Monday 14 December 2015

ธงคำตอบข้อสอบปลายภาคกฎหมายลักษณะพยาน

ข้อสอบปลายภาคกฎหมายลักษณะพยาน
ภาคการเรียนที่ 2/2558

คำถาม วันที่ 11 ธันวาคม พ.. 2558 นายหนึ่งได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสองจำเลยที่ 1 และนายสามเป็นจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยร่วมกันต่อศาล โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.. 2557 จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อ และเฉี่ยวชนโจทก์ซึ่งกำลังปั่นจักรยานจนล้ม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและจักรยานของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท และค่าซ่อมจักรยานจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ทำละเมิด
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถด้วยความประมาทชนโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง แต่เพราะโจทก์ได้ขี่จักรยานในเวลากลางคืนโดยไม่มีสัญญาณไฟ ทำให้จำเลยไม่สามารถมองเห็นโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถเบรกรถได้ทัน ซึ่งเป็นความผิดของโจทก์เอง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปส่งของโดยให้ค่าขนส่งครั้งละ 1,000 บาท อันเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนค่าซ่อมจักรยานที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นค่าซ่อมที่เกินความเป็นจริง ค่าซ่อมจักรยานของโจทก์ที่เสียหายไม่น่าเกิน 500 บาท ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์
เมื่อโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำคู่ความต่อศาลแล้ว ศาลได้นัดให้คู่ความมาศาลเพื่อชี้สองสถานในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 หากท่านเป็นศาลจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีนี้อย่างไร ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ (.เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, 25 คะแนน)
ธงคำตอบ หลักกฎหมายที่ใช้ ม.183, 84/1, ...มาตรา 437 วรรคแรก (ยกครบ 6 คะแนน)
เมื่อศาลตรวจคำคู่ความและนำมาเทียบกันแล้วได้กำประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบดังนี้
ประเด็นที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์หรือไม่ โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์โดยการขับรถบรรทุก โดยหลักแล้วเมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร แต่ในกรณีนี้มีข้อสันนิษฐานตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยเป็นควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใด ๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมรถบรรทุกอันเป็นยานพาหนะอันเดิมด้วยกำลังเครื่องจักรกล ซึ่งตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 84/1 ตอนท้ายที่บัญญัติว่า...แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ดังนั้นในประเด็นนี้จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง หากจำเลยพิสูจน์ไม่ได้จำเลยย่อมแพ้คดี (6 คะแนน)
ประเด็นที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ (หรือใครจะกำหนดประเด็นว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่) เมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างแต่เป็นการจ้างทำของ ซึ่งมีหลักกฎหมาย มาตรา 84/1 วางหลักไว้ว่า “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น” ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างได้กระทำในทางการที่จ้าง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ (6 คะแนน)
ประเด็นที่ 3 ค่าสินไหมทดแทนคือจำนวน 80,000 บาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าค่าสินไหมทดแทนที่ควรได้รับคือจำนวน 80,000 บาท แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่าค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน 500 บาทเป็นกรณีที่จำเลยปฏิเสธ ซึ่งตาม มาตรา 84/1 วางหลักไว้ว่า “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น” ดังนั้นเมื่อค่าสินไหมทดแทน 80,000 เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์มีภาระการพิสูจน์  (6 คะแนน)
ส่วนประเด็นเรื่องอายุความแม้คดีนี้จะขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันทำละเมิด แต่จำเลยไม่ได้ต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว ก็ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าคดีขาดอายุความ (1 คะแนน)

ออกข้อสอบโดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ภาพจาก http://quetel.com/sites/default/files/Evidence_1.jpg

No comments:

Post a Comment