Saturday 16 February 2013

การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง



การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง





1. ทำไมต้องห้ามไม่ให้มีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          คดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูง(ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา) ควรเป็นคดีที่มีความสำคัญซึ่งมีโทษตามกฎหมายค่อนข้างสูง ส่วนคดีเล็กๆ น้อยๆ เมื่อได้มีการต่อสู้คดีกันในศาลชั้นต้น จนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วควรจะเสร็จสิ้น หากปล่อยให้คดีอาญาขึ้นสู่การพิจารณาศาลสูงมากเกินไปทั้งคดีเล็กๆ น้อยๆ จะกลายเป็นภาระของศาลสูงซึ่งมีน้อย และหากปล่อยมีการต่อสู่กันในข้อเท็จจริงในคดีเล็กๆน้อยๆ ก็จะทำให้คดีต้องล่าช้า อันอาจส่งผลกระทบทั้งต่อโจทก์และโดยเฉพาะจำเลยที่ต้องเสียเสรีภาพในระหว่างการดำเนินคดี

          ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้คดีที่จะสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้จะต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท (จะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การห้ามไม่ให้มีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นการ screening คดีที่จะขึ้นสู่ศาลสูงนั้นเอง)

2. หลักเกณฑ์ของการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
     (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก
     (2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลง โทษไว้
     (3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษ ไว้ หรือ
     (4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท"
         
          โดยหลักแล้ว ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง หมายถึง การห้ามตามมาตรา 193 ทวิ ต้องเป็นการโต้แย้งเนื้อหาแห่งคำฟ้องหรือประเด็นแห่งคดี หากเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ เช่น การอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลที่ไม่รับฟ้อง, อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้งดสืบพยาน, กรณีร้องขอคืนของกลาง ตาม ป.อ.มาตรา 36 ไม่อยู่ภายใต้มาตรานี้ เพราะไม่ได้เป็นการโต้แย้งเนื้อแห่งคำฟ้องหรือเกี่ยวกับประเด็นแแห่งคดี

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง แล้วปัญหาข้อเท็จจริงคืออะไร ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้

          1. ปัญหาเกี่ยวกับการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลหรือดุลพินิจในการมีคาสั่งชี้ขาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

          2. ปัญหาใดที่ว่ามีพฤติการณ์หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะตอบได้โดยไม่ต้องดูตัวบทกฎหมาย

          3. ปัญหาที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดี

          4. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจ เช่น การลงโทษหนักเบา

โดยหลักแล้ว ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวหาก(ดูโทษเป็นสำคัญ)


          ในคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (หากคดีที่อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 3 ปีขึ้นไปหรือปรับเกิน 60,000 บาทขึ้นไป คู่ความย่อมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เสมอ )

          ข้อยกเว้น ถ้าหากคดีนั้นแม้จำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท(ต้องห้ามตามวรรค 1)  แต่ปรากฎว่าในคดีนั้น

          (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก
          (2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลง โทษไว้
           (3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษ ไว้ หรือ
          (4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท

          ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งแม้โทษตามวรรค 1 ไม่เกิน 3 ปี จำเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ 494/2551
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาเอารถยนต์ของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 หากโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับการพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นคนละกรณีกับสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์ ซึ่งการอุทธรณ์ดังกล่าวต้องพิจารณาจากอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือที่กล่าวในคำฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ลักรถยนต์ของโจทก์ไป และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาทเท่านั้น จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

จากคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้วางหลักไว้ว่า
ประเด็นที่ 1
          ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ความผิดฐานลักทรัพย์เหตุฉกรรจ์ ตาม ป.อ. มาตรา 335 หากโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 (ความผิดฐานลักทรัพย์) ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง (ลองอ่านมาตรา 192 ดูนะครับว่าทำไมจึงลงโทษได้)

ประเด็นที่ 2
          เมื่อศาลลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี โจทก์จึงต้องห้ามมิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง (เวลาดูโทษที่อุทธรณ์ว่าเกินหรือไม่ให้ดูโทษที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ในคดีมีข้อสังเกตว่าโจทก์บรรยายฟ้องเป็น 334 แต่ขอให้ลงโทษตาม 335 ซึ่งเมื่อไม่บรรยายฟ้องศาลก็ไม่อาจลงโทษ เพราะถือว่าเกินคำขอ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่โทษจำคุกไม่เกินสามปี)
          แต่ถ้าจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหากคดีนั้นโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องห้ามเช่นเดียวกัน แต่หากเป็นไปตาม(1)-(4) จำเลยอุทธรณ์ได้ฝ่ายเดียว เช่น ศาลลงโทษว่าจำเลยลักทรัพย์ ตาม มาตรา 334 ลงโทษจุกคุกจำเลย 6 เดือน จะเห็นว่าโจทก์นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามวรรค 1 แต่จำเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะเข้ากรณีตาม (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขัง แทนโทษจำคุก

ข้อสังเกตุ
          1. แม้ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สนมูลฟ้องเพราะผู้เสียหายไม่มีพยานมาสืบ หากจะอุทธรณ์ต้องพิจารณาตาม มาตรานี้

          2. ในกรณีมีหลายข้อหา
                    - ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยหลายข้อหา ให้พิจารณาว่าความผิดที่จำเลยกระทำหลายข้อห้านั้นเป็นเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรม(ต่างกรรมต่างวาระ)
                   - หากเป็นการกระทำหลายกรรมให้แยกพิจารณาเป็นกรรมๆไป ว่าแต่ละข้อหาแต่ละกรรมนั้นต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2522 การวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ หรือไม่ต้องพิจารณาความผิดแต่ละกระทง แม้ความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ศาลก็ต้องถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม)
                   - หากการกระทำนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท(เจตนาเดียว) ให้พิจารณาเฉพาะอัตราโทษของบทหนักสุดว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2521 การอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ความผิดตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับการกระทำในกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่งมีอัตราโทษในบทหนักตามมาตรา 289,80 ถึงจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้น จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193ทวิ)

                   * - แต่ถ้าหากโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจทก์ ฐานใดฐานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2535
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือและผ้าโสร่งไหม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรผ้าโสร่งไหมตามมาตรา 357 มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรสร้อยข้อมือด้วย ดังนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือ ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงในความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยข้อมือจึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 334 หรือรับของโจรตามมาตรา 357 เฉพาะเรื่องผ้าโสร่งไหมนั้นก็เป็นการกระทำคนละกรรมความผิดกัน ความผิดตามมาตรา 334 ในส่วนนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน ฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับผ้าโสร่งไหมโจทก์และโจทก์ร่วมคงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 เท่านั้น ในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฉบับ คงอุทธรณ์แต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าผ้าโสร่งไหมเป็นของโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่มีคำฟ้องอุทธรณ์ส่วนใดที่ได้แสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาจะมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานรับของโจรอันเป็นความผิดที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อพอที่จะอ้างอิงให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายอุทธรณ์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาฎีกาที่  6698/2554
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. มารดา ช. ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด แต่ก็พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 เพราะตามฟ้องโจทก์ระบุว่า ช. ได้รับอันตรายสาหัส ช. จึงเป็นผู้เสียหายแต่เฉพาะในข้อหาดังกล่าวเท่านั้น ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ซึ่งความผิดตาม ป. อ. มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ  จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบท บัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

..............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment