Wednesday 11 December 2013

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อาญา ม.44/1


ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อาญา ม.44/1


          ในการกระทำความผิดอาญาบางฐานความผิด อาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดนั้นเกิดความรับผิดทางอาญาขึ้นและในขณะเดียวกันก็มีความรับผิดทางแพ่งด้วย ซึ่งผู้กระทำความผิดจำต้องรับโทษในทางอาญา และก็ต้องรับผิดอันเป็นการละเมิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายอีกด้วย คดีที่เป็นความผิดทางอาญาและก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่งนี้เราเรียกว่า “คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา”


          พิจารณาตัวอย่าง

            นายแดงได้ลักรถยนต์ของนายดำ ไปขายที่ชายแดนพม่า เมื่อนายแดงเอารถยนต์ที่ลักมาได้ข้ามไปขายยังฝั่งพม่า ขากลับนายแดงถูกตำรวจจับได้

            ดังนี้ นายดำย่อมเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิอาญา ม.2(4) ในความผิดฐานลักทรัพย์ และการกระทำความผิดของนายแดงนอกจากเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาแล้ว ยังเป็นการทำละเมิดต่อนายดำ อันก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแก่นายดำอีกด้วย คดีลักทรัพย์จึงเป็น “คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา” นายดำย่อมมีสิทธิในการดำเนินดคีอาญาและแพ่งไปพร้อมกันได้ ตาม ป.วิอาญา ม.40

            เช่น หากนายดำได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่ารถได้ถูกคนร้ายลักไป พนักงานสอบสอบได้ทำการสอบสวนจนจับกุมนายแดงได้ อัยการได้ฟ้องนายแดงต่อศาลในความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีที่ผู้เสียหายมีสิทธิจะเรียกทรัพย์สินคืนหรือราคาที่เขาสูญไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย ตาม ป.วิอาญา ม.43 และหากนายดำได้รับบาดเจ็บต้องเสียค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน นายดำมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ตาม ป.วิอาญา ม.44/1 อีกด้วย

            แต่หากปรากฎว่า นายดำได้ทำประกันภัยชั้น 1 ไว้กับ บ.ปลอดภัยประกันภัย ซึ่งคุ้มครองกรณีรถที่เอประกันไว้หายเนื่องจากถูกขโมยด้วย เมื่อรถนายดำถูกขโมย นายดำจึงเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย เมื่อ บ.ปลอดภัยประกันภัย ได้ชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของนายดำในการฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงผู้ทำละเมิด



            มีปัญหาว่า เมื่อพนักงานอัยการฟ้องนายแดงต่อศาลในความผิดฐานลักทรัพย์ บ.ปลอดภัยประกันภัยซึ่งได้รับช่วงสิทธิมาจากนายดำผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ จะยื่นคำร้องให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ตาม ป.วิอาญา ม. 44/1 ได้หรือไม่

            มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทด แทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

ในประเด็นนี้ศาลได้วินิจฉัยไว้ดังนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2555 จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นผู้เสียหายตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินคือรถยนต์หรือราคารถยนต์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดดังกล่าวคืนได้ แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยโดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไป ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้



          เพราะฉะนั้น ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ตาม ป.วิอาญา ม. 44/1 นั้นหมายถึง ผู้เสียหายตาม ป.วิอาญา ม.2(4) รวมถึงผู้มีอำนาจจัดการทานตาม ม.4, ม.5และ ม.6 เท่านั้น


...............................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

No comments:

Post a Comment