Friday 5 July 2013

กฎหมายอาญา "โครงสร้างความรับผิดทางอาญา (Structure of crime)

          โครงสร้างความรับผิดทางอาญา หรือ Structure of Crime มีความสำคัญในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของบุคคล ซึ่งต้องพิจารณาความรับผิดของบุคคลนั้นอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งเราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” เมื่อเราพิจารณาไปตามโครงสร้างนี้แล้ว เราจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าบุคคลนั้น ๆ จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ และต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่

1. โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของต่างประเทศ

          โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันไปตามแนวความคิดและกฎหมายอาญาของประเทศนั้น ซึ่งแยกโครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามระบบกฎหมายได้ 2 ระบบ คือ โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) และโครงสร้างความรับผิดทางอาญาของระบบวิวิวลอว์ (Civil Law) ซึ่งโครงสร้างความรับผิดทางอาญาของแต่ละระบบก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้างตามแนวความคิดและพัฒนาการทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งพิจารณาได้ดังต่อไปนี้


1.1 โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของคอมมอนลอว์ (Common Law)

          การที่จะวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายอาญาคอมมอนลอว์นั้น ก่อนอื่นต้องพิจารณาเสียก่อนว่าการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ (Element of Crime) โดยพิจารณาไปทีละส่วน คือ พิจารณาจากส่วนที่อยู่ภายนอก เสร็จแล้วจึงค่อยไปพิจารณาส่วนที่อยู่ภายในของผู้กระทำผิด โครงสร้างความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายนี้ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้วางโครงสร้างความรับผิดทางอาญาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือ Actus Reus และส่วนที่เป็นเจตนาร้ายหรือจิตใจที่ชั่วร้าย หรือ Mens Rea ซึ่งอยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำ[1]

          1. ส่วนที่เป็นการกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย (Actus Reus) หมายถึง การกระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ ว่าเป็นความผิด จุดเริ่มต้นของการพิจารณาความรับผิด คือ จะต้องมีการกระทำเพราะกฎหมายอาญามุ่งลงโทษสิ่งที่เป็นการกระทำจะไม่ลงโทษสิ่งที่เป็นความคิด

          ส่วนที่เป็นการกระทำ (Actus) ตรงกับคำว่า Act หมายถึง การกระทำส่วน Reus ตรงกับคำว่า Wrong หมายถึง ความผิดการกระทำตามกฎหมายคอมมอนลอว์ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ  


     1) อิริยาบท
     2) พฤติการณ์ประกอบอิริยาบท และ
     3) ผลของอิริยาบถและพฤติการณ์ประกอบอิริยาบถนั้น





         ส่วนที่เรียกว่าความผิด (Reus) เป็นการพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีกฎหมายบัญญัติว่าเป็น “ความผิด” หรือไม่ ซึ่งในที่นี้จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้าหากไม่มีกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด ก็ถือว่าขาดองค์ประกอบของความผิด การพิจารณาส่วนนี้เรียกว่า Reus
         
         2. เจตนาร้าย (Mens Rea) คือสิ่งที่บ่งบอกสภาวะที่แท้จริงของจิตใจอันเกี่ยวกับจิตใจที่ชั่วร้าย (evil mind) ของผู้กระทำ นอกจากนี้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คำว่า เจตนาร้าย หมายความครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็น การกระทำโดยเจตนา (intention) และส่วนที่เป็นการกระทำโดยประมาทโดยรู้ตัว (Recklessness) อีกด้วย
         สำหรับความเห็นของนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันเห็นว่า เจตนาร้าย (mens rea) มีอยู่ในส่วนของการกระทำโดยเจตนาและการกระทำประมาทโดยรู้ตัว (recklessness) ส่วนกรณีการประมาทธรรมดา (negligence) ยังมีข้อโต้เถียงกันว่าจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาร้าย (mens rea) หรือไม่

         ประมาทโดยรู้ตัว (recklessness) คือการที่ผู้กระทำรู้ถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดผลร้าย แต่ก็มิได้นำพา ละเลย ไม่ใส่ใจ อันเป็นการประมาทเลินเล่อ เช่น นายแดงรู้ทราบว่ารถของตนเบรกไม่ดี แต่ก็ยังฝืนขับไป และเกิดชนคนตายเพราะรถเบรกไม่อยู่ เป็นการกระทำโดยประมาทโดยรู้ตัว (recklessness)[2] เพราะรู้ถึงความบกพร่องของรถ แต่ยังฝืนใช้ไปม่ซ่อมให้ดี ตามกฎหมายคอมมอนลอว์ ถือว่ามีเจตนาร้าย (Mens Rea)

        แต่ถ้าเป็นกรณีประมาทธรรมดาหรือประมาทเพราะความผลั้งเผลอ (negligence) เช่น ขับรถด้วยความเร็วเพราะรีบกลับบ้านจนถึงทางแยกเบรกไม่ทัน ทำให้รถไปชนคนตาย เช่นนี้เป็นความประมาทธรรมดา (negligence) ไม่ถือว่ามีเจตนาร้าย (mens rea)






1.2 โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของซิวิลลอว์ (Civil Law)
        ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) เป็นระบบกฎหมายที่ใช้กันในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป อาทิ เช่น ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งมีพื้นฐานทางกฎหมายมาจากกฎหมายในยุคอาณาจักรโรมันที่มีอิทธิพลในยุโรป หลังอาณาจักรโรมันล่มสลาย กฎหมายของโรมันก็ถูกนำมาใช้ในประเทศต่าง ๆ ที่แยกเป็นอิสระ โดยการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นของตนเอง ซึ่งเรียกกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายนี้ว่า กลุ่มประเทศระบบกฎหมายแบบซิวิลลอว์




        แนวความคิดของสำนักกฎหมายอาญาแบบซิวิลลอว์ เห็นว่ากฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการลงโทษการกระทำผิดของบุคคลในสังคม จึงต้องพิจารณาถึงตัวผู้กระทำและการกระทำของบุคคลนั้นว่าเป็นการกระทำความผิดและสมควรถูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งลำดับหรือโครงสร้างในการพิจารณาความรับผิดทางอาญาของกฎหมายอาญา ซิวิลลอว์ ต้องพิจารณาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

       1) พิจารณาว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบตามองค์ประกอบของความผิดของความผิดฐานนั้นหรือไม่

       2) พิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นความผิดกฎหมาย (Rechtswidrigkeit) เช่น หากการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิด

       3) พิจารณาถึงความรู้ผิดชอบชั่วดี (Schuld) ของผู้กระทำว่าสมควรที่จะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่ เช่น หากผู้กระทำความผิดเป็นเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีกฎหมายก็ยกเว้นโทษให้ เป็นต้น

อ่านคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไปฉบับเต็มได้ที่ readawrite นะครับ


2. โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของไทย

        กฎหมายอาญาของไทยนั้นเป็นกฎหมายอาญาในรูปแบบของระบบประมวลกฎหมายหรือระบบลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิรูปกฎหมายสมัยรัชการที่ 5 ที่ทรงจัดให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่ให้มีความทันสมัยและได้รับการยอมจากนานาประเทศ ซึ่งได้นำระบบประมวลกฎหมายแบบประเทศซิวิลลอว์มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า โครงสร้างความรับผิดทางอาญาของไทยนั้นมีความแตกต่างไปจากโครงสร้างความรับผิดของทั้ง common law และ civil law บ้าง 

        เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในลักษณะ 3 คำพิพากษาและคำสั่ง ในมาตรา 185 "ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่าง คดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้ เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตาม กฎหมายให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควร ศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้" 


        จากมาตรา 185 ที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย เป็นที่มีมาของโครงสร้างความรับผิดทางอาญาของไทย ที่มีการแยกพิจารณาความรับผิดทางอาญาอย่างเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้



จะต้องพิจารณาตามโครงสร้างดังต่อไปนี้ คือ


     1. การกระทำครบองค์ประกอบความผิด

     2. ไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด

     3. ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ


พิจารณาตัวอย่าง

        ตัวอย่างที่ 1 นายแดงเอาปืนยิงเข้าไปในรถยนต์ของนายดำ เพราะเข้าใจว่าเบาะรถยนต์คือนายดำ นายแดงจะมีความผิดและต้องรับโทษหรือไม่

       ตัวอย่างที่ 2 นายแดงเอาปืนยิงนายดำ เพราะเห็นนายดำกำลังจะยิงนางขาวซึ่งเป็นกริยาของนายแดง นายแดงมีความผิดและต้องรับโทษหรือไม่

       ตัวอย่างที่ 3 นายแดงยิงนายดำ เพราะนายเขียวจับนางขาวซึ่งเป็นกริยาของนายแดงไปและขู่บังคับว่าหากไม่มานายแดงไมยิงนายดำจะฆ่านางขาว นายแดงมีความผิดและต้องรับโทษหรือไม่

       จากตัวอย่างทั้งสามกรณีนั้นไม่อาจจะวินิจฉัยได้ทันทีว่านายแดงมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ จนกว่าจะได้พิจารณาตามโครงสร้างความรับผิดอาญาทั้ง 3 โครงสร้างเสียก่อน

โครงสร้างข้อที่ 1 การกระทำครบองค์ประกอบความผิด


อ่าน การกระทำครบองค์ประกอบภายนอก click

          ความผิดอาญาทุกฐานความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอาญาอื่น ต้องมีองค์ประกอบความผิด (Element of Crime) เสมอ เพราะกฎ ซึ่งบุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาได้นั้นต้องมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละฐานนั้น
          1) การกระทำ
2) ครบองค์ประกอบความผิด
3) ผลของการกระทำมีความสัมพันธ์กับการกระทำ (causation)

1) การกระทำ
         การกระทำ หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก ที่ว่ารู้สำนึกหมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ (Under the force of mind) การเคลื่อนไหวร่างกายต้องผ่านขั้นตอนในการคิด ตัดสินใจ และกระทำตามที่ได้ตัดสินใจ เช่น นายแดงลื่นกำลังจะล้มจึงคว้าเอาเสื้อของคนที่ยืนอยู่ข้างหน้าจนเสื้อขาด จะเห็นว่าแม้จะใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที่แต่การกระทำดังกล่าวของนายแดงก็ผ่านขั้นตอนของการคิด ตัดสินใจ และกระทำตามที่ได้ตัดสินใจแล้ว จึงเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้บังคับของจิตใจ แต่หากเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ เช่น การละเมอ การชักกระตุก ไม่ใช่การกระทำ


          การกระทำทางอาญาไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเคลื่อนไหวร่างกายเท่านั้น การที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายถือว่าเป็นการกระทำได้ แต่การไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นจะต้องเป็นการไม่เคลื่อนไหว โดยมีหน้าที่ที่จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันไม่ให้ผลร้ายเกิดขึ้น หากไม่มีหน้าที่ต้องป้องกันผล แม้จะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกก็ไม่ถือว่ามีการกระทำ ซึ่งเรากระทำอันนี้ว่า “การงดเว้น”

2) องค์ประกอบความผิด (Elements of Crime)
          ความผิดอาญาแต่ละฐานความผิดล้วนต้องมีองค์ประกอบความผิดเสมอ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งในความผิดฐานนั้นแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดอาญา โดยที่องค์ประกอบความผิดแต่ละฐานนั้นต้องแยกพิจารณา 2 ส่วน คือ องค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายใน
          องค์ประกอบภายนอก  หมายถึง องค์ประกอบที่อยู่ภายนอกของความผิดแต่ละฐานสามารถพิจารณาและเห็นได้ภายนอก โดยความผิดแต่ละฐานจะมีองค์ประกอบภายนอกดังต่อไปนี้
1 ผู้กระทำ
2. การกระทำ
3 วัตถุแห่งการกระทำ
          พิจารณาตัวอย่างความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
           1. ผู้กระทำ คือ ผู้ใด
2. การกระทำ คือ ฆ่า
3. วัตถุแห่งการกระทำ คือ ผู้อื่น
          ความผิดฐานลักทรัพย์ มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
1. ผู้กระทำ คือ ผู้ใด
2. การกระทำ คือ เอาไป
3. วัตถุแห่งการกระทำ คือ ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          องค์ประกอบภายใน หมายถึง องค์ประกอบที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในจิตใจของผู้กระทำ ซึ่งเราจะพิจารณาส่วนที่อยู่ในจิตใจนี้ได้จากการกระทำโดยหลักการที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”
          มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติโดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
          ดังนั้นองค์ประกอบภายในจึงมี 2 ประเภท คือ 

1) เจตนา (Intention) 

2) ประมาท (Negligence)


อ่านเรื่อง องค์ประกอบภายใน click

1) เจตนา (Intention)
          การกระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ดังนั้นเจตนาจึงประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนรู้ และส่วนของความต้องการ ส่วนรู้หมายถึงรู้สึกนึกในการกระทำและข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ ส่วนของความต้องการ คือ การประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล

พิจารณาตัวอย่าง
         ตัวอย่างที่ 1 นายแดงขับรถยนต์มาด้วยความเร็วเห็นนายดำกำลังข้ามถนน นายแดงเคยมีเรื่องบาดหมางกับนายดำอยู่ก่อนหน้านี้ จึงเหยียบคันเร่งพุ่งชนนายดำ จนนายดำถึงแก่ความตาย กรณีนี้เป็นการกระทำโดยเจตนาประเภทประสงค์ต่อผล เพราะนายแดงประสงค์ให้นายดำถึงแก่ความตาย

         ตัวอย่างที่ 2 นายแดงขับรถยนต์มาด้วยความเร็ว เห็นนายดำกำลังเดินข้ามถนนอยู่ด้านหน้า แต่แทนที่นายแดงจะเหยียบเบรก นายแดงกลับบีบแตรและเหยียบคันเร่งโดยคิดว่าเมื่อนายดำได้ยินเสียงแตรแล้วจะหลบเอง แต่นายดำหลบไม่ทัน จึงถูกรถชนถึงแก่ความตายกรณีนี้แม้นายแดงไม่ได้ประสงค์จะชนนายนายดำ แต่ก็เล็งเห็นได้ว่า รถย่อมชนนายดำถ้านายดำหลบไม่ทัน เป็นการกระทำโดยเจตนาเช่นเดียวกัน

2) ประมาท (Negligence)

         การกระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

        ตามกฎหมายไทยนั้นไม่ได้มีการแยกลงโทษหนักเบาตามระดับของความประมาท แต่การลงโทษกรณีประมาทนั้นพิจารณาตามผลหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น หากประมาทเป็นเหตุให้คนตายก็ต้องรับโทษตาม มาตรา 291 ฐานกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่หากผลของการประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสก็รับโทษตาม มาตรา 300 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

3) ผลของการกระทำมีความสัมพันธ์กับการกระทำ (causation)

         บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาได้ต่อเมื่อเขาได้กระทำอันเป็นความผิดกฎหมาย หากเขาไม่ได้กระทำหรือไม่ได้เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เขาก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้น ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำของผู้กระทำด้วย เช่น นายแดงใช้ปืนยิงนายดำ นายดำได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา แม้นายดำจะไม่ได้ตายทันที แต่ความตายก็เป็นผลมากการกระทำของนายแดง ดังนั้นผลและการกระทำจึงมีความสัมพันธ์กัน นายแดงก็ต้องรับผิดในความตายของนายดำ

        แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผลที่เกิดขึ้นไม่มีความสัมพันธ์กับการกระทำ ผู้ที่กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น เช่น นายแดงวิ่งเอาไม้ไล่ตีนายดำ นายดำวิ่งหนี ขณะนั้นเป็นเวลาฝนตกทำให้ฟ้าผ่าถูกนายดำถึงแก่ความตาย กรณีอย่างนี้มีปัญหาให้พิจารณาว่าความตายของนายดำเกิดขึ้นจากการกระทำของนายแดงหรือไม่ หากพิจารณาได้ว่าความตายไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของนายแดง แต่เป็นเกิดขึ้นเพราเหตุสุดวิสัยฟ้าผ่า นายแดงก็ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งความตายของนายดำ

         ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล เมื่อมีปัญหาว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการกระทำนั้นหรือไม่ จะใช้ทฤษฎีทางกฎหมายอาญามาพิจารณา 2 ทฤษฎี คือ
1) ทฤษฎีเงื่อนไข (Condition Theory)
2) ทฤษฎีมูลเหตุที่เหมาะสม (Theory of Adequate Cause)


อ่านเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำแผลคลิก 

โครงสร้างข้อที่ 2 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด


          การกระทำใดที่ครบองค์ประกอบความผิดในฐานนั้น ๆ แล้ว (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 1) จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การกระทำความผิดนั้น มีกฎหมายยกเว้นความผิดไว้หรือไม่ หากมีกฎหมายยกเว้นความผิดไว้ การกระทำนั้นแม้จะครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ก็ถือว่าไม่เป็นความผิดอาญา ซึ่งเหตุยกเว้นความผิดมีหลายสาเหตุทั้งเหตุยกเว้นความรับผิดที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น รวมถึงเหตุยกเว้นความผิดตามหลักกฎหมายทั่วไป

1. เหตุยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา
     
     1.1 การการป้องกันโดยชอบตาม ม.68
     1.2 การทำแท้งในกรณีพิเศษ ม. 305
     1.3 การแสดงความเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ตาม ม.329 หรือการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนการพิจารณาคดีในศาลโดยคู่ความหรือทนายความตาม ม.331

2. เหตุยกเว้นความผิดโดยตามหลักกฎหมายทั่วไป

     2.1 ความยินยอมที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
     2.2 จารีตประเพณี

3. กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เช่น
     มาตรา 1347  เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อ และเอาไว้เสียถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด  ท่านว่าเจ้าของที่ดิน ตัดเอาเสียได้

     มาตรา 452 ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

     มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจการปกครองมีสิทธิ
          (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อกล่าวสั่งสอน

4. เหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
     มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรืคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำ ความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80


อ่านเรื่องเหตุยกเว้นความผิด คลิก


โครงสร้างข้อที่ 3 การกระทำนั้นไม่มีเหตุยกเว้นโทษ
          การกระทำใดที่ครบองค์ประกอบความผิดในฐานนั้นๆ แล้ว (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 1) และพิจารณาแล้วว่าการกระทำความผิดนั้นไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดไว้ (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 2 ) การกระทำนั้นถือว่าเป็นความผิดทางอาญาแล้ว แต่ทั้งนี้อาจมีเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดนั้นไม่ต้องรับโทษทางอาญาได้ ไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องถูกปรับ เป็นต้น ซึ่งเรียกเหตุดังกล่าวว่าเหตุยกเว้นโทษ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
          1. การกระทำโดยความจำเป็นตาม ม.67
          2. การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี ม.73 และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ม.74
          3. การกระทำความผิดของคนวิกลจริต ม.65
          4. การกระทำความผิดด้วยความมึนเมา ม.66
          5. การกระทำตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน ม.70
          6. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในบางความผิดระหว่างสามีกริยา ม.71 วรรค แรก


อ่านเรื่องเหตุยกเว้นโทษ คลิก



เหตุลดโทษ

          เหตุลดโทษนั้นไม่ได้อยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญา เนื่องจากโครงสร้างความรับผิดทางอาญานั้นเป็นโครงสร้างที่ใช้พิจารณาว่าผู้กระทำจะมีความผิดและต้องรับโทษหรือไม่ ดังนั้นเหตุลดโทษจึงอยู่นอกโครงสร้างความรับผิดทางอาญา แต่เมื่อพิจารณาผ่านโครงสร้างความรับผิดทางอาญาทั้ง 3  ข้อแล้ว ผู้กระทำมีความผิดและต้องรับโทษแล้ว แต่อาจมีเหตุลดโทษ ทำให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ก็ได้ เช่น
          1) ความไม่รู้กฎหมาย ม.64
          2) คนวิกลจริตซึ่งยังพอรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ม.65 วรรค 2
          3) ความมึนเมาซึ่งยังพอรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ม.66
          4) การป้องกันหรือจำเป็นโดยชอบ ม.69
          5) การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานระหว่างญาติสนิท ม.71 วรรค 2
          6) การกระทำความผิดของผู้ที่มีอายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 หรือ 18 แต่ไม่เกิน 20 ปี
          7) เหตุบรรเทาโทษตาม ม.78
          8) การกระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะ ม.72


อ่านเรื่องเหตุลดโทษ คลิก
👉บันดาลโทสะ

[1] ณฐัฐ์วฒัน์ สุทธิโยธิน, ทฤษฎีความรับผิดทางอาญา, สืบค้นจาก http://www.stou.ac.th/Schools/Slw/upload/41716_2.pdf

[2] ประมาทโดยรู้ตัว เป็นคนละกรณีกับประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นการประมาทที่มีลักษณะไปในทางที่บุคคลนั้นได้ทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่า ความเสียหายเกิดขึ้นได้ หรือหากระมัดระวังสักเล็กน้อย ก็คงได้คาดเห็นการอาจเกิดความเสียหายเช่นนั้น