัด สิ่งที่ยืนยันความรู้ความเข้าใจคือ ข้อสอบ ดังนั้นการเขียนข้อสอบจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนนกฎหมาย ที่วัดผลโดยการสอบด้วยการเขียนเป็นหลัก

2. การเขียนเป็นข้อสอบ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ 

     ที่บอกว่าเป็นศาสตร์ หมายถึงการเขียนข้อสอบเป็นสิ่งที่เรียนรู้และสอนกันได้ ไม่ว่าท่านจะจบสาขาใดมาก่อน จะสายวิทย์ คณิต หรือสายภาษา สังคม แต่การเรียนกฎหมาย จะต้องเขียนข้อสอบตามแบบการเขียนข้อสอบกฎหมาย ท่านจะต้องเรียนรู้ถึงรูปแบบการเขียน ส่วนประกอบของข้อสอบว่า ข้อสอบที่ดีนั้นจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง และที่บอกว่าเป็นศิลป์ หมายความว่า การจะเขียนข้อสอบได้ดีนั้น ท่านจะต้องหมั่นฝึกฝน จนชำนาญเหมือนคนที่ทำงานศิลป์ ไม่ว่าจะการสอบในระดับใด การเขียนตอบข้อสอบนั้นเหมือนๆ กันหมด จะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่เวลาที่มีในการเขียนข้อสอบ แต่ท่านจะต้องจำวิธีการเขียน การเริ่มต้น ควรจะเริ่มจากอะไร และสรุปสุดท้ายคืออะไร สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นนจบ ตามรูปแบบ ตาม Pattern ของการเขียนข้อสอบ ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ จนเจอข้อสอบไม่ว่าลักษณะใด เราก็สามารถเขียนได้ แม้เราจะตอบข้อสอบข้อนั้นไม่ถูก แต่รูปแบบต้องถูกไว้ก่อน


3. ก่อนที่เราจะสามารถเขียนข้อสอบกฎหมายได้ดีนั้น เราต้องมีลักษณะของข้อสอบที่ดีไว้เป็นแบบอย่างในการเขียนข้อสอบกฎหมายเสียก่อน ลักษณะของข้อสอบกฎหมายที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร

ข้อสอบกฎหมายที่ดีนั้น(เฉพาะการตอบข้อสอบแบบตุ๊กตา) ต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ 

ส่วนที่ 1. 

คือประเด็นปัญหา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงจากโจทก์ที่อยู่ในข้อสอบ ส่วนนี้ไม่ใช่การลอกโจทก์ซ้ำมา แต่เป็นการสกัดเอาประเด็น เพื่อให้ทราบว่ากำลังจะตอบประเด็นไหน และเพื่อจะได้นำหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตอบได้ตรงกับประเด็น

ตรงนี้ขอเน้นย้ำนะครับ ว่าไม่ใช่การลอกโจทย์ที่อยู่ในข้อสอบมาเพื่อให้คำตอบของท่านดูยาว ตอบได้เยอะ แต่ต้องพยายามสรุปเอาประเด็นสำคัญๆ ที่เราจะตอบ

ส่วนที่ 2.

คือหลักกฎหมายที่เราจะนำมาวินิจฉัยประเด็นปัญหาที่เราจะต้องการจะตอบ หลักกฎหมายนี้ไม่จำเป็นจะต้องเขียนหรือจำให้ได้เหมือนกับตัวบทกฎหมายในประมวล แต่สาระสำคัญควรจะครบ และท่านควรยกมาแต่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่จะตอบเพียงเท่านั้น ถ้าไม่ครบ คะแนนของท่านในส่วนนี้ก็จะหายไป แต่ถ้ายกมาเกินก็ไม่ดี เพราะเมื่อหลักกฎหมายที่ยกมาไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา แสดงให้เห็นว่าท่านยังสับสนกับหลักกฎหมาย และอาจถูกหักคะแนนได้ รวมถึงจะเสียเวลาในการเขียนหลักกฎหมายนั้นๆไปด้วย

ข้อเน้นย้ำว่า ต้องยกหลักกฎหมายมาให้ครบ แต่อย่ายกมาเกิน

ส่วนที่ 3

ส่วนนี้หลายท่านเข้าใจว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการเขียนข้อสอบ แต่ความจริงแล้วการเขียนข้อสอบ ทั้ง 3 ส่วน สอดคล้องกัน เริ่มจากการตั้งประเด็นปัญหาได้ถูกต้อง ยกหลักกฎหมายถูกต้อง เมื่อมาถึงส่วนที่ 3 คือการนำข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายมาผสมกัน หรือมาวินิจฉัย โดยการเขียนอธิบายปรับข้อกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็จะได้คำตอบมา

ในส่วนนี้จะยากตรงการเขียนอธิบายการวินิจฉัย คนที่หมั่นฝึกเขียนข้อสอบจะสามารถเขียนในส่วนนี้ได้ดี กลมกลืนกัน และเขียนได้อย่างรวดเร็ว

สุดท้าย สรุป คำตอบ ซึ่งท่านผู้เขียนอาจจะเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ แต่แนะนำว่าควรจะเขียนสรุป คำตอบ ของท่านในแต่ละประเด็นไว้ เพื่อความชัดเจนของคำตอบ ในบางกรณีผู้ตรวจเองอ่านการวินิจฉัยคำตอบของผู้สอบแล้ว ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร การสรุปจะทำให้ผู้ตรวจได้เข้าใจในคำตอบของท่าน โดยเฉพาะท่านผู้เขียนด้วย ลายสือไทย อันอ่านยากด้วยแล้ว ต้องเขียนสรุปให้ผู้ตรวจด้วย ไม่ต้องยากว แค่บรรทัด หรือสองบรรทัด

.....................................................

ขอยกตัวอย่างการเขียนข้อสอบตามหลักการเขียนข้างต้นนะครับ

กรณีของแก่แต่ซิง ซึ่งเป็นภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายยุงบินชุม เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายยุงบินชุมตาย นางแก่แต่ซิงยังไม่ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน นางแก่แต่ซิงยังคงเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่นายยุงบินชุมถึงแก่ความตาย ซึ่งตามหลักของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรค 2 “คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง” ดังนั้นเมื่อปรากฎว่านายแก่แต่ซิงยังมีชีตอยู่ขณะนายยุงบินชุม ถึงแก่ความตาย นางแก่แต่ซิงจึงเป็นทายาทโดยธรรม แม้จะมีข้อเท็จจริงว่านางแก่แต่ซิง ได้ทิ้งร้างกับนายยุงบินชุมก็ตาม ก็ไม่ทาให้เสียไปซึ่งสิทธิในการรับมรดกของกันและกัน ตาม มาตรา 1628 “สามีภริยาที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาด จากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกัน และกัน” ดังนั้นนางแก่แต่ซิงจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายยุงบินชุม

ท่านจะเห็นว่า การเขียนข้อสอบ นั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1.ประเด็นปัญหา 2. หลักกฎหมาย 3. การวินิจฉัยปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง

ไม่ว่าจะเขียนข้อสอบกฎหมายในระดับใดก็ควรจะต้องจำรูปแบบหรือลักษณะการเขียนข้อสอบแบบนี้ไว้ แม้ว่าคำตอบของท่านจะผิด ตอบไม่ถูกธงคำตอบแต่การตอบข้อสอบให้ได้แบบนี้ ท่านจะได้แคแนนหลักกฎหมาย(ถ้ายกมาถูกต้อง) และอาจได้คะแนนในส่วนวินิจฉัย แม้ท่านจะตอบผิด แต่มีเหตุผลตามความคิดของท่าน ผู้ตรวจเองก็อาจให้คะแนนในส่วนนั้นได้

เอาไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ตอนต่อไปจะเขียนในส่วนของ ข้อควรระวัง และเทคนิคในการเขียนข้อสอบ ให้ได้คะแนนดี

ด้วยความปารถนาดี

............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment