Friday 22 February 2013

หลักการดำเนินคดีอาญา



หลักการดำเนินคดีอาญา






     เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นมาแล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐที่จต้องทำการปราบปรามความผิดที่ได้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐ โดยเฉพาะการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา เพื่อไม่ให้ประชาชนในรัฐใช้กำลังจัดการแก้แค้นกันเองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เหมือนแต่ก่อนจะมีการสถาปนารัฐเกิดขึ้น รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อจัดการกับความผิดดังกล่าว กลไกเช่นว่านี้ คือ กระบวนยุติธรรมทางอาญา เช่น การมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล

     โดยองค์กรต่างที่รัฐสร้างขึ้นมานี้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งมาจากหลัก The rule of Law อันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐ แต่รัฐเองก็ไม่สามารที่จะบัญญัติกฎหมายให้ครอบคุมได้ทุกกรณีหรือในบางกรณีรัฐก็ต้องปล่อยให้บางองค์กรสามารถใช้อำนาจได้ตามดุลพินิจบ้าง ตามความเหมาะสม ซึ่งหลักการพื้นฐานอันเป็นที่มาของการดำเนินคดีอาญาขององค์กรดังกล่าว มีพื้นฐานมาจากหลักการดังต่อไปนี้


1. หลักการดำเนินคดีอาญาตามตามกฎหมาย (Legality Principles)

     เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น และการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดอาญาแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เริ่มดำเนินคดีกับผู้ที่ได้การทำความผิดทุกกรณี โดยจะมีผู้ร้องทุกข์หรือไม่[1] ก็ต้องทำการสอบสวนฟ้องร้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างนั้น ไม่สามารที่จะใช้ดุลพินิจไปในทางอื่นได้ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแล้วอัยการจะถอนฟ้องคดีผู้นั้นต่อศาลไม่ได้ จะต้องดำเนินคดีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด[2] ซึ่งเป็นหลักประกันความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชน ว่าเมื่อใดก็ตาม หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แล้วประชาชนที่ได้กระทำความผิดนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีและเข้าสู่กระบวนยุติธรรมอย่างเดียวกัน  และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดทุกกรณีนั้นยังเป็นการป้องกันการใช้อิทธิพลเพื่อแทรกแซงการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนยุติธรรมด้วย และเมื่อเข้าสู่กระบวนยุติธรรมแล้ว ย่อมไม่อาจจะยุติการดำเนินคดีได้ เพราะถือว่าคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วตาม “หลักเปลี่ยนแปลงมิได้” ซึ่งถือเป็นหลักประกันในทางอาญา และเมื่อพิจารณาตามหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย(Legality Principles) แล้วจะเห็นว่ามาจากแนวคิดทฤษฏีแก้แค้น ซึ่งเปรียบเสมือนการดำเนินคดีอาญาของรัฐนั้นเปรียบเสมือนเป็นการแก้แค้นทดแทน ผู้ที่ได้กระทำความผิดแทนผู้เสียหาย



     การฟ้องคดีของอัยการในระบบนี้นั้นการพิจารณาว่าฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า การกระทำของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดอาญาครบถ้วนหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำครบองค์ประกอบความผิดจริงก็ต้องฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาลเสมอ และในบางกรณีหากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ศาลก็มีอำนาจที่จะเรียกสำนวนการสอบสวนไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และหากศาลมีความเห็นแตกต่างจากอัยการ ศาลก็มีอำนาจสั่งให้อัยการฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นต่อศาลได้

     หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย(Legality Principles) นั้นถือว่าเป็นหลักประกันความเสมอภาคให้กับประชาชนทุกคน หากมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดอาญาแล้ว ผู้นั้นต้องถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะกระทำความผิดด้วยเหตุใดก็ตาม ดังนั้นทำให้ตัดปัญหาเรื่องการใช้อิทธิพลในการเข้าแทรกแซงกระบวนยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรมก่อนจะถึงชั้นศาลไม่อาจจะใช้ดุลยพินิจในการไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่มีมูลได้ แต่หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายนั้นมีข้อเสีย คือ ไม่มีการกลั่นกรองคดีที่ขึ้นสู่ศาลทำให้มีประมาณที่ขึ้นสู่ศาลมีจำนวนมาก และเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายนั้นทำให้อัยการไม่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดี จะมีหน้าที่เพียงแต่เป็นผู้นำจำเลยฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น และเป็นการดำเนินคดีที่แข็งกระด้างเกินไปทำให้การดำเนินคดีอาญานั้นไม่ยืดหยุ่นและอาจไม่เหมาะสมกับสภาวะทางสังคม


2. หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle)
                   
     หลักการดำเนินตามดุลพินิจนั้น เป็นหลักที่ตรงกันข้ามกับหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจในการไม่ดำเนินคดีอาญาที่มีมูล ซึ่งปรากฏตามการสอบสวนและพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือมีมูลว่าน่าจะกระทำความผิด ซึ่งอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจเป็นคดีๆ ไป โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่อง หากมีเหตุที่ไม่สมควรจะฟ้องผู้ต้องหารายนั้นต่อศาล  เช่น อายุ บุคลิกภาพลักษณะ สภาพแวดล้อมของผู้กระทำผิดและองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งทำให้อัยการสามารถที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีกับผู้ต้องหารายนั้นได้ และจากหลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลยพินิจนี้แม้อัยการจะได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว หากเห็นว่าไม่ควรจะดำเนินคดีอาญากับจำเลยนั้นอีกต่อไป อัยการก็สามารถถอนฟ้องคดีนั้นจากศาลได้[3]
                   
     เนื่องจากการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นเป็นการเข้มงวดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้มีการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่ศาล การที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้อัยการสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีมีมูลได้นั้น เป็นการคลายความเข้มงวดของการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามทฤษฏีการลงโทษในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนแปลงไป จากการลงโทษที่มุ่งแก้แค้นทดแทน ซึ่งเรียกว่า “ทฤษฎีแก้แค้น (retributive theory) มาเป็นการลงโทษโดยมุ่งเพื่อ”การป้องกันทั่วไป”(General Prevention)[4] กล่าวคือ การลงโทษควรกระทำเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเห็นว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้นิ่งดูดายกับการกระทำความผิดอันนั้น และเป็นการเตือนบุคคลที่ยังไม่ได้กระทำความผิดให้ตระหนักว่าหากเขาได้กระทำความผิด เขาอาจะจะต้องถูกดำเนินคดี และการลงโทษยังต้องเหมาะสมกับการกระทำความผิดและความชั่วของผู้กระทำเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นกลับตัวกลับใจไม่กระทำความผิดต่อไป ซึ่งเป็นการลงโทษโดยมีจุดประสงค์เฉพาะ “การป้องกันพิเศษ” (Special Prevention)
                
     ข้อดีของการฟ้องคดีของอัยการที่สามารถใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีอาญาได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพสังคมแลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป[5] ทำให้อัยการสามารถที่จะกลั่นกรองคดีอาญาก่อนขึ้นสู่ศาลได้ หากคดีใดอัยการเห็นว่าการไม่ฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ก็จะช่วยกั่นกรองคดีที่ไม่สมควรจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ช่วยให้คดีอาญาไม่ล้นศาล และการสั่งไม่ฟ้องคดีมีมูลของอัยการยังสามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะคดีอาญาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างอาศัยกฎหมายอาญาเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง และคดีความผิดทางการเมืองนั้น ซึ่งผู้กระทำความผิดมีความแต่ต่างจากผู้กระทำความผิดอาญาทั่วไป อัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีความผิดอาญาทางการเมืองที่มีมูลได้ 





เฉลิมวุฒิ สาระกิจ 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยพะเยา




[1] คณิต ณ นคร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6. น. 401.
[2] ณรงค์ ใจหาญ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5. น. 33.
[3] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, “ดุลพินิจในการไม่ฟ้องคดีอาญาที่มีมูลของอัยการในสหรัฐอเมริกา” , วารสารนิติศาสตร์,  ปีที่ 10, ฉบับที่ 1, (พ.ศ. 2525). น. 160.
[4] คณิต ณ นคร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6. น. 402.
[5] ณรงค์ ใจหาญ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5. น. 34.

No comments:

Post a Comment