Tuesday 7 January 2014

ความผิดฐานชิงทรัพย์ (Robbery)


ความผิดฐานชิงทรัพย์ (Robbery)




          เป็นความผิดที่มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกับความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ กล่าวคือ จะต้องเป็นความผิดลักทรัพย์ก่อนแล้วจะจึงจะมีความผิดฐานชิงทรัพย์ได้

          สิ่งที่ทำให้ความผิดฐานชิงทรัพย์แตกต่างจากลักทรัพย์ คือ การชิงทรัพย์นั้นเป็นลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยมีการใช้กำลังประทุษร้าย (Violence) หรือขู่เข็ญ (threatening) ในทันใดว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ (5) ให้พ้นจากการจับกุม



ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดฐานชิงทรัพย์ คือ การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญในการลักทรัพย์คือการกระทำในลักษณะใด ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

          1. ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายจะต้องเป็นการของการกระทำต่อกายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ใช่กระทำต่อสิ่งของอื่น

          2. ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องกระทำเพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์หากไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ย่อมไม่เป็นชิงทรัพย์ เช่น ทำร้ายร่างกายกันทีแรกเพราะมีเรื่องบาดหมางกัน แต่กระจากจนสร้อยหลุดติดมือ เกิดลักทรัพย์ขึ้นมาภายหลัง ไม่เป็นชิงทรัพย์ เพราะการใช้กำลังประทุษร้ายไม่เกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์
          ความหมายของการใช้กำลังประทุษร้าย" (to commit an act of violence) ต้องตีความตามบทนิยาม ม.1 (6)

          ส่วนความหมายของการขู่เข็ญในทันใดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า เป็๋นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย ในทันทีทันใดหรือไม่ (immediately) หากเป็นขู่เข็ญแต่ว่าไม่ทันทีทันใด เช่น ขู่ว่าจะมาทำร้ายในวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่การขู่เข็ญในทันใด ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่อาจเป็นกรรโชกทรัพย์

          3. การใช้กำลังประทุษร้ายตาม ม.339 นี้ไม่จำต้องการะทำต่อผู้ที่เป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ จะประทุษร้ายแก่ใครก็ได้ เช่น กำลังวิ่งราวทรัพย์ มีคนมาช่วยจึงใช้กำลังประทุษร้ายต่อคนที่มาช่วย

          4. ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญในทันใดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนั้นต้องไม่ขาดตอนจากการลักทรัพย์ หากขาดตอนไปแล้วก็จะไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์และทำร้ายร่างกาย คนละกรรมกัน
          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญในทันใดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายจะทำก่อนลักทรัพย์หรือหลังจากลักทรัพย์ก็ได้ แต่ที่สำคัญต้องไม่ขาดตอนจากการลักทรัพย์
          ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ เมื่อจำเลยได้ทรัพย์นั้นมาแล้วพาทรัพย์หนีไป เจ้าทรัพย์ติดตามเอาคืน แล้วมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญในทันใดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนั้น ถือว่าขาดตอนแล้วหรือไม่




          ควรศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลเพิ่มเติมเพื่อดูตัวอย่างการตีความและปรับใช้กฎหมายนะครับ



......................................

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment