Wednesday 20 February 2013

Parties to Crime(ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด)

ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด
Parties to Crime


โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจน.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท., น.ม.(กฎหมายอาญา)



  แนวความคิดเกี่ยวกับ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

          ความรับผิดของผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น มาจากแนวความคิดเรื่อง ความผิดที่เป็นการเริ่มต้น (Inchoate Crime) ซึ่งการกระทำของผู้ใช้นั้นกฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่ไปก่อให้ผู้อื่นเกิดเจตนากระทำความผิดขึ้นมา แม้ว่าการกระทำความผิดนั้นจะยังไม่ทันได้กระทำลงผู้ใช้ก็มีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายแล้ว (ตามกฎหมายไทยรับโทษหนึ่งในสาม) ส่วนแนวความคิดเรื่องผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด กฎหมายประสงค์จะลงโทษคนที่มีส่วนร่วมในกากระทำความผิด ไม่ว่าจะมีส่วนมากหรือน้อยเพียงใด ก็ต้องรับโทษหากความผิดที่ตนเองได้มีส่วนร่วมได้กระทำลง ซึ่งผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมี 2 ประเภท คือ ตัวการ และผู้สนับสนุน

เพื่อให้เข้าใจในหลักการดังกล่าวขออธิบายตามกฎหมาย ของ Common Law ได้แยกผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดออกเป็น 4 ประเภท

          1. Principal in the first degree หมายถึง ผู้ลงมือกระทำความผิด เช่น เป็นคนยิง เป็นคนใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เป็นคนเอาทรัพย์ไป เป็นคนหลอกลวงเหยื่อ

          2. Principal in the second degree หมายถึง ตัวการ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด เช่น คนคอยดูต้นทาง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ (อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ)

          3. Accessory before the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้กระทำผิด "ก่อน" ที่จะมีการลงมือกระทำผิด แต่มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือใกล้กลับที่เกิดเหตุ

          4. Accessory after the fact หมายถึง ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว เช่น การช่วยเหลือให้หลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม

          ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย Principal in the first degree หมายถึง บุคคลที่เป็นผู้ร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิด ซึ่งเรียกว่า ตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

          ส่วน Accessory before the fact คือ บุคคลที่ให้การช่วยเหลือก่อนที่ผู้ กระทำผิดจะได้ลงมือกระทำผิด เช่น ให้ยืมอาวุธ ให้ยืมพาหณะ ซึ่งตามกฎหมายอาญาไทยเรียกว่า "ผู้สนับสนุน" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น" (ตามกฎหมายอาญาไทยการช่วยเหลือ ก่อน หรือ ขณะกระทำความผิด)

           ส่วน Accessory after the fact ที่ช่วยเหลือผู้ลงมือ "หลัง" จากได้ลงมือกระทำผิดแล้ว ตามกฎหมายอาญาของไทย ไม่ถือว่าเป็นความผิดร่วมกับผู้กระทำผิด เช่น หลังจากนายดำผู้กระทำผิดได้ลักทรัพย์แล้วกลัวตำรวจจับ หนีไปยังบ้านนายแดงซึ่งให้ที่หลบซ่อน แม้นายแดงจะทราบอยู่ก่อนแล้วว่านายดำไปลักทรัพย์มา นายแดงก็ยังให้ที่หลบซ่อน นายแดงก็ไม่ใช่ผู้สนับสนุนในความผิด ฐานลักทรัพย์ เพราะตามกฎหมายอาญาของไทย ผู้สนับสนุนหมายถึง ผู้ที่ให้การช่วยเหลือ ก่อน ที่จะลงมือกระทำผิดเท่านั้น หากเป็นการให้ความช่วยเหลือหลักจากระทำผิด ก็ต้องไปพิจารณาดูอีกทีว่า การกระทำของผู้ให้การช่วยเหลือ มีการบัญญัติเป็นความผิดไว้ต่างหากหรือไม่

          เช่น อาจมีความผิดฐานให้ที่พำนักหรือซ่อนเร้น ผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 "ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำ ความผิด หรือเป็นผู้ต้อง หาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
..................................


อ้างถึง ศ.ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย(English for Lawyer)

โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/0B0VwqdXbq_GSYk1tb2VUSUdKY1U/view?usp=sharing


แต่หากสนใจซื้อไปอ่านทั้งเล่มเชิญตามลิ้งด้านล่างครับ


คำค้นหา : ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน






No comments:

Post a Comment