Wednesday 11 December 2013

ความผิดต่อชีวิต


 
ความผิดต่อชีวิต
โดย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.ม.(กฎหมายอาญา), น.บ.ท.



ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส



บทนำ

สำหรับกฎหมายอาญาภาคความผิดส่วนใหญ่ในการจัดการเรียนการสอนจะเริ่มศึกษาความผิดในลักษณะนี้ก่อน เพราะสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่นักศึกษาได้รับรู้ข่าวสารเหตุการณ์อยู่โดยตลอด ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเป็นการกระทำความผิดต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อาจเกิดขึ้นได้โดยเจตนาหรือประมาทก็ได้ และมีความผิดในลักษณะนี้หลายฐานความผิด บางฐานความผิดมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งนักศึกษาจะต้องเข้าใจหลักเกณฑ์ความผิดแต่ละฐานว่าแตกต่างกันอย่างไร

ข้อสอบปรนัยความผิดต่อชีวิตและร่างกาย จำนวน 50 ข้อ ครอบคลุมทุกเนื้อหาและประเด็น



เข้าเวปไซด์ 
กรอก code 968990
(เปิดให้เล่นฟรีถึง 1 มีนาคม 2561 ครับ)

ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

องค์ประกอบความผิด
ฆ่า (kill)
ผู้อื่น (other person)
โดยเจตนา (Intent to kill)

การฆ่า (kill) หมายถึง การทำให้ตาย โดยไม่จำกัดวิธี เพียงแต่ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล การฆ่ากับผลของการฆ่าต้องสัมพันธ์กันตามหลักในเร่องของ causation โดยพิจารณาจากทฤษฎีกฎหมายดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีผลโดยตรงหรือทฤษฎีเงื่อนไข
2. ทฤษฎีมูลเหตุที่เหมาะสม
แดงเอาปืนยิงดำ โดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกบริเวณไหล่ของนายดำ ทำให้นายดำไม่ตายทันที แต่เนื่องจากนายดำเสียเลือดมากจึงเกิดภาวะช็อกและตายขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เราจะต้องพิจารณาว่าแดงทำให้ตายหรือไม่ หรือในกรณีที่แดงเอาปืนยิงดำโดยมีเจตนาฆ่าเช่นเดียวกัน แต่กระสุนปืนไม่ถูกดำ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายดำเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนหน้าแล้ว เมื่อได้ยินเสียงปืนก็เกิดตกใจหัวใจวายตาย แดงต้องรับผิดในผลแห่งความหรือไม่
แดงเอาปืนยิงดำโดยมีเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนถูกบริเวณไหล่ นายดำไม่ตายทันที นายดำรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากนั้นอีกสามเดือนนายดำไม่ยอมล้างแผลทำให้เกิดติดเชื้อถึงแก่ความตาย หรือในกรณีที่นายแดงเอาปืนยิงดำโดยมีเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายดำเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายดำเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษานายดำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายดำถึงแก่ความตาย ทั้งสองกรณีนายแดงต้องรับผิดในผลแห่งความตายของดำหรือไม่ และหากปรากฏว่านายแดงเอาปืนยิงดำ ด้วยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายดำเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายดำเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล บังเอิญโรงพยาบาลไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้โรงพยาบาลเป็นเหตุให้นายดำถูกไฟครอกตาย แดงยังต้องรับผิดในผลแห่งความตายหรือไม่



ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส



คำถามเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลทั้งสิ้น หากความตายของนายดำเกิดขึ้นเพราะการกระทำของนายแดง นายแดงย่อมต้องรับผิดในผลแห่งความตาย แต่หากไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนายแดง นายแดงก็ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการตายด้วย
การทำให้ตายสามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธี ทั้งวิธีการที่รุนแรงมีการใช้อาวุธ ยาพิษ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สุดแล้วแต่ผู้กระทำจะสรรหา อย่างที่ปรากฏตามข่าว แม้กระทั้งการฆ่าคนด้วยวาจาก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น หลอกคนเดินไปตกหลุม หรือทราบว่ามือปืนกำลังจะมาตามฆ่าคนอยู่ ก็หลอกคนที่ถูกตามฆ่าไปหามือปืน ให้มือปืนยิงตาย  
ผู้อื่น (other person) หมายถึง บุคคลที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิดเอง ดังนั้นการฆ่าตนเอง หรือพยายามฆ่าตนเองจึงไม่มีความผิด เพราะไม่อาจครบองค์ประกอบความผิดภายนอกได้ อีกทั้งผู้อื่นหมายถึงบุคคลที่ยังมีสภาพบุคคลไม่ใช่ทารกในครรภ์ที่ยังไม่คลอดหรือศพที่ไม่มีชีวิตแล้ว
พิจารณาตัวอย่าง

ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส


นายแดงบ่นกับนายดำว่าต้องการฆ่าตัวตาย เนื่องมาจากทำใจไม่ได้ที่ลิเวอร์พูลทีมรักแพ้ นายดำสงสารจึงเอาเชือกให้นายแดงไปฆ่าตัวตาย
นายแดงบ่นกับนายดำว่าต้องการฆ่าตัวตาย เนื่องมาจากทำใจไม่ได้ที่ลิเวอร์พูลทีมรักแพ้แต่แมนยูดันชนะ นายแดงจึงขอร้องให้นายดำช่วยเอาเชือกรัดคอนายแดงให้ตาย
กรณีแรกเป็นการฆ่าตัวตาย ดังนั้นการฆ่าตัวตายไม่มีความผิดนายดำเอาเชือกให้ก็ไม่ใช่ผู้สนับสนุน ส่วนกรณีที่สองเป็นการฆ่าผู้อื่นไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ดำย่อมมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
ผู้อื่น ต้องมีสภาพบุคคลขณะถูกฆ่าด้วย การเริ่มสภาพบุคคล พิจารณาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา15 วรรค 1 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการคลอด หมายถึง การทำให้ทารกในครรภ์เป็นอิสระหลุดพ้นจากครรภ์มารดาทั้งหมดแม้ไม่ตัดสายรก
แต่หากมีการทำลายชีวิตที่อยู่ในครรภ์แต่ยังไม่คลอด จะถือว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เช่น การฆ่าทารกที่อยู่ในครรภ์ หรือการฆ่าทารกที่กำลังคลอด แม้ทารกในครรภ์หรือกำลังคลอดจะมีชีวิตแต่ตามสายตาของกฎหมายแล้วยังไม่มีสภาพบุคคล การฆ่าทารกในครรภ์หรือกำลังคลอดจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา มาตรา 288 ผู้กระทำมีแต่ความผิดฐานทำให้แท้งลูกเท่านั้น เนื่องจากความผิดฐานทำให้แท้งลูกกฎหมายคุ้มครองชีวิตในครรภ์มารดา



การอยู่รอด คือ การมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง ภายหลังจากคลอดออกมาแล้วแม้เพียงไม่นานก็ตาม ถ้าคลอดก่อนกำหนด เช่น ครรภ์เป็นพิษเป็นเหตุให้คลอดก่อนกำหนด ซึ่งขณะคลอดอายุครรภ์เพียง 5 เดือน แล้วทารกที่คลอดออกมานั้นหายใจอยู่ได้เพียงหนึ่งนาทีก็ตาย ก็ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคลเพราะการคลอดก่อนกำหนดมากๆ ในทางการแพทย์เด็กคนนั้นไม่อาจจะอยู่รอดได้ ไม่ถือว่าคลอดออกมาอย่างมีชีวิต
คำถามนายแดงเป็นสามีของนางขาว แต่นายแดงไปเป็นทหารอยู่ภาคใต้นาน ๆ จึงกลับบ้านที นางขาวด้วยความเหงาจึงแอบเป็นชู้กับนายดำ นางขาวเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา นายแดงกลับมาเห็นนางขาวท้องจึงโกรธแค้น ก่อนนางขาวคลอด นายแดงเอายาพิษให้นางขาวกินโดยหวังให้ชีวิตที่อยู่ในครรภ์ของนางขาวตาย เมื่อคลอดออกมา ปรากฏว่านางขาวคลอดทารกออกมา มีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 ช.มาตรา ก็ถึงแก่ความตาย นายแดงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่
ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยตาย
สภาพบุคคลสิ้นไปเมื่อตาย แต่เราจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายแล้ว แต่เดิมนั้นเราอาศัยการเต้นของหัวใจหรือการเต้นของชีพจร หากหัวใจยังเต้นอยู่หรือชีพจรยังเดินอยู่ถือว่ายังไม่ถึงแก่ความตาย แต่ว่าในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้สามารถกู้ชีพ (resuscitation) ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้วให้กลับมาเต้นอีกได้ แม้แต่การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation) ที่ต้องอาศัยการเต้นของหัวใจเพื่อให้อวัยวะที่ของผู้ตายมีเลือดไปเลี้ยงอยู่ ทั้ง ๆ ที่ผู้นั้นถึงแก่ความตายไปแล้ว ก็ยังสามารถทำได้
ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีความเห็นว่า การพิจารณาว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ พิจารณาว่าสมองตาย (brain death) หรือยัง หากบุคคลนั้นสมองตายแล้ว แม้จะยังหายใจอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจก็ถือว่าถึงแก่ความตายไปแล้ว[1] เช่น เมื่อแพทย์ตรวจจะใช้ไฟฉายส่องบริเวณตาของผู้ป่วย หากม่านตาไม่มีการตอบสนองถือว่าสมองตายแล้ว



ในบางกรณีสมองได้รับการกระทบกระเทือนและได้รับสมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น รถชนกัน เมื่อสมองได้รับการกระทบกระเทือน ร่างกายไม่อาจตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ ต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือที่เราเรียกกันว่า เจ้าชายนิทรา ซึ่งในทางการแพทย์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า  สภาพผัก (Vegetative state)[2]
การที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพผักนั้น แม้เขาจะไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ ต้องนอนเป็นเจ้าชายนิทราเพราะสมองได้รับการกระทบกระเทือน แต่ก็ไม่ใช่ภาวะสมองตาย (brain death) ดังนั้นการถอดเครื่องช่วยหายใจให้แก่ผู้ที่อยู่ในภาวะผักจึงไม่อาจทำได้ เพราะเป็นการเร่งการตายให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการทำเช่นนี้เรียกว่า การการุญยฆาต (Euthanasia) ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่[3]



เจตนาฆ่า (Intent to kill) หมายถึงผู้กระทำผิดมีเจตนาที่ทำให้ผู้อื่นนั้นถึงแก่ความตาย มุ่งหมายจะเอาชีวิตของผู้อื่นนั้นเอง ซึ่งหลักในการพิจารณาว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่ พิจารณาตาม มาตรา 59 ที่ผู้กระทำต้องรู้สำนึกในการกระทำและรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ และต้องการะทำโดยประสงค์ต่อความตายของผู้อื่นหรือย่อมเล็งเห็นผลการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้เจตนาฆ่า (Intent to kill) อาจะเป็นเจตนาที่โอนมา (transfer Intent) ตาม มาตรา60 ก็ได้
นายแดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ เข้าใจว่าเป็นหมูป่าจึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าความจริงคือนายดำ ที่เข้ามาหาหน่อไม้ นายดำถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย
นายแดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ นายแดงไม่ดูให้ดี เข้าใจว่าเป็นหมูป่าจึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าความจริงคือนายดำ ที่เข้ามาหาหน่อไม้ นายดำถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย
อาจารย์แดงเป็นหมอสักยันต์ชื่อดัง โดยเฉพาะด้านคงกระพัน นายดำหลงเชื่อจึงเข้ามาสัก เมื่อสักเสร็จจึงอยากลองวิชา นายดำจึงเอาปืนที่พกมาให้อาจารย์แดงลองยิงตัวเองดูว่าเข้าไหม อาจารย์แดงจึงเอาปืนนั้นยิงนายดำ ปรากฏว่าไม่เหนียว นายดำถึงแก่ความตาย
เจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายต่างกันอย่างไร
          เจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกันและการพิสูจน์เจตนาของผู้กระทำความผิดว่า ผู้กระทำความผิดมีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้ายกันแน่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในทางคดี เพราะผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ก็มักจะปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น เพื่อให้ศาลลงโทษตาม ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตาม มาตรา290 ซึ่งมีโทษเขากว่าความผิดฐานฆ่าตายโดยเจตนา และเมือเกิดปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนาใด ระหว่างเจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้าย จะพิจารณาแยกความแตกต่างของทั้งสองเจตนาอย่างไร
หลักในการพิจารณาเจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายนั้น นอกจากคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว ต้องอาศัยพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบเพื่อพิจารณาว่าผู้กระทำมีเจตนาใด เช่น ดูจากลักษณะของการการกระทำ ดูจากอาวุธว่าร้ายแรงเพียงใด หากอาวุธร้ายแรงเป็นปืนก็อาจจะแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้กระทำมีเจตนาฆ่า ดูจากลักษณะของบาดแผลว่าแผลที่เกิดขึ้นฉกรรจ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้จะต้องอาศัยพยานหลักฐานในการพิสูจน์ทั้งสิ้น
พิจารณาตัวอย่าง
นายแดงโกรธแค้นนายดำ เห็นนายดำอยู่หน้าบ้าน ห่างไปประมาณ 20 เมตร นายแดงเอาปืนที่พกมายิงนายดำ แต่นายแดงยิงไม่แม่น จึงไม่ถูกนายดำ นายแดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่
นายแดงด้วยความคึกคะนองเห็นรถวิ่งสวนทางมา เอาก้อนหินขนาด 1 กิโลกรัมโยนเข้าไป ทำให้รถคันนั้นกระจกแตก แต่ปรากฏว่าก้อนหินนั้นไม่ถูกใคร แดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่

ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส



ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเหตุฉกรรจ์
ความรับผิดทางอาญาในบางกรณีผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องจากผลที่เกิดขึ้นหนักกว่าเจตนาที่มี เช่น ต้องการทำร้ายร่างกายเท่านั้นแต่ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย หากผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลธรรมดาตาม มาตรา 63 ผู้กระทำก็ต้องรับผิดลในผลนั้นด้วย ผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นนี้เรียกว่า “ผลฉกรรจ์” แต่ในบางกรณีผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องจากเป็นเหตุที่กระทำนั้นกฎหมายกำหนดไว้หนักกว่าการกระทำความผิดธรรมดา เช่น การฆ่าบุพการีกฎหมายกำหนดไว้หนักกว่ากรณีฆ่าผู้อื่นที่ไม่ใช่บุพการี หรือการลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง เหล่านี้ถือเป็นเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น เรียกว่า “เหตุฉกรรจ์”

มาตรา 289 ผู้ใด
          (1) ฆ่าบุพการี
          (2) ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่
          (3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
          (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          (5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
          (6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
          (7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้
          ต้องระวางโทษประหารชีวิต
ความแตกต่างระหว่าง มาตรา 288 กับ 289
ความแตกต่างความผิดฐานฆ่าคนตายโดยมีเหตุฉกรรจ์ มาตรา 289 กับความผิดฐานฆ่าตายโดยเจตนา มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยมีเหตุฉกรรจ์เป็นเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะฉะนั้นต้องกระทำครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนามาก่อน กฎหมายมองว่าการฆ่าคนตายโดยมีเหตุฉกรรจ์นั้นสมควรลงโทษให้หนักขึ้นโดยกำหนดโทษประหารชีวิตสถานเดียวไม่มีโทษจำคุก  

(1) ฆ่าบุพการี
ฆ่าบุพการี หมายถึง ฆ่าบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป พิจารณาตามสายโลหิตยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ดังนั้นแม้บิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา แต่เป็นบิดาในความเป็นจริงก็ถือว่าเป็นบุพการีตามความหมายนี้ เหตุผลที่กฎหมายลงโทษหนักกว่าการฆ่าบุคคลธรรมดาก็มาจากหลักศีลธรรม คนที่สามารถฆ่าบุพการีของตนเองได้ถือว่ามีจิตใจที่ชั่วร้ายสมควรถูกลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว แต่การจะลงโทษผู้กระทำตามมาตรานี้ ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นการกระทำต่อบุพการีด้วย เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตาม มาตรา 62 วรรคท้าย “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จนั้น”
บุตรบุญธรรมฆ่าผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ถือว่าเป็นการฆ่าบุพการีตามมาตรานี้เนื่องจาก ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ใช่บุพการีเพียงแต่มีอำนาจปกครองบุตรตามกฎหมายแพ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันตามสายโลหิต
พิจาณาตัวอย่าง
นายแดงและนางขาวเป็นบิดาและมารดารของนายดำ นายดำเป็นคนชอบดื่มสุราและเมื่อเมาแล้วจะหาเรื่องทะเลาะกับบิดามารดาเสมอ วันหนึ่งนายดำได้พานายเขียวมากินเหล้าที่บ้าน และได้ขอเงินนางขาวเพื่อไปซื้อสุรา นายแดงจึงว่ากล่าวนายดำและนายเขียว นายดำและนายเขียวไม่พอใจนายแดงและด้วยความมึนเมา นายดำและนายเขียวจึงช่วยกันเอาจอบและเสียม ที่อยู่ใกล้ๆ ทุบหัวนายแดงไปคนละที เป็นเหตุให้นายแดงถึงแก่ความตาย นายดำและนายเขียวมีความผิดฐานใด
จะเห็นได้ว่ากรณีของนายดำมีความผิดฐานฆ่าบุพการี ตาม มาตรา 289 (1) เพราะเป็นการฆ่านายแดงที่เป็นบิดา ส่วนนายเขียวไม่มีความผิดฐานฆ่าบุพการี มีแต่เพียงความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาธรรมดาเท่านั้น เนื่องจากการฆ่าบุพการีเป็นเหตุเฉพาะตัวของผู้กระทำเท่านั้น นายแดงไม่ได้เป็นบุพการีนายเขียวด้วย
นายหนึ่งต้องการฆ่านายสองซึ่งเป็นบิดาของนายหนึ่ง จึงจ้างนายสามซึ่งเป็นมือปืนไปฆ่านายสอง นายสามยิงนายสองตาย กรณีนี้นายสองก็ไม่มีความผิดฐานฆ่าบุพการี ผิดฐานฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น แต่นายหนึ่งมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นฆ่าบุพการี และมีความผิดฐานฆ่าคนโดยต่างตรองไว้ก่อน
(2) ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่
ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยมีเหตุฉกรรจ์ตาม มาตรา 289 (2) กฎหมายต้องการให้ความคุ้มครองเจ้าพนักงานเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ให้ทางราชการมีความเสี่ยงที่จะถูกฆ่า เช่น เจ้าพนักงานตำรวจที่ปราบปรามพ่อค้ายาเสพติด เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดน เป็นต้น
เจ้าพนักงานความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง บุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือชั่วคราว และหมายความรวมถึงบุคคลผู้ทำหน้าที่ช่วยราชการ ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นเจ้าพนักงานเฉพาะกรณีด้วย ดังนั้นเจ้าพนักงานต้องมีการแต่งตั้งซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานอื่นที่มีกฎหมายแต่งตั้งก็ได้รับการคุ้มครอง
บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นเจ้าพนักงาน เช่น ไวยาวัชกร เจ้าคณะตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าพนักงานในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือวิธีพิจารณาความแพ่ง
บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ เช่น รัฐมนตรี ผู้พิพากษา อัยการแต่ไม่รวมถึงสมาชิกรัฐสภา ส.ส. ส.ว.
ในประมวลกฎหมายอาญาบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเจ้าพนักงานมี 2 กรณี คือ กรณีที่เจ้าพนักงานถูกกระทำผิด เช่น ความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 289 (2) ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 296 ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนัก ตามมาตรา 136 ความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138 อีกกรณีคือเจ้าพนักงานกระทำผิดความผิดอาญา เช่น ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามมาตรา 146 166 เป็นต้น
นอกจากเป็นเจ้าพนักงานแล้ว ยังต้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานคนนั้นต้องได้กระทำการตามหน้าที่ หมายถึง ผู้ที่ถูกฆ่าต้องเป็นเจ้าพนักงานและได้กระทำตามหน้าที่อยู่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำผิดจะต้องรู้ (รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่และรู้ว่าเขาทำหน้าที่อยู่) เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 62 วรรคท้าย
เพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่ กรณีนี้เป็นการฆ่าเพราะมีมูลเหตุจูงใจ เช่น เมื่อถูกตำรวจจับยาเสพติดแล้ว เมื่อพ้นโทษยังโกรธแค้นตำรวจคนนั้นอยู่ ได้ออกมาฆ่าตำรวจคนนั้นตาย
โกรธแค้นตำรวจคนนั้นอยู่ ได้ออกมาฆ่าตำรวจคนนั้นตาย แต่ตอนตายปรากฏว่าตำรวจคนนั้นได้เกษียณอายุไปแล้ว

(3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน การเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่จะได้รับคุ้มครองตามมาตรานี้ไม่จำเป็นที่ผู้นั้นเจ้าพนักงานจะต้องร้องขอให้ช่วยเหลือ แม้เจ้าพยักงานไม่ได้ขอให้ช่วย ก็ถือว่าเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานแล้ว เช่น ตำรวจกำลังวิ่งไล่จับคนร้ายอยู่ เห็นนายแดงจึงตะโกนขอให้นายแดงช่วยจับ แต่ปรากฏว่าคนร้ายได้ยิงนายแดงที่กำลังเข้ามาจับถึงแก่ความตาย คนร้ายย่อมมีความผิดฐานฆ่าผู้เหลือเจ้าพนักงานตาม มาตรา 289 (3)

(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
การฆ่าคนโดยไต่ตรองไว้กอนถือเป็นเหตุฉกรรจ์ของการฆ่าคนตายธรรมดา เนื่องจากเป็นการกระทำที่อำมหิตและเลือดเย็น เพราะไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว ในกฎหมายเก่า(กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127) เรียกการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนว่า "ฆ่าคนโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดร้าย" หรือ "with premeditation" 
การฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำที่ผู้ที่ลงมือได้คิดและทบทวนก่อนมีการลงมือฆ่า มีเวลาคิดไตร่ตรองว่าจะฆ่าหรือไม่ฆ่าดี และตัดสินใจที่จะลงมือฆ่าไว้ล่วงหน้า และไม่จำต้องไตร่ตรองนาน เช่น โต้เถียงกันในที่ประชุมแล้วเดินออกไปเอาปืนในรถมายิงคนในที่ประชุมตาย ก็ถือว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
การจ้างวานฆ่าหรือการไปดักรอฆ่า ถือว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเสมอ เนื่องจากมีการไตร่ตรองอย่างดีก่อนลงมือฆ่า แต่ถ้าเป็นการฆ่าโดยปัจจุบันทันด่วน เช่น ขับรถปาดหน้ากันแล้วควักปืนออกมายิง อย่างนี้เป็นกรณีฆ่าคนตายธรรมดาเท่านั้น
การฆ่าโดยการวางยาพิษ เป็นการฆ่าโดยไต่ตรองไว้ก่อนเสมอ เพราะต้องวางแผนหายาพิษ เอายาพิษไปใส่ในน้ำหรืออากรเพื่อให้ผู้อื่นกิน ดังนั้นจึงผิดมาตรา 289 (4)

คดีฆ่าปาดคอสาวใหญ่ ที่แท้ผัวแค้นมีชู้ บงการเพื่อนทำ

(5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
การฆ่าโดยทรมาน หมายถึง ไม่ต้องการให้ตายทันทีแต่ทำให้ได้รับทุกขเวทนาหรือให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัสก่อนตาย เรียกได้ว่าฆ่าให้ตายอย่างช้าๆ เช่น ใช้เชือกลากไปตามถนนจนตาย จุดไฟเผาในขณะที่ยังไม่ตาย ทำร้ายร่างกายแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมนำส่งแพทย์ให้นอนตายอย่างช้าๆ
โดยกระทำทารุณโหดร้าย พิจารณาจากความรู้สึกของคนทั่วไปว่าทารุณโหดร้ายหรือไม่ เช่น ฆ่ายกครัว ฆ่าหญิงที่มีครรภ์ ใช้เชือกรัดคอเด็ก กระทืบจนตายคาเท้า
พิจารณาตัวอย่าง
นายแดงต้องการฆ่านายดำ จึงเอามีดแทงนายดำหนึ่งทีที่กลางอก แล้วปล่อยให้นายดำตายช้าๆ อย่างนี้เรียกว่าฆ่าโดยทรมาน เพราะทำให้ตายอย่างช้าๆปล่อยให้ได้รัยทุกขเวทนาก่อนถึงตาย
นายแดงต้องการฆ่านายดำ จึงเอามีดแทงนายดำ 30 ทีที่บริเวณท้องจนนายดำถึงแก่ความตาย อย่างนี้ถือว่าฆ่าโดยทารุณโหดร้าย เพราะการแทงถึง 30 ทีเป็นการกระทำที่วิญญูชนทั่วไปรู้สึกว่าโหดร้ายทารุณ

(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น
การฆ่าผู้อื่นตาม (6) นี้ผู้ที่กระทำการฆ่ามีมูลเหตุจูงใจในการฆ่า เพื่อตระเตรียมการหรือฆ่าเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด เช่น ฆ่าชายที่ไปกับหญิง เพื่อจะข่มขืนหญิง ฆ่ายามเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในบ้าน ฆ่าเจ้าทรัพย์เพื่อจะได้ลักทรัพย์ เป็นต้น
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้
การฆ่าผู้อื่นตาม (7) ก็เช่นเดียวกับดารฆ่าผู้อื่นตาม (6) เพราะมีมูลเหตุจูงใจในการฆ่า โดยการฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เช่น ไปปล้นทรัพย์มาด้วยกัน แล้วฆ่าพรรคพวกที่ไปปล้นนั้นเสียเพื่อเอาทรัพย์ที่ปล้นมาเพียงคนเดียว หรือฆ่าผู้อื่นเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เช่น ลักทรัพย์ได้แล้วเจ้าทรัพย์จะมาเอาคืนจึงฆ่าเสีย หรือฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน เช่น เจ้าทรัพย์เสียงดังจึงฆ่าเสียเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ ฆ่าคนตายเพื่อหลบหนี ฆ่าตำรวจหรือเจ้าทรัพย์ที่ไล่ตาม เป็นต้น

ความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา
ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา คำว่า ไม่เจตนาในที่นี้หมายถึงไม่มีเจตนาฆ่าหรือเจตนาให้ถึงแก่ความตาย แต่ผลของการกระทำเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานนี้ลงโทษผู้ที่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่ผลการทำร้ายร่างกายนั้น เป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย เจตนามีเพียงแค่ทำร้าย ผู้กระทำจึงไม่อาจจะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้ เพราะความผิดฐานฆ่าคนตายนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาฆ่า ส่วนความผิดฐานนี้ผู้กระทำจะต้องมิได้มีเจตนาฆ่า แต่มีเจตนาเพียงแค่ทำร้ายเท่านั้น
ส่วนผลของความผิดฐานฐานนี้คือ ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเกินไปจากเจตนาของผู้กระทำผิด (เจตนาทำร้าย ผลที่ควรจะเกิดควรจะเพียงแค่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น) ดังนั้นเมื่อผลที่เกิดขึ้นเกินไปกว่าเจตนาของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่ในผลที่ได้เกิดขึ้น พิจารณาโดยอาศัย มาตรา 63 "ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นได้" ดังนั้นถ้าผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ เกินไปกว่าเจตนาก็พิจารณาโดยดูว่า ผลที่เกินไปนั้น ตามธรรมดาแล้วสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าคำตอบที่ได้ คือ สามารถเกิดขึ้นได้(ทำร้ายแล้วตายเป็นผลธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้) ผู้กระทำต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้นตามไปด้วย
แต่ถ้าหากคำตอบที่ได้คือ ผลที่เกิดขึ้นนั้น ตามธรรมดาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น มาตรา 290 จึงเป็นบทหนักของมาตรา 295 เพราะเหตุที่ความตายเกิดจากการทำร้ายร่างกายตาม ประมวลกฎหมายอาญา 295
มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
          ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี

องค์ประกอบความผิด
ผู้ใด
ทำร้าย
ผู้อื่น
องค์ประกอบภายใน
มิได้มีเจตนาฆ่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6635/2554 ผู้ตายฝ่ายหนึ่งและจำเลยทั้งสามกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ดังนั้น แม้ฝ่ายจำเลยจะมีหลายคน แต่เมื่อสามารถรับรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ การที่ผู้ตายถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายจึงมิใช่เป็นการตายอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามถือได้ว่า ต่างมีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายผู้ตายมาแต่แรก ดังนั้น แม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายเพราะถูกฝ่ายจำเลยแย่งมีดไปฟันในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยไม่รู้ว่าจำเลยคนใดเป็นผู้ฟันผู้ตายแต่จำเลยทั้งสามก็ยังต้องมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9171/2553 โจทก์ฟ้องฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ฐานทำให้เสียทรัพย์ ฐานร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้เสียทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสาม และมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทอีกกระทงหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกันได้จากความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
*คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2532 จำเลยใช้ไม้ตีผู้ตาย เมื่อผู้ตายล้มลงก็เข้าไปกระทืบซ้ำ และเมื่อจำเลยต้อนผู้ตายไปติดอยู่ที่รถปิกอัพ จำเลยก็จับศีรษะผู้ตาย โขกกับเสาเหล็กโครงหลังคารถปิกอัพ ยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาฆ่า คงถือได้เพียงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้าย ก่อนถูกจำเลยทำร้ายร่างกายผู้ตายยังมีอาการปกติดีอยู่ กลับถึงแก่ความตายหลังจากถูกจำเลยทำร้ายเพียง 17 ชั่วโมง แม้แพทย์เห็นว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคตับแข็ง มิได้ตายเพราะบาดแผลที่ถูกจำเลยทำร้าย ก็ถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกจำเลยทำร้าย เพราะทำให้ถึงแก่ความตายเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก
ผลของการกระทำเกินเจตนา มาตรา 63 หรือพิสูจน์เจตนาฆ่าของจำเลยไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9413/2552 ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" นั้น มีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้น แตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก แล้ว หาใช่เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6315/2552 ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ต่อยจนเซไปแล้วและจำเลยที่ 2 แยกไปทำร้าย พ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่โดยลำพังพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงแต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6490/2548 แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายพอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมีมูลค่าไม่มากนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน เมื่อผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดดังกล่าวดูดถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรกว่าเหตุตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69

ความผิดฐานฆ่าคนโดยประมาท
ความผิดฐานฆ่าตายโดยประมาทหรือกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้กระทำ แล้วผลของการกระทำเป็นเหตุให้มีคนตายขึ้นมา ความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่ต้องการผล หากประมาทแต่ไม่มีคนตายผู้กระทำก็ไม่มีความรับผิด ถ้าผลของการประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องรับโทษในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300
มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท
องค์ประกอบความผิดภายนอก
ผู้ใด
กระทำ
ผู้อื่น
องค์ประกอบภายใน
ประมาท
ความหมายของการกระทำโดยประมาทมาตรา 59 วรรคสี่ กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9981/2554 การที่จำเลยเดินเรือโดยฝ่าฝืนประกาศกรมเจ้าท่า อันเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 วรรคหนึ่ง กับการที่จำเลยเดินเรือด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เรือลำเลียงที่จำเลยลากจูงมาโดนกับเรือบรรทุกสินค้า และผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2553 แม้จำเลยจะขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูง แต่จำเลยขับรถในทางเดินรถของตนโดยถูกต้อง ส่วน ส. มิได้จอดรถเพื่อรถกลับรถในช่องกลับรถอย่างในภาวะปกติธรรมดา หากแต่เป็นเพราะรถที่ ส. ขับเกิดเสียการทรางตัวแล้วหมุนเข้าไปในทางเดินรถของจำเลยและขวางรถที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด ในภาวะเช่นนั้นไม่ว่าจำเลยจะขับมาในลักษณะเช่นใดจำเลยย่อมไม่อาจจะหลบหลีกเพื่อมิให้ชนกับรถที่ ส. ขับได้ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูงและไม่ขับให้อยู่ในช่องเดินรถด้านซ้ายจึงมิใช่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2553 ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์กระบะแซงรถจักรยานยนต์ของ ป. ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตาย ขณะเดียวกันผู้ตายก็ขับรถจักรยานยนต์ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นเหตุให้รถชนกันเช่นนี้ จำเลยจึงขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายและผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไปได้
ข้อสังเกต
ความผิดฐานกระทำโดยประมาท ไม่มีความผิดฐานพยายาม เป็นความผิดที่ต้องการผล หากผลไม่เกิด ความรับผิดก็ไม่มี
ความผิดฐานกระทำโดยประมาทไม่มีตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ต่างคนต่างประมาท (ประมาทร่วม แต่ไม่ใช่ร่วมกันประมาท)

ความผิดฐานทำให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย
โดยปกติแล้วการฆ่าตัวเองหรือฆ่าตัวตายนั้นไม่มีความผิด เพราะเป็นการกระทำต่อตนเอง แต่ความผิดในฐานนี้คือไปทำให้ผู้อื่นต้องฆ่าตัวตายโดยมีเจตนาทำให้เขาฆ่าตัวตาย
มาตรา 292 ผู้ใดกระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตนในการดำรงชีพหรือในการอื่นใดเพื่อให้บุคคลฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
องค์ประกอบภายนอก
กระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกัน
แก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตนในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด
ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง(เงื่อนไขแห่งการลงโทษทางภววิสัย)
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา
เจตนาพิเศษ เพื่อให้บุคคลฆ่าตนเอง
กระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ Practicing the cruelty หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกัน (Practicing the cruelty or similar factor) หรือ Abuse, mistreatment แต่จะต้องกระทำทารุณจนต้องฆ่าตัวตายถึงจะมีความผิดฐานนี้ โดยพิจารณาจากคนธรรมดาทั่วไปว่า แค่ไหนถึงต้องฆ่าตัวตาย แต่ต้องไม่ใช่การฆ่าตัวตายเพราะการน้อยใจ หรือมีความต้องการฆ่าตัวตายอยู่แล้ว
บุคคลซึ่งต้องพึ่งตนในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด (The person have depended on him for subsistence or any other activities) คำว่าต้องพึ่งตนในการดำรงชีพหมายถึงหากไม่มีผู้ที่กระทำความผิดแล้วจะไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เช่นเป็นบิดามารดาที่ชราภาพต้องพึ่งบุตรในการดำรงชีพ หรือเป็นลูกต้องพึ่งบิดามารดาในการดำรงชีพ
การฆ่าตัวตาย (Suicide) ไม่จำเป็นจะต้องถึงแก่ความตายจึงจะมีความผิด ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเองผู้กระทำก็มีความผิดฐานนี้ ดังนั้นการฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายก็ถือว่าความผิดสำเร็จ
พิจารณาตัวอย่าง
แม่เลี้ยงเป็นผู้อนุบาล ดุด่าเฆี่ยนตีนางสาวสวย อายุ 15 ปี ให้ฆ่าตัวตาย จนนางสาวสวยผูกคอตาย แม้จะเป็นแม่เลี้ยงไม่ใช่มารดาตามกฎหมายก็ตาม แต่ถือว่าเป็นบุคคลที่ต้องพึ่งในการดำรงชีพ ดังนั้นย่อมมีความผิดฐานนี้ หรือเมื่อมีการเจ็บป่วยไม่พาไปรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยทนความเจ็บป่วยไม่ไหว ฆ่าตัวตาย เช่นนี้ก็มีความผิดเช่นกัน แต่ถ้าแม่ไม่ให้ซื้อไอโฟน 6S ให้ลูกจนลูกน้อยใจฆ่าตัวตายอย่างนี้แม่ไม่ความผิด

ความผิดฐานช่วยเหลือยุยงให้ฆ่าตัวตาย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการฆ่าตัวตายไม่มีความผิด เพราะกฎหมายถือว่าเป็นการกระทำต่อตนเอง แม้ผู้ที่ช่วยเหลือยุยงให้ฆ่าตัวตายก็ไม่มีความผิด แต่สำหรับเด็กที่อายุไม่เกินสิบหกปีหรือบุคคลซึ่งไม่สามารเข้าใจการกระทำของตนได้ กฎหมายถือว่ายังเป็นบุคคลที่สติไม่บริบูรณ์ อาจถูกชักจูงได้ง่าย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ใดชักจูงให้เด็กหรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจการกระทำของตนได้ จึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษ
มาตรา 293 ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปีหรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้ เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับความผิดฐานช่วยเหลือยุยงให้ฆ่าตัวตาย (มาตรา293)

องค์ประกอบภายนอก
ช่วยหรือยุยงให้ฆ่าตนเอง
เด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปีหรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้
ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา
ช่วยหรือยุยงให้ฆ่าตนเอง เช่น ช่วยเหลือโดยหาอุปกรณ์ในการฆ่าตัวตายเด็กน้อยใจพ่อแม่มา แกล้งพูดยุให้เด็กฆ่าตัวตาย พูดโกหกว่า หากฆ่าตัวตายพระเจ้าจะมารับไปอยู่ด้วย เป็นต้น

ความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้มีผลให้คนตาย
ความผิดฐานเข้ร่วมในการชุลมุนต่อสู้แล้วผลจากการชุลมุนนั้นเป็นเหตุให้มีคนตายขึ้นมาผู้เข้าร่วมจะมีความผิดฐานนี้ เพราะการชุลมุนต่อสู้กันนั้นไม่สามารถแยกออกได้ว่าใครเป็นใคร และไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
มาตรา 294 ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคน ขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
            ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการ ชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
องค์ประกอบความผิดภายนอก
เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป
บุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา
เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป การเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ affray ต้องไม่สามารถแบ่งฝ่ายได้ หากเป็นการยกพวกตีกันแบ่งฝ่ายได้ชัดเจนไม่ใช่ชุลมุนต่อสู้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2542 จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 มีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายผู้ตาย กับพวกมาแต่แรกอีกทั้งได้ลงมือทำร้ายผู้ตายกับพวกโดยร่วมกัน ชกต่อยและใช้ไม้ตี ถึงแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายเพราะถูกแทง โดยไม่รู้ว่าจำเลยคนไหนเป็นคนแทง จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 ก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตาย กับพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน แม้แต่ละฝ่ายมีหลายคนแต่เมื่อสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ หาใช่เป็นความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตายไม่
ตั้งแต่สามคนขึ้นไป (ทั้งสองฝ่าย)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2541 จำเลยที่ 1 กับพวกเพียง 5 คน นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทาง ส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คนที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกอาศัยพวกมาก ขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง หาใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ไม่ การที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัดและใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวาง มิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจาก การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2537 แม้จำเลยจะมีพวกน้อยกว่า แต่จำเลยกับพวกมีทั้งอาวุธปืนและอาวุธมีด น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกไม่ได้เกรงกลัวโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย การทะเลาะวิวาทระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นการสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจอ้างเรื่องป้องกันตัวมาเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้ว่าในระหว่างการวิวาทกันนั้นจำเลยอาจเพลี่ยงพล้ำไปบ้างก็ตาม และกรณีที่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่ง และจำเลยกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งได้เกิดวิวาททำร้ายกัน และจำเลยใช้อาวุธปืนพกที่ติดตัวไปยิงโจทก์ร่วมกับพวกและใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเช่นนี้เป็นคนละกรณีกับเรื่องชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพราะกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายโจทก์ร่วมและการที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงโจทก์ร่วมกับพวก กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและพลาดไปถูกผู้อื่นถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2535 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,288,295ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้ตายถึงแก่ความตายในที่ชุลมุนต่อสู้นั้น โดยไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำให้ตาย ดังนี้เป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 วรรคสอง
ตามวรรคสองเหตุยกเว้นโทษ ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
เข้าร่วมเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น เช่น เห็นคนกำลังรุมทำร้ายกันชุลมุน นายแดงเป็น อพปร. ได้เข้าร่วมในการชุลมุนนั้นด้วย แต่เพื่อห้ามไม่ให้มีการรุมทำร้ายกันอีกต่อไป นายแดงย่อมไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้ หรือเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้เพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น นายแดงไม่ได้รู้เห็นในการยกพวกตีกันแต่เป็นผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในรถโดยสารคันที่มีการตีกัน เมื่อเห็นวัยรุ่นคนหนึ่งจะทำร้ายตนเอง นานแดงจึงทำร้ายวัยรุ่นคนนั้นก่อน นายแดงอ้างป้องกันเพื่อไม่ต้องรับโทษได้





[2] รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า, สภาพผัก (Vegetative State) ที่มา http://haamor.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81/


108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้