Sunday 31 March 2013

วิธีจับปลากับการเรียน


วิธีจับปลากับการเรียน

เวลาคนหาปลาโดยการหว่านแห ต้องรอให้ปลาผุดน้ำขึ้นแล้วจึงหว่านไปตรงที่ปลาผุดน้ำนั้น แต่ก็ใช่ว่าหว่านไปแล้วจะได้ปลาแน่นอน มันอาจจะไม่ใช่ปลาก็ได้ที่ผุดน้ำขึ้นมา ผุดมาหลอกๆ หรือหว่านไม่ทันบ้าง ก็ทำให้หว่านพลาดไม่ได้ปลา

เหมือนคนเกร็งข้อสอบเลยครับ แนวข้อสอบที่เอามาเกร็งกันเหมือนน้ำผุด ที่เราคิดว่าปลาว่ายอยู่แถวนั้น แล้วเราก็หว่านแหลงไป ทุ่มอ่านแต่ตรงนี้ เรื่องนี้ เอามันตรงนี้แหล่ะ  เกร็งข้อสอบแบบนี้เหมือนหวานแหเมื่อเห็นน้ำผุด ก็อาจจะได้ปลา ถ้าปลามันอยู่ตรงนั้นจริงๆ แต่ก็ใช่ว่าจะได้เสมอไป ไม่แน่นอน

แต่ผมว่าก็ยังดีนะที่อุตสาห์เฝ้าสังเกตว่ามีน้ำผุดขึ้นมา ไม่หลับหุหลับตาหว่านแหออกไปมั่วๆ แต่ก็ต้องทำใจยอมรับว่า ขนาดของแหมันมีความกว้างจำกัด ไม่ครอบคลุม หว่านไม่ตรงก็ไม่ได้ปลา

ในการสอบทุกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ ต้องไม่ยอมเสี่ยงเลย ออกเรื่องไหนก็รู้เรื่อง เข้าใจ ครอบคลุมทั้งหมด อันนี้ปลอดภัยที่สุด ผ่านชัวร์ ผมเปรียบเทียบเหมือนการจับปลาโดยวิธีสูบน้ำออกให้หมด โอกาสที่จะจับได้ปลามีค่อนข้างชัวร์ ปลาเล็ก ปลาใหญ่ ถูกเราจับหมด แต่วิธีนี้ลงทุนค่อนข้างสูง โครงการใหญ่ ต้องทุมเทกำลังมาก

แต่ถ้าเราไม่สามารถใช้วิธีการแรกได้ ก็จับปลาโดยใช้ตาข่าย โอกาสที่จะจับปลาได้ก็มีมากกว่าการหว่านแห แต่ก็น้อยกว่าการสูบน้ำออก แต่วิธีการนี้ลงทุนน้อยกว่า ส่วนจะจับปลาได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตาข่ายที่เราจับปลามันห่างหรือถี่แค่ไหน ถ้าตาข่ายห่างมาก โอกาสที่ปลาจะหลุดรอดมันก็มีมาก ปลาเล็กๆน้อยๆ จะหลุดรอดไปหมด เหมือนรู้ทุกเรื่อง แต่รู้ไม่ลึกสักเรื่อง รู้หลักการทั้่วไป แต่พอเจอคำถามที่ลึกๆ แล้วมักจะตอบไม่ได้ แต่ถ้าตาข่ายถี่โอกาสที่ปลาจะหลุดรอดไปก็น้อย ซึ่งความถี่หรือห่างของตาข่ายตรงนี้แล้วแต่ความขยันของแต่ละคน

แล้วแต่เราจะเลือกว่าจะจับปลาโดยวิธีไหน การที่เราจะได้ปลาเยอะ ปลาน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา เพราะถ้ามันเป็นเรื่องของโชคชะตา คงไม่มีคนจับปลาที่เราเรียกว่า "พรานปลา"

.....................................
ด้วยความปารถนาดีครับ

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment