Friday 1 March 2013

ผู้เสียหายกับคุณธรรมทางกฎหมาย

ผู้เสียหายกับคุณธรรมทางกฎหมาย

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


ความผิดต่อทรัพย์ เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นการกระทำที่กระทบต่อทรัพย์ แต่เป็นการกระทำที่กระทบต่อกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของเจ้าของหรือผู้ที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่

ดังนั้นสิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง ไม่ใช่ตัวทรัพย์ที่เป็นแต่เพียงกรรมของการกระทำ แต่เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่อยู่เหนือตัวทรัพย์นั้นและนั้นคือ "คุณธรรมทางกฎหมาย (Rechtsgut)" (ศ.คร.คณิต ณ นคร)

เมื่อคุณธรรมทางกฎหมายถูกกระทบกระเทือน ผู้ที่เป็นเจ้าของคุณธรรมอันนั้นจึงถือว่ากระทบสิทธิและถือได้ว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีของเจ้าของทรัพย์ก็เป็นผูู้เสียหาย เพราะกรรมสิทธิ์ของเขาถูกกระทบกระเทือน

ในกรณีของผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของ แต่ได้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ เช่น ยืมหรือเช่ามา แม้เขาจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นก็ถือว่าเป็นผู้เสียหาย เพราะสิทธิครอบครองของเขาก็ถูกกระทบกระเทือนจากการที่มีคนมาลักเอาทรัพย์นั้นไปเช่นเดียวกัน
 

เพราะฉะนั้น หากเราเข้าใจว่า ความผิดอาญาในแต่ละฐานความผิด คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดในฐานนั้นๆ คืออะไร เราก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่า ใครเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบ้าง

กล่าวมาซะยาว คำถามว่าแล้วอะไรมันคือ คุณธรรมทางกฎหมาย(Rechtsgut) ที่ว่า


ศ.ดร. คณิต ณ นคร อธิบายไว้ว่า คุณธรรมทางกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้โดยใช้ประสามสัมผัสทั้งห้า แต่เป็นสิ่งที่เป็นภาพในความคิดหรือเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม กล่าวโดยเฉพาะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ (interesse หรือ interest) หรือเป็นสิ่งที่เป็น "คุณค่า" (Wert หรือ value)


ในการที่จะให้การอยู่ร่วมกันมนุษย์ทุกคนต้องเคารพและต้องไม่ละเมิดประโยชน์หรือคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า คุณธรรมาทางกฎหมาย คือ ประโยชน์หรือคุณค่าของการอยู่ร่วมกันที่กฎหมายคุ้มครองให้


ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมทางกฎหมายอีกเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

ตัวอย่างที่ 1. ความผิดฐานบุกรุก 
      คุณธรรมทางกฎหมายไม่ใช่ตัวบ้าน แต่สิทธิความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัยในบ้าน ย่อมเป็นของเจ้าของบ้านหรือผู้ที่ครอบครองบ้านหลังนั้นอยู่ การบุกรุกบ้านผู้อื่น เป็นการรบกวนและละเมิดคุณธรรมทางกฎหมาย ผู้บุกรุกจึงมีความผิดฐานบุกรุก

ตัวอย่างที่ 2. ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ 
     ตัวผู้เยาว์ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะผู้เยาว์เป็นกรรมของการกระทำ ไม่ใช่คุณธรรมทางกฎหมายที่กฎหมายคุ้มครอง สิ่งที่กฎหมายคุ้มครองคือ  อำนาจปกครองของบิดามารดาที่ย่อมมีอำนาจในการให้การศึกษาอบรม ตามหน้าที่ของบิดามารดา เมื่อมีผู้มาพรากผู้เยาว์ไป ย่อมกระทบต่อคุณธรรมดังกล่าว บิดามารดาของผู้เยาว์จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ ไม่ใช่ตัวผู้เยาว์

เรื่องคุณธรรมทางกฎหมาย ถ้าทำความเข้าใจให้ดี จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ว่า เมื่อความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว ใครเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนั้นบ้าง 

ถ้าเราศึกษาอย่างเข้าใจในเหตุผลของกฎหมาย เราก็สามารถใช้กฎหมายและตีความฎหมายได้อย่างถูกต้องครับ ไม่ต้องมัวไปนั่งจำคำพิพากษาฏีกาว่า ในแต่ละคดีตัดสินไว้อย่างไร ซึ่งบางฎีกาก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่า เป็นผู้เสียหายหรือไม่เป็นผู้เสียหายเพราะเหตุใด และประการสำคัญเราไม่ได้ศึกศาคำพิพากษาอย่างเป็นหลักกฎหมาย แต่ศึกษาในฐานะที่เป็นตัวอย่างการใช้และการตีความกฎหมายเท่านั้น

ลองนำวิธีการศึกษาแบบนี้ไปใช้ดูนะครับ



..........................................................


อ้างถึง....ศ.ดร.คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547


อ่านต่อ 

https://books.google.co.th/books/about/%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1_%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A_%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%B2.html?id=g0VRDwAAQBAJ&redir_esc=y

No comments:

Post a Comment