Sunday 3 March 2013

บทตัดพยาน (Exclusionary rule)




บทตัดพยาน (Exclusionary rule)



quiz พยานวิแพ่ง100 ข้อ

ตอนนี้เปิดให้ทำฟรี ลองเล่นดูได้เลยครับ
Deadline: 11:14pm, March 13 

เข้าเวป https://quizizz.com/join/

ใส่โค๊ด 907471



ตัวอย่างข้อสอบเนติบัณฑิต สมัย 62

ข้อ 8. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำจำเลยในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ พนักงานอัยการได้สืบพยานบางส่วน ดังนี้
     (ก) นำสืบนายแดงเบิกความว่า เป็นคนขับรถพานายดำกับพวกอีก 3 คนไปปล้นบ้านนายเหลือง โดย
นายแดงคอยดูต้นทางให้ ชั้นสอบสวนนายแดงถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยกันไว้เป็นพยาน
     (ข) นำสืบพนักงานสอบสวนเบิกความว่า นายดำให้การรับสารภาพว่าร่วมปล้นบ้านนายเหลือง และนำทรัพย์ที่ปล้นได้กับมีดที่พกติดตัวไปปล้นไปซ่อนไว้ที่วัด และได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตามทรัพย์ที่ปล้นและมีดมาได้ แต่ตอบคำถามค้านยอมรับว่า ก่อนสอบปากคำนายดำ ไม่ได้แจ้งเตือนนายดำว่าคำให้การของนายดำอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้
     (ค) นำสืบทรัพย์ที่ปล้นมาได้ และอาวุธมีดที่ใช้ในการปล้น

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการนำสืบในข้อ (ก) (ข) และ (ค) ได้หรือไม่

......................................



ขออธิบายตามหลักวิชาการนะครับ

ประเด็นตามข้อ ก. มีอยู่ว่า นายแดงหนึ่งในผู้กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาล ไม่ได้ฟ้องนายแดงด้วย โดยกันตัวนายแดงไว้เป็นพยาน คำเบิกความของนายแดงต่อศาลจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใด

ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีหลักการประการสำคัญอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่า "สิทธิจะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดี" หรือเรียกว่า เขามีสิทธิที่จะไม่ให้การปลักปรำตัวเอง ดังนั้นเมื่อเขามีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ เลยก็ย่อมทำได้ เป็นสิทธิของจำเลย การจะบังคับให้จำเลยให่้การย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยไม่สมัครใจ ถ้อยคำดังกล่าวก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้

ดังนั้นการที่จะให้จำเลยให้การซัดทอดจำเลยเองรวมถึงจำเลยคนอื่นด้วย ย่อมเป็นการขัดกับหลักการข้างต้น จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 "ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน" โดยมีหลักการดังข้างต้นที่ได้อธิบายไป ดังนั้นในคดีใดที่จำเลยถูกฟ้อง โจทก์จะอ้างจำเลยเป็นพยานฝ่ายโจทก์ไม่ได้

เว้นเสียแต่ว่า จะกันตัวผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งไว้เป็นพยาน กล่าวคือ คนที่กันตัวไว้เป้นพยานนั้นก็เป็นผู้ร่วมกระทำผิด แต่พยานหลักฐานที่มีอยู่ในสำนวนยังมีน้ำหนักน้อย ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดจริง ดังนั้น ถ้าหากผู้ร่วมกระทำผิดคนใดคนหนึ่งยินยอมที่จะเป็นพยาน ก็สามารถกันตัวไว้เป็นพยาน เพื่ออาศัยคำเบิกความดังกล่าวเป็นพยานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยในชั้นศาลได้ โดยไม่ขัดกับ ป.วิ.อาญา มาตรา 232 แต่อย่างใด เพราะไม่ได้อ้างจำเลยเป็นพยานโจทก์ คำเบิกความดังกล่าวย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้




ข้อสังเกตุ ในการกันตัวบุคคลใดไว้เป็นพยานจะต้องปรากฎข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิด หากมีพยานหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็น อีกทั้งการเลือกกันตัวผู้กระทำผิดคนใดไว้เป็นพยานต้องพิจารณาจากบุคคลที่มีส่วนกระทำความผิดน้อยที่สุด (ในข้อสอบข้อนี้ กันตัวนายแดงไว้เป็นพยาน เพราะนายแดงเป็นคนขับรถพาไปปล้นทรัพย์ถือว่าเป็นตัวการร่วมที่มีส่วนน้อยที่สุด)
 .........................................

ส่วนประเด็นข้อ ข. ดำให้การรับสารภาพว่าร่วมปล้นบ้านนายเหลือง และนำทรัพย์ที่ปล้นได้กับมีดที่พกติดตัวไปปล้นไปซ่อนไว้ที่วัด และได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตามทรัพย์ที่ปล้นและมีดมาได้ แต่ตอบคำถามค้านยอมรับว่า ก่อนสอบปากคำนายดำ ไม่ได้แจ้งเตือนนายดำว่าคำให้การของนายดำอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณา ได้

ประเด็นว่าคำให้การรับสารภาพของนายดำรัยฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เพราะมีปัญหาว่า ก่อนที่จะมีการสอบปากคำนายดำ ไม่ได้แจ้งเตือนนายดำว่าคำให้การของนายดำอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ซึ่งการแจ้งสิทธิดังกล่าวนั้นในทางกฎหมายวิธีพิจารณามีหลักการสำคัญอยู่ประการหนึ่งว่า "คำให้การทั้งหลายต้องเกิดขึ้นโดยสมัครใจ (Voluntary) หากคำให้การใดเกิดขึ้นโดยไม่สมัครใจ เราถือว่าคำให้การนั้นเป็นคำให้การที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ

อย่างไรถือว่าเป็นคำให้การโดยสมัครใจ คำให้การโดยสมัครใจที่เกิดขึ้นโดยชอบนั้น จะต้องมีการแจ้งสิทธิให้ทราบเสียก่อนว่า เขามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ คำให้การของเขานั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ เพื่อให้ผู้ต้องหาได้รู้ตัวว่าคำพูดของเขาจะมีผลต่อคดี เมื่อแจ้งสิทธิแล้ว ผู้ต้องหาจะไม่ให้การก็ได้ หรือจะให้การอย่างไรก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหา แม้จะโกหกก็ยังไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ

ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การ แก่ผู้ต้องหาก่อนทำการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัว และให้การโดยสมัครใจ หากไม่มีการแจ้งสิทธิก็ถือว่าเป็นคำให้การที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน

ซึ่งหลักการดังกล่าวถูกนำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 "ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

     (1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

     (2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

     เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

     ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้"



ส่วนประเด็นข้อ ค
ประเด็น คือ ผลจากคำให้การที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิแก่นายดำนั้นเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ที่ปล้นกับมีดที่พกติดตัวไปปล้นไปซ่อนไว้มาด้วย ปัญหาคือ พยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งสิทธิ เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้หรือไม่

ในทางกฎหมายวิธีพิจารณา พยานวัตถุเป็นพยานที่เราเรียกว่า พยานหลักฐานที่มีรูปร่าง (Tangible Evidence) ซึ่งคุณค่าของพยานชนิดนี้ คือ สิ่งที่วัตถุหรือพยานนั้นได้แสดงให้ศาลได้เห็นว่ามันมีรูปร่างอย่างไร ลักษณะ รายละเอียดของมันมีอยู่อย่างไร  โดยพยานวัตถุนี้ศาลจะรับฟังได้นั้นต้องเป็นพยานหลักฐานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น

ปัญหาว่าพยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่ไม่ชอบนั้น เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบหรือไม่

โดยพิจารณาได้ดังนี้หากพยานวัตถุนั้นแต่เดิมนั้น ไม่มีอยู่ แต่เพราะได้เกิดมีขึ้นมาเพราะการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นนั้นเอง เช่นนี้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยมิชอบ

แต่ตามข้อเท็จจริงการที่ทั้งทรัพย์ของกลางและมีดที่พกติดตัวไป เป็นพยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งสิทธิ เป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่จากการอันมิชอบแต่อย่างใด จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาโดยมิชอบ "เป็นผลไม้ของต้นไม้ที่มีพิษ" (Fruit of the Poisonous Tree)



ปัญหาต่อมา คือ พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยการกระทำที่ไม่ชอบนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

แต่เดิมนั้นเราก็ถือกันว่า พยานหลักฐานต้องเกิดขึ้นโดยชอบและได้มาโดยชอบด้วยจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ในหลายๆกรณีก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีพยานหลักฐานที่ชอบอยู่ แต่วิธีการได้มาไม่ชอบ ทำให้การปราบปรามอาชญากรรมไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดแนวคิดว่าเพื่อให้การปราบหรามอาชญากรรมมีประสิทธิภาพศาลอาจใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยไม่ชอบได้ เป็นเหตุผลของการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1(แก้ไขเมือ ปี พศ.51)

มาตรา 226/1 "ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสีย อันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
     ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
     (1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
     (2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
     (3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
     (4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด"


ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบอยู่นั้นเอง แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจได้ ตามเงือนไขที่กฎหมายกำหนด
 ....................................................

ธงคำตอบเน

(ก) นายแดงเป็นพยานบุคคลซึ่งสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ จึงสามารถรับฟังเป็นพยานบุคคล
ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้นายแดงจะถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหาแต่ก็มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงเป็นพยานโจทก์ได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 232

(ข) คำให้การของนายดำเป็นคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน
มิได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ และถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การ อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/4 วรรคท้าย

(ค) ทรัพย์ที่ปล้นมาได้และมีดของกลางเป็นวัตถุพยานที่ได้มาโดยอาศัยคำให้การของผู้ต้องหาที่มิได้รับ
แจ้งว่าคำให้การของเขาสามารถใช้ยันเขาในชั้นศาลได้ จึงเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ โดยหลักแล้ว ห้ามมิให้ศาลรับฟัง เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 กรณีนี้ วัตถุของกลางทั้ง 2 ชิ้น เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง และลักษณะการกระทำมิชอบของพนักงานสอบสวนเป็นเพียงการละเลยมิได้แจ้งเตือนสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นความผิดพลาดเล็กน้อย ศาลจึงรับฟังวัตถุของกลางทั้งสองชิ้นเป็นพยานหลักฐานได้


โปรดอ่าน
พยานหลักฐาน ตอนที่ 1
http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/1.html

พยานหลักฐาน ตอนที่ 2
http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/blog-post.html

คำรับสารภาพและคำซัดทอดของผู้กระทำผิดในชั้นถูกจับกุม
http://chalermwutsa.blogspot.com/2013/01/blog-post_7.html

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฎิปักษ์กับตัวเอง
http://chalermwutsa.blogspot.com/2013/01/1_16.html



...........................................

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

1 comment:

  1. ขอบคุณครับที่ติดตาม ^^

    ReplyDelete