Tuesday 22 December 2015

การล่อซื้อกับล่อให้กระทำความผิด (Entrapment)

การล่อซื้อกับการล่อให้กระทำวามผิด

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) น.ม.(กฎหมายอาญา) น.ม.ท.


          การที่ตำรวจส่งตำรวจสายสืบไปล่อซื้อยาบ้า เมื่อพ่อค้ายาเอายามาส่งแล้วก็แสดงตัวเข้าจับกุม กรณีอย่างนี้เราเรียกว่าล่อซื้อ สามารถนำพยานหลักฐานคือยาบ้าไปเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบและได้มาโดยชอบ 

          แต่หากตำรวจสายสืบไปจูงใจให้นายแดงไปหายาเสพติดมาขายให้โดยเสนอซื้อในราคาที่สูงกว่าคนอื่น เช่น บอกกับนายแดงว่าหากหายาบ้ามาขายให้ได้จะรับซื้อเม็ดละหนึ่งหมื่นบาท เมื่อนายแดงเอายาบ้ามาขายให้ ตำรวจสายสืบก็จับกุมนายแดง 

          จะเห็นว่าทั้งสองกรณีมีความคล้ายกันเป็นการล่อซื้อเหมือนกัน แต่กรณีแรกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการล่อให้กระทำความผิด เป็นการล่อซื้อ ส่วนกรณีหลังจะเห็นว่าแต่เดิมผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำความผิด แต่เพราะตำรวจสายสืบไปจูงใจให้เขาเกิดเจตนากระทำความผิดขึ้นมา แล้วเมื่อเขานำยาบ้ามาขายให้ก็เข้าจับกุม กรณีอย่างนี้เรียกว่า การล่อให้กระทำความผิด (Entrapment) 

          การล่อให้กระทำความผิดคืออะไร 

          In criminal law, entrapment is a practice whereby a law enforcement agent induces a person to commit a criminal offense that the person would have otherwise been unlikely to commit It is a conduct that is generally discouraged and thus, in many jurisdictions, it's a possible defense against criminal liability. (ข้อมูลจาก Wikipedia ) 
     
          ในต่างประเทศการล่อให้กระทำความผิด ถือเป็นความผิดทางอาญาฐานหนึ่ง ส่วนในทางกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มีประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เราพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ

          1. ประเด็นเกี่ยวกับการเป็นผู้เสียหายนิตินัย

          2. ประเด็นเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยการล่อให้กระทำความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 10510 / 2555

          ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวได้รับการร้องเรียนถึงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่หลอกลวงขายเหล็กไหลจากผู้ชมรายการของผู้เสียหายจึงวางแผนพิสูจน์การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเพื่อให้มีการจับกุมมาลงโทษ หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมโดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาฃตั้งแต่ต้น จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) มีผลให้การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ของผู้เสียหายไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมายทำให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

     ตามคำพิพากษาฎีกานี้ ไม่ใช่การล่อซื้อ เพราะผู้กระทำไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น แต่เกิดเจตนาฉ้อโกงขึ้นมาเพราะการหลอกล่อของกลุ่มผู้เสียหาย เป็นการล่อให้กระทำความผิด ศาลตัดสินว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย 

     ส่วนความผิดฐานล่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามกฎหมายไทยไม่มีความผิดฐานนี้ แต่จะถือว่าเป็นผู้ใช้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ 





No comments:

Post a Comment